เชื่อว่าตอนนี้ท่านผู้อ่านคงคุ้นหูหรือเคยได้ยินคำว่า ‘Taxonomy’ มาบ้างแล้ว เพราะถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมภาคเอกชนไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศเอาไว้
เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากประชาชนบางส่วนคิดเป็นเรื่องของการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น บางส่วนก็คิดว่าเป็นกฏหมายฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ ให้อำนาจแบงก์ชาติสั่งการธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนในอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันออกไปตามความเป็นมิตรต่อสิงแวดล้อมของธุรกิจ
วันนี้แบงก์ชาติและกลต. จึงออกมาเน้นย้ำเรื่อง Taxonomy และประกาศการใช้ระยะที่ 1 แล้วและ NG Thai ขอสรุปความให้เข้าใจโดยง่ายในบทความนี้
จากกงานแถลงข่าวเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ทางแบงก์ชาติและกลต. ประกาศความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเรื่อง Taxonomy ระยะที่ 1 โดยอธิบายว่าเป็นมาตรฐานกลางของชุดกิจกรรมในการอ้างอิงเพื่อทำความเข้าใจแต่ละประเภทธุรกิจว่ามีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากน้อยแค่ไหน เป็นการขอความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นอย่างภาคการขนส่งและพลังงานก่อน
เดิมนั้นเรามักจะแบ่งประเภทธุรกิจออกเป็นสีต่างๆ เช่น ธุรกิจดั้งเดิมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดจะเป็นสีน้ำตาล ธุรกิจที่ก้ำกึ่ง ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญแต่ไม่มากเท่ากลุ่มแรก จะจัดเป็นสีเหลือง ส่วนธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด สร้างมลพิษต่ำหรือแทบไม่มีมลพิษเลยจะจัดเป็นสีเขียว ส่วน Taxonomy ของประเทศไทยเรานั้น จะวัดจาก ‘ความพร้อม’ ของธุรกิจนั้นๆแทน โดยเลือกใช้สีแดง อธิบายธุรกิจที่ต้องจัดการเป็นพิเศษ ความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านต่ำมาก สีเหลืองสำหรับธุรกิจที่เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านแล้ว มีความตั้งใจในการปรับตัวสู่ธุรกิจที่ยังยืนในอนาคต และสีเขียวสำหรับธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจที่มีความพร้อมสูงมากสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
สิ่งที่เป็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกันคือ การพาประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปีพ.ศ. 2593 เพื่อทำให้โลกใบนีไม่ร้อนขึ้นกว่าเดิม 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อข้อตกลงปารีสที่ 197 ประเทศประกาศร่วมกัน นอกจากนี้ในฐานะชาติสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทุกชาติยังต้องยึดถือตามแนวทาง ASEAN Taxonomy ที่เน้นหนักเรื่องการรับมือกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญผ่านกระบวนการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งชาติสมาชิกที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดคือ เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม จึงจำเป็นที่เราจะต้องมี Taxonomy ของตัวเองเพื่อเป็นธงสำคัญให้กับคนในระบบเศรษฐกิจด้วย
‘รณดล นุ่มนนท์’ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเกือบ 1 ใน 3 หรือ 30% ของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยที่วัดผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เกิดจากอุตสาหรรมดั้งเดิมที่ใช้พลังงานฟอสซิล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจเหล่านี้ให้ทันท่วงทีกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามไล่หลังมาเรื่อยๆ ซึ่งภาคการเงินนำโดยแบงกชาติจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้โดยคำนึงทั้งเรื่องจังหวะเวลาที่เหมาะสมและความเร็วในการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ด้วย
ดังนั้น ทางแบงก์ชาติคาดหวังให้สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลนั้น สามารถจำแนก ประเมินสถานะลูกค้าในพอร์ตของตนได้ว่า มีรายใดบ้างที่เป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ในสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง โดยมี Taxonomy เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงเพื่อการชี้วัดประเภทของกิจการนั้นๆ ซึ่งจำเป็นตัวกำหนดนโยบายรวมทั้งกลยุทธ์ในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อให้สถาบันการเงินได้ประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม รวมทั้งวางแผน ปรับตัว จนนำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการที่ช่วยสนับสนันการเปลี่ยนผ่านได้อย่างดี
จากที่รองผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าวนั้น พอจะคาดเดาได้ว่าตอนนี้สถาบันการเงินทั้งหลายจะต้องไปสำรวจกลุ่มลูกค้าของตัวเองโดยละเอียด แน่นอนว่าในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนได้มากกว่าหรือมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนจากคาร์บอนฟุตปรินท์ที่มีหน่วยงาน องค์การมหาชน เข้ามามีบทบาทและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
‘ธนิดา ลอเสรีวานิช’ นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดัน Thailand Taxonomy ให้สัมภาษณ์กับ NG Thai ว่าที่ผ่านมาแบงก์ชาติร่วมกับก.ล.ต. และหน่วยงานอีก 12 แห่งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงินได้จัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อพัฒนามาตรฐาน Thailand Taxonomy ให้ใช้ได้จริง สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยและมาตรฐานสากล โดย Taxonomyนี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนทราบสถานะว่าตนเองนั้นมี “เขียว”หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน
ที่ผ่านมาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน ก็ได้รับข้อเสนอแนะจากทั้งภาคประชาสังคม นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไปเพื่อนำมาปรับปรุงให้มาตรฐานครอบคลุมมากขึ้นโดย Thailand Taxonomy เองมีลักษณะเป็น Living Document หรือชัุดเอกสารที่สามารถปรับปรุงให้ทันการณ์ได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่านโยบายของภาครัฐหรือเทคโนโลยีจะปรับไปอย่างไรก็ตาม
สาเหตุที่ระยะแรก คณะทำงานมุ่งเป้าไปที่ภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อนเพราะเป็นภาคที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง คาดว่าภาคเศรษฐกิจถัดไปจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการกำจัดของเสีย ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเกษตร ซึ่งจะทยอยพัฒนาและนำร่างฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งภายในปี 2567 สำหรับการนำไปใช้ ทุกภาคส่วนสามารถใช้ Thailand Taxonomy เป็นจุดยึดโยงและประเมินตนเองได้ว่าอยู่ในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อยู่ห่างจากความ “เขียว” แค่ไหน เมื่อองค์กรหรือธุรกิจทราบสถานะของตนเองแล้ว ภาคการเงินก็จะสามารถสนับสนุนเงินทุนได้อย่างตรงจุดด้วย
สิ่งที่ท้าทายธุรกิจทุกขนาดคือกกฏเกณฑ์และข้อระเบียบต่างๆเริ่มมีบทบาทมากขึ้นและเป็นอุปสรรคทางการค้าไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรปในสินค้า 5 กลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม ซึ่งการปรับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้าเข้าเกณฑ์การพิจารณาค่าคาร์บอนในระยะแรกจะกระทบสินค้าส่งออกของไทยมูลค่าสูงเกือบ 3 หมื่นล้านบาทและในอนาคตอาจมีการปรับเพิ่มสินค้าที่จะถูกนำมาพิจารณาตามเกณฑ์ CBAM ตามมาอีก
ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน สุดท้ายก็จะขายของไม่ได้หรือแข่งขันได้ลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อธุรกิจต้องลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ที่แตกต่างไปจากวิถีหรือกระบวนการเดิม คือต้นทุนอาจเพิ่มขึ้นจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการบริหารจัดการ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่บริษัทห้างร้านรายเล็กๆ จะพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง
‘นที สิทธิประศาสน์’ ’ รองเลขาธิการ อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนจากทางภาคเอกชนก็สนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องทำไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใดก็ตาม แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการอย่างมากสำหรับการเปลี่ยนผ่านนี้คือเงินทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐและสถาบันการเงิน เนื่องจากต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต การพัฒนาสินค้า ไปจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของตนทั้งหมด เอกชนรายใหญ่มีเงินทุนและกำลังเพียงพอจึงทำล่วงหน้าไปได้เยอะแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังต้องการเครื่องมือทางการเงินในการเริ่มต้นอยู่ หากมีโครงการสินเชื่อดอกเบี่ยต่ำหรือสิ่งเสริมแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบการเพิ่มเข้ามาจะช่วยเร่งให้กระบวนการเดินหน้าได้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ ‘แจ่มจันทร์ ศิริกาญนาวงศ์’ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาในฐานะผู้แทนสมาคมธนาคารไทยให้ข้อมูลค่าขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์รายใหญ่หลายแห่งที่ประกาศเป้าหมายและแนวทางในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนที่ชัดเจน อย่างที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เริ่มเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืนมาหลายปีแล้ว ทั้งตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) เพื่อระดมทุนสำหรับธุรกิจพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bonds) ที่ระดมุทนเพื่อปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดเล็กที่มีผู้นำองค์กรเป็นผู้หญิงเพื่อให้เกิดการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินไปพร้อมกับความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการสีเหลืองที่มีความตั้งใจในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของตนเองไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำด้วย
แม้ Thailand Taxonomy จะยังไม่มีสภาพบังคับเหมือนกฏหมายหรือข้อระเบียบที่ทุกคึนต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับก้าวแรกที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนตามแบบนานาอารยะประเทศ ดูเหมือนการบ้านข้อสำคัญคือบทบบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนและทำให้เป็นรูปธรรมอย่างเท่าเทียมผ่านอำนาจที่มี
‘รสริน อมรพิทักษ์พันธ์’ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่าตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘พรบ. Climate Change’ เป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว ซึ่งจะเป็นกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาได้ในสิ้นปี 2566 นี้ก่อนจะประกาศใช้ต่อไป โดยจุดประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้คือการร่วมมือกับเอกชน ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กหรือใหญ่ ทุกคนมีหน้าที่เก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในกิจการของตนเพื่อที่หน่วยงานนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้ สผ.คำนวณออกมาเป็นข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ โดยร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 8 หมวด 56 มาตรา เมื่อพ.ร.บ.ออกบังคับใช้แล้ว จะมีการออกแผนแม่บทกับแผนปฏิบัติต่างๆ ตามมา ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศไทยทั้งในด้านการดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสนุบสนุนการค้าขายกับต่างประเทศที่จะถูกบังคับด้วยกรอบด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นด้วย
แผนต่างๆถูกเขียนไว้อย่างชัดเจนแล้ว เช่นเดียวกับแนวทางที่ทุกคนทราบดีว่าต้องไปทางไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลงมือทำจริงด้วยความตั้งใจ เพื่อช่วยกันสร้างบรรทัดฐานและวิถีปกติใหม่ในการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย คนไทย ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศให้ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมแก้ภายใต้เงื่อนเวลาที่บีบมากขึ้นเรื่อยๆ ความร่วมมือระหว่างกันจะเป็นทางออกเพื่อความอยู่รอดร่วมกันได้ในอนาคต
เรื่อง มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล