หลังจากผ่านการนั่งหลังขดหลังแข็งบนรถตู้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง จากกรุงเทพถึงชุมพร แดดยามบ่ายอาบไล้ไปทั่วผิวกายทันทีที่เราก้าวลงจากรถ “ฝนพึ่งหยุดตกเมื่อวันนี้เอง” เสียงจากพี่คม – คม ศรีราช เจ้าของที่พัก เอ่ยต้อนรับเมื่อพบกับเรา บรรยากาศสวนมะพร้าว สวนปาล์ม และสวนผลไม้ รายล้อมพื้นที่โรงแรมวิลล่า วาริช โรงแรมขนาด 14 ห้องพักในรูปแบบบ้านในสวน ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เราเลือกมาพักที่นี่จากความนิยมของคะแนนรีวิวที่สูงลิ่วในเว็บไซต์จองที่พักชื่อดัง ฉันยังแอบถามตัวเองในใจว่า “โรงแรมเล็กๆ ในหมู่บ้านชนบท ได้รับคะแนนสูงขนาดนี้ได้อย่างไร” และอีกหนึ่งเหตุผลคือมาดูรูปแบบการจัดการ ท่องเที่ยวชุมชน
ก่อนหน้านี้ทั้งพี่คมและพี่แตง – นพรัตน์ ศรีราช ภรรยาของพี่คม เคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพ และเมื่อถึงวันที่ทั้งคู่มองเห็นช่องทางในการกลับบ้านเกิด จึงเกิดแนวความคิดในการสร้างที่พักขึ้น โดยตั้งใจให้เป็นที่พักสำหรับผู้ที่อยากสัมผัสประสบการณ์ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น (Local experiences)
“ในช่วงแรก พี่เสนอแนวคิดที่พักแบบนี้กับคนในครอบครัว แต่ไม่มีใครสนับสนุนเราเลย” พี่คมเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม “ทุกคนถามว่า ใครจะเข้ามาพักในหมู่บ้านเล็กๆ แบบนี้” แต่จากประสบการณ์ที่เคยเดินทางไปต่างประเทศหลายเมือง พี่คมจึงตั้งกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าเป็นกลุ่มลูกค้าชาวยุโรป ที่มีความชื่นชอบประสบการณ์แบบเรียบง่าย ชอบการท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสวิถีชีวิต และได้เรียนรู้ความเป็นอยู่ของคนพื้นถิ่น
พี่คมและพี่แตงจึงวางแผนทำการประชาสัมพันธ์ออนไลน์เป็นหลัก นำโรงแรมเข้าสู่ระบบการจองที่พักออนไลน์กับเว็บไซต์ที่มีฐานผู้ชมเป็นชาวต่างชาติ และในช่วงเวลาที่โรมแรมเปิดบริการได้ไม่นาน ลูกค้ากลุ่มแรกที่เข้ามาพักก็เป็นกลุ่มเป้าหมายที่พี่คมตั้งใจไว้ กว่าร้อยละ 70 เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาพักในวิลล่า วาริช พี่คมนำเสนอประสบการณ์ท้องถิ่นด้วยการแนะนำสถานที่โดยรอบบ้านบางหมาก ทั้งวัด ร้านอาหารท้องถิ่น สถานที่ฝึกลิง บ้านขนมไทย และแปลงเกษตรอินทรีย์
สำหรับผู้เข้าพัก พี่คมจัดเตรียมแผนที่และรถจักรยานไว้ให้บริการฟรี นักท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานไปตามถนนในหมู่บ้าน ลัดเลาะทิวสวน ชมวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น และหยุดพักตรงจุดใดก็ได้ ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาพักในวิลล่า วาริช “เรามีวัตถุดิบในท้องถิ่นของเราอยู่แล้ว เพียงแค่เราไม่ได้สื่อสารออกไป” พี่คมบอกและเสริมว่า “ผมเห็นวิถีชีวิตของคนบางหมากมาตั้งแต่เด็ก ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้แปลงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้” นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมาจังหวัดชุมพร เพียงเพื่อเป็นทางผ่านไปสู่เกาะแก่งต่างๆ ในทะเลใต้ แต่พี่คมก็สามารถเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการนำเสนอสิ่งที่เป็นมาแต่เดิมอยู่แล้ว
