หลังจากอายุ 25 ปีได้ไม่นาน ผมตัดสินใจออกไปเดินป่าครั้งแรกในชีวิต ดอยขุนตาล
แม้การทำงานที่ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย จะทำให้ผมได้รับรู้เรื่องราวและความสำคัญของธรรมชาติและโลกใบนี้มากขึ้น แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติโดยการไปปีนเขา ตั้งแคมป์ หรือเดินป่าอย่างจริงจัง และการมีสถานะเป็น “คนในเมือง” ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการออกไปพบกับธรรมชาติดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลออกไป
จนกระทั่งผมได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่ในออฟฟิศท่านหนึ่งที่ทำงานในนิตยสารเพื่อนบ้าน เขาเป็นนักเดินป่าตัวยง และได้เขียนเรื่องราวการท่องเที่ยวธรรมชาติ การเดินป่า ให้กับเว็บไซต์ของนิตยสารมาได้ระยะหนึ่ง เขากำลังหาเพื่อนร่วมทางในการสำรวจเส้นทางเดินป่าที่ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล”
เขาเล่าว่า ความน่าสนใจของที่แห่งนี้ คือการเป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถเดินทางได้โดยขนส่งสาธารณะ (รถไฟ) ในขณะที่อุทยานแห่งชาติอื่นๆต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวในการเข้าถึง เขาจึงเอ่ยปากชวนผม ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์ในการเดินป่าอย่างจริงจังให้ร่วมทางไปด้วยกัน
คำชักชวนนี้อาจมองได้ว่าเป็นหนึ่งในภาระงานของผมเช่นกัน ผมจึงรีบดำเนินการจองตั๋วรถไฟตามคำแนะนำของเขา โดยมีกำหนดเวลาเดินทาง 3 วัน 2 คืน และนอกเหนือไปจากนี้ ผมไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม นอกเสียจากเตรียมตัวเพื่อรับประสบการณ์การออกเดินป่าครั้งแรกในชีวิต
“ไม่ต้องเอาอะไรไปนอกจากของใช้ส่วนตัว เต็นท์ อุปกรณ์เดินป่า เราใช้ด้วยกันได้”
ผมรับฟังชายนักเดินป่าผู้มากประสบการณ์ และเมื่อวันเดินทางมาถึง เราสองคนจับรถไฟเที่ยวเย็นจากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลที่เรากำลังมุ่งหน้าไปนี้ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอห้างฉัตร อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 159,556.25 ไร่ หรือ 255.29 ตารางกิโลเมตร เป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน อันเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาขุนตาน เป็นแหล่งต้นน้ำส่วนหนึ่งของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง
สำหรับผู้ที่มาทางรถไฟ ต้องผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยอย่าง “อุโมงค์ขุนตาน” ที่เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450 ในช่วงการบุกเบิกกิจการรถไฟในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2461 สร้างโดยนายเอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ วิศวกรชาวเยอรมัน พร้อมด้วยคนงานจำนวนมากที่ต้องเจาะหินภูเขาทีละก้อน การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีคนงานเสียชีวิตจากทั้งอุบัติเหตุในการเจาะอุโมงค์ โรคปอดจากฝุ่นและอากาศพิษในการก่อสร้าง รวมไปถึงไข้ป่า อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามของพวกเขา ทำให้ประเทศไทยมีอุโมงค์รถไฟที่มีความยาว 1,352 เมตร อันเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
