ชวนระดมไอเดีย แฮคกรุงเทพฯ ให้เขียวไปด้วยกัน กับโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022

ชวนระดมไอเดีย แฮคกรุงเทพฯ ให้เขียวไปด้วยกัน กับโครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022

‘สวน 15 นาที’ ที่ต้องการไอเดียของคนเมืองมาร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ​ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับย่านและเมือง

เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีคือสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน นอกจากภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาความต้องการในชีวิตประจำวันของผู้คนให้เกิดขึ้นได้จริงแล้ว เสียงจากประชาชนทุกคนยังเป็นพลังที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้ถูกจุด

โครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 : แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า จึงเกิดขึ้นเพื่อเปิดข้อมูลความเป็นไปได้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ไปพร้อมกับการระดมสมองเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเมืองร่วมกันผ่านการสร้างสรรค์ Inclusive Cities หรือเมืองที่ทุกคนร่วมมือกันอย่างเกื้อกูล โดย UddC ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีพัฒนาเมือง

ก่อนที่จะเข้าสู่โครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ได้บอกเล่าเรื่องราวของความสำคัญของการพัฒนาเมือง กระบวนการและปัจจัยสู่การสร้างพื้นที่แห่งคุณภาพชีวิต พร้อมกับการนำเสนอความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจากการ “เปิดข้อมูลเพื่อช่วยกันเปลี่ยนเมือง” และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระดับย่านและเมือง

เมืองของความร่วมมือ

เสียงของทุกคนมีค่า เพราะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับการพัฒนาและสร้างสรรค์โครงการที่เหมาะกับผู้อยู่ กระบวนการวิจัย “เปิดข้อมูลเพื่อช่วยกันเปลี่ยนเมือง” จึงเกิดขึ้นผ่านกระบวนการรวบรวม-สังเคราะห์-สร้างเครือข่าย จนได้ข้อสรุปที่ว่าต้นตอของปัญหาเกิดจาก ‘ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะของเมือง’ ทั้งการเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะ การใช้ชีวิตในย่านที่เดินได้ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ตามลำดับ

คำถามใหญ่ที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า “แล้วเขียวแค่ไหนถึงจะพอ?” แนวทางคำตอบซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีคือ บนพื้นที่ใช้งานได้จริง 9 ตารางเมตรต่อคน ภายในระยะ 500 เมตร แต่ในทางปฏิบัติย่อมตามมาด้วยปัจจัยหลากหลายทั้งพื้นที่ทางกายภาพ งบประมาณ วิธีการและการบริหารจัดการ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีกลไกและมาตรการที่เข้ามาร่วมในการจัดการเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้จริงและยั่งยืน

ไม่เพียงเฉพาะมาตรการทางผังเมือง อย่างการบังคับใช้ขัอบัญญัติท้องถิ่นหรือเครื่องมือทางผังเมืองที่ช่วยควบคุมความหนาแน่นของพื้นที่ จะสามารถแก้ปัญหาหรือจัดการกับพื้นที่สีเขียวได้ทั้งหมด หากแต่ยังต้องมีมาตรการในบริบททางสังคมที่ช่วยสร้างความตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อส่วนรวม อย่างการบังคับใช้หรือปรับแก้บทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานที่ดิน อำนาจ-บทบาทของท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม และภาษีอากร รวมทั้งมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยสร้างเครื่องมือทางสังคมซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการเป็นไปเพื่อส่วนรวมมากกว่าที่เคย

เพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองด้วยการระดมสมอง

ขั้นตอนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่อยู่ในขั้นลงมือทำ ณ​ ปัจจุบันโดยการทำงานของ UddC ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีพัฒนาเมือง ปฏิบัติได้ในขั้นการหาที่ดินที่มีศักยภาพ และการหาพื้นที่ยุทธศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดมาจากการทำงานวิจัยความเป็นไปได้ของพื้นที่ทั้งที่รัฐเป็นเจ้าของ และที่ดินรอการพัฒนาของเอกชน เป็นฐานที่ช่วยให้ความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์พื้นที่สวน 15 นาทีเริ่มต้นขึ้นได้

