ระหว่างที่ฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ล่องลอยปะปนอยู่ในอากาศ คุณกำลังทำอะไร?
ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน?
อ่านรีวิวเพื่อมองหาเครื่องฟอกอากาศดีๆ สักเครื่อง?
ดาวโหลดแอพฯ บอกคุณภาพอากาศ พกหน้ากากกันฝุ่น และหามาตรการแบบวันต่อวันเพื่อป้องตัวเองให้ดีที่สุด?
เอิ๊ก-ธีธัช รังคสิริ เคยเป็นโรคภูมิแพ้จึงต้องทำแทบทุกข้อ แถมโอกาสนี้เขายังทำทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดฝุ่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “การเผา”
“ผมไม่ได้บอกว่า การเผาเป็นสาเหตุเดียว แต่ผมเลือกศึกษาปัจจัยการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นหัวข้อ และอาศัยพื้นฐานจากงานประจำ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งทำธุรกิจเพื่อสังคม จึงพอมีเครือข่ายเกษตรกรอยู่บ้าง และจากการพูดคุยเกษตรกรก็ยอมรับว่ายังใช้วิธีเผาไร่น่า หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ ผมจึงอยากศึกษาว่ามีปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง”
ประกายของการคิดหาโมเดลเพื่อยุติ “การเผา” เริ่มจากตรงนั้น และความสนใจเดียวกันนี้ยังมีเพื่อนร่วมงานที่มูลนิธิ คือ พัตเตอร์ – ภัทรารัตน์ ตั้งนิสัยตรง และเพื่อนๆ สมาชิกอีกจำนวนหนึ่งที่ลงขันทางความคิด
ก่อนที่ทั้งหมดจะเป็นจุดร่วมของธุรกิจที่ชื่อ ดีไฟร์ (Defire) แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาการเผาไร่นาซึ่งต้องการลดมลพิษและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวนาควบคู่ไปด้วยกัน
ลองจินตนาการง่ายๆ ว่าการเผาไร่นาคือวิถีปกติหลังการเก็บเกี่ยว จากนั้นจะมีกระบวนการหนึ่งเพื่อส่งเสริมให้คนกลุ่มเดิมเลิกเผา
การยุติกิจกรรมนั้น จะเกิดสินค้าหรือบริการหนึ่งที่ชื่อ “คาร์บอนเครดิต” และเป็นสินค้าดังกล่าวนี่เองซึ่ง เป็นที่ต้องการขององค์กรธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งต้องใช้คาร์บอนเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนองค์กรเพื่อสู่การเป็น “Carbon Neutrality” หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นแนวทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต้องเดินทางไปให้ถึง
“ผมนิยามตัวเองว่า เราคือคือ Carbon Credit Developer หรือ คนพัฒนาคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตรกรรม เราเข้าไปให้ความรู้ส่งเสริมเพื่อให้เกษตรกรที่ลงทะเบียนเลิกเผา ทำให้เขาเข้าใจว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตก๊าซเรือนกระจก จากนั้นก็จะมีกระบวนการวัดผลทางคาร์บอนเครดิต ซึ่งเมื่อได้มาก็จะมีโบรกเกอร์ หรือบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ามาขอซื้อ ดังนั้นเราจึงไม่ใช่แค่โบรกเกอร์ที่เอาผู้ซื้อมาเจอกับเกษตรกร แต่เราสร้างกระบวนการที่จะเลิกเผา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ธีธัช ให้นิยามดีไฟร์
ภัทรารัตน์ กล่าวเสริมว่า ดีไฟร์ไม่ได้ไปโทษคนที่เผา ไมได้โทษความเชื่อผิดๆ ของเกษตรกร แต่ไปอธิบายว่ามีวิธีไหนได้บ้าง สามารถปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะช่วยลดมลพิษ ลดโลกร้อนแล้ว ยังทำให้สุขภาพของเกษตกรเองดีขึ้น
ประโยชน์จากการ “ไม่เผา” จึงเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งจากงานวิจัยพบหากลดเผาได้ จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 0.3 – 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) ซึ่งสามารถคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตที่มีราคาสูงถึง 8-12 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนและนอกจากการขายคาร์บอนเครดิตแล้ว เกษตรกรยังสามารถได้รายได้เพิ่มเติมจากการสร้างมูลค่าจากการขายเศษซากทางการ การประเมินคุณภาพดินและจุลินทรีย์ที่ดีขึ้นภายหลังจากการเลิกเผา ซึ่งส่งผลถึงจำนวนผลผลิตที่มากขึ้นในที่สุด
