เหตุใดชาวอะบอริจิน ออสเตรเลีย จึงเลือก เผาป่า เพื่อรักษาแผ่นดินและบ้านเกิด

เหตุใดชาวอะบอริจิน ออสเตรเลีย จึงเลือก เผาป่า เพื่อรักษาแผ่นดินและบ้านเกิด

ชาวอะบอริจินในออสเตรเลียรื้อฟื้นแนวปฏิบัติโบราณของการชิง เผาป่า เพื่อสงวนรักษาและฟื้นฟูดินแดนบ้านเกิด และช่วยค้ำจุนชุมชนของตน

แสงแรกของวันต้นเดือนพฤศจิกายน ใกล้บริเวณที่เรียกว่า โกรกธารเดฟแอดเดอร์ บนชายขอบด้านตะวันตกของพื้นที่คุ้มครองชนพื้นเมืองวอร์เดเคน ความร้อนอบอ้าวแบบเขตศูนย์สูตรของออสเตรเลียเหนือ พุ่งปะทะอารีเจย์ นาบาร์ลัมบาร์ล ขณะเขากระโดดลงจากเฮลิคอปเตอร์ แล้วสาวเท้าไปทางกองไฟ เปลวเพลิงเตี้ยๆ ทอดคดเคี้ยวแผดเผาพื้นที่ชุ่มน้ำแห้งผาก เหลือไว้แต่ผืนดินไหม้เกรียมกับต้นเสม็ดขาวที่เต็มไปด้วยแผลไหม้ดำเป็นปื้น ชายหนุ่มวัย 25 ปี เดินเรียงแถวตามหลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอีกสองนาย เสียงกระหึ่มของเครื่องเป่าใบไม้ดังกลบเสียงปะทุของไฟที่ เผาป่า ทั้งสามเดินเลาะแนวขอบไฟอย่างเป็นแบบแผน พลางเป่าเศษใบไม้ตามขอบให้ปลิวกลับเข้าไปในกองไฟ เพื่อกันไม่ให้ไหม้ลามออกมา

พวกเขาเป็นหนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชนพื้นเมืองสามทีมในพื้นที่ห่างไกลแถบนี้ของภูมิภาค อาร์เนมแลนด์ ห่างจากเมืองดาร์วินไปทางตะวันออกราว 260 กิโลเมตร และกำลังสู้กับไฟป่าปลายฤดูที่เกิดจากฟ้าผ่า แล้วแตกเป็นนิ้วไฟลามออกไปหลายทิศทาง

อีนอช นัดจาเมร์เรก ปฏิบัติงานดับไฟป่าแห่งหนึ่งในช่วงปลายฤดูแล้ง ทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าใช้เครื่องเป่าใบไม้เพื่อผลักไฟกลับเข้าไปในกอง และเป่าเศษใบไม้ออกให้พ้นเส้นทางไฟ

นาบาร์ลัมบาร์ลหยุดพักครู่หนึ่งเพื่อประเมินสถานการณ์ไฟในพื้นที่รับผิดชอบ เขาเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าตั้งแต่เรียนจบมัธยมปลาย งานนี้เปิดโอกาสให้เขาย้ายจากเมืองที่ไปเรียนหนังสือ กลับมาอยู่ดินแดนของบรรพบุรุษ ในช่วงแปดปีนับจากนั้น เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับไฟป่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นเรื่องราวทอดข้ามเวลาหลายหมื่นปีที่ชนเผ่าของเขาอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ เขาเตะเปลือกไม้คุไฟแผ่นหนึ่งให้หลุดจากโคนไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟเกาะติดอยู่

“ดูดีอยู่ครับ เพราะมีการชิงเผากันก่อนแล้ว และมีลำห้วยอยู่ใกล้ๆ ด้วยสายหนึ่ง” เขาอธิบาย นาบาร์ลัมบาร์ล ปาดเหงื่อที่คิ้ว เพ่งมองฝ่าควันไฟออกไป ดินแดนนี้เป็นบ้านของชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงวอลลารูสีดำ ควอลล์ถิ่นเหนือ และนกกระจิบหญ้าคอขาว และยังหลากล้นด้วยน้ำตกตระการตา หมวดหินต่างๆ แม่น้ำ และผืนป่าที่ยังไม่ถูกรุกล้ำ แม้ขณะไฟไหม้อยู่ก็ยังดูงดงามอย่างไม่อาจปฏิเสธ

เหยี่ยวดำตัวหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในนกนักล่าสามชนิดที่เรียกรวมกันว่า “เหยี่ยวเผาป่า” โฉบวนเหนือกองไฟที่พวกพรานจุดขึ้นก่อนหน้านี้ บางครั้งเหยี่ยวเหล่านี้จะรวมฝูงกันหลายร้อยตัวเพื่อล่ากินแมลง กิ้งก่า และสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ที่หนีไฟ เป็นที่รู้กันว่า เหยี่ยวเหล่านี้จะคาบกิ่งไม้ติดไฟออกไปไกลเกือบหนึ่งกิโลเมตร เพื่อจุดไฟกองใหม่ขึ้นมา

