อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ด้วยทัศนียภาพพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติทั้งบนดินและใต้ทะเลที่ตรึงตาตรึงใจนักท่องเที่ยว
หากแต่หน้าที่ของการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเพียงแค่คนในพื้นที่หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จำเป็นจะต้องสร้างระบบนิเวศของจิตสำนึกและการตระหนักถึงกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ช่วยถนอมโลกใบนี้ให้มากขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาที่สิงห์ เอสเตท ตัวแทนเจ้าภาพโรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ ได้รวบรวมผู้นำระดับหัวหน้างาน 15 ท่าน พร้อมกับตัวแทนนักเรียนในพื้นที่เกาะพีพี มาปลูกองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ร่วมกันผ่านค่าย “SeaYouTomorrow Camp Fighting Climate Crisis แคมป์ผู้นำ และเยาวชน รวมพลังต้านวิกฤติโลกร้อน”
เด็กคือ Change Agent ผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในวันข้างหน้า และด้วยช่วงวัยที่พร้อมเปิดรับกับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทำให้ อเล็กซ์ เรนเดล จัดตั้ง EEC THAILAND (Environment Education Centre) ผ่านการทำค่ายที่มอบประสบการณ์การเรียนรู้และการลงมือทำให้กับเด็กมาเกือบ 7 ปีแล้ว ควบตำแหน่งทูตสันถวไมตรีประจำประเทศไทย จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เขาจึงกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญในการจัดกิจกรรมแคมป์ในครั้งนี้
แต่จะอาศัยเพียงกำลังของเด็ก เพื่อรอการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเห็นจะไม่เพียงพอ เพราะเมื่อตระหนักถึงปัญหาแล้ว การเข้าช่วยเหลือและแก้ไขให้ทันท่วงทีก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่วันนี้เช่นเดียวกัน
ผู้นำระดับหัวหน้างานที่สิงห์ เอสเตท ชักชวนมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นระดับหัวหน้างาน ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ บทบาทของ Change Agent อีกหน่วยหนึ่งทำสำคัญ จึงเป็นของผู้ใหญ่ผู้นำ ผู้กำหนดทิศทางและนำพาองค์กรไปสู่ปลายทางที่ความยั่งยืนเช่นเดียวกัน
“ปีนี้เป็นปีที่สามที่ สิงห์ เอสเตท ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกหุ้นยั่งยืนของ Dow Jones Sustainability Index (DJSI)” คุณศิริธร ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์องค์กร และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.สิงห์ เอสเตท เท้าความให้เราฟัง
“เพราะฉะนั้นคนสุดท้ายที่จะตัดสินใจ จะต้องเล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้มีสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นค่ายนี้เราก็อยากจะสร้างผู้นำที่เป็น Change Agent เช่นเดียวกัน”
นอกจากผู้นำระดับหัวหน้าของานของ สิงห์ เอสเตท จำนวน 15 ท่าน ที่เข้าร่วมแคมป์ในครั้งนี้แล้ว ยังมีการชักชวนนักเรียนผู้นำในพื้นที่อีก 10 คน มาเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในทุกวัน
นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ถูกคัดเลือกผ่านการเขียนเรียงความในหัวเรื่อง ‘อยากให้ผู้ใหญ่ทำอะไร?’ คำตอบที่ได้แม้จะหลากหลาย แต่เดินทางไปในเส้นทางเดียวกันคือ ‘อยากให้เก็บสิ่งที่ผู้ใหญ่เคยเห็นตอนห้าขวบ ให้เขาได้เห็นเหมือนกัน’ สิ่งนี้ยิ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญในการปลูกฝังเยาวชนผู้นำ เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการบอกเล่าความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากค่าย ถ่ายทอดไปยังโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ให้เห็นถึงคุณค่าในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
