เปลี่ยนกรุงเทพให้ดีขึ้นกับนิทรรศการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism”

เปลี่ยนกรุงเทพให้ดีขึ้นกับนิทรรศการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism”

แบ่งปันข้อมูล ร่วมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น
กับนิทรรศการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism”

เราใช้ชีวิตในทุกวันบนโลกที่รายล้อมไปด้วยข้อมูล จะดีกว่าไหม ถ้าเราได้ลองหยิบข้อมูลหรือรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตมาแบ่งปันกัน แล้วแปลงข้อมูลเหล่านี้ให้ย้อนกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและชุมชน

นี่คือข้อความที่ UddC หรือศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง สื่อสารผ่านนิทรรศการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism” ด้วยการพลิกวิธีอ่านกรุงเทพฯ และทำความเข้าใจเมืองผ่านกิจกรรมอินเตอร์แอคทีฟ กระตุ้นความรู้ความเข้าใจผ่านการแบ่งปันและมองเห็นข้อมูลจากภาพที่เห็นจริง

ภายในพื้นที่จัดแสดงงานแบ่งออกเป็นสองส่วน เริ่มต้นส่วนแรกด้วยประตูขนาดยักษ์ที่เป็นได้ทั้งหน้ายิ้มหรือหน้าเศร้า แล้วค่อยส่งเราเข้าสู่ห้องแห่ง ‘ข้อมูลสามมิติ’ บอกเล่าพฤติกรรมการเคลื่อนที่ ความหนาแน่นของชุมชนเมือง และการเข้าถึงบริการเพื่อสาธารณะ (Public Facility) ผ่านเทคโนโลยีการฉายภาพลงบนวัตถุ หรือ Projection Mapping ทำให้ผู้ชมงานเห็นรูปแบบของการกระจุกตัวและกระจายตัวบนแผนที่กรุงเทพฯ​ ในมุมมองที่กว้างขึ้นและรอบด้าน กระตุ้นต่อมความช่างสังเกต และสามารถนำข้อมูลจากตาเห็นมาวิเคราะห์ได้แบบง่ายขึ้น

โดยข้อมูลที่นำมาจัดแสดงภายในห้อง บอกเล่าชีวิตท้าทายที่กรุงเทพฯ จาก 4 จุดเจ็บปวดผ่านงานศึกษาวิจัยของโครงการ Open Data For a More Inclusive City ที่ UddC ทำร่วมกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สำรวจพฤติกรรมคนเมืองกับความคิดเห็นที่มีต่อเมืองที่อยู่

พบว่าประเด็นความท้าทายที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตภายในกรุงเทพ เรียงตามลำดับมากไปหาน้อย ได้แก่ การเข้าถึงพื้นที่นันทนาการหรือสวนสาธารณะ, การเดินทาง, บริการด้านสาธารณสุข และสุดท้ายการเข้าถึงพื้นที่การเรียนรู้ เราสามารถมองเห็นความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนผ่านแผนภาพข้อมูลที่นำเสนอบนแผนที่ และนำไปสู่การค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมและเท่าเทียมตลอดทั้งเมือง

ส่วนที่สอง ออกจากห้องมาสู่พื้นที่แห่งการแบ่งปันความคิดเห็นของผู้เข้าชมงาน กิจกรรมกระตุ้นให้พวกเรากล้าที่จะออกความคิดเห็นกับประเด็นหัวเรื่องในสังคมครอบคลุมทุกมิติทั้งสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผ่านทางคำถาม 10 ข้อ ที่ให้ทุกคนมาร่วมกัน ติดสติ๊กเกอร์ Yes (ใช่) หรือ No (ไม่ใช่) วิธีง่ายๆ เช่นนี้ก็เป็นอีกรูปแบบของการการแสดงให้เห็นมุมมองในภาพที่ชัดเจน นำไปสู่การวิจัยและวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์วิธีการแก้ไขปัญหาต่อไป

เพราะความคิดเห็นของทุกคนมีค่า แม้แต่หนึ่งจุดข้อมูลก็มีความหมาย ‘เพราะเมืองประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย การพัฒนาจึงเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน การเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และความไม่แน่นอน’ เพียงเริ่มจากการสังเกตและจุดประกายความคิดจากเรื่องใกล้ตัว แล้วแบ่งปันความคิดเห็นเหล่านี้ออกไป ข้อมูลจากทุกคนจึงนับเป็นทรัพยากรชั้นดี ที่จะนำไปสู่การเดินทางสู่เป้าหมายร่วมกันที่คุณภาพชีวิตของผู้คนภายในเมือง

ติดตามชมนิทรรศการ “ขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล Data Driven Urbanism” โดย UDDC ในโซน Better Community งาน SUSTAINABILITY EXPO 2022 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 เข้าชมฟรีตลอดทั้งงาน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/SX.SustainabilityExpo/ 

Recommend