ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ เล่าเรื่อง Upcycling ผ่านผลิตภัณฑ์ Qualy เมื่อการออกแบบกับการลดขยะไปด้วยกันได้จริง

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ เล่าเรื่อง Upcycling ผ่านผลิตภัณฑ์ Qualy เมื่อการออกแบบกับการลดขยะไปด้วยกันได้จริง

เล่าเรื่อง Upcycling จากมุมมองของ Qualy  แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ของคนไทย ที่เชื่อในพลังของการออกแบบที่สามารถปกป้องโลกให้ดีกว่าเดิม

(1)

ถ้าพูดชื่อ Qualy Design ในปี 2566 หลายคนน่าจะคุ้นหู เพราะแบรนด์นี้ก่อตั้งมากว่า 18 ปี โดยมีจุดเริ่มที่ธุรกิจโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของครอบครัว จากนั้นด้วยความสร้างสรรค์ บวกกับฝีไม้ลายมือ ก็พลิกโฉมให้โรงงานผลิตพลาสติกธรรมดาๆ กลายเป็นทีมนักออกแบบผลิตภัณฑ์เจ้าของรางวัลและประกาศเกียรติคุณ ที่เรียงรายในห้องรับรอง บนพื้นที่โชว์รูม ย่านพระราม 3

ยิ่งในวันที่เรื่องสิ่งแวดล้อมและการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าใหม่เป็นเมกะเทรนด์ทั้งในและต่างประเทศ Qualy ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น พวกเขาเอาจริงเอาจังกับความยั่งยืนด้วยหลัก CIRCULAR DESIGN เอาขยะมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าใหม่ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นไวรัลอย่าง ที่เก็บถุงพลาสติกรูปวาฬซึ่งทำจากพลาสติก ตัวติดแม่เหล็กเต่าทะเลที่ทำจากแห อวนซึ่งเหลือใช้จากอุตสาหกรรมประมง รวมถึง “พระสติ” พระเครื่องจากหลากหลายมวลสาร ไม่ว่าจะเป็น กล่องนม, ซากแหอวน, ถุงฟอยล์, ถุงพลาสติก, ขวดน้ำพลาสติก, ฝาขวดน้ำ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดช่วยเตือนสติลดไฟในใจ ลดความร้อนให้โลกจากการไม่เพิ่มขยะ และถูกนำไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับองค์กรต่างๆ

“เราเป็นนักออกแบบที่อินกับ Global warming  (สภาวะโลกร้อน) อินกับจำนวนพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว แต่ทำให้มันเด่นชัดขึ้นช่วงปี 2560 เราตั้งคำถามว่าในฐานะนักออกแบบที่ข้องเกี่ยวกับวัสดุที่เป็นพลาสติก สินค้าของเรามันสร้างสรรค์หรือมีส่วนในการเป็นส่วนหนึ่งของขยะกันแน่ จึงเริ่มมองหาวิธีการที่ทำให้สินค้ามันใช้ได้จริง ช่วยลดขยะได้ และยังต้องขายได้ เพราะเราไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่จะมีเงินทุนที่จะทำสินค้าซึ่งเป็นเพียงคอนเซปต์ไอเดีย ที่เห็นแล้วร้องว๊าวแต่ขายจริงไม่ได้ เราจึงต้องทำให้งานขาย กับงานว๊าวมันไปพร้อมๆกัน” ใจ๋ – ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ อำนวยการฝ่ายออกแบบ (Design Director) และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Qualy อธิบาย

(2)

นักออกแบบที่สร้างงานเพื่อสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจฟังดูธรรมดาๆไปหน่อย แต่ต้องบอกว่าสิ่งที่ Qualy ทำเป็นรูปธรรมคือการช่วยลดขยะจริงๆ

ธีรชัย อธิบายว่า สินค้ากว่า 400 รายการของแบรนด์จะมุ่งไปทางการใช้วัสดุเหลือใช้ โดยเฉพาะการอัพไซเคิล (Upcycle = Upgrade + Recycling) ซึ่งคือการนำขยะ หรือวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วมาผลิตให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้

“ถ้ามีสินค้าเก่าต้องผลิตเพิ่ม วัสดุที่จะถูกนำไปผลิตใหม่ก็จะมีส่วนที่เปลี่ยนจากวัตถุดิบที่เป็น-ขยะพลาสติก เป็นวัตถุดิบที่มาจากขยะหรือของเหลือใช้ หรือถ้าเป็นโปรเจคใหม่ เราจะคิดตั้งแต่ต้นทางเลยว่า ตอนนี้มีขยะหรือของที่เหลือใช้เป็นอะไรบ้าง”

นั่นหมายความว่า การเดินทางของแบรนด์จึงต้องคิดตั้งแต่กระบวนการทำงานของทีมออกแบบ จากเดิมการผลิตสินค้าหนึ่งมักเกิดจากขั้นตอนแรกคือความต้องการของตลาด จากนั้นจึงพัฒนารูปแบบ เลือกวัตถุดิบที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์นั้นและเข้าสู่กระบวนการผลิต หากแต่เมื่อมีโจทย์คือความต้องการจัดการขยะ กระบวนการผลิตจะ “กลับหัว” เพราะต้องเริ่มจากการพิจารณาว่า มีอะไรเป็น “วัตถุดิบบ้าง” แล้วสิ่งนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง

“เหมือนการคัดคนเข้าบริษัท จากเดิมคือดูความต้องการตลาด พัฒนารูปแบบ เลือกวัสดุที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่จะมี Spec มาแล้วว่าต้องการอะไร แต่ปัจจุบันนี้เราดูว่า เรามีวัตถุดิบอะไรบ้าง เช่น มีขวดพลาสติกเยอะ มีแหเยอะ แล้ววัตถุดิบเหล่านี้มันมีคุณสมบัติ มีคาแรกเตอร์อะไร แล้วคาแรกเตอร์แบบนี้นำไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งกลับทางจากการทำงานแบบเดิม”

กระบวนการเช่นนี้จะว่ายากกว่าเดิมไหม? คำตอบของธีรชัยคือไม่ใช่ แต่ถ้าจะว่าง่ายก็ไม่เชิง เขา บอกว่า ถ้านักออกแบบที่ไม่รู้เรื่องเคมีอย่างเขาเข้าใจได้ ทุกคนก็น่าจะเข้าใจได้

“บางทีคีย์หลักของเรื่องนี้คือเปลี่ยนที่วิธีคิด ไม่ใช่มองสมบัติทางวิศวกรรมหรือทางเคมี สำหรับผม ผมจะเลือกของที่ใช้กับงานได้ เลือกคุณสมบัติที่เหมาะกับงาน เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าการรีไซเคิล คุณสมบัติของวัสดุจะด้อยลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น ถ้าเอาขวดมาทำใหม่ คุณสมบัติที่มีอยู่เดิมเต็ม 10 คะแนนก็จะเหลือ 7 คะแนน ดังนั้นถ้าเรามีของเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติความแข็งแรงในระดับ 7 เต็ม 10 ผลงานของเราก็ควรจะใช้ความแข็งแรงในระดับ 5 นั่นก็เพียงพอที่จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ”

“เช่น ในโครงการ Net free seas ทะเลปลอดแหอวน เรารับซื้อซากแหที่รวบรวมโดยชาวประมงไทย มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เต่าทะเลเสียบแปรงสีฟัน จานวางสบู่  ที่สามารถระบายน้ำที่ขังอยู่ออกทางปากได้ วัสดุที่มาจากแห อวน ทนทานแข็งแรงเพียงพอที่จะมารับน้ำหนักสิ่งของนี้ได้อยู่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นตัวอย่างหลักคิดของการหาวิเคราะห์คุณสมบัติของวัตถุดิบที่มา เพื่อสร้างมูลค่าใหม่”

(3)

การเดินทางของ Qualy ณ วันนี้ คือการตั้งต้นว่าจะสร้างงานที่มีวัตถุดิบที่เป็นขยะ นั่นหมายความว่า ต้องมีการวางแผนการผลิต การ Supplier วัตถุดิบ การคิดถึงประเภทสินค้า จำนวนที่ควรผลิต ซึ่งในช่วงแรกทีม  Qualy เริ่มจากขยะอุตสาหกรรม ประเภทขวดน้ำพลาสติกที่เหลือใช้ เพื่อนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อช่วยยืดวงจรชีวิตของพลาสติกให้ยาวนานยิ่งขึ้นและถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างจากการที่พวกเขาร่วมในโครงการโดยรับซื้อแหอวนที่เก็บกู้โดยชาวประมงท้องถิ่นผ่านโครงการ Net Free Seas โดย EJF มาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์ของใช้ของตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส Covid-19

“สำคัญอย่างแรกคือเราต้องมีความรู้ในคาแรกเตอร์ของวัตถุดิบนั่นก่อน ว่าสามารถเข้ากับการผลิตอะไรได้บ้าง เช่น ลักษณะของวัตถุดิบ สี หรือคุณสมับิตที่จะไปผสมผสานกับวัสดุอื่น วัตถุดิบไหนมีน้อย ก็อาจเป็นของชิ้นเล็ก เช่น ถ้าพลาสติก 20 กิโลกรัม เราก็จะผลิตเป็นแม่เหล็กชิ้นเล็กๆ หรือถ้ามีพลาสติกเยอะ และรูปแบบของมันแตกต่างกัน ทั้งสีผิว ผิวสัมผัส ก็เป็นที่มาของการทำหิน Rerock ซึ่งเป็นหินหลากหลายโทนสี ไม่ต้องควบคุมรูปร่าง ที่ใช้ตกแต่งภายนอก”

(4)

ถึงตรงนี้ ถ้าลองถามว่าคีย์เวิร์ดหลักของการเปลี่ยนขยะเป็นการสร้างงาน การลดขยะจากการออกแบบคืออะไร? ธีรชัย กล่าวว่า เขาแบ่งส่วนประกอบออกได้เป็นในระดับภายนอกและภายใน

โดยภายในคือ 1. ความพร้อม ความอยากทำ ความมีใจที่จะทำ และรู้สึกไอเดียนี้มีความหมาย 2. คือ โครงสร้างเรื่องกำไร ที่ต้องทำแล้วอยู่ได้จริงในเชิงธุรกิจ 3. สิ่งที่ทำจะสร้าง Impact ให้กับสังคม สร้างแรงบันดาลใจได้

“ถ้ามี 2 ใน 3 ข้อผมว่ามันไปได้นะ ถ้ามีครบยิ่งดี แต่ถ้าไม่ครบทั้งหมด เช่น อาจจะไม่ได้กำไรมากมายแต่ถ้าเราอยากทำและมันเกิดแรงบันดาลใจ สร้างอิมแพคกับสังคมไทยมันก็น่าทำ”

ส่วนปัจจัยภายนอก แน่ว่า ตลอด 2-3 ปีมานี้ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนคือเทรนด์ภาพใหญ่ของโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อมีมาตรฐานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) นั่นคือสิ่งที่ภาครัฐและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ให้ความสำคัญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในเวลานี้ปัจจัยทั้งหมดได้ส่งพลังในแง่บวกให้ผู้ผลิตรายเล็กที่มีไอเดีย แต่ยังไม่มีเงินทุนมากนัก ได้ริเริ่มสร้างผลงานจริงๆ เพื่อเข้าหาแหล่งทุน แต่ถึงเช่นนั้นก็ต้องไม่ลืมที่ภาครัฐต้องมีการปลดล็อคกฎหมายบางฉบับ

เช่น การละเว้นภาษีสำหรับอุตสาหกรรมที่เป็น Circular Economy การมีกฎหมายที่อนุญาตเคลื่อนย้ายขยะอุตสาหกรรมบางประเภทที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้ยังรวมถึงการแยกขยะที่ต้องดีมาตั้งแต่ต้นทางซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มาก เพราะไม่ต้องจ้างแรงงานคน หรือผ่านกระบวนการทำความสะอาด คัดแยกให้มากนัก

เพื่อให้การเดินทางไปสู่การลดขยะ ของผู้มีไอเดียได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจับต้อง และขายได้จริงๆ

 

  •   5 ผลิตภัณฑ์สิ่งแวดล้อมของ Qualy ที่คุณน่าจะรู้จัก

Moby Whale

การเล่าเรื่องปะการัง พลาสติก ในมหาสมุทรอาจดูธรรมดาไป แต่ถ้าทั้งหมดถูกดึงความสนใจด้วยปลาวาฬน่ารัก ใครๆก็อาจจะอยากฟังมากขึ้น  นี่คือผลิตภัณฑ์ซีรีส์แรกของ Qualy ที่เก็บถุงพลาสติกรูปวาฬ สะท้อนปัญหาสัตว์ในท้องทะเลที่ต้องตายเพราะพลาสติก จากแรงบันดาลใจจากข่าวปลาวาฬตายเพราะกินขยะพลาสติก สะท้อนถึงปัญหาขยะพลาสติกที่คุกคามชีวิตสัตว์ทะเล ผลิตจากขวด PET ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ออกมาเป็นของใช้ในบ้านที่ช่วยสื่อสารให้เราตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดเป็นขยะพลาสติกที่ไปสร้างผลกระทบให้กับสัตว์ทะเลอีก

หินประดับ Rerock

อาขยะมาทำเป็นหิน เกิดจากความเป็นจริงที่ว่า งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมต้องใช้หินแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทำลายธรรมชาติและมีราคาสูง ผนวกกับปริมาณขยะที่มีอยู่มหาศาล จึงเป็นที่มาของ หินจากขยะพลาสติกรีไซเคิลที่ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายหินจริง ๆ และด้วยสัดส่วน สี ที่แตกต่างกัน นี่จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดขยะจำนวนมากได้

พระสติ

ผลงานสร้างชื่อ และความเจ๋งในการเล่าเรื่อง “ไม่ได้ปลุกเสก แต่ปลุกจิตสำนึก” นี่คือพระเครื่องจากหลากหลายวัสดุรีไซเคิล หรืออาจเรียกได้ว่า “มวลสาร” เช่น กล่องนม, ซากแหอวน, ถุงฟอยล์, ถุงพลาสติก, ขวดน้ำพลาสติก, ฝาขวดน้ำ ซึ่งในเคสนี้ต้องถือว่าเป็นมวลสารแห่งความยั่งยืน เพื่อเตือนสติในการบริโภค พร้อมกลยุทธ์ Storytelling  เชื่อมโยงเรื่องราวของความศรัทธา กับเรื่องของการแยกขยะไปยังผู้คนในสังคมวงกว้างมากขึ้น

เกมส์ตึกถล่ม

เกมส์ที่เล่นได้หลายอย่าง หลากหลาย เพื่อใช้ระโยชน์ได้มากที่สุด วัสดุแต่ละชิ้นเล่าเรื่อง สัตว์ทะเลที่อาจได้รับอันตรายหรือติดอยู่ภายในแหจับปลาที่ถูกทิ้งในทะเล อาทิ ปลาฉลาม, เต่าทะเล, ปลาวาฬ, ปลาโลมา ฯลฯ รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษของพลาสติกในท้องทะเล เพื่อให้ผู้เล่นได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแหจับปลาที่ถูกทิ้งซึ่งคิดเป็น 10% ของขยะพลาสติกในทะเลและเรียนรู้ที่จะช่วยกันแก้ปัญหาดังกล่าว

ออกแบบให้ใช้รูปสิ่งมีชีวิตในทะเลแทนจุดแต้มบนโดมิโน เพื่อสื่อสารเรื่องราว และเลือกผลิตจากวัสดุซากแหอวนรีไซเคิล รวบรวมผ่านโครงการทะเลปลอดแหอวน โดยมูลนิธิ EJF Thailand เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล

เต่าที่รองแก้ว

บ่อยครั้งที่ชีวิตเต่าทะเลต้องโดนกักขังด้วยเศษซากจากแหอวน Qualy จึงอยากพิทักษ์เต่าทะเลด้วยจานรองแก้ว ‘Save Turtle Coaster’ และ ‘Save Turtle Magnet’ แท่นแม่เหล็กสำหรับเก็บคลิปหนีบกระดาษ มาในดีไซน์รูปเต่ามีให้เลือก 3 สี แตกต่างกันด้วยวัสดุที่ใช้ โดยเต่าสีดำทำจากแหอวนรีไซเคิลที่ทางแบรนด์รับซื้อแหอวนเก่าหรือชำรุดจากชาวประมง ผ่านโครงการ ‘Net Free Seas’ โดยองค์กร Environmental Justice Foundation Thailand (EJF) เพื่อลดขยะที่เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำ สร้างสำนึกรักษ์ทะเล รวมถึงเสริมรายได้แก่ชุมชน

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : วิกฤต ขยะพลาสติก ล้นแม่น้ำคงคา

Recommend