‘Edutainment’ คือเครื่องมือที่อเล็กซ์เลือกใช้ในการจัดค่ายทุกครั้งของเขา “วิธีการเปลี่ยนความคิดคนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กประสบการณ์ชีวิตไม่เยอะ เราจึงต้องค่อยๆ ให้เขาได้ซึมซับข้อมูลสิ่งแวดล้อม เข้าใจในประเด็นง่ายๆ และได้เห็นได้สัมผัสด้วยตัวเอง แต่ถ้าจะเล่าเรื่องหรือให้ลงมือทำอย่างเดียวก็ไม่พอ จะต้องมีเพลงหรือการเชื่อมต่อเรื่องราวที่ดึงความสนใจ และช่วยสร้างความรู้สึกร่วมกับกิจกรรมไปด้วยกัน”
ความท้าทายในการทำแคมป์ครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องของกิจกรรมที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างกรอบความเข้าใจเดียวกันในเรื่องความเชื่อมโยงของระบบนิเวศในภาพกว้าง และผลกระทบจากทรัพยากรที่สะท้อนซึ่งกันและกัน โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเนื้อหาเชิงลึกสำหรับผู้ใหญ่โดย น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ นักวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว
“ค่ายที่มีผู้ใหญ่ เลยออกแบบให้สบายๆ มากที่สุด ไม่ต้องหนักมาก แต่ต้องตรงตามประเด็น ไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องกับคนในพื้นที่ เพื่อช่วยสร้างข้างในให้พี่ๆ ทุกคนได้มองเห็นภาพกว้างมากขึ้น เน้นเรื่องความยั่งยืน สภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการทำรีเสิร์ช และเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง เผื่อจะจุดประกายไอเดียใหม่ๆ รวมทั้งเราก็เลือกทีมทำงานที่มีประสบการณ์กับผู้ใหญ่มาร่วมในแคมป์นี้”
นอกจากประเด็นหลักของแคมป์ครั้งนี้เปิดให้เห็นมุมมองในเรื่องความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญคือ บริบทของชุมชนที่อยู่รายรอบ
สิ่งที่ผู้เข้าร่วมแคมป์ครั้งนี้ได้เรียนรู้ นอกจากการออกไปมีประสบการณ์จริงผ่านเรื่องราวและบทเรียนทางธรรมชาติที่อาจจะหาโอกาสทำแบบนี้ได้ยาก อย่างการวัดความสูงของรากโกงกาง การออกไปเดินพูดคุยกับผู้คนในชุมชน หรือการออกเรือดำน้ำด้วยเรือหางยาวของชาวบ้านในท้องที่
“แทนที่เราจะไปหาเรือข้างนอก เราก็ใช้เรือหางยาวของคนในพื้นที่เป็นเรือท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชนผ่านการท่องเที่ยวที่ผู้คนมาเยือนไม่ขาดสาย” ตลอดการเดินทางด้วยเรือหางยาว เราจึงได้รับคำบอกเล่าเรื่องราวอินไซต์ของแต่ละจุดท่องเที่ยว คำแนะนำการลงดำน้ำสำหรับคนเริ่มต้น พร้อมมิตรจิตมิตรใจและความช่วยเหลือที่แสนอบอุ่นแบบฉบับคนในพื้นที่
นอกจากการออกไปดำน้ำ ชมปะการัง สังเกตการณ์พันธุ์ปลา ตามจุดหัวใจสำคัญต่างๆ แล้ว ภายในโรงแรมเองก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวให้เข้าใจอุทยานฯ แห่งนี้ได้ดีขึ้น
“เราเห็นว่าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เป็นหัวใจของเกาะพีพี แต่คนเข้ามาที่นี่โดยไม่มีแหล่งเรียนรู้ เราเลยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นในโรงแรม ให้นักท่องเที่ยวได้มองเห็นระบบนิเวศของพื้นที่ที่เราเข้ามาเที่ยวและใช้ชีวิต พร้อมกับซึมซับความเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติได้ที่นี่”
บทสรุปของค่ายครั้งนี้จึงไม่ได้หยุดเพียงแค่การได้พบกับธรรมชาติผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการมองเห็นคุณค่าผ่านแว่นตาที่แตกต่างทั้งเรื่องราวระหว่างวัย ระหว่างคนใน-นอกพื้นที่ เพื่อปลายทางที่การแสดงให้เห็นความสำคัญของทุกความคิดเห็น ทุกการกระทำ และทุกสิ่งในโลกล้วนเชื่อมโยงกันทั้งหมด
และที่สำคัญคือ การเป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะต้องทำงานร่วมกัน ทั้งผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจในวันนี้ และเด็กจะที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสำคัญในวันข้างหน้า พร้อมกับส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ ไปถึงผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโลกใบนี้ที่ยั่งยืนและเป็นสุขยาวนานต่อไป
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี