คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการรับมือกับเจ็ตแล็ก

เจ็ตแล็ก เป็นผลจากการที่เราไม่สามารถปรับร่างกายตามเขตเวลาซึ่งแตกต่างจากเดิมเกินกว่า 3 ชั่วโมงได้ เครื่องบินในภาพนี้ ถูกถ่ายด้วยเลนส์ทิลต์ชิฟต์ (Tilt-Shift) ที่สนามบินเทเทอร์โบโร (Teterboro) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์
ภาพถ่ายโดย VINCENT LAFORET, THE NEW YORK TIMES/REDUX PICTURES)

ปรับตัวเข้ากับเขตเวลาใหม่โดยไม่ต้องเสียเวลากับ เจ็ตแล็ก

หากคุณต้องโดยสารเครื่องบินข้ามเขตเวลาไปต่างประเทศ คุณอาจประสบกับอาการที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า circadian dysrhythmia หรือที่รู้จักกันในชื่อ เจ็ตแล็ก (Jet Lag) แต่อย่าได้กังวล “คุณสามารถปรับตัวเข้ากับเขตเวลา ณ ที่หมายของคุณได้ หากคุณมีการเตรียมตัวล่วงหน้า” ดับเบิลยู. คริส วินเทอร์ (W. Chris Winter) นักประสาทวิทยาจากเวอร์จิเนียผู้แต่งหนังสือ The Sleep Solution: Why Your Sleep Is Broken and How to Fix It กล่าว

“ร่างกายของมนุษย์มีจังหวะนาฬิกาชีวภาพซึ่งถูกปรับมาเป็นอย่างดี” ดร. วิเวก จาอิน (Vivek Jain) ผู้อำนวยการสถาบันการนอนหลับผิดปกติ (Center for Sleep Disorders) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าว “หลายสายการบินพยายามหาวิธีการใหม่ๆ สำหรับเที่ยวบินระยะไกล เพื่อให้ผู้โดยสารปรับร่างกายได้ดียิ่งขึ้น แต่วิธีการเหล่านี้อาจไม่ได้ผลเสมอไป”

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถใช้สิ่งต่างๆ เช่นการปรับแสงให้สว่างกว่าปกติ (Light Exposure) การนอนหลับและการงีบอย่างถูกเวลา การทานขนมขบเคี้ยว และการดื่มคาเฟอีน เพื่อปรับวงจรเวลาของร่างกายได้ สิ่งที่เรากำลังนำเสนอต่อไปนี้คือข้อมูล วิธีการ และสิ่งที่คุณสามารถทำได้เมื่ออยู่บนเครื่องบิน ซึ่งเป็นคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เราปรับตัวกับเขตเวลาโดยไม่ต้องเสียเวลา

อย่ากลัวความมืด

การปิดกั้นแสงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณนอนหลับสนิทบนเครื่องบินได้ วิธีนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่าได้ผลชะงัดในการป้องกันอาการเจ็ตแล็กในเที่ยวบินข้ามคืน หากคุณต้องเดินทางหลายชั่วโมง เราแนะนำให้สวมแว่นกันแดดจนคุณรู้สึกง่วง และใช้ผ้าปิตตาเมื่อนอนหลับ เมื่อสมองของคุณรับรู้ได้ถึงความมืด มันจะหลั่งสารเมลาโทนินซึ่งทำให้คุณอยากนอนหลับ และใช้ตัวช่วยแบบใดก็ตามที่ทำให้คุณนั่งเครื่องบินได้อย่างสะดวกสบายและเงียบเชียบที่สุด ตัวอย่างเช่น แทนที่คุณจะใช้หมอนรูปตัวซีแบบเดิมๆ ลองเปลี่ยนเป็น NapAnywhere หมอนแบน รูปทรงกลม ซึ่งสามารถหนุนคอได้อย่างมั่นคง และอย่าลืมใช้หูฟังกันเสียงหรือที่อุดหูโฟม เพื่อเสริมการนอนหลับให้สนิทยิ่งขึ้น

ตื่นนอน ณ สถานที่แห่งใหม่

หากทำได้ ให้คุณจองเที่ยวบินซึ่งถึงที่หมายในเวลากลางวัน เพราะการตื่นนอนในเวลากลางวันช่วยให้คุณตั้งนาฬิกาชีวภาพใหม่ได้ “มันทำให้คุณเริ่มต้นวันใหม่ได้เร็วกว่าเดิมมาก” คริสติน ฮานเซน (Christine Hansen) ผู้ช่วยเหลือด้านการนอนจากลักเซมเบิร์ก กล่าว

ทาน (และดื่ม) อาหารที่เหมาะสม

หากคุณถึงที่หมายในตอนเช้าหรือบ่าย การดื่มคาเฟอีนช่วยให้คุณปรับร่างกายให้เข้ากับเขตเวลาใหม่ได้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือการทานอาหารตามเวลาท้องถิ่นของสถานที่นั้น (นี่เป็นอืกหนึ่งเหตุผลที่คุณควรตรงไปนั่งผ่อนคลายกับกาแฟและครัวซองต์ในคาเฟสักแห่งในปารีส ทันทีที่ถึงจุดหมาย)

นั่งเครื่องกับสายการบินซึ่งมีวิธีการต้อนรับใหม่ๆ

หลายสายการบินพยายามหาวิธีบรรเทาและรักษาอาการเจ็ตแล็ก สายการบินแควนตัสกำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซิดนีย์เพื่อศึกษาผลกระทบจากอุณหภูมิและแสงไฟบนเครื่อง ส่วนสิงคโปร์แอร์ไลน์กำลังพัฒนาเมนูและการบริหารร่างกายบนเครื่องร่วมกับบริษัทสปา แคนยอนแรนช์ (Canyon Ranch)

วางแผนล่วงหน้า

อีกหนึ่งวิธีที่คุณสามารถบรรเทาอาการเจ็ตแลคได้ คือการปรับเวลานอน การรับแสง และปริมาณคาเฟอีนล่วงหน้าก่อนวันเดินทาง หรือแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนมือถืออย่างไทม์ชิฟเตอร์ (Timeshifter) ที่คุณสามารถใช้ปรับตารางเวลาก่อนท่องเที่ยวสำหรับตนเองได้

ภาพถ่ายโดย PHOTOGRAPH BY MAIKA ELAN, BLOOMBERG (รูปจาก GETTY IMAGES)

นอนหลับให้สนิท

การรับประทานเมลาโทนิน ซึ่งโดยปกติร่างกายผลิตได้เอง สามารถช่วยให้คุณนอนหลับบนเครื่องบินหรือในเขตเวลาที่ต่างออกไปได้ เมลาโทนินสามารถซื้อหาได้ทั่วไป แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ข้อดี (หรืออาจเป็นข้อเสีย) ของเมลาโทนินคือ มันไม่ทำให้คุณซึมเป็นเวลานานเหมือนกับยานอนหลับตามแพทย์สั่ง

คุณรู้ไหมว่า

ตามข้อมูลจากสมาคมการนอนหลับแห่งอเมริกา (American Sleep Association) นักเดินทางกว่าร้อยละ 93 มีอาการเจ็ตแล็กอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต

เวลาที่ร่างกายต้องการเพื่อปรับตัวสำหรับเขตเวลาใหม่ คือหนึ่งวันสำหรับเวลาที่ต่างออกไปหนึ่งชั่วโมง

มีเขตเวลาที่เป็นที่ยอมรับในทางสากลกว่า 24 เขต และยังมีเขตที่ยังไม่ได้รับการยอมรับอีกมากมาย

อาการเจ็ตแล็กจากการเดินทางตะวันตกไปยังตะวันออก รุนแรงกว่าการเดินทางจากตะวันออกไปตะวันตก

เรื่อง Jennifer Barger


อ่านเพิ่มเติม : การนำ สัตว์เลี้ยงขึ้นเครื่องบิน ต้องทำอย่างไร มีกฎระเบียบข้อบังคับอะไรหรือเปล่า

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.