เปลี่ยน กรุงเทพ ให้ดีขึ้นได้ ใช้ข้อมูลขับเคลื่อนเมือง กับงานวิจัยโดย UDDC

เปลี่ยน 4 จุดเจ็บปวดของคนกรุงเทพฯ เป็น Data เพื่อแก้ปัญหาเมืองในอนาคต

นิทรรศการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism” โดย UDDC ใน งาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 นำเสนอ การอ่านกรุงเทพและทำความเข้าใจเมืองด้วย “ข้อมูลสามมิติ” ที่เล่าเรื่องพฤติกรรมการเคลื่อนที่ ความหนาแน่น ของชุมชนเมือง และการเข้าถึง บริการเพื่อสาธารณะ (Public Facility) ในรูปแบบเทคโนโลยีฉายภาพลงบนวัตถุ หรือ Projection Mapping ที่สามารถนำไปออกแบบและฟื้นฟูเมืองทำได้ด้วยการแปลงข้อมูลเชิงพื้นที่เป็นภาพที่เห็นได้ชัด

ก่อนที่จะไปดูนิทรรศการนี้ เราอยากชวนคุยกับ UDDC ผู้จัดทำโครงการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism”

UDDC หรือ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการนำเสนอความรู้แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ผลักดันให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างพื้นที่นำร่องต้นแบบการฟื้นฟูเมืองประเภทต่างๆ (Urban Renewal Prototype) 

ข้อมูลเมืองเดินได้ (GoodWalk Thailand) หากระดับการเดินได้สูง เขตนั้นจะเป็นสีเขียว หากการเดินได้ต่ำก็จะลดลงไปเป็นสีเหลืองเข้ม

Nat Geo Thai ได้คุยกับ อาจารย์อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และผู้จัดการโครงการ GoodWalk Thailand เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ซึ่งเป็นโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะที่เป็นมิตรต่อผู้เดินถนน เล่าว่าในงาน SUSTAINABILITY EXPO หรือ SX 2022 นี้ ทาง UDDC จะเสนอข้อมูลที่เรียกว่า 4 Bangkokian’s Great Pain พร้อมข้อเสนอทางออกเพื่อให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

 

4 จุดเจ็บปวดของคนกรุงเทพฯ

4 Bangkokian’s Great Pain เป็นข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของโครงการ Open Data for a more inclusive city ที่ UDDC ทำร่วมกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สำรวจพฤติกรรมคนเมือง ว่ามีความคิดความเห็นอย่างไรกับเรื่องของเมือง ตัวอย่างของกรุงเทพมหานคร ในประเด็นปัญหาของเมือง สรุปออกมาได้ 4 Pain point หลักๆ ที่เป็นจุดเจ็บปวด และเป็นปัญหาที่ต้องแก้ 

อันดับ 4 การเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้

ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนไม่ใช่ในระบบการศึกษา แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ศูนย์เรียนรู้ ฯลฯ 

ความหนาแน่นของสาธารณูปโภคด้านการเรียนรู้ แบ่งตามเขตต่างๆ จะพบการกระจุกตัวในบางพื้นที่ ไม่ได้กระจายให้เข้าถึงได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม

“ประเด็นนี้มีความเหลื่อมล้ำประมาณหนึ่งในเรื่องของคุณภาพการศึกษา หรือเรื่องการให้บริการ แม้ว่าในกรุงเทพฯ จะมีศูนย์การเรียนรู้ มีห้องสมุดประชาชนค่อนข้างครบทุกเขต แต่ว่าหากดูการกระจายตัวตามแบบจำนวนประชากร ก็จะพบว่าสถานที่เหล่านี้กระจุกตัวเฉพาะในบางบริเวณเท่านั้น ก็คือในเขตพื้นที่แบบใจกลางเมือง เรามองว่าเมืองควรจะต้องให้บริการอย่างครบถ้วน ทั่วถึง และเท่าเทียม” อ. อดิศักดิ์กล่าว

