เมื่อกระแสน้ำขึ้นลงเปลี่ยนอ่าวเล็กจ้อยให้กลายเป็นอ่างแพลงก์ตอน กระเบนราหู ในหมู่เกาะมัลดีฟส์จึงยกโขยงมาร่วมงานปาร์ตี้กลางวังวน
เรื่อง บรูซ บาร์คอตต์
ภาพ โทมัส พี. เพสแชก
จากชายฝั่งทางใต้ของอินเดียออกไป 708 กิโลเมตร ณ ชาติที่เป็นกลุ่มเกาะนาม “มัลดีฟส์” มีเกาะร้างผู้คนอยู่แห่งหนึ่งชื่อว่า ฮานีฟารู หากมองจากเบื้องบน เกาะแห่งนี้คงไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจมากนัก นอกจากหย่อมไม้พุ่มเขตร้อนบนผืนทรายปริมาตรพอๆ กับหนึ่งคันรถบรรทุก
เกาะฮานีฟารูมีขนาดกะทัดรัดจนเด็กตัวเล็กๆ สามารถเดินรอบแนวชายฝั่งโค้งเว้าของเกาะจนทั่วในเวลาเพียง 10 นาที ขนาดของเกาะแห่งนี้ไม่ใช่สิ่งผิดปกติสำหรับหมู่เกาะมัลดีฟส์ที่ประกอบไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อย 1,192 เกาะ รวมตัวกันเป็นเกาะปะการังวงแหวน 26 เกาะที่โอบล้อมด้วยมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ แต่มีหลายครั้งต่อปี เมื่อฤดูกาลและกระแสน้ำขึ้นน้ำลงประจวบเหมาะกัน กระเบนราหูจากทั่วทั้งหมู่เกาะมัลดีฟส์จะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อหาอาหาร จนดูราวกับงานเริงระบำกลางดงปะการัง
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เมื่อน้ำขึ้นลงตามดวงจันทร์ (lunar tide) ผลักดันกระแสน้ำมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (southwestern monsoon current) ในมหาสมุทรอินเดีย แรงดึงดูดของกระแสน้ำทั้งสองทำให้คริลล์เขตร้อนและแพลงก์ตอนอื่นๆ จากน้ำลึกลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ กระแสน้ำจะกวาดต้อนคริลล์เข้าไปยังก้นอ่าวฮานีฟารู หากคริลล์ยังอ้อยอิ่งอยู่บนผิวน้ำ กระแสน้ำจะพัดพาพวกมันขึ้นไปเหนือแนวปะการังของอ่าวและออกไปสู่ทะเลเปิดอย่างปลอดภัย แต่สัญชาตญาณบอกให้พวกมันดำน้ำหนีแสงอาทิตย์ และเมื่อทำเช่นนั้น พวกมันก็จะเข้าไปติดกับในอ่างธรรมชาติ ภายในเวลาเพียงสองสามชั่วโมง กลุ่มก้อนแพลงก์ตอนขนาดยักษ์จะก่อตัวขึ้น ซึ่งหนาแน่นจนทำให้น้ำในบริเวณนั้นขุ่นมัว และแล้วก็ถึงคิวปรากฏตัวของกระเบนราหู (Manta birostris)
กาย สตีเวนส์ นักชีววิทยาทางทะเลชาวอังกฤษ ผู้ศึกษาวิจัยกระเบนในหมู่เกาะมัลดีฟส์มาเป็นเวลาสามปีแล้ว กล่าวว่า ”พอน้ำขึ้นเท่านั้นแหละครับ คุณจะเห็นเจ้ากระเบนราหูสองสามตัวโผล่ออกมาเลยครับ จากนั้นจะยกโขยงกันมาเป็นฝูง เผลอๆ คุณจะได้เห็นพวกมันถึง 200 ตัว มะรุมมะตุ้มหาอาหารในอ่าวที่มีขนาดไล่เลี่ยกับสนามฟุตบอลอยู่นานสองถึงสี่ชั่วโมงทีเดียวครับ”
กระเบนยักษ์ใหญ่เหล่านี้ (ความกว้างจากครีบทั้งสองของกระเบนราหูมัลดีฟส์อาจยาวถึง 3.5 เมตร) จัดเป็นสัตว์กรองกิน (filter feeder) โดยพวกมันจะใช้ปากที่มีขนาดเท่ากล่องรองเท้ากวาดต้อนฝูงคริลล์ลงท้องราวกับเครื่องดูดฝุ่นและล่าเหยื่อตามกันเป็นทอดๆ เรียงต่อกันเป็นทิวแถว
อ่านเพิ่มเติม: ปลากระเบนในทุกวันนี้ยังอยู่ดีหรือไม่
ในอ่าวฮานีฟารูอันคับแคบ กระเบนราหูต้องอาศัยความชำนาญและความคิดสร้างสรรค์ในการหาอาหารมากขึ้น และสตีเวนส์ก็ได้พบเห็นและระบุวิธีการหาอาหารของพวกมัน ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์แทบไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น เมื่อมีห่วงโซ่กระเบน 50 ตัวหรือมากกว่าหาอาหารอยู่ในอ่าว ปรากฏการณ์น่าทึ่งจะเกิดขึ้น กล่าวคือ กระเบนตัวที่อยู่หัวแถวจะว่ายเข้าหาหางแถว จากนั้นห่วงโซ่กระเบนจะค่อยๆ กลายร่างเป็นวังน้ำวน ”เราเรียกวิธีนี้ว่าการหาอาหารแบบไซโคลนครับ” สตีเวนส์บอก ”ถ้ามีกระเบนราหูมากกว่าร้อยตัวทำอย่างนั้น วงของพวกมันจะผายออกอย่างรวดเร็วจนห่วงโซ่ขาดจากกันจากนั้นคุณจะได้เห็นการกินอาหารที่สุดแสนอลหม่าน”
การเริงระบำอันสง่างามในสายน้ำอันขุ่นมัวกลายเป็นการหาอาหารแบบตัวใครตัวมัน เมื่อกระเบนหลายร้อยตัวว่ายชนกันสะเปะสะปะ สถานการณ์ดูจะยิ่งสับสนขึ้นไปอีก เมื่อฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่งุ่มง่ามที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งแต่ละตัวมีขนาดเท่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 เมตร ปรากฏตัวขึ้นเพื่อร่วมวงกินโต๊ะ หลายชั่วโมงผ่านไป แพลงก์ตอนค่อยๆ หมดลง งานเลี้ยงใกล้เลิกราแล้ว ฝูงกระเบนจึงเคลื่อนตัวไปตามก้นอ่าวที่เป็นทรายโดยใช้ครีบหู (cephalic fin) หรือ ”ปีก” กระพือไล่เหยื่อที่ซ่อนตัวอยู่ให้ลอยขึ้นสู่ท้องน้ำ
หลายชั่วอายุก่อน ครีบหูส่วนหน้าที่มีหน้าตาคล้ายเขาสัตว์ทำให้พวกมันได้ชื่อว่าปลาปีศาจ ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่โตและรูปร่างที่เหมือนค้างคาว ทำให้กระเบนราหูดูลึกลับและน่ากลัว อีกทั้งมันยังถูกกล่าวหาว่าเป็นนักล่าที่
ดุร้าย แต่แล้วความคิดเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปในทศวรรษ 1970 เมื่อนักประดาน้ำพบว่ากระเบนราหูเป็นสัตว์ที่อ่อนโยน บางครั้งพวกมันยังยอมให้เราขึ้นไปขี่หลังได้ด้วยซ้ำ
ด้วยอุปนิสัยตามธรรมชาติที่ดูเป็นมิตร ทำให้กระเบนราหูกลายเป็นไฮไลต์ดึงดูดนักดำน้ำมือสมัครเล่น ผู้อยากสัมผัสประสบการณ์ใกล้ชิดสัตว์ทะเลหน้าตาประหลาด โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า อาจเป็นการรบกวนหรือรุกล้ำวิถีชีวิตตามธรรมชาติของสัตว์ป่า แต่สำหรับสัตว์ที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามเช่นนี้ มนตร์เสน่ห์ดึงดูดใหม่อาจช่วยกอบกู้เผ่าพันธุ์ของพวกมันเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม กระเบนราหูซึ่งมีอัตราการสืบพันธุ์ช้ายังคงเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากการทำประมงเกินขนาด ดังนั้นการที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจึงอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น จนชาวบ้านหันมาอนุรักษ์แทนที่จะไล่ล่าพวกมัน ทว่าสมดุลในเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปอาจผลักไสกระเบนราหูออกจากแหล่งอาหารอย่างอ่าวฮานีฟารูก็เป็นได้
ในหมู่เกาะมัลดีฟส์ สตีเวนส์ยังคงบันทึกทะเบียนประวัติสัตว์เจ้าถิ่นชนิดนี้ต่อไป (ที่ผ่านมาเขาระบุเอกลักษณ์กระเบนได้มากกว่า 1,500 ตัวตามลวดลายจุดแต้มบนตัวที่แตกต่างกัน) นอกจากนี้ เขายังได้บันทึกช่วงเวลาในการหาอาหารที่แน่ชัด ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจมีค่ามากสำหรับอุตสาหกรรมนำเที่ยวในท้องถิ่น สตีเวนส์ตระหนักดีว่าเวลาไม่เคยคอยท่า เขาต้องเร่งมือจัดทำระบบตรวจสอบที่เอื้อให้บรรดารีสอร์ตและมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องกระเบนราหู ก่อนที่นักท่องเที่ยวและนักดำน้ำสมัครเล่นจะหลั่งไหลเข้ามายังฮานีฟารูจนรับมือไม่ไหว
สตีเวนส์ยอมรับว่า ”เราไม่อยากทำลายสิ่งที่เรามีอยู่ที่นี่ครับ” หากโครงการของเขาดำเนินไปด้วยดี อ่าวฮานีฟารูจะยังคงเป็นแหล่งพักพิงของเหล่ากระเบนราหูและมหกรรมการกินอาหารราวพายุบุแคมของพวกมัน อีกทั้งยังมีที่ว่างพอสำหรับฉลามวาฬ รวมถึงมนุษย์อย่างเราด้วย
จากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ฉบับที่ 96 เดือนกรกฎาคม 2552
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิกฤติพลาสติกล้นโลก