ผู้คนรอบโลกกำลังเป็นพยานว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้โลกประสบกับหายนะอย่างไร ดังจะเห็นได้จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เหตุการณ์ไฟป่า พายุเฮอร์ริเคน และภัยพิบัติธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นจนเราไม่อาจละเลยเรื่องนี้ได้อีกต่อไป
เมื่อวันที่ 5 กันยายน มีวารสารวิชาการกว่า 200 ฉบับตัดสินใจออกบทบรรณาธิการร่วมกันเพื่อกระตุ้นให้บรรดาผู้นำโลกลงมือแก้ปัญหาในเรื่องนี้ “ความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้นชัดแจ้ง” พวกเขาเขียนและเสริมว่า “อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียสนับจากยุคก่อนอุตสาหกรรมและความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่องมีผลร้ายต่อสุขภาพในแบบที่ไม่อาจหวนคืน”
แม้จะอยู่ในช่วงของการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ผู้เขียนบทบรรณาธิการร่วมนี้เขียนว่า บรรดารัฐบาล “ไม่อาจรอให้โรคระบาดหายไปก่อนที่เริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” และพวกเขากระตุ้นให้ทุกคนแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกับการแก้ปัญหาโควิด-19
เหล่านี้คือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา ผลกระทบบางอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน แต่บางอย่างยังคงส่งผลแฝงเงียบๆ ในร่างกายของเรา รวมไปถึงเหตุผลว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงให้ความเห็นว่ายังไม่สายเกินไปที่โลกจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเรื่องนี้
มลพิษทางอากาศ
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งส่วนมากมาจากการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ มลพิษทางอากาศนั้นประกอบไปด้วยอนุภาคเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจโดยการที่อนุภาคเหล่านั้นซึมผ่านเข้าไปในปอดและหัวใจ หรือแม้กระทั่งไหลเวียนไปกับกระแสเลือด
อนุภาคเหล่านี้อาจส่งผลร้ายต่ออวัยวะภายในโดยตรงหรือก่อให้เกิดภาวะอักเสบเนื่องจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันพยายามทำงานเพื่อต่อต้านอนุภาคเหล่านี้ มีการคาดการณ์ว่ามลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรตั้งแต่ 3.6-9 ล้านรายต่อปี
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปมีความเปราะบางต่อผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด แต่คนอื่นๆ ก็อยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกัน Kari Nadeau ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคภูมิแพ้และหอบหืด Sean N. Parker แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าว โดยผู้ที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเด็กที่มีอาการหอบหืด
ความร้อนสุดขั้ว
งานศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change เมื่อต้นปีที่ผ่านมาระบุว่า หนึ่งในสามของการเสียชีวิตจากความร้อนมีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตามรายงานของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้นในบางประเทศที่มีการเข้าถึงเครื่องปรับอากาศในระดับต่ำ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผู้คนมีภาวะเปราะบางต่อความร้อนมากขึ้น
สาเหตุเกิดมาจากร่างกายของมนุษย์ไม่มีความสามารถในการปรับตัวในภาวะอุณหภูมิที่สูงกว่า 37 องศา Nadeau กล่าว เพราะความร้อนทำให้กล้ามเนื้อแตกสลาย แม้ร่างกายจะมีวิธีการในการรับมือกับความร้อนเช่นนั้น เช่นการขับเหงื่อ “แต่ถ้าหากด้านนอกนั้นร้อนตลอดเวลา ร่างกายของคุณรับมือไม่ได้หรอกค่ะ กล้ามเนื้อหัวใจและเซลล์ในร่างกายจะเริ่มตายและเสื่อมสลายไป” เธอกล่าว
หากคุณประสบกับความร้อนสุดขั้วเป็นเวลานานเกินไปและไม่สามารถระบายความร้อนนั้นได้มากพอ ความตึงเครียดของร่างกายจะก่อให้เกิดปัญหามากมายในร่างกายของคุณ หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเหงื่อที่ขับออกมาจะปล่อยแม้กระทั่งแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเช่นโซเดียมและโพแทสเซียม ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจวายฉับพลันและโรคหลอดเลือดได้
ความไม่มั่นคงทางอาหาร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลทั้งการลดจำนวนของอาหารที่มีอยู่และทำให้อาหารเหล่านั้นมีสารอาหารที่น้อยลง ตามรายงานพิเศษของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ผลผลิตทางการเกษตรเริ่มลดลงเนื่องจากผลของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
