กลิ่นอายของธรรมชาติที่อบอวลไปด้วยวัฒนธรรมและประเพณีโบราณ ชวนให้เรานึกถึงจังหวัดเล็ก ๆ ในแถบภาคเหนืออย่าง จังหวัดลำพูน อาจเป็นเพราะบรรยากาศโดยรวมของบ้านเมืองที่มักอยู่กันแบบสบาย ๆ ไม่หวือหวามากนัก พื้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นทางผ่านนอกสายตาของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่
เนื่องจากมีกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลางอยู่น้อย ทำให้ผู้คนมักอาศัยอยู่แต่ในตัวบ้าน ในเมืองจึงเต็มไปด้วยถนนที่ผู้คนบางตา จนบางครั้ง ความเงียบสงบนี้ก็อาจทำให้จังหวัดลำพูนมีบรรยากาศที่เงียบเหงาไปบ้าง ทั้งที่ความจริงแล้วจังหวัดลำพูนนั้นเต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน
การจะถนอมเสน่ห์อันน่าหลงใหลให้คงอยู่ขณะที่กระแสแห่งความแปรเปลี่ยนไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วนั้นดูเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับกลุ่ม “ลำพูน ซิตี้ แลป (Lumphun City Lab)” ศูนย์รวมผู้คนในจังหวัดลำพูนที่มุ่งมั่นจะนำเสนอเมืองในรูปแบบใหม่ไปพร้อม ๆ กับการสงวนไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
จากขยะชุมชนสู่แสงสว่างของโคมยี่เป็ง
ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กร ลำพูน ซิตี้ แลป จึงมุ่งหวังต่อยอดและพัฒนาเมืองให้เติบโตทันตามความเปลี่ยนแปลงในสังคมโดยคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเดิม ทั้งนี้เพื่อทำให้จังหวัดลำพูนกลายเป็นเมืองที่ควรค่าแก่การแวะมาพักผ่อน พวกเขาเล็งเห็นว่าการเติบโตของวัฒนธรรมนั้นเริ่มต้นจากคนในชุมชนที่มีแนวทางการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง เช่นประเพณี “โคมแสนดวง” หนึ่งในผลผลิตขององค์กรที่ผนวกเสน่ห์พื้นเมืองลำพูนเข้ากับความยั่งยืนของชุมชนได้อย่างงดงาม
แสงไฟจากโคมนับแสนดวงที่เรียงรายละลานตาในช่วงเดือนตุลาคมจากเทศกาลโคมแสนดวงหรือประเพณีเดือนยี่เป็งนั้นถูกจัดขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวเมือง ภาพของแสงโคมที่ส่องสว่างไปทั่วนี้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาชมความสวยงามของโคมหลากสีที่ถูกสร้างสรรค์อย่างประณีต ไม่ว่าจะเป็นโคมเสมาธรรมจักร โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยว เป็นต้น โคมเหล่านี้บางโคมทำมาจากโครงไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยผ้าดิบหรือกระดาษสา แต่งแต้มด้วยสีเงินตัดกับทอง
เดิมที เทศกาลโคมแสนดวงคือกุศโลบายของวัดพระพระธาตุหริญภุญชัยฯ ที่หวังให้งานเทศกาลนี้ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว, สร้างอาชีพและรายได้ให้กับได้ให้กับชุมชนโดยใช้การประดิษฐ์โคมถวายขายในช่วงเทศกาล กลุ่ม ลำพูน ซิตี้ แลป ที่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนและเข้าใจถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของลำพูนเป็นอย่างดีจึงได้นำงานเทศกาลมาต่อยอดโดยผนวกรวมเข้ากับแนวคิดเรื่องกระบวนการหมุนเวียน หรือโมเดลในเรื่อง “เก็บกลับและรีไซเคิล” เพื่อนำทรัพยากรเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชนในการรวบรวมขวดพลาสติก แล้วจึงนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยพลาสติกก่อนที่จะนำมาประดิษฐ์เป็นโคมที่ใช้ในงานเทศกาล
นำของเก่ามาเล่าใหม่
คงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจหากเราจะบอกว่าโคมที่แสนสวยงามเหล่านี้ทำมาจากขวดพลาสติกเพราะหากเราพิจารณาถึงลักษณะโคมแล้ว รูปร่างภายนอกของมันไม่หลงเหลือร่องรอยใดที่พาให้เรานึกถึงลักษณะเดิมของขวดเลยแม้แต่น้อย นั่นเป็นเพราะชนิดพลาสติกที่อยู่ในขวดนั้นเป็นพลาสติกแบบพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และแปรรูปได้หากได้รับการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม
อย่างการทำโคม ขั้นแรกจะต้องเริ่มจากการคัดแยกทั้งฝาและฉลากออกจากตัวขวดก่อนจะนำไปบดให้กลายเป็นพลาสติกจิ๋วขนาดเพียง 5 มิลลิเมตร หลังจากนั้นจึงนำไปหลอมรวมกันแล้วยืดให้กลายเป็นเส้นใยพลาสติกที่สามารถนำไปถักทอเป็นผืนผ้าเพื่อใช้ในการทำโคม
เปิดบทใหม่สู่ศักราชแห่งความยั่งยืน
ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าภูมิใจในการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลงตัว มีสิ่งของมากมายที่ถูกสร้างมาจากการรีไซเคิลวัสดุชนิดอื่นเพื่อลดปริมาณขยะของโลก อย่างการทำถุงหรือกระถางต้นไม้จากพลาสติก หรือแม้กระทั่งโคมจากขวดพลาสติก สิ่งเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นต่างมีจุดประสงค์เพื่อให้การพัฒนาของชุมชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงอยู่ถาวร
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกยุคสมัย เหล่าคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าและทันตามโลก แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งมีค่าอย่างวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมอยู่คู่ไปอย่างยั่งยืน ความเก่าแก่ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างๆ ที่ตกตะกอนกลายเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมผสมผสานเข้ากับความทันสมัยของโรงงานและโลกธุรกิจจนกลายเป็นส่วนสำคัญในการขยายพื้นที่ให้กับเหล่าช่างฝีมือจนถึงชุมชนได้แสดงศักยภาพ นี่อาจเป็นหนทางสู่ความหวังว่าลำพูนจะกลับมามีชีวิตชีวาเมื่อผู้คนต่างออกมารวมมือกันพัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองล้นเสน่ห์จนใคร ๆ ก็ต้องแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม
ผลงานการสร้างสรรค์ของพวกเขาได้ถูกนำมาบอกเล่าจะจัดแสดงที่นิทรรศการ Lamphun City Lab ในโซน Better Community งาน Sustainability Expo 2022 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 เข้าชมฟรีตลอดทั้งงาน
เรื่อง พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช