Energy Observer เรือไฮโดรเจน ไม่ง้อน้ำมัน แล่นรอบโลก 7 ปี มาไทยแล้ว

เรือ Energy Observer ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน ไม่ง้อน้ำมัน แล่นรอบโลก 7 ปี มาไทยแล้ว มุ่งพิสูจน์พลังงานทดแทนแห่งอนาคตเป็นไปได้

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 เรือ Energy Observer เรือยอชต์เดินสมุทรสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเรือต้นแบบแห่งอนาคตที่มุ่งใช้พลังงานทดแทน โดยไม่ใช้พลังงานฟอสซิล เช่นน้ำมัน ได้มาเทียบท่าที่เมืองพัทยา ประเทศไทย แล้ว หลังจากออกเดินทางครั้งแรกจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2560 (2017) เป็นต้นมา
หลังจากนั้น เรือ Energy Observer ได้เริ่มต้นภารกิจเดินทางรอบมาแล้วกว่า 48,000 ไมล์ทะเล และแวะพักตามท่าเรือมาแล้วกว่า 71 แห่งในกว่า 40 ประเทศ รวมถึงที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ในฐานะห้องทดลองทางสิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นเพื่อผลักดันเทคโนโลยีเกี่ยวกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้รับการสนับสนุนจากนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส
เรือ Energy Observer พัฒนามาจากเรือคาตามารันซึ่งในอดีต ต่อขึ้นครั้งแรกในปี 1983 เพื่อใช้ในการแข่งขันเรือ เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือที่แล่นได้เร็วที่สุดในโลก และได้รับปลุกให้คืนชีพขึ้นมาใหม่ในฐานะเรือพลังงานสะอาดที่จะเป็นต้นแบบให้กับการออกแบบและสร้างยานพาหนะเพื่อการสัญจรทางน้ำได้อีกหลายลำในอนาคต
เรือ Energy Observer เป็นเรืออัจฉริยะที่แล่นโดยไม่ก่อมลพิษแก่โลกผ่านการขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมหรือกระแสน้ำ โดยมีจุดที่พิเศษคือความสามารถในการกักเก็บพลังงานไว้ในรูปของไฮโดรเจนที่มาจากน้ำทะเล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เรือลำนี้แล่นได้ด้วยตัวเองโดยสมบูรณ์
โดยพลังงานที่ขับเคลื่อนเรือลำนี้มาจากพลังงาน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำทะเล โดยพลังงานแต่ละส่วนจะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเรือ ดังนี้
– พลังงานลม จะใช้ใบเรือ Oceanwings ที่มีการออกแบบโดยเฉพาะในลักษณะคล้ายกับปีกของเครื่องบิน ควบคุมได้อัตโนมัติจากเซ็นเซอร์ลมที่ติดตั้งบนเรือ ซึ่งนอกจากการเอาพลังงานลมที่มาปะทะเพื่อใช้ขับเคลื่อนตามแบบดั้งเดิมได้แล้ว ข้อมูลจากเซ็นเซอร์สามารถนำมาใช้คำนวนการใช้พลังงานจากพลังงานโซลาร์และพลังงานไฮโดรเจนในขณะเดินทาง เพื่อกำหนดเส้นทางและความเร็วในการแล่นเรือที่เหมาะสมผ่าน การใช้พลังงานส่วนอื่นๆ ในตัวเรืออย่างมีประสิทธิภาพ
– พลังงานแสงอาทิตย์ บนตัวเรือจะมีการติดตั้งแผงโซชาร์เซลล์ในหลากหลายรูปแบบแนบติดไปเกือบทั่วพื้นที่เรือ เพื่อเก็บพลังงานในการขับเคลื่อนเรือด้วยระบบไฟฟ้าซึ่งในไปใช้การใช้แบตเตอรี่ Li-Ion ซึ่งอยู่บนเรือ คล้ายกับการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และนำไปใช้ในระบบการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งดูดจากน้ำทะเลใต้ลำเรือ เพื่อใช้ในการผลิตไฮโดรเจน ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญอันเป็นจุดเด่นของเรือลำนี้
.
– พลังงานไฮโดรเจน ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเหลือลำนี้ เทคโนโลยี Toyota Fuel Cell ที่ร่วมพัฒนาโดยโตโยต้า บริษัทยานยนต์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้เรือสามารถผลิตพลังงานและกักเก็บได้เองในรูปแบบไฮโดรเจนที่มาจากน้ำทะเล อันเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยให้เรือลำนี้แล่นได้ด้วยตัวเองโดยสมบูรณ์ บนเรือมีเครื่องแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำทะเล ก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จะถูกส่งไปเก็บไว้ในถังเก็บที่อยู่ส่วนทั้งสองข้างเรือทั้งหมด 8 ถัง รวมความจุ 332 ลิตร และนำไปขับเคลื่อนเรือต่อไป
