Plas-Tao จากขยะทะเล สู่ห้องเรียนรีไซเคิลพลาสติกบนเกาะเต่า

ปี 2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ท้องทะเลไทยมีขยะติดถุงอวนจับปลาประมาณ 145 ตันต่อปี ซึ่งขยะที่พบมากที่สุด คือ “พลาสติก”

“ไม่ต้องมาเก็บขยะหรอก พื้นที่ตรงนี้เป็นอ่าว หมดมรสุมแล้ว ลมก็พัดขยะออกไปจากชายหาด” นี่คือคำพูดจากปากเจ้าของกิจการที่พักริมหาดรายหนึ่งใน เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี คงไม่ผิดหรอกที่ชาวบ้านจะรู้จักทิศทางลมดีกว่าคนนอก และเก๋าพอจะอ่านเกมออกว่า อีกไม่นานหน้าบ้านของเขา ชายหาดที่ทอดยาว จะกลับมาสะอาดเหมือนเดิม

…ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้แก้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นเลย

นักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยเดินทางไปยังเกาะเต่า จะเห็นว่า แทบทุกสัปดาห์ มีประกาศชักชวนเก็บขยะริมหาด แต่หลังจากนั้น เราจะทำอย่างไรกับเจ้าขยะเหล่านี้ดี?

 

โควิด เกาะร้าง และขยะที่คนมองข้าม

คุณเมย์-วิชชุดา ดำเนินยุทธ ผู้ก่อตั้งร้านค้าแนวคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม May and Co ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับขยะมากมายในเกาะเต่า แต่ยังไม่ได้รับการจัดการ เล่าว่า

“อยู่เกาะเต่ามาเกือบ 7 ปีแล้วค่ะ ส่วนตัวเป็นคนที่ศึกษาเรื่องการรีไซเคิลอยู่แล้ว ช่วงโควิดพอไม่มีนักท่องเที่ยว เวลาเราก็เยอะขึ้น ใช้เวลากับชายหาดมากขึ้น จึงได้เห็นขยะที่มันมีปริมาณมาก จนค้นพบคำตอบของนักท่องเที่ยวที่เคยถามเราว่า อะไรคือของฝากจากเกาะเต่า คำตอบคือ ขยะไง เราใช้ขยะที่มาเกยหาดเป็นของฝากได้

“เกาะเต่าไม่มีของขึ้นชื่อ ไม่เหมือนเกาะสมุย เกาะพะงัน คนมาเที่ยวเขามีแค่รูปถ่ายใต้น้ำกลับไป ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่า เอาขยะที่เก็บจากชายหาด จากในทะเล มาทำเป็นของจากฝากเกาะเต่ากันดีกว่ามั้ย เป็นทั้งการลดขยะ และยังสร้างรายได้อีกด้วย ยิ่งเปลี่ยนขยะเป็นกระถางต้นไม้ ก็ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับบ้าน มันเป็นแนวคิดที่ดีและยั่งยืนดีนะ จนเป็นที่มาของ Plas-Tao ค่ะ”

 

รีไซเคิลขยะเกาะ

หลังจากเริ่มศึกษาและเข้าร่วมกลุ่มรีไซเคิลผ่านโซเชียลมีเดีย คุณเมย์ได้รู้จักกับ Bope (โบเป) สตูดิโอเล็กๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่รับขยะพลาสติกมาบดย่อยและหลอมให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เธอจึงไม่รอช้าที่จะสั่งเครื่องรีไซเคิลขยะจากภูเขาลงมาสู่ทะเลใต้

“ก่อนจะนำขยะมารีไซเคิลได้ เราต้องเก็บขยะกันก่อนค่ะ เริ่มจากการไปร่วมเก็บขยะกับกลุ่มต่างๆ โดยเกาะเต่ามีกลุ่ม Koh Tao Clean Up ที่จะรวมตัวกันทุกวันอาทิตย์ เพื่อไปเก็บขยะตามหาด ซึ่งเครื่องรีไซเคิลขยะของ Plas-Tao จะใช้ได้กับ พลาสติกเบอร์ 2 และ เบอร์ 5 ซึ่งมีจุดหลอมเหลวต่ำ ง่ายต่อการขึ้นรูป เหมาะกับการทำงานรีไซเคิลทำมือ

