Heidelberg ทำไมเมืองในเยอรมนีแห่งนี้ จึงไม่ต้อนรับรถยนต์อีกต่อไป

Heidelberg หนึ่งในเมืองแถวหน้าของการเคลื่อนไหวเพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป

ไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราว 160,000 คน ได้แสดงให้เห็นว่าเมืองที่แทบไร้ยานยนต์ในอนาคตจะหน้าตาเป็นอย่างไร จากการเป็น 1 ใน 6 เมืองของยุโรปที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิก โดย C40 Cities องค์กรสนับสนุนนโยบายเมืองที่เป็นมิตรกับสภาพอากาศในอนาคต

เป้าหมายของนายกเทศมนตรีเอ็คคาร์ด เวิร์ซเนอร์ (Eckart Würzner) คือทำให้เมืองลดการพึ่งพารถยนต์ไม่ว่าเชื้อเพลิงที่ใช้จะมาจากแหล่งใดก็ตามโดยไฮเดลเบิร์กกำลังจัดซื้อรถบัสพลังงานไฮโดรเจนสร้างเครือข่ายทางหลวงของจักรยานในเขตชานเมืองอีกทั้งยังดีไซน์ชุมชนที่รองรับการสัญจรทางเท้าแทนยานพาหนะ

นายกเทศมนตรีเวิร์ซเนอร์ออกนโยบายสนับสนุนชาวเมืองที่เลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยให้สิทธิขึ้นรถขนส่งสาธารณะแบบไม่ต้องเสียเงินเป็นระยะเวลาถึง 1 ปี นอกจากนี้เขายังออกนโยบายมอบเงินสนับสนุนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ยูโร (38,000 บาท) และให้เพิ่มอีก 1,000 ยูโรหากติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน

ไฮเดลเบิร์กเป็นหนึ่งในเมืองแถวหน้าของการเคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปการเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางประชาคมทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเมืองในสหรัฐอเมริกาอย่างพอร์ตแลนด์รัฐออริกอนไปจนถึงหลายๆเมืองในยุโรปอย่างโรมลอนดอนและปารีส

เมืองเหล่านี้กำลังวางแผนจำกัดการจราจรโซนใจกลางเมือง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลอดยานพาหนะและปลอดมลพิษในช่วงทศวรรษหน้า ในขณะเดียวกัน บางเมืองอย่างสต็อกโฮล์ม และสตุ๊ตการ์ท ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Mercedes-Benz ได้ออกกฏหมายระงับการใช้รถยนต์ดีเซลแบบเก่า ซึ่งสร้างมลพิษอย่างมากไปแล้วถาวร

หนึ่งในมาตรการที่จะทำให้ การเป็นเมืองปราศจากรถยนต์ของไฮเดลเบิร์กสำเร็จ คือ การสร้างสะพานข้ามตึกต่างๆ ให้ผู้ขับขี่จักรยานใช้ได้อย่างอิสระ พร้อมกันนั้นยังได้ออกนโยบายลดการใช้พลังงานในอาคารในเมืองอย่างเข้มข้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการติดตั้งนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่ออาคารเหล่านี้มีอายุมากกว่าร้อยปีแล้ว

ปัจจุบัน บนเส้นทางสู่การเป็นเมืองปลอดรถยนต์ ไฮเดลเบิร์กเหลือผู้ที่ยังพึ่งพารถยนต์อยู่เพียง 1 ใน 5  ผู้อยู่อาศัยที่เหลือส่วนใหญ่จะเดินทางโดยการเดินปั่นจักรยานหรือขึ้นรถบัสไฟฟ้า

ตัวอย่างการจัดการย่านชุมชน ที่มีชาวเมืองอาศัยอยู่กว่า 5,000 คนของไฮเดลเบิร์ก ประกอบไปด้วยโรงเรียน ศูนย์ชุมชน ซูเปอร์มาร์เก็ต 2 แห่ง ร้านเบเกอรี่ คาเฟ่ ร้านจักรยาน 2 ร้าน และสเตชั่นสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 6 แห่งสถานีรถไฟป้ายรถรางซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยทางจักรยานและทางเดินร่มรื่นที่ดูแลจัดการโดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

นายกเทศมนตรีเวิร์ซเนอร์ ตั้งเป้าหมายอันทะเยอทะยานที่จะทำให้ไฮเดลเบิร์กเป็นเมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero Carbon)ในปี 2030 ล่าสุดเมืองเล็กๆ แห่งนี้วางแผนที่จะสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และลม สำหรับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจน

เราทุกคนต่างรู้ว่าเราต้องไปต่อในทิศทางนี้ มันแค่ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหนนายกเทศมนตรีเวิร์ซเนอร์

สืบค้นและเรียบเรียง : ปรมินทร์ แสงไกรรุ่งโรจน์

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ดร.เป้า Green Road ทางไปต่อของพลาสติก ที่จะไม่จบลงด้วยการเป็นขยะอีกต่อไป

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.