ไฟป่าที่ลุกไหม้อยู่นี้เป็นหนึ่งใน 53 แห่งที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในเขตวอร์เดเคนต้องรับมือเมื่อปีที่แล้วในช่วงปลายฤดูแล้ง ทั้งนี้ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ไฟป่าจะโจมตีอย่างไม่หยุดหย่อน ทุ่งหญ้าสะวันนา เขตร้อนเป็นภูมิทัศน์ที่ติดไฟง่ายที่สุดบนพื้นพิภพ และพื้นที่ถึงหนึ่งในสามของออสเตรเลียเหนือถูกเผาวอดทุกปี

แต่ไฟป่าหาได้เป็นเพียงตัวปัญหาที่นี่ แต่ยังเป็นคำตอบด้วย

ในช่วงอากาศเย็นตอนต้นฤดูแล้งของออสเตรเลียเหนือ เมื่อความชื้นอ้อยอิ่งอยู่เหนือพื้นดิน นาบาร์ลัมบาร์ลกับสหายเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่รบรากับไฟป่า แต่จะจุดไฟชิง เผาป่า กันแทน จากเดือนเมษายนถึงกรกฎาคมของทุกปี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะออกเดินหลายร้อยกิโลเมตรโดยใช้คบจุดไฟ (drip torch) เผาผืนดิน และดำเนินการชิงเผา (prescribed burn) จากทางอากาศ โดยการโปรยวัสดุจุดไฟจากทางอากาศลงมาจากเฮลิคอปเตอร์

คอนราด มารัลน์กุร์รา จุดไฟที่มีความรุนแรงระดับต่ำ เพื่อปกป้องชุมชนของเขาในมามาดาเวร์ สถานีชุมชนนอกด่านแห่งหนึ่งบนชายขอบทางเหนือของเขตคุ้มครองชนพื้นเมืองวาร์เดเคน ในฤดูร้อน ฟ้าผ่าก่อให้เกิดไฟป่าเป็นประจำในทุ่งหญ้าสะวันนาเขตร้อน

พืชพรรณที่ยังชุ่มชื้น ลมบางเบา และอุณหภูมิที่ต่ำกว่าในช่วงเวลานี้ของปี หมายความว่าไฟที่พวกเขา จุดจะเป็นไฟขนาดเล็กกว่า รุนแรงน้อยกว่า และโดยทั่วไปจะไหม้จนดับไปเองในชั่วข้ามคืน หากชิงเผาผืนดินเสียก่อน ไฟป่าที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงในเวลาต่อมา จะไม่ก่อความเสียหายรุนแรง และยังช่วย ให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามีโอกาสสู้เพื่อดับไฟป่าเหล่านั้น

การใช้ไฟปกป้องสิ่งแวดล้อมจากไฟเป็นบทบาทที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาวอะบอริจินยึดถืออย่างจริงจัง พวกเขาเป็นทั้งเจ้าของผืนดินและผู้ดูแล และมีความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้งกับแผ่นดินของตน

“ผมชอบออกมาอยู่ท่ามกลางผืนแผ่นดินแห่งนี้ครับ” นาบาร์ลัมบาร์ลกล่าว ความหลงใหลที่ว่าทำให้เขากลายเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำให้เขาได้กลับบ้าน

การสู้ไฟด้วยไฟไม่ใช่แนวคิดใหม่ การจัดการไฟป่าเป็นสิ่งที่คนพื้นเมืองทั่วโลกทำกันอยู่ แต่เพิ่งได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อสภาพภูมิอากาศอบอุ่นขึ้น และไฟป่ารุนแรงสุดขั้วกว่าที่เคยเป็นมา ผู้ชำนาญการด้านป่าไม้ ทั่วโลกต่างเรียกร้องให้หันกลับไปสู่แนวทางปฏิบัติดั้งเดิม

ภาพวาดจิงโจ้ที่มองเห็นอวัยวะภายในเหมือนภาพเอกซ์เรย์ ประดับเพดานถ้ำแห่งหนึ่งชื่อ มานามนัม ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งศิลปะประเภทนี้นับหมื่นแห่งในอาร์เนมแลนด์

ในเขตอาร์เนมแลนด์ การจุดไฟชิงเผาตอนต้นฤดูแล้งนั้น ในอดีตเคยทำกันอย่างเป็นระบบและแพร่หลาย มีการใช้ไฟทั้งเพื่อล่าสัตว์ กระตุ้นการงอกของพืชพรรณ และประกอบพิธีกรรม ผู้เฒ่าชนเผ่าอะบอริจินบอกว่า ไฟทำให้ผืนดินฟื้นคืนชีวิต หลังจุดไฟเผาแล้ว ผืนดินจะเกิดใหม่อีกครั้ง กระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังเป็นเรื่องปกติทั่วไปสำหรับชาวอะบอริจินที่จะลงมือจัดการไฟป่ากันเอง ด้วยการไปดูว่าผืนดินตรงไหนต้องใช้ไฟเผา แล้วก็แค่จุดไม้ขีดสักก้าน

เช่นเดียวกับชาวออสเตรเลียพื้นเมืองจำนวนมาก แตร์ราห์ กุยมาลาคุ้นเคยกับไฟตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ใน วัย 56 ปี เขารำลึกถึงบทเรียนต่างๆ จากคนเฒ่าคนแก่เกี่ยวกับการใช้ไฟ เช่น เพื่อต้อนจิงโจ้ไปทางพรานล่าสัตว์ ก่อควันประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความตาย และเผาพืชพันธุ์แต่ละชนิดในช่วงเวลาที่เหมาะสมของปี กุยมาลาเป็นเจ้าของผู้มีอาวุโสโดยประเพณีของแมนโมยี หนึ่งในสถานีชุมชนด่านนอกที่ตั้งอยู่ในและใกล้ กับพื้นที่ราว 14,000 ตารางกิโลเมตรของเขตวอร์เดเคน พื้นที่ซึ่งมีกลุ่มเครือญาติ 36 กลุ่มครอบครองอยู่นี้ ได้รับการจัดการโดยอาศัยระบบกฎหมายจารีตประเพณีอันซับซ้อน “สมัยก่อนโน้น” กุยมาลาเล่า “ดินแดนนี้ยัง เต็มไปด้วยผู้คน คนพวกนี้แหละที่จัดการไฟป่า” ดินแดนที่ร้างไร้ผู้คน หรือ “ผืนแผ่นดินว่างเปล่า” อย่างที่กุยมาลาเรียก คือสาเหตุที่ทำให้ไฟป่าเริ่มกลืนกินภูมิทัศน์นี้

กลุ่มเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตวอร์เดเคน โรสแมรี นาบุลวัด, อารีเจย์ นาบาร์ลัมบาร์ล, มากาเร็ต นาบุลวัด, แจนิส นาลอร์แมน, และลอรา นาบุลวัด ใช้เวลาวันหยุดวันหนึ่งออกล่าเต่าที่ฝังตัวอยู่ในโคลนโดยใช้ชะแลงด้ามยาวหยั่งลงไปในทุ่งหญ้าที่ลุ่มชื้นแฉะ เต่าเหล่านี้เป็นอาหารโอชะยอดนิยมในอาร์เนมแลนด์

ครอบครัวของกุยมาลา เช่นเดียวกับครอบครัวอื่นอีกมากมาย พากันย้ายออกจากดินแดนของตนไปอยู่ตามชุมชนเผยแผ่ศาสนาและนิคมต่างๆ ในช่วงขวบปีหลังการยึดครองอาณานิคม ครอบครัวของเขาย้ายกลับมาตอนเขายังเด็ก การหวนคืนถิ่นของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกลับถิ่นกำเนิดที่เริ่มขึ้นในทศวรรษ 1970 นำโดยบาร์ดายัล “ลอฟตี” นัดจาเมร์เรก ผู้นำชนพื้นเมืองและศิลปินอะบอริจินชื่อดังระดับโลก เหล่าผู้ครอบครองที่ดินโดยประเพณีเช่นนัดจาเมร์เรก สังเกตเห็นว่า ระหว่างพวกเขาไม่อยู่ แผ่นดินบ้านเกิดมีรูปร่างเปลี่ยนไป มีวัชพืชต่างถิ่นและสัตว์จรจัดอย่างแมวและควายย้ายเข้ามา ขณะที่สัตว์ท้องถิ่นบางชนิด เช่น นกอีมู กลับพบ ได้ยากขึ้น แหล่งศิลปะบนผนังหินยุคโบราณพังเสียหายเพราะควายและไฟป่า ความสมบูรณ์ของป่าฝนเขตมรสุม บรรดาที่ราบน้ำท่วมถึง และทุ่งหญ้าสะวันนาล้วนเสื่อมโทรมลง

เหล่าผู้ครอบครองโดยประเพณีเชื่อว่า ไฟป่าคือสาเหตุหลักของความเปลี่ยนแปลงและปัญหาในภูมิภาค อาร์เนมแลนด์เวลานั้นกำลังถูกทำลายโดยไฟป่ารุนแรงควบคุมไม่ได้ที่ส่งผลกระทบต่อทุกสรรพสิ่ง พวกเขา จึงเรียกร้องให้รื้อฟื้นการชิง เผาป่า เชิงกลยุทธ์ตอนต้นฤดูแล้ง อันจะเป็นหนทางที่ไม่เพียงช่วยดูแลผืนแผ่นดิน แต่ยังได้กลับมาเชื่อมต่อกับแง่มุมต่างๆ ทางวัฒนธรรมของตนอีกครั้ง

“ผืนดินต้องการไฟครับ” กุยมาลาพูดเรียบ ๆ

เรื่อง ไคลี สตีเวนสัน

ภาพถ่าย แมตทิว แอบบอตต์

ติดตามสารคดี กำราบไฟด้วยไฟ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/546555


อ่านเพิ่มเติม ป่าไม้ไทย มีความเปลี่ยนแปลง ดีขึ้นหรือแย่ลงในแง่มุมใดบ้าง

Recommend