“พลาสติกเบอร์ 2 HDPE คือ โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) เป็นพลาสติกแข็ง ทนทาน เช่น ขวดแชมพู ขวดนม ขวดโยเกิร์ต ถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือถังนํ้ามันรถยนต์

“ส่วนเบอร์ 5 PP คือ โพลีโพรพิลีน (Poly propylene) เป็นพลาสติกทนต่อความร้อนสูง พวก จาน ชาม กล่องใส่อาหาร หลอดดูดนํ้า ตะกร้า กระบอกนํ้า ขยะพลาสติกทั้ง 2 เบอร์นี้ จะเจอมากตามชายหาด เพราะคนส่วนใหญ่มักใช้ในชีวิตประจำวัน

“ขณะที่เดินเก็บขยะ เราก็จะแยกพลาสติก เบอร์ 2 และ เบอร์ 5 ออกมาเลยค่ะ จากนั้น นำมาทำความสะอาดด้วยการแช่น้ำ แล้วล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาด ผึ่งลมให้แห้ง แยกขยะพลาสติกออกตามโทนสี เพื่อให้ง่ายแก่การทำเป็นสีสันที่เราต้องการ”

“หลังจากนั้น เป็นขั้นตอนของการบดขยะค่ะ แค่ใส่เศษขยะพลาสติกลงไปในช่องบด เครื่องจะหมุดบดพลาสติกออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ เมื่อได้ปริมาณที่มากเพียงพอ เราก็นำเศษพลาสติกเข้าเครื่องหลอมแล้วบดอัด ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนจากไฟฟ้า ไม่ต้องใช้เตาเผาเลย

คุณเมย์เล่าว่า ในขั้นตอนนี้ ต้องรอให้ความร้อนหลอมพลาสติกเป็นเวลา 20 นาที “สำหรับการพิมพ์กระถางต้นไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร เราใช้ขยะพลาสติกราว 115 กรัม เมื่อครบตามเวลาที่ตั้งไว้แล้ว ก็ต้องออกแรงกันหน่อย ใช้สุดตัวดึงคันโยกลงมาให้สุด เพื่ออัดขยะพลาสติกให้แน่น พอขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว เราค่อยนำกระถางต้นไม้ออกจากแป้นพิมพ์ ขั้นตอนนี้กระถางจะร้อนมากนะคะ แต่ยังมีความนุ่ม ถ้าอยากเจาะตรงไหนให้รีบทำเลย จากนั้น แค่รอให้กระถางเซตตัว ก็เป็นอันเสร็จค่ะ”

 

ศูนย์การเรียนรู้ของคนเกาะเต่า

นอกจากจะรีไซเคิลขยะพลาสติกเป็นกระถางต้นไม้แล้ว Plas-Tao ยังทำจานรองแก้ว และเครื่องประดับอีกด้วย ซึ่งความรู้ในการแยกขยะและรีไซเคิล ของคุณเมย์ยังได้ถูกส่งต่อให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

“มีจัดเวิร์กชอปด้วยค่ะ มีเด็กๆ มีหลายๆ ครอบครัวบนเกาะ รวมไปถึงเพื่อนๆ พี่น้องที่ทำงานตามโรงแรมต่างๆ เขาก็พาลูกค้ามาเรียนรู้และร่วมทำกิจกรรมกับ Plas-Tao

