หมออีม หญิงไทยคนแรกผู้ขึ้นสู่ยอดเขาทั้งเจ็ดทวีป

“การก้าวไปถึงจุดสูงสุดอาจไม่ใช่ความสุขที่ยิ่งใหญ่ แต่การกลับลงมาอย่างปลอดภัย คือสิ่งที่สำคัญกว่า” – หมออีม  นภัสพร ชำนาญสิทธิ์

บ่ายวันหนึ่ง ขณะนั่งทำงานตามปกติอยู่ในออฟฟิศ นิ้วมือพลันเลื่อนเมาส์ไปเจอข้อความที่ปรากฏในแถบแจ้งเตือนบนเฟซบุ๊ก ฉันอ่านข้อความจนจบอย่างถี่ถ้วนสองสามรอบ ความปลื้มปริ่มเกิดขึ้นในใจเมื่อทราบถึงจุดประสงค์ของผู้ส่งสาร ที่ต้องการให้เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย นำเสนอเรื่องราวของ หมออีม ทันตแพทย์หญิง นภัสพร ชำนาญสิทธิ์

จากจุดเริ่มต้นจนถึงความสำเร็จ

เมื่อปี 2016 หมออีม คือผู้หญิงไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์อันเลื่องชื่อได้สำเร็จ และชื่อของเธอกลับมาปรากฏบนหน้าสื่ออีกครั้งหลังจากเธอพิชิตยอดเขา 7 แห่ง จาก 7 ผืนทวีป ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หมออีมกลายเป็นผู้หญิงที่คนไทยจับตามอง เธอคือคนไทยคนแรกที่ใช้ความพยายามและความร่วมมือจากหลายฝ่ายเดินทางไปสู่ยอดเขาทั้ง 7 แห่งได้สำเร็จ

คุณคมรันต์ (ซ้าย) ผู้ชักชวนให้หมออีมเริ่มภารกิจพิชิตเอเวอเรสต์

การเดินทาของหมออีมเริ่มต้นจากการไปร่วมปีนเขากับคุณคมรัตน์ พิชิตเดช หรือที่คนในวงการปีนเขามักเรียกในนาม ป๋าคมรัตน์ ครั้งนั้น ป๋ามองเห็นความพิเศษในตัวหมออีมจากครั้งที่ไปร่วมปีนเขาบนเส้นทางคีนาบาลูบนเกาะบอร์เนียวด้วยกัน เขาจึงผลักดันให้เธอลองพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ และเธอตอบตกลง “เธอเป็นผู้หญิงที่เดินขึ้นเขาอย่างไม่รู้จักเหนื่อย ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว และเดินเร็ว” คุณธำรงค์ ปิยนราภร ผู้จัดการส่วนตัวของหมออีม เล่าให้เราฟัง “ปกติป๋าคมรัตน์มีประสบการณ์ปีนเขาร่วมกับคนไทยมาหลายคน และป๋าพอจะมองออกว่าใครสามารถขึ้นไปบนเอเวอเรสต์ได้ ซึ่งป๋ามองเห็นความพิเศษในตัวหมออีม

หลังจากนั้น คุณธำรงเข้ามามีบทบาทในการหาเงินทุนสนับสนุนเพื่อให้หมออีมและป๋าได้เดินทางไปทำภารกิจพิชิตเอเวอเรสต์ โดยการตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อ Thai Everest 2016 มีสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 30 – 40 คน ในช่วงแรก ทุกคนช่วยกันระดมความคิดในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ได้เงินทุนสนับสนุน ตั้งแต่การจัดจำหน่ายเสื้อยืด จัดชมภาพยนตร์รอบพิเศษ และจัดงานวิ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมเดียวที่ยังคงจัดต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องราวทุกอย่างเหมือนกำลังดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ไม่มีเส้นทางไหนที่ผ่านไปได้แบบไร้การทดสอบ ช่วงที่หมออีมและป๋าเดินทางไปถึงเนปาลเพื่อพิชิตยอดเอเวอเรสต์ อยู่ในช่วงเกิดข้อพิพาทระหว่างจีนและทิเบต จึงต้องเปลี่ยนแผนการเดินทางจากเดิมที่ตั้งใจว่าจะใช้เส้นทางขึ้นเขาฝั่งทิเบต มาเป็นฝั่งเนปาล ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น งบประมาณที่เตรียมไปจึงไม่เพียงพอ “เราจึงต้องระดมทุนกันอีกครั้ง เพื่อให้หมอได้ขึ้นเขา โดยการไปกู้ยืมเงินมา และเอาความสำเร็จของหมออีมเป็นประกัน” คุณธำรงค์เล่า