หนึ่งในผลร้ายที่ไม่ส่งผลต่อเราโดยตรง แต่ร้ายแรงไม่แพ้กัน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งผลต่อร่างกายของเรา คือการหยุดชะงักของระบบการผลิตอาหารของโลกอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเกิดฝนหรือความชุ่มชื้น และเหตุการณ์ลมฟ้าอากาศสุดขั้ว ในขณะเดียวกัน งานศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศทำให้พืชปล่อยธาตุสังกะสี เหล็ก และโปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์ออกมา
ภาวะทุพโภชนาการเป็นสาเหตุของอาการป่วยหลายโรค รวมไปถึงโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของภาวะการเจริญเติบโตบกพร่อง ซึ่งส่งผลร้ายต่อความสามารถทางสติปัญญาในเด็ก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อส่งที่เรารับประทานจากทะเลเช่นเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดต้องอพยพผ่านเส้นทางสู่ขั้วโลกเพื่อค้นหาพื้นที่ที่น้ำทะเลเย็นกว่า ซึ่งส่งผลต่อปริมาณปลาในภูมิภาคกึ่งเขตร้อนซึ่งสัตว์น้ำถือเป็นแหล่งอาหารหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนริมฝั่งทะเลที่ต้องพึ่งพาโปรตีนจากแหล่งอาหารเหล่านี้
โรคติดต่อ
เนื่องจากโรคที่ร้อนขึ้น พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เห็บและยุงสามารถอาศัยได้ก็มีมากขึ้น สัตว์เหล่านี้เป็นที่รับรู้ว่าเป็นพาหะของโรคเช่นไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และมาลาเรีย โรคที่ร้อนขึ้นทำให้พวกมันสามารถข้ามเส้นภูมิศาสตร์ทรอปิกออฟแคนเซอร์และทรอปิกออฟแคปริคอร์นได้ Nadeau กล่าว ยุงและเห็บเหล่านี้อาจทำให้โรคติดต่อดังกล่าวแพร่กระจายไปในวงกว้างของโลก
นอกจากนี้ยังมีหลายวิธีที่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่สามารถติดต่อผ่านแหล่งน้ำ เช่นอหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ และเชื้อปรสิตต่างๆ ซึ่งมีทั้งกรณีที่สัมผัสเชื้อโดยตรงจากน้ำท่วมที่ปนเปื้อนเชื้อโรค รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดภัยแล้งจนบังคับให้ผู้คนต้องไปดื่มในแหล่งน้ำสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
สุขภาพจิต
ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นปกติซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหายนะทางสภาพภูมิอากาศคือสุขภาพจิต ความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นมีความสำคัญจนมีการตั้งชื่อเฉพาะว่า Solastalgia
Nadeau กล่าวว่าผลกระทบที่เกิดจากสุขภาพจิตมีความชัดเจน เห็นได้จากการศึกษาของเธอในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ไฟป่าในฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้ผู้คนต้องสูญเสียบ้าน อาชีพ หรือบางครั้งคือคนที่รัก ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้วเช่นไฟป่าหรือเฮอร์ริเคยก่อให้เกิดความเครียดและความกังวลซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder) ซึ่งอาจก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายในระยะยาว
แล้วทำไมเราถึงยังคงมีความหวัง
ในช่วงปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มผลิตงานวิจัยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมากขึ้น “แต่หนึ่งในปัญหาที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคือการขาดแคลนกองทุนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ” แอนดี เฮนส์ ศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยสุขภาวะและการแพทย์เขตร้อนแห่งลอนดอนกล่าวและเสริมว่า “เนื่องจากสาเหตุนั้น หลักฐานที่เรามีอยู่ในตอนนี้ยังคงไม่สมบูรณ์มากนัก”
แต่ความหวังก็ยังไม่หมดไป เพราะยังมีข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ทุกประเทศทั่วโลกได้ให้คำมั่นว่าจะลดอุณหภูมิของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ให้ไปอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก “เมื่อคุณลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพและโลกของเรา” เฮนส์ กล่าว
ด้าน Nadeau ให้ความเห็นว่าการระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 ได้ทำให้บรรดาผู้นำโลกมีโอกาสในการคิดใหญ่และคิดในเชิงกลยุทธ์ (เพื่อรับมือกับปัญหา) มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการเผยให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีปัญหาที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเท่าเทียม ทำให้มีการวางโครงสร้างบริการใหม่เพื่อการสาธารณสุขที่ดีขึ้น ซึ่งในกระบวนการนี้ พวกเขาสามารถสร้างสรรค์วิธีการลดการผลิตขยะและปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เช่นการทำให้หลายโรงพยาบาลหลายแห่งคิดถึงเรื่องการใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียน
“นี่เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้” Nadeau กล่าวและเสริมว่า “หากเราไม่ทำอะไร ก็อาจจะเกิดหายนะครั้งใหญ่ได้ค่ะ”