The Way to Smart Upcycling หมุนเวียนฉลาดล้ำกับนวัตกรรมอัพไซเคิล

ในวันที่ขยะและของเหลือใช้มีจำนวนเพิ่มจำนวนมากขึ้น คำว่า “รีไซเคิล” (Recycle) ซึ่งหมายถึงการนำวัสดุที่เป็นขยะมาแปรสภาพเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ได้อีกคือนิยามที่เราได้ยินกันจนคุ้นหู

ถึงเช่นนั้นนอกจากรีไซเคิล ยังมีอีกแนวทางที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าใดนัก นั่นคือการอัพไซคลิ่ง (Upcycling) ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ได้

ในกิจกรรม SX Talk Series #3 หัวข้อ The Way to Smart Upcycling หมุนเวียนฉลาดล้ำกับนวัตกรรมอัพไซเคิล ซึ่งเป็นเวทีสนทนาย่อยเพื่อปูทางสู่งาน SX ใหญ่ประจำปี  ได้อธิบายความเป็น Upcycling ได้เห็นภาพมากขึ้น และในเวทีนี้ก็ได้ผู้มีประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้  ประกอบด้วย ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์  นักออกแบบและซีอีโอเจ้าของแบรนด์ Qualy , ยุทธนา อโนทัยสินทวี เจ้าของธุรกิจ The ReMaker และปฎิญญา อารีย์ ผู้จัดการทั่วไป ทะเลจร ร่วมแชร์ไอเดียปลุกชีพขยะ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์และได้รับการยอมรับจากทั้งในไทยและต่างประเทศ

เริ่มที่แบรนด์ Qualy ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2547 โดยคุณ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์  ผู้ก่อตั้ง เล่าว่า ต่อยอดจากธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัว โดยวาง Business Model ขยายจากแค่เป็นผู้ผลิตมาเป็นผู้จัดจำหน่ายเอง พร้อมกับมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนภาพจำของ  “พลาสติก” มักถูกมองว่าเป็นตัวร้ายในยุคที่ผู้คนต่างให้ความใส่ใจเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ให้กลายเป็นวัตถุดิบต้นทาง ที่จะนำมารีไซเคิลจนเกิดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ได้

“แนวทางที่มีคือ ผลิตภัณฑ์นี้ต้องสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยสร้างรายได้สู่ชุมชน ควบคู่พัฒนาความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน ขยะพลาสติกที่รวบรวมได้นำมาแปรรูปด้วยเทคโนโลยี แม้วัตถุดิบจะมาจากขยะแต่จะใช้ให้คุ้มค่าที่สุด”

คุณ ธีรชัย ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการ Upcycling ที่ได้เช่น ผลิตภัณฑ์เต่าทะเลเสียบแปรงสีฟันสร้างจากซากแหอวนที่รวบรวมโดยชาวประมง ซึ่งเล่าปัญหาขยะทะเล กล่องทิชชูรีไซเคิลเล่าการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลภาวะโลกร้อน ธารน้ำแข็งละลาย อีกผลิตภัณฑ์เป็นพระเครื่องจากวัตถุดิบรีไซเคิล สะท้อนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของวัสดุต่างๆ  ส่วนขยะขวดแก้วได้ดีไซน์ฝาครอบพลาสติกกลายเป็นแจกันดอกไม้หรือหลอดแก้วไม่ใช้เพิ่มมูลค่าสู่โคมไฟ ล่าสุด ผลิตหินเทียมจากขยะพลาสติกลดการใช้หินในธรรมชาติ

“แม้กระทั่งของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับมาเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ล่าสุด แบรนด์ร่วมกับงาน SX พัฒนาของที่ระลึกจานรองแก้วจากไส้กรองน้ำใช้แล้ว สื่อสารการรีไซเคิลและอัพไซเคิลอย่างทรงพลัง ทุกการออกแบบต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่รวบรวม คัดแยก เก็บขยะจากครัวเรือน ชุมชน จนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีจากนักวิทยาศาสตร์ เพื่อไปสู่ความสำเร็จ อยากเชิญชวนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ BCG”

ยุทธนา อโนทัยสินทวี เจ้าสำนัก The ReMaker กล่าวว่า นำของเหลือใช้จากวัสดุที่หลากหลายมาออกแบบให้มีคุณค่าและน่าใช้งาน โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองที่ทำจากหนัง ซึ่งมีจำนวนมหาศาล

“เราเอาเสื้อผ้า กระเป๋าหนังที่เหลือใช้จาก Fast Fashion เกิดเป็นไอเดียนำเสื้อหนังเก่ามาแปรรูปทำกระเป๋า แล้วยังมีสินค้ารักษ์โลกจากวัสดุเหลือใช้อื่นๆ”

 คุณ ยุทธนา มองว่า การทำใหม่ เชื่อมโยงกับชื่อแบรนด์  เกิดสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ลวดลายจะไม่ซ้ำกัน กลายเป็นจุดขายให้กับคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนรักษ์โลก มีทั้งตลาดในไทยและส่งออกต่างประเทศ ทั้งนี้แม้ราคาสินค้าสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป ด้วยต้นทุนผลิตที่มากกว่า  แต่เชื่อว่าผู้บริโภคเข้าใจ และยอมจ่ายเพื่ออนาคตของโลกใบนี้ที่ดีขึ้น รวมถึงรู้สึกมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม  สร้างสมดุลระบบนิเวศส่งต่อให้ลูกหลาน

ขณะที่ ปฎิญญา อารีย์ ผู้จัดการทั่วไป ทะเลจร และผู้ประสานงาน Trash Hero Pattani สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รองเท้าจากขยะทะเล กล่าวว่า ตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล นำมาสู่การรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหา จนเกิดกลุ่ม Trash Hero Pattani ผู้พิชิตขยะแห่งปัตตานี มีกิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะทุกวันพุธ ทำเป็นประจำ และมีการชั่งน้ำหนักขยะที่เก็บได้

“เราเชื่อว่า ทุกคนเป็น Trash Hero เพียงแค่ลงมือทำ และพื้นที่เก็บขยะมีการจัดกิจกรรมให้ความกับเด็กและเยาวชนควบคู่ ชี้ให้เห็นมูลค่าจากขยะ หลังทำกิจกรรมชายหาดและทะเลสะอาดขึ้น ใครจะมองว่าเกิดผลแค่เพียงเล็กๆ แต่เราก็ทำจนเป็นไลฟ์สไตล์ ทุกคนเต็มใจ เกิดการเรียนรู้ และเห็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งตั้งแต่เริ่มทำมาเราก็ได้ขยะเป็นจำนวนมาก และพื้นที่รอบๆที่เราไปทำกิจกรรมก็สะอาดขึ้น”

นอกจากนี้ สำหรับ “Trash Hero Pattani” มีการต่อยอดจากขยะประเภทรองเท้าที่เก็บได้จากทะเล มารีไซเคิลเป็น material พื้นยาง และพัฒนาจากสิ่งของเหลือใช้ ขยะเป็น product เพื่อให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นการคิดที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้จริง จึงเป็นที่มาของการทำรองเท้า ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ทะเลจร”

ทั้งหมดเป็นประสบการณ์จากผู้คนหลากหลาย ที่มองเห็นคุณค่าของสิ่งเหลือใช้ และนำมาสร้างคุณค่าใหม่ในนามของการ อัพไซคลิ่ง (Upcycling)

อ่านเพิ่มเติม : เทอร์โมพลาสติก: พลาสติกที่รีไซเคิลได้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.