หากแต่ขั้นตอนที่เหลือ ได้แก่ การประเมินความเหมาะสมและสร้างกลไกในการปฏิบัติ, การออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง การดูแลรักษาและบริหารจัดการ และการติดตามประเมินผล คือโจทย์ที่อยากชวนระดมสมอง และร่วมแฮคกรุงเทพฯ​ ให้เดินทางไปสู่เป้าหมายการเป็นมหานครสีเขียว Green Bangkok 2030 ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 10 ตารางเมตรต่อคน การพัฒนาสวน 15 นาที ให้คุณภาพชีวิตเข้าใกล้ทุกคนได้เพียงระยะเดิน และที่สำคัญคือ จะต้องสร้างสมดุลให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม พร้อมกันกับความยั่งยืนถึงอนาคตอันไกล

ภายใต้เงื่อนไขทั้งเรื่องศักยภาพของพื้นที่ ความต้องการของประชาชน และการบริหารจัดการอย่างคุ้มค่ากับการลงทุนของทั้งกรุงเทพมหานครและเจ้าของที่ดิน นำมาสู่การชักชวนคนเมืองเข้ามาร่วมคิดและค้นหาข้อเสนอที่จะช่วยปลดล็อคการพัฒนาพื้นที่สีเขียว​ ซึ่งในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้จะพบกับข้อมูลเปิดของเมืองที่แสดงพื้นที่ศักยภาพจากทั้ง 50 เขต พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาที่จะมาร่วมพัฒนาไอเดียไปพร้อมกัน โดยข้อเสนอที่ชนะในการประกวดครั้งนี้จะได้รับรางวัลและผลักดันสู่การปฏิบัติจริงต่อไป

รายละเอียดการเข้าร่วมโครงการ

แนวทางในการประกวดภายใต้หัวข้อโครงการ ‘Greener Bangkok Hackathon 2022 : แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท A เน้นผลลัพธ์ทางด้านการออกแบบ เพื่อพัฒนาในเชิงกายภาพของพื้นที่สีเขียว รวมทั้งเป็นต้นแบบเพื่อนำไปต่อยอดขยายผลต่อไป และประเภท B เน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ โดยเน้นในแนวทางการทำงานเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่าง หรือเชิงแนวคิดในการดำเนินงานของผู้รับผิดชอบพื้นที่

ผู้ที่สนใจสมัครสามารถฟอร์มทีมที่มีสมาชิกไม่เกิน 5 คน โดย 1 ทีมสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ไม่จำกัดจำนวน โดยจะต้องลงสมัคร 1 ครั้งต่อ 1 ชิ้นงาน โดยมีข้อแนะนำคือ สมาชิกในทีมควรมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายครอบคลุมศาสตร์ในการพัฒนาเมือง เช่น สถาปัตยกรรม นโยบายสาธารณะ กฎหมาย การเงิน บริหารรัฐกิจ หรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่สำคัญคือ ทั้งทีมจะต้องสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้งโครงการ ตั้งแต่กิจกรรม Incubation Workshop & Hackathon ในวันที่ 24 กันยายน, กิจกรรมพัฒนาแนวคิด ระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน และรอบสุดท้าย ซึ่งได้แก่ กิจกรรมการนำเสนอผลงานในวันที่ 1 ตุลาคม, กิจกรรมเปิดรับผลโหวตผ่านทางช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 2-10 ตุลาคม และกิจกรรมประกาศผลรางวัล ในวันที่ 15 ตุลาคม

รายละเอียดเพิ่มเติมในการเข้าร่วมกิจกรรม สามารถติดตามได้ที่แฟนเพจ UDDC – Urban Design and Development Center


อ่านเพิ่มเติม กัปตันการบินไทยผู้ใช้เวลาว่างปลูกต้นไม้ให้กรุงเทพฯ

Recommend