ถึงตรงนี้ การเดินทางของ “ดีไฟร์” ไม่ต่างจากสตาร์ทอัพ และธุรกิจเพื่อสังคมคมรายอื่นๆ ที่การดำเนินธุรกิจไม่ได้ราบเรียบ เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่คือ “สิ่งใหม่”
ธีธัช เล่าว่า ดีไฟร์คิกออฟไอเดียเมื่อช่วงปี 64 ก่อนจะค่อยๆ เดินสายประกวด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไอเดียนี้เกิดขึ้นจริงได้
“เราเอาไอเดียไปแข่งขัน เพื่อดูว่ามันไปได้จริงไหม สมเหตุสมผลไหม และการประกวดแต่ละครั้งก็จะได้คอมเมนต์จากกรรมการให้เรามาปรับปรุงจนเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจจริงๆ”
จากกระดาษจดไอเดียจึงแปลงร่างเป็นสไลด์ที่จะใช้นำเสนอบนเวที ก่อนจะค่อยๆ เติมเต็มเป็นแอพพลิเคชั่น การลงทะเบียน เทคโนโลยีขั้นตอนการวัดคุณภาพดินก่อน-หลัง เพื่อประเมินคุณภาพดิน สูตรการคำนวนคาร์บอนเครดิต จับมือทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นสาย Tech เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อกับฝั่งลูกค้า เพื่อให้สมมติฐานกลายเป็น “สินค้า” ที่มีผู้ต้องการจริง
ทุกวันนี้บนนามบัตรของธีธัช เขียนตำแหน่ง ว่า Co-Founder & CEO ขณะที่ภัทรารัตน์ เป็น Co-Founder & CBDO (Business Development) ทั้งสองคนสละความมั่นคงจากงานประจำสู่การทำบริษัท ดีไฟร์ เทค จำกัด อย่างเต็มตัว มีทีมงานหลักสิบ เพื่อลงพื้นที่สร้างสัมพันธ์กับชาวบ้าน หาเครือข่ายทางวิชาการ ผู้นำชุมชนในท้องถิ่น ขณะที่ตัวพวกเขาเองก็มุ่งกับการหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ทั้งสาย Tech และเงินทุนเพื่อต่อเติมความฝันของการ “หยุดเผา” ให้ออกจากหมอกควันและชัดเจนมากขึ้น
พล็อตเรื่องของธุรกิจเพื่อสังคมที่ค่อยๆ แข็งแรงน่าจะเป็นแบบนั้น หากเมื่อไม่นานมานี้ ดีไฟร์ (Defire) กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม จากการเป็นผู้ชนะในรายการ Win Win WAR Thailand (สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน) Season 4 รายการเรียลลิตี้โชว์ เฟ้นหาสุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน ซึ่งทำให้พวกเขาได้เงินรางวัล 2 ล้านบาทเพื่อต่อยอดธุรกิจ
เคล็ด (ไม่) ลับที่กรรมการ และผู้ชมต่างลงความเห็นคือการที่ดีไฟร์ได้ลงมือทำ ให้เกิดผลจริง และที่น่าสนใจคือการที่พวกเขาไปบอกใครสักคนให้เปลี่ยนพฤติกรรม และวลีง่ายๆ แต่กินใจอย่าง “เปลี่ยนอากาศดีให้กลายเป็นเงิน”
อย่าลืมว่า การเผาคือการลงทุนที่น้อยที่สุดในการเริ่มทำเกษตรรอบใหม่ เมื่อมีใครก็ไม่รู้ไปบอกให้เขาหยุดเผา ยิ่งทำได้ยาก
แนวคิดที่พวกเขาใช้จึงเป็น Stop Hunger Stop Fire ซึ่งหมายความว่า ต้องทำให้ปากท้องเกษตรกรอิ่มก่อน ผลลัพธ์เรื่องธรรมชาติจึงตามมา
“ผมเชื่อเรื่อง Stop Hunger Stop Fire เราหวังว่าเมื่อชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นแล้ว เขาจะสามารถอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาได้ดียิ่งขึ้น” ฟังดูอาจเป็นประโยคที่เรียบง่าย แต่นี่คือเหตุผลที่เราตื่นขึ้นมาทำโปรเจกต์นี้”
“เราพูดกับชาวบ้านด้วยภาษาธรรมดา ง่ายๆ พูดถึงเรื่องโลกร้อน พูดถึงเรื่องดิน ฟ้า อากาศ ซึ่งทุกคนรู้ว่าปัจจุบันมันไม่เหมือนเดิม ทำให้เขาเชื่อว่าเรามาทำให้อากาศดีมันขายได้ และเขาก็มีส่วนร่วมกับสิ่งนี้ได้” ธีธัช เล่าถึงบรรยากาศการพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกร
ภัทรารัตน์ บอกว่า ประสบการณ์จากการทำงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ทำให้มีทักษะในการลงพื้นที่กับชุมชนตลอด จึงมีพื้นฐานว่าการทำงานกับชุมชนควรมีปัจจัยอะไรเพื่อให้การทำงานราบรื่นที่สุด นอกจากนี้ยังต้องเชื่อมกับภาคธุรกิจ รัฐ เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร เห็นถึงความจริงใจ และมั่นใจว่าความฝันที่เล่าเราออกไปมันเกิดขึ้นจริง
ทุกคนรู้ดีว่า อากาศดี และการเลิกเผาคือเป้าหมายที่ยึดไว้เป็นความสำคัญลำดับแรก แต่ก็ปฏิเสธไมได้ว่าตัวเลขของรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับและบริษัทจะทำได้ ทำให้ดีไฟร์ ต้องหาโอกาสที่จะ Fight ต่อ เพื่อความอยู่รอดของทั้งธุรกิจและความฝัน
“อย่างแรกคือต้องทำไอเดียให้ชาวบ้านยอมรับ และไปหาฝั่งลูกค้าเพื่อให้รู้ว่ามีคนต้องการจริง ธุรกิจถึงจะเริ่ม คำถามแรกที่เราจะถามในทุกๆไอเดียคือ ทำแล้ว ‘ชาวบ้านได้อะไร’ เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่า การไม่เผาจะเปลี่ยนอากาศดีให้เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริง”
“กระบวนการของการทำคาร์บอนเครดิตมีอยู่แล้ว เปรียบเหมือนการทำออร์แกนิค ที่มีขั้นตอนบอกเราว่าต้องทำอะไรบ้าง และเราก็เดินตามขั้นตอนนั้น จากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีมาวัดผล ยกตัวอย่างการสุ่มตรวจที่ดินเพื่อดูว่าค่าเฉลี่ยระหว่างดินที่เคยผ่านการเผากับดินที่ไม่เผาต่างกันอย่างไร จากนั้นตัวเลขที่วัดได้ก็จะถูกคูณกับราคาคาร์บอนเครดิตในขณะนั้น ซึ่งราคาก็จะขึ้นลงตามสภาวะตลาด”
เมื่อได้เงินมา ส่วนหนึ่งก็จะหักเป็นค่าดำเนินการของดีไฟร์ 20% เช่นเดียวกับการคืนให้เกษตรกรแต่ละรายตามจำนวนคาร์บอนเครดิตที่ผลิตได้
“ปัจจุบันการทำคาร์บอนเครดิตมีเยอะ แต่ในภาคเกษตรเราถือเป็นเจ้าแรกๆ และเราต้องการให้มันสมบูรณ์ที่สุด ทั้งการออกแบบเทคโนโลยีให้สัมพันธ์กับผู้ใช้ การมี Data ของผู้ลงทะเบียน การสำรวจว่าลูกค้าจะยอมรับหรือไม่ และต้องคำนวนความเป็นไปได้ของธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่บอกให้เกษตรกรทำ จะเปลี่ยนเป็นรายได้ได้จริงๆ”
ผู้ก่อตั้งดีไฟร์ บอกว่า คือการทำสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องนึกไม่ออก ให้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง สร้างความเชื่อมั่นทั้งระบบการลงทะเบียน การใช้เทคโนโลยี และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต
ปัจจุบันดีไฟร์มีเกษตรกรลงทะเบียนในระบบแล้ว 10,000 ราย และในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 20,000 ราย ก่อนจะเพิ่มเป็น 4 เท่าคือ 80,000 รายในปีถัดไป จากจำนวนเกษตรกรกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ
“เรายังจำวันนั้นได้ วันแรกที่เราไปพูดเรื่องแพลตฟอร์ม พูดเรื่องลงทะเบียน ไม่มีใครอยากฟังเลย แต่ที่เขาอยากฟังคือ เขาจะสามารถทำให้ลูกๆ มีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร และถ้าไม่เผาจะทำอะไรได้บ้าง และวันนี้เมื่อเราทำได้ ผมสังเกตเห็นสายตาแห่งความหวัง เพราะเขาเชื่อว่าเราจะมาช่วยเขาให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จริงๆ อย่างน้อยก็เรื่องการลดฝุ่น และการถูกตีตราว่าเป็นผู้ร้ายทำลายมลพิษ”
เรื่องคาร์บอนเครดิตนั้นมาทีหลัง มันจะสำเร็จหรือไม่ ไม่มีใครรู้หรอก แต่สิ่งที่ต้องทำให้ได้แน่ๆ คือการลดการเผา
นี่แหละคือเป้าหมายของ “ดีไฟร์”
เรื่อง อรรถภูมิ อองกุลนะ
ภาพ Defire, เอกรัตน์ ปัญญะธารา