“เราจะพาเขาไปตั้งแต่เก็บขยะ แยกขยะ ตามไปด้วยกันทุกขั้นตอน ซึ่งการออกไปทำกิจกรรมด้วยตัวเอง ก็ทำให้หลายคนหันมาใส่ใจเรื่องขยะมากยิ่งขึ้น จากคนที่เคยทิ้งขยะบนหาด ก็เริ่มทิ้งเป็นที่ หน้าชอปของ Plas-Tao เราก็มีกระดานให้ความรู้เรื่องการแยกขยะ คนที่เกาะก็เริ่มเก็บขยะเพื่อนำมาให้เรารีไซเคิล”

“นอกจากคนในเกาะเต่าแล้ว ยังมีกลุ่มรีไซเคิลจากเกาะอื่นๆ เข้ามาดูงานด้วย เช่น มูลนิธิรักษ์ไทยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคใต้ เนื่องจากเขาก็ประสบปัญหาขยะเหมือนๆ กับเรา ใจจริงอยากให้มีหนึ่งเกาะหนึ่งเครื่องรีไซเคิลขยะเลยนะคะ เพราะคงช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ไม่มากก็น้อย”

แม้ว่า Plas-Tao จะเป็นจุดเริ่มต้นรีไซเคิลขยะแบบเล็กๆ แต่ก็เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งจะทำให้เราและคนรุ่นหลังได้มีหาดสวยๆ น้ำใสๆ ไปอีกนาน

 

รักษ์เกาะ รักษ์โลก

จากที่มีเพียง กลุ่ม Koh Tao Clean Up และเพื่อนๆ ในเกาะรวมตัวกันเก็บขยะตามชายหาด ตอนนี้ผู้ประกอบการจากหลายธุรกิจต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น The Dearly Koh Tao Hostel ที่ใช้โซลาร์เซลล์​ ผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดและยั่งยืน​ Ban’s Diving Resort ซึ่งทำศูนย์การเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึง NEW HEAVEN DIVE SCHOOL ที่เน้นโปรแกรมดำน้ำเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรโลกใต้ทะเล จนทำให้เกาะเต่าเป็นต้นแบบของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่น่าจับตามอง

โครงการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากมายครอบคลุมทุกมิติของระบบนิเวศบนเกาะเต่า เช่น ECO Resort รีสอร์ทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, CLEAN ENERGY การประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน, TRASH HERO การรวมตัวกันเก็บขยะ และแยกขยะ, SAVE WATER ใช้น้ำอย่างประหยัด, SEA TURTLES CONCERVATION อนุบาลเต่า และ ARTIFICIAL REEF DEPLOYMENT สร้างประการังเทียม

จากแนวคิดข้างต้น และการร่วมมือของชุมชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่บนเกาะ ได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมการลดใช้พลาสติกที่ใช้เพียงครั้งเดียวของชาวเกาะเต่า อย่างการงดใช้หลอดพลาสติก โดยร้านค้าและผู้คนบนเกาะจะใช้วัสดุทางเลือกทดแทน เช่น หลอดกระดาษ หลอดไม้ไผ่ หรือหลอดอะลูมิเนียม, การงดแจกถุงพลาสติกจากร้านค้า โดยหลายๆ ร้าน ใช้วิธีวางมัดจำค่ากล่องข้าวของทางร้าน หลังจากกินเสร็จ นำกล่องมาคืน ก็รับเงินกลับไป

แนวคิดง่ายๆ แต่ยั่งยืนเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะในเกาะเต่า แต่ยังเป็นการส่งเสริมผู้คนที่อยู่ทั้งในและนอกเกาะให้มีนิสัยรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น ไปพร้อมกับทยอยฟื้นคืนทะเลที่สะอาดสดใส และดำรงรักษาให้คงอยู่ต่อไปอีกแสนนาน

 

เขียน พรรณิภา จำปาดง

ภาพ Plas-Tao

 


อ่านเพิ่มเติม ทำความรู้จักอาชีพด้านความยั่งยืนในต่างประเทศ นวัตกรผู้ขับเคลื่อนโลกให้ดียิ่งกว่าเดิม

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.