อนึ่ง พลังงานไฮโดรเจนสามารถให้พลังงานมากกว่าแบตเตอรี่มากถึง 7.35 เท่า ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นพลังงานขับเคลื่อนยานพาหนะเช่นรถยนต์ เรือ หรือแม้กระทั่งเครื่องบิน ใช้ควบคู่กับพลังงานโซลาร์เซลล์ได้ในอนาคต ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ทำให้เกิดการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลได้อย่างยั่งยืน
ด้วยนวัตกรรมดังกล่าวนี้ ทำให้เรือEnergy Observer เป็นเรือต้นแบบที่ใช้พลังงานสะอาดแห่งอนาคต ‘ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้อย่างสมบูรณ์’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราสามารถนำพลังงานแห่งอนาคตมาใช้ได้ในปัจจุบัน และการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาพลังงานอย่างจริงจังและยั่งยืนโดยไม่ก่อมลพิษเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ
เรือลำนี้มีแผนเดินทางรอบโลกเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยจะแวะพักตามท่าเรือสำคัญๆ เพื่อพบปะกับสตรีและบุรุษผู้อุทิศแรงกายแรงใจให้กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อโลก
โดยในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2565 นี้ สมาชิกของเรือจะพำนักที่ประเทศไทยเพื่อถ่ายทำเรื่องราวเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยาของประเทศไทย โดยเจาะลงไปที่นโยบายด้านพลังงานของไทยที่มุ่งเน้นในเรื่องการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อสนับสนุนการพึ่งพาตนเองในด้านพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” ด้วยการพลิกโฉมระบบไฟฟ้าและการลงทุนอย่างมหาศาลในด้านพลังงานทางเลือก
ในเวลาเดียวกัน กรุงเทพฯ ก็มุ่งมั่นที่จะเป็น “เมืองหลวงแห่งการขนส่งระบบไฟฟ้าของเอเชีย” ที่มีปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคันภายใน พ.ศ. 2568 และ 15 ล้านคันภายใน พ.ศ. 2578 ตลอดจนมีการให้บริการเรือไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาสำหรับการเดินทางในเมืองหลวงแห่งนี้
ทั้งยังมีการนำพลังงานทางเลือกทุกรูปแบบและทุกความเป็นไปได้มาใช้เพื่อลดความจำเป็นในการนำเข้าพลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นสวนกังหันลม โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด โซลาร์ฟาร์ม หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ทศวรรษที่สำคัญของประเทศไทยและการพัฒนาทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เองที่เรือEnergy Observer ประสงค์จะถ่ายทอดออกมาในช่วงของการเดินทางล่องเรือรอบโลก
กำหนดการเดินทางของเรือEnergy Observer ในประเทศไทย
พัทยา วันที่ 25-29 เมษายน พ.ศ. 2565
หัวหิน วันที่ 1-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
เกาะสมุย วันที่ 23-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ถ้าใครได้เห็นเรือลำนี้ก็โบกมือไม้โบกมือทักทายกันได้นะครับ
.
National Geographic Thailand ได้รับการสนับสนุนการเดินทาง ภาพถ่ายและข้อมูลของเรือEnergy Observer จาก Accor ประเทศไทย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.energy-observer.org/about/mission
.
https://theindexproject.org/post/energy-observer
.
https://www.prachachat.net/world-news/news-920194
.
https://www.blognone.com/node/103953

 


อ่านเพิ่มเติม The Ocean Cleanup สตาร์ตอัปที่สร้างเรือดักเก็บขยะโซลาร์เซลล์ในเจ้าพระยาและทั่วโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.