หลังจากค้างแรมบนรถไฟชั้นสองปรับอากาศมาทั้งคืน และลอดอุโมงค์ขุนตานในช่วงเวลาเช้ามืด ผมก็รู้สึกตัว ผุดลุกผุดนั่งบนเตียงของรถไฟตู้นอนด้วยความงัวเงีย ใกล้ถึงเวลาที่รถไฟจะเทียบชานชาลาที่ สถานีรถไฟขุนตาน สถานีรถไฟที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 578 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งใกล้กับอุทยานที่สุด อันเป็นจุดหมายปลายทางของเราแล้ว
หลังจากโผล่พ้นบรรยากาศแห่งความมืดมิดในอุโมงค์ขุนตาน ณ เวลาราว 06:00 น. ของวันนั้น ผมพบว่า เราเป็นผู้โดยสารเพียงสองคนที่ลงเทียบชานชาลาที่สถานีรถไฟขุนตาน
ในยามเช้ามืดเช่นนี้ บรรยากาศโดยรอบสถานีรถไฟนั้นแสนจะเงียบเหงา แต่ในช่วงกลางวันหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีผู้คนมากมายขึ้นลงที่สถานีรถไฟแห่งนี้ และเดินเข้าไปเยี่ยมชมทั้งด้านนอกและภายในอุโมงค์ขุนตานซึ่งตั้งอยู่เคียงกันในฐานะแหล่งท่องเที่ยว อาจเป็นเพราะในชีวิตของคนส่วนใหญ่คงไม่มีโอกาสเข้าถึงอุโมงค์รถไฟได้บ่อยครั้งนัก การได้มาเยือนที่แห่งนี้จึงกลายเป็นโอกาสพิเศษของใครหลายคน สีแดงสดที่แต้มลงไปในปากอุโมงค์ขนาดใหญ่เป็นตัวดึงดูดผู้คนให้เข้ามาถ่ายภาพคู่กับรางรถไฟที่ทอดยาวไปยังความมืดภายใน พร้อมกับเฝ้าชมขบวนรถไฟเข้าหรือออกจากอุโมงค์ อันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นไม่ว่าจะสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่
ทางเข้าอุทยานแห่งขาติดอยขุนตาลไม่ได้อยู่ติดกับตัวสถานีรถไฟ แต่ต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปเป็นระยะทางราว 1.3 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นเส้นทางอยู่ที่ทางเดินระหว่างตัวสถานีรถไฟกับอุโมงค์ขุนตาน (มีป้ายบอกชัดเจน) เส้นทางนั้นสูงชัน ทอดตัวยาวเหนืออุโมงค์ขุนตานที่เราเพิ่งจากมา
ผมมองไปที่เพื่อนร่วมทางของผม เขาสะพายเป้สำหรับนักเดินป่าขนาด 50 ลิตร ซึ่งบรรจุสิ่งของทุกอย่างที่จำเป็นในการตั้งแคมป์ (รวมไปถึงอุปกรณ์ทำอาหาร เต็นท์สำหรับ 1 คน และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ) รองเท้าผ้าใบเนื้อหนาสำหรับเดินป่า พร้อมกับไม้เท้าเพื่อใช้พยุงตัว เมื่อเทียบกับตัวผม ที่แบกเป้สะพายหลังและรองเท้าผ้าใบธรรมดา ก็รู้สึกได้ว่า การแต่งกายและอุปกรณ์ของผมอาจก่อให้เกิดอุปสรรคแก่ตัวเองได้
ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลอย่างไร ก็ตัดสินใจสืบเท้าตามหลังเพื่อนร่วมทางของผมไปในเส้นทางสู่อุทยานจนได้
ในการเดินป่าครั้งแรกนี้ ผมเริ่มถูกทดสอบพละกำลังด้วยการเดินเท้าพร้อมกับการขนเป้สัมภาระส่วนตัวที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการเดินป่า พร้อมกับถือเต็นท์ขนาด 4 คนนอน และเสบียงที่เพิ่งซื้อมาจากร้านค้าในสถานีรถไฟจำนวนหนึ่ง โดยรวมแล้วผมต้องแบกน้ำหนักราว 10 กิโลกรัม เพื่อไต่เขาอันสูงชันเข้าสู่พื้นที่อุทยาน สำหรับนักเดินป่ามือใหม่เช่นผม เส้นทางสั้นๆแต่สูงชันไม่น้อยนี้จะเป็นบททดสอบขั้นแรกให้รู้ว่าจะถอดใจเสียก่อนถึงอุทยานหรือไม่
แน่นอนว่าการเดินไต่เขาบนเส้นทางนี้เป็นเรื่องเหนื่อยยาก จนผมอยากจะล้มเลิก แต่สัมผัสแรกของผืนป่าตามเส้นทางที่ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นรอบตัว เป็นตัวฉุดรั้งให้ผมเดินไปตามเส้นทางเดิมต่อไป
หลังจากเดินตามเส้นทางที่สลับกันทั้งเส้นทางป่าและทางหลวงลาดยางสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาโดยรถยนต์ ในที่สุด ผมได้เดินทางมาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลแล้ว
หลังชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อย เราสองคนเข้าไปในที่ทำการอุทยาน และพบกับจุดชมธรรมชาติจุดแรกของอุทยานที่ชื่อว่า ลานชมดาว อันเป็นสนามหญ้าขนาดย่อมตั้งอยู่ด้านข้างที่ทำการอุทยานที่สามารถกางเต็นท์ได้ และมีจุดชมวิวเล็กๆที่สามารถมองเห็นทิวเขาหลายลูกที่ซ้อนกันอยู่ เมื่อมองไปยังเบื้องล่างจะพบเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทิวเขา พื้นที่ป่าส่วนหนึ่ง และเส้นทางรถไฟที่มุ่งหน้าเข้า-ออกอุโมงค์ขุนตาน ถ้าเราพอมีโชค ในยามเช้าเราอาจพบกับหมอกที่เข้าปกคลุมลานชมดาวแห่งนี้และทิวทัศน์โดยรอบ
พื้นที่นี้เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัวซึ่งต้องการสัมผัสกับธรรมชาติบนทิวเขาโดยไม่จำเป็นต้องบุกป่าฝ่าดงให้ลำบาก (ในกรณีที่เดินทางมาโดยรถยนต์) ในพื้นที่โดยรอบมีร้านค้าสวัสดิการของอุทยานที่จำหน่ายอาหาร ของใช้ต่างๆ และสามารถใช้ไฟฟ้าเพื่อชาร์จโทรศัพท์มือถือที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวได้ อำนวยความสะดวกให้ผู้มาเยือนได้มากทีเดียว
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการเดินป่าเช่นเรา ลานชมดาวแห่งนี้ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่เป็นเพียงจุดพักผ่อน เตรียมร่างกายให้พร้อม ก่อนเข้าสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติอันแท้จริงของดอยขุนตาล ซึ่งมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ยอดดอยขุนตาล บนความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 1,373 เมตร
เส้นทางเดินไต่เขาสู่ยอดดอยขุนตาลที่เราตั้งใจไปให้ถึงมีระยะทางราว 5,500 เมตร มีการแบ่งช่วงเดินออกเป็น 4 ช่วง เรียกว่า ย.1 – ย.4 (ย่อมาจาก “จุดยุทธศาสตร์” เนื่องจากดอยขุนตาลเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง)
เราวางแผนการเดินทางออกเป็นสองช่วงหลัก โดยในวันแรก เราต้องแบกสัมภาระทั้งหมดเพื่อเดินไต่เขาเป็นระยะทางราว 3 กิโลเมตร ผ่านเส้นทาง ย.1 มุ่งหน้าสู่ลานสนในเส้นทาง ย.2 ซึ่งเป็นจุดที่เราจะกางเต็นท์และพักค้างคืน และวันถัดมา เราจะเดินเท้าในเส้นทาง ย.3 – ย.4 ไปยังยอดดอยขุนตาล อันเป็นจุดหมายและจุดสุดท้ายของเส้นทางศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งนี้
หลังจากพักผ่อนที่ลานชมดาวเต็มที่แล้ว ผมออกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เดินเท้าเข้าสู่ปากทางเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สู่จุด ย.1 เส้นทางไต่เขานี้จะเป็นทางเดินเท้าเรียบสลับกับทางซีเมนต์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางบางช่วง เราเดินผ่านป่าเต็งรังที่ขึ้นปกคลุมตามเชิงเขา ซึ่งมีสภาพทางเดินเป็นกรวดหรือดินลูกรัง มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และเดินผ่านป่าดิบแล้ง เป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างราบหรือตามหุบเขา มีความชุ่มชื้นน้อย โดยรวมสภาพป่าที่เราเจอค่อนข้างโปร่ง และมีความสูงชันในระดับที่ไม่อาจเดินด้วยท่าทางธรรมดาได้โดยง่าย
ผมยังต้องแบกสัมภาระและความเหนื่อยล้าสะสมจากการเดินในตอนเช้าอยู่เช่นเดิม ดังนั้น หลังจากผ่านเส้นทาง ย.1 สู่เส้นทาง ย.2 ผมรู้สึกได้ถึงความอ่อนแรง ลมหายใจหอบถี่ มือข้างที่ไม่ได้ถือเต็นท์อันหนักอึ้งเริ่มเอามาปาดเหงื่ออยู่ตลอดเวลา พร้อมกับจังหวะก้าวเดินที่ช้าลงไปทุกที
“ไหวหรือเปล่าน้อง