ภาพแสดงลำดับการปีเขาของหมออีมจากเอเวอเรสต์จนจบโครงการ

กระบวนการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ดำเนินไปจนกระทั่งหมออีมกลับลงมาอย่างปลอดภัย และกลายเป็นบุคคลในสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ ตอนเริ่มปีนเขาเอเวเรสต์หมออีมและป๋าเดินทางขึ้นไปด้วยกัน แต่ป๋าคมรัตน์ต้องหยุดการพิชิตไว้กลางทางเนื่องจากปัญหาสุขภาพ และปล่อยหมออีมขึ้นสู่ยอดเขาเพียงลำพัง เรื่องราวทุกอย่างหลังจากการพิชิตเอเวอเรสต์สำเร็จดูง่ายขึ้น ทางผู้จัดการและทีมงานจึงจัดทำโครงการ 7 Summits ไปยังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผลคือ หมออีมได้รับทุนสนับสนุนจำนวนหนึ่งจาก ปตท. ในการเดินทางไปพิชิตยอดเขาอื่นๆ ที่เหลืออยู่

แต่เนื่องจากงบประมาณสนับสนุนที่เสนอไป ครอบคลุมเฉพาะตัวหมออีมเพียงคนเดียว จึงนับได้ว่าหมอเดินทางคนเดียวตลอดเส้นทางที่เหลือ “หมออีมไม่เคยทำให้เราผิดหวัง สามารถพิชิตยอดเขาทั้งหมดมาได้ตลอดปี 2016 ถึงปี 2017” คุณธำรงค์กล่าวและเสริมว่า “จนกระทั่งมาถึงยอดเขาลำดับที่ 6 เทือกเขาเดนาลี (หรือเมานต์แมกคินลีย์) ทวีปอเมริกาเหนือ การพิชิตยอดเขาต้องหยุดชะงักชั่วคราว เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทุกอย่างข้างบนนั้นขาวโพลนจนมองไม่เห็นเส้นขอบฟ้าตัดกับแผ่นดิน” คุณธำรงค์อธิบาย

หมออีมจำเป็นต้องกลับมาตั้งต้นใหม่อีกครั้งที่เมืองไทย โดยเลื่อนแผนการพิชิตยอดเขาเดนาลีออกไปก่อน และการกลับไปพิชิตอีกครั้งต้องใช้เงินสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง ทางทีมงานจึงร่วมกันจัดงานวิ่งเทรลรายการ “Trail Savanna Thailand” ที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลกเพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนการพิชิตยอดเขาเดนาลี

ในขณะที่กลับไปพิชิตยอดเดนาลีอีกครั้ง หมออีมหอบความหวังของทีมงานที่เมืองไทยติดตัวไปด้วย “ในการเดินทางครั้งนั้นมีนักปีนเขาทั่วโลกทั้งหมด 4 คน ไม่นับรวมผู้นำทาง แต่มีหมออีมเพียงคนเดียวที่ไปถึงยอดเขาได้สำเร็จ” คุณธำรงค์บอก ความท้าทายของเทือกเขาแห่งนี้ คือสภาพอากาศที่แปรปรวนจนไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ เนื่องจากเมานต์แมกคินลีย์ตั้งอยู่ในแนวโพลาร์วอร์เท็กซ์ (Polar vortex) และนักปีนเขาทั่วโลกประเมินความสำเร็จในการไปถึงจุดสูงสุดไว้เพียงร้อยละ 40

ความสำเร็จที่ต้องแลกมาด้วยแรงกาย แรงใจ และความร่วมมือ

หมออีมเป็นทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ทุกเช้า เธอตื่นขึ้นมาวิ่งวันละ 20 กิโลเมตร ออกกำลังกายด้วยน้ำหนัก (weight training) และฝึกการเดินขึ้นที่สูงในกรุงเทพที่อาคาร Energy Complex ของ ปตท. โดยการแบกถุงข้าวสารหนัก 20 กิโลกรัม และเดินขึ้นตึกสูง 36 ชั้น มีบางครั้งที่หมออีมอยากล้มเลิกความคิดนี้ไป แต่เมื่อเธอหันกลับมามองข้างหลัง เธอเห็นผู้คนมากมายที่คอยสนับสนุนเธอมาตลอด เธอเรียกพลังจากคนเหล่านี้ว่า “ลมใต้ปีก” เปรียบเหมือนแรงพยุงให้เธอลุกขึ้นเดินต่อไปได้อีกครั้ง

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจผลักดันให้หมออีมเริ่มต้นกิจกรรมปีนเขาคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเวลานั้น เธอรับชมคลิปวิดีโอของคุณหนึ่ง – วิธิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของเอเวอเรสต์ และถือพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี หมออีมรู้สึกตื้นตันไปกับภาพบรรยากาศนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักให้เธอก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ ของตัวเองออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ

หมออีมกล่าวเสมอว่า กำลังใจจากเพื่อนๆ ทุกคนที่คอยสนับสนุนเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะถ้าไม่ได้ทุกคนที่คอยช่วยเธอคงไม่ได้มายืนอยู่จุดนี้ เพื่อนๆ คอยหาทุนให้ ขายเสื้อ และจัดงานวิ่ง ทีมงานที่เมืองไทยไม่เคยกดดันเธอ ระหว่างเดินผ่านความยากลำบากของเส้นทางบนภูเขาแต่ละลูก เธอจำเป็นต้องแยกแยะความกดดันกับเรื่องสภาพร่างกายออกจากกัน เพราะความปลอดภัยของเธอคือสิ่งเดิมพันที่เธอต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง “ความสุขที่ยิ่งใหญ่อาจไม่ใช่การไปยืนบนจุดสูงสุดของยอดเขา แต่การกลับลงมาอย่างปลอดภัยเพื่อพบเจอคนที่รอเราอยู่ คือสิ่งที่สำคัญกว่า

หลายครั้งหลายคราที่นักปีนเขาหลายคนพาชีวิตตัวเองไปจบบนเส้นทางปีนเขา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงขากลับลงมา เพราะไม่เหลือเรี่ยวแรงในการเดินลงเขา ทางจิตวิทยาให้เหตุผลว่า นักปีนเขารวบรวมความตั้งใจและใส่พลังงานร่างกาย และพลังใจจนหมดไปในช่วงเดินขึ้น จนสุดท้ายเมื่อไปถึงจุดที่ตั้งใจไว้ ก็ไม่เหลือพลังงานให้เดินกลับลงมา จึงเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอยู่เนืองๆ ทางทีมงานไทยคุยกับหมออีมเสมอว่า ไม่ต้องกดดันตัวเอง และกลับมาเจอพวกเราให้ได้

กลับสู่ความเป็นธรรมชาติ

แม้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของยอดเขามาแล้วทั่วโลก แต่เธอกลับไม่เคยคิดว่าตัวเองคือผู้พิชิตเลย เพราะเมื่อเธอเดินจากมา ยอดเขาต่างๆ ก็ยังตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เธอกลับรู้สึกว่า เธอได้กลับไปสู่ความเรียบง่ายของธรรมชาติ ปรับวิถีชีวิตเพื่อความอยู่ง่าย กินง่าย และนอนง่าย สุดท้ายเธอค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเอง

ครั้งหนึ่ง หมออีมให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ยิ่งเรารู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง เรากลับรู้สึกว่ามนุษย์ช่างตัวเล็กเหลือเกิน

นักเดินทางหลายคนที่ฉันได้พูดคุยด้วย กล่าวว่า “ยิ่งเราออกเดินทางไปรู้จักโลกมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้จักตัวเองมากขึ้นเช่นกัน” ฉันเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้


เรื่อง: นภัทรดนัย

ภาพถ่าย: นภัสพร ชำนาญสิทธิ์

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หยุดงาน 1 วัน แล้วไปเดินป่า ใบสั่งยาแบบใหม่จากคุณหมอ

ในอุทยานแห่งชาติบูคันซันซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่านกลางเมืองของกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้และศูนย์กลางชีวิตทันสมัยอันตึงเครียด ฮงซุงอวิน พนักงานขาย ล้มตัวลงนอนพักหลังเดินป่า อุทยานแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละประมาณห้าล้านคน
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.