ReadRing นวัตกรรมเพื่อให้คนตาบอดเข้าถึงการอ่านได้ง่ายขึ้น

ReadRing คือนวัตกรรมที่ช่วยให้ ผู้พิการทางสายตา เข้าถึงข้อมูลได้เหมือนคนปกติทั่วไป และยังช่วยให้พวกเขาเติมเต็มประสิทธิภาพที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและมนุษย์อย่างยั่งยืน

ที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง ในจังหวัดขอนแก่น สามีภรรยาคู่หนึ่งได้ก่อตั้งโรงเรียนเพื่อ ผู้พิการทางสายตา โดยได้รับเงินสนับสนุนจากมิชชันนารีชาวต่างชาติ ในขณะเดียวกัน ลูกชายของเขาได้เติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของการทำงานเพื่อผู้พิการทางสายตา และเห็นความม่งมั่นของคุณพ่อ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตา

จากเด็กชายในวันนั้นกลายเป็น หนึ่ง – ทรงปกรณ์ ภูหนองโอง ผู้ประดิษฐ์คิดค้น ReadRing เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านข้อมูลทั่วไปได้ โดยเขามุ่งหวังให้ผู้พิการทางสายตาไม่เป็น “ภาระ” ของสังคม และเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาอย่างยั่งยืน

แบบอย่างที่ชัดเจน กลายเป็นแรงบันดาลใจ

ในวัยเด็ก ทรงปกรณ์เล่าว่า เขาเห็นภาพคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสาย ทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อให้ผู้พิการทางสายตามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยให้การศึกษาและความรู้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ภาพเหล่านั้นกลายเป็นตัวอย่างที่ฝังอยู่ในความทรงจำของเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว “ผลจากการทำงานของคุณพ่อและคุณแม่ ทำให้วันนี้เกิดโรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา และขยายออกไป 13 สาขา ทั่วประเทศ” เขากล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ทางโทรศัพท์

เมื่อย่างเข้าสู่วัยที่สามารถช่วยเหลืองานในโรงเรียนได้ ทรงปกรณ์ได้รับผิดงานส่วนการจัดทำเอกสาร ประสานงานต่างประเทศ และติดต่อกับแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ทำให้เขาเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายมากขึ้น เขาพบว่า เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่ใช้งานอยู่ในขณะนั้นมีราคาสูงมาก และช่างซ่อมที่ชำนาญก็มีอยู่อย่างจำกัด

หนึ่ง – ทรงปกรณ์ (ซ้าย) นั่งอยู่เคียงข้างคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนผู้พิการทางสายตา บ้านเด็กรามอินทรา

จากปัญหาเรื่องนี้ ประกอบกับความรู้ที่เขาได้ร่ำเรียนจากคณะวิศกรรมศาสตร์ และความสนใจส่วนตัวที่ชอบเรื่องการประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ เป็นทุนเดิม จึงทำให้เกิด “ความอยาก” พัฒนาเครื่องมือสักชิ้น เพื่อหวังลดต้นทุนในส่วนนี้

เมื่อเขาได้รับโอกาสให้เดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์ที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงพบว่า “ในขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคมีการพัฒนาไปมาก แต่เทคโนโลยีการผลิตเครื่องพิมพ์และเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยมาหลายทศวรรษ” ทรงปกรณ์กล่าว

ด้วยการใช้ชีวิตใกล้ชิดและคลุกคลีอยู่กับผู้พิการทางสายมามาตลอดชีวิต เขาจึงเกิดความรู้สึกร่วม และความเข้าใจ ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชัวิตของผู้พิการทางสายตา “ผมเห็นภาพตัวอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานร่วมกับผู้พิการทางสายตามาตลอด เพื่อหวังให้วันหนึ่งพวกเขาจะไม่ถูกมองว่าเป็นภาระของสังคม” เขากล่าว

ทรงปกรณ์จึงเกิดแนวความคิดที่อยากให้ผู้พิการทางสายตาได้รับโอกาสที่ดีในสังคม และคิดว่า การรับรู้ข้อมูลเป็นพื้นฐานที่นุษย์ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องของร่างกายมาเป็นอุปสรรค

กว่าจะเป็นเครื่อง ReadRing

ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและผลิตเครื่องต้นแบบ “ผมเริ่มจากแนวคิดที่ต้องการให้เครื่องพิมพ์อักษรเบรลล์มีเสียงเงียบกว่าเดิม แต่กลับพบว่าต้นทุนการผลิตไม่ได้ต่ำลงเลย” เขาอธิบายแนวความคิดเริ่มต้น หลังจากนั้น เขานึกย้อนถึงความชอบในวัยเด็กที่ชื่นชอบของเล่นแนวสิ่งประดิษฐ์ จึงได้ลองนำกระดาษที่มีอักษรเบรลล์ม้วนเป็นวงกลมและใส่เข้าไปในแกนกระดาษทิชชู โดยผู้รับการทดสอบคนแรกคือพ่อของเขา และมันได้ผล

ระหว่างการประดิษฐ์และพัฒนากลไกเครื่องต้นแบบ ReadRing ทรงปกรณ์บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบสูตรสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก

จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น ทรงปกรณ์พบว่า เครื่องมือนี้สามารถพัฒนาขึ้นมาให้มีกลไกที่ซับซ้อนและทันสมัยได้ จึงเริ่มพัฒนาต้นแบบเครื่อง ReadRing กว่าร้อยแบบ จนได้ข้อสรุปออกมาเป็นเครื่องที่ใช้งานได้จริงในปัจจุบัน

ลองนึกถึงเมาส์คอมพิวเตอร์ผสมกับรถของเล่นที่มีล้อขนาดใหญ่ 1 ล้อ ผมใส่จุดเบรลล์ลงไปบนผิวกะทะล้อ และเมื่อเอาปลายนิ้วไปสัมผัส และกลิ้งไปบนพื้นผิวเรียบๆ จุดเบรลล์ก็จะเปลี่ยนไปตามการกลิ้ง” เขาอธิบายหลักการทำงานของ Readring

อีกส่วนหนึ่ง การทำงานของ ReaRing จำเป็นต้องทำงานควบคู่ไปกับแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ดังนั้น ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านข่าวที่อยู่ในสังคมออนไลน์ผ่าน ReadRing ได้ โดยไม่ต้องพิมพ์อักษรเบรลล์บนกระดาษ นอกจากนี้ บนเครื่อง ReadRing รุ่นล่าสุด ยังติดตั้งกล้องขนาดเล็ก เพื่อถายภาพข้อความหรือเอกสารที่เป็นกระดาษ และแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนสามารถถอดข้อความบนภาพถ่ายออกมาเป็นอักษรเบรลล์ผ่านเครื่อง ReadRing ได้

การทดลองใช้เครื่องต้นแบบกับผู้พิการทางสายตา เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้เกิดการใช้งานได้เหมาะสมกับผู้ใช้

ในปัจจุบัน ทรงปกรณ์ได้รับการติดต่อจากบริษัทเอกชนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอร่วมลงทุนตั้งสำนักงานสาขาและฐานการผลิต ReadRing ในประเทศญี่ปุ่น “เรายังอยู่ระว่างการปรึกษาหารือ ยังไม่ได้ทำสัญญาอย่างเป็นทางการครับ เนื่องจากต้องการพัฒนาสินค้าและสร้างยอดขายเพื่อกำหนดมูลค่าธุรกิจก่อนการร่วมลงทุน แต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในญี่ปุ่นมักเป็นที่ยอมรับในระดับโลก” เขากล่าวและเสริมว่า “เบื้องต้น ผมเคยพยายามติดต่อไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชนในประเทศไทยแล้ว เรื่องการขอทุนสนับสนุนเพื่อผลิต ReadRing ในเชิงอุตสาหกรรม แต่ก็พบว่าเข้าถึงหน่วยงานได้ยากมาก และมีเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด

อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านมา ได้มอบแนวคิดให้กับทรงปกรณ์ว่า “เราจะยอมเสียสละได้แค่ไหน ที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในวงกว้างได้” ในระหว่างที่เขาพัฒนาต้นแบบเครื่อง ReadRing เขาได้สูญเสียคุณพ่อไประหว่างช่วงเวลานั้น จึงทำให้เขายิ่งเกิดแรงพยายามจะพัฒนาให้เครื่อง ReadRing สามารถช่วยผู้พิการทางสายตาได้จริง

จากความพยายามทั้งหมดไม่เคยมีอะไรสูญเปล่า ในปีนี้ การประชุมประจำปี National Braille Press หรือ NBP ครั้งที่ 94 ได้มอบรางวัลชนะเลิศ 2021 Touch of Genius ให้กับทรงปกรณ์ ผู้ผลิต ReadRing เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา “ผมคิดว่าด้วยเรื่องราวที่ผมเล่าถึงคุณพ่อ บวกกับกลไกการทำงานของเครื่อง ReadRing อาจเป็นเหตุผลให้ผมได้รับรางวัลนี้ครับ” ทรงปกรณ์กล่าว

มองผู้พิการคือคนที่มีศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน

ในสังคม ถ้าปล่อยให้ผู้พิการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเพิ่มประสิทธิผลให้กับคนกลุ่มนนี้ พวกเขาจะกลายเป็น “ภาระ” และการเป็นภาระไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ทรงปกรณ์กล่าวและยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า “ในประเทศไทย ผู้พิการส่วนใหญ่รอรับเงินสวัสดิการจากภาครัฐ หรืองค์กรการกุศลต่างๆ ที่ระดมเงินบริจาค เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้พิการเหล่านี้

ในทางกลับกัน หากผู้พิการได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องให้กลุ่มคนเหล่านี้สร้าง “ประสิทธิผลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” โดยใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม จะส่งผลให้ผู้พิการสร้างคุณค่ากลับคืนสู่สังคมได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยั่งยื่นมากกว่า เนื่องจากทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครให้เป็นภาระไว้ด้านหลัง

ผมรู้สึกว่า ผู้พิการในสังคมเป็นกลุ่มคนที่มความหลากหลายทางกายภาพ แต่พวกเขาก็ยังเป็นกลุ่มคนที่ต้องการความสุข และต้องการใช้ศักยภาพที่มี ดังเช่นกับทุกคนในสังคม” ทรงปกรณ์กล่าว

กลุ่มผู้พิการเพียงต้องการเครื่องมือบางอย่างที่เขานำไปเติมเต็มศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูล และเข้าถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานได้ เมื่อไปถึงจุดนั้น กลุ่มผู้พิการก็สามารถสร้างมูลค่าในรูปแบบของการทำงานโดยพึ่งพาตัวเองได้  และพวกเขาก็จะไม่ใช่ภาระในสังคม เขากล่าวปิดท้าย

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ReadRing ติดต่อได้ที่ https://www.read-ring.com/

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย ทรงปกรณ์ ภูหนองโอง


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Notpla สตาร์ตอัปที่สร้างบรรจุภัณฑ์กินได้ เพื่อโลกใหม่แห่งเดลิเวอรี่ไร้ขยะพลาสติก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.