“ถึงแม้จะไม่มีนักท่องเที่ยว วิถีชีวิตเหล่านี้ก็ยังดำเนินต่อไป ลิงยังขึ้นต้นมะพร้าว บ้านขนมไทยผลิตขนมส่งตลาดทุกวัน และแปลงเกษตรก็ส่งออกผลผลิตตามปกติ” พี่คมเล่าขณะพาเราเดินชมสวนเกษตรของพี่เขียว – มลิวัลย์ ชัยบุตร เจ้าของมะลิสปา และเกษตรกรผู้ทำการเกษตรอินทรีย์
ขณะเที่ยวชมจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน ฉันรู้สึกถึงความเป็นชนบทที่ไร้การปรุงแต่ง แม้ที่ตั้งของหมู่บ้านจะอยู่ห่างจากเมืองเพียง 4 กิโลเมตร แต่ก็ยังซึมซับและรับรู้ได้ถึงวิถีชีวิตแบบท้องถิ่น นักท่องเที่ยวไม่ได้เลือกมาพักที่โรงแรม เพราะตัวโรงแรม แต่เพราะพื้นที่โดยรอบมีเสน่ห์ มีเรื่องราวให้เขานำกลับไปเล่าขาน “ผมแทบไม่ได้ลงทุนในส่วนอื่นนอกจากการสร้างที่พักขึ้นมา” พี่คมพลางพูดพลางเดินอยู่ในสถานที่ฝึกลิง “ชาวบ้านเขาทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว พี่แค่แนะนำนักท่องเที่ยวว่า เรามีอะไรบ้าง”
เสียงจอแจของลิงกังตัวจ้อย กับภาพของชายหนุ่มวัยกลางคนรวมตัวกันทุกเย็นหลังเลิกงาน เพื่อฝึกฝนลิงของตนให้ขึ้นเก็บลูกมะพร้าว เป็นบรรยากาศที่หาชมได้ยาก ฉันเดินทางกลับมาที่พักเพื่อรอเวลาอาหารเย็น ระหว่างนั้น ฉันเลือกเดินไปเขียนความทรงจำครั้งนี้ที่ริมน้ำท่าตะเภา ซึ่งเป็นลำธารที่ไหลเลียบโรงแรม “เราไม่ได้เติบโตไปคนเดียว ชุมชนที่อยู่รอบๆ ก็โตไปพร้อมเราด้วย” ฉันนึกถึงคำของพี่คม “ตราบใดที่เรายังมีทรัพยากรเหล่านี้อยู่ พี่ก็เชื่อว่า บ้านบางหมากจะยังอยู่ได้ เพราะเราไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากภายนอก”
ที่ริมฝั่ง ฉันนั่งมองผิวน้ำสีน้ำตาลเข้ม อันเป็นผลมาจากฝนที่ตกติดต่อกันหลายวัน และพลางนึกขึ้นได้ว่า สิ่งที่พี่คมทำคือการสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงในชุมชน และอาศัยหลักความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ แนวคิดของพี่คมคือชูวัตถุดิบหลักในท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากดั้งเดิมของบ้านบางหมาก ส่งผลให้ชุมชนและธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
เช้าวันถัดมา กลิ่นกาแฟคั่วสดหอมมาแต่ไกล ฉันรีบเดินออกจากห้องพักไปถึงต้นทางของกลิ่นนั้น และก็พบพี่คมกำลังลงมือชงกาแฟสดให้แก่ลูกค้าด้วยตัวเอง เมล็ดกาแฟที่นำมาใช้ พี่คมบอกว่า ได้มาจากสวนของเกษตรกรคนหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังแชมป์บาริสต้าชาวไทย เขาสามารถสร้างกาแฟที่มีหลากหลายรสชาติ ตามรสนิยมของผู้บริโภค ฉันนั่งจิบกาแฟโรบัสต้าสีดำเข้ม แต่รสชาติกลับกลมกล่อมอย่างละมุน กลิ่นเบอร์รีอวลขึ้นจมูกหลังจากฉันกลืนกาแฟลงคอ สร้างอรรถรสในการดื่มกิน นี่คือหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่พี่คมสนับสนุนวัตถุดิบในท้องถิ่น และเป็นการสื่อสารให้คนภายนอกได้รับรู้ว่า คนไทยสามารถปลูกกาแฟรสชาติดีระดับโลกได้
เรื่อง: ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย: เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ข้อมูลเพิ่มเติม:
เฟซบุ๊กแฟนเพจ วิลล่า วาริช
กลุ่มแปรรูปมะพร้าวสกัดเย็น มะลิสปา
ร่วมพบปะพูดคุยกับบุคคุลในเรื่องได้ที่งาน SB CHUMPHON ติตามรายละเอียดได้ที่ https://www.sustainablebrandsbkk.com/