อันดับที่ 3 บริการด้านสาธารณสุข

ข้อสรุปที่ทีมวิจัยพบคือ หลายพื้นที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ ที่หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพ เช่น หัวใจรั่ว หัวใจวาย แบบฉุกเฉินจะไม่สามารถเข้าถึงบริการระบบสาธาณสุข หรือบริการทางด้านสุขภาพได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจราจรที่ติดขัด และสถานที่ให้บริการ

กราฟิกแสดงความเสี่ยงในหลายเขตที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้ยาก ทำให้มีความเสี่ยงสูง (สีแดง)

“แม้กรุงเทพฯ จะมีศูนย์บริการสุขภาพอยู่แต่ว่ามันก็เป็นการรักษาหรือการบริการขั้นปฐมภูมิ คือไม่สามารถที่จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การรักษาได้ อีกอย่างคือปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีความเหลื่อมล้ำ และความเชื่อมั่น หรือเชื่อใจในแต่ละโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นที่มาของความพลุกพล่าน หรือ โอเวอร์โหลด ของบางโรงพยาบาลที่ได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือมาก ดังนั้น ก็เกิดปัญหาซ้ำซ้อนอีกว่า นอกจากปัญหาในเชิงของการเข้าถึงในยามฉุกเฉินแล้ว ปัญหาในเรื่องของการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายผู้คนทั่วไปจะประสบปัญหาเรื่องบริการผู้ป่วยจำนวนมาก”

ความขาดแคลนบริการด้านสาธารณสุขในหลายพื้นที่ ถูกแสดงด้วยสีเหลืองและสีแดง สื่อถึงความแห้งแล้งอันตรายราวกับทะเลทราย

อันดับที่ 2 การเดินทาง

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ทาง UDDC ได้ทำการสำรวจเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เกี่ยวกับเรื่องการจราจรติดขัด และการเดินทางที่ค่อนข้างไกลมากของแรงงาน เนื่องจากปัญหาของความไม่สมดุลกันระหว่างที่ทำงานกับที่อยู่อาศัย เกิดจากแหล่งที่ทำงานอยู่เฉพาะในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน หรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจ โดยทาง UCCD ได้นำประเด็นปัญหาดังกล่าวมาต่อยอดเป็นโครงการ Good Walk โครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี

ในพื้นที่ที่ศักยภาพการเดินได้ (GoodWalk Score) ต่ำ ประชาชนก็ต้องเสียค่าเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องทำงานไกลที่อยู่อาศัย

“เราเชื่อว่าการเดินทางในเมืองที่ดี ควรเป็นช็อตทริป หรือการเดินทางระยะสั้น เช่น เดินไปได้ในละแวกบ้าน เราอยู่ใกล้ที่ทำงานสามารถปั่นจักรยานไปได้ สามารถเดินไปได้ หรือขึ้นรถระบบขนส่งสาธารณะประมาณสัก 2-3 สถานี นี่ไม่ใช่ต่อรถ 3 สาย ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง กลายเป็นว่าเราสูญเสียเวลาที่ควรจะไปทำอย่างอื่น เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ อาจทำให้เกิดภาวะความเครียด หรือโรคต่างๆ ที่ตามมา สุดท้ายที่กระทบโดยตรง คือเรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับอัตรารายได้ในเมืองอื่นๆ ทั่วโลก 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 3 ของรายได้หมดไปกับเรื่องของการเดินทาง และมันเป็นสิ่งสูญเปล่า”

สิ่งที่ UCCD กำลังผลักดันคือ เรื่องของการสร้างย่านและเมืองที่สามารถเดินได้ ยึดโยงกับเรื่องของมิติเชิงพื้นที่ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ส่วนบุคคลในอนาคตได้ด้วย

อันดับที่ 1 การเข้าถึงพื้นที่นันทนาการ หรือสวนสาธารณะ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ เจอปัญหาฝุ่นควัน และ PM 2.5 ทำให้เกิดการพูดถึงต้นไม้ หรือพื้นที่สีเขียวไม่สามารถกรองอากาศกรองของเสียได้ อีกทั้งเกิดสถานการณ์เรื่องของการเจ็บป่วยกลุ่มโรค NCD (Non-Communicable Diseases) หรือภาวะโรคอ้วนลงพุงที่ไม่สามารถมีพื้นที่ออกกำลังกาย และต้องเสียเงินของตัวเองให้กับฟิตเนส

ข้อมูลระยะการเข้าถึงสวนสาธารณะ ไม่ได้วิจัยกันเฌแยๆ แต่ต่อยอดสู่โครงการชวนคนมาระดมไอเดียสร้างกรุงเทพให้เขียวขึ้น

“ในเมืองที่มีเมืองมาตรฐานเราไม่ควรต้องเสียเงินสำหรับการออกกำลังกาย เมืองที่ดีควรจะต้องทำให้กิจกรรมทางกายสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้พื้นที่สาธารณะ สวนสาธารณะในเมืองของเราได้ จึงเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนเรื่องของพื้นที่ สวนสาธารณะ หรือการสร้างให้กรุงเทพฯ มันเขียวขึ้น เขียวทั้งในเชิงของการทำกิจกรรมทางกายและเขียวทั้งในเชิงของพื้นที่เป็นแบบสีเขียวจริงๆ ที่จะมีความรื่นรมย์ทางสายตา หรือช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม อันนี้จึงเป็นแบบโจทย์ที่มาของการสร้างตัวโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022  ที่อมรินทร์ก็มาร่วมด้วย” เขาพูดถึงอีกโครงการทำ UDDC ทำร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการชวนคนรุ่นใหม่มาระดมไอเดียเพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เขียวขึ้น

เมื่อวางทาบข้อมูล 2 ชุด ความหนาแน่นของประชากร และระยะการเข้าถึงสวนสาธารณะ ก็ทำให้เกิดมุมมองที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ อ.อดิศักดิ์ยังมองว่า ตัวชี้วัดชุมชนเมืองที่ดี คือ ชุมชนที่คนในย่านนั้น สามารถที่จะใช้ชีวิตหรือเลือกใช้ชีวิตได้ มีโอกาสในการประกอบอาชีพ มีงานที่ดี มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและออกแบบเมืองที่ตนอาศัยอยู่ได้ด้วย

ในอนาคตต่อจากนี้ UDDC มีแผนทำโครงการที่ต้องการดึงศักยภาพของเมืองรองนอกจากกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมือง’ เพื่อส่งเสริมให้คนที่อยู่ในเมือง มีชีวิตที่ดีขึ้น เกิดอาชีพ เกิดการแข่งขันระหว่างเมืองขนาดเล็ก เพราะอนาคตประเทศไทยขึ้นอยู่กับเมืองรองและเมืองขนาดเล็กด้วย และอีกโครงการสำคัญคือ งานวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของเมือง กับโจทย์ว่า อนาคตของการเดินทางการเคลื่อนที่ในเมือง จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร 

“ในงาน SX ประเด็นแรกที่เราพูดถึงคือ ทำให้เห็นปัญหาที่ยึดโยงกันได้ง่ายขึ้น จากประเด็นใกล้ตัว แต่ไม่เน้นหนักในการพูดถึงปัญหาอย่างเดียว เพราะจะกลายเป็นว่าเราตกอยู่ในวังวนแห่งความเครียด ความกังวล หรือเศร้าจนเกินไป คิดว่าเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ แต่จะพยายามหาวิธีการ หรือนำเสนอทางออกว่า กรุงเทพมหานครจะดีกว่านี้ได้อย่างไร เมืองที่เราอยู่มันจะดีกว่านี้อย่างไร และจะยั่งยืนได้อย่างไรในอนาคต เราเห็นภาพชัดเจนว่าเราจะอยู่ในเมืองที่มีความหลากหลาย มีความซับซ้อน มีความผันผวนนี้ได้อย่างไร น่าจะเป็น นี่สิ่งที่คิดว่าจะได้เจอกันในงานนี้” อ. อดิศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามชมนิทรรศการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism” โดย UDDC ในโซน Better Community งาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 เข้าชมฟรีตลอดทั้งงาน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo/ 

 


อ่านเพิ่มเติม

ชวนระดมไอเดีย แฮคกรุงเทพฯ ให้เขียวไปด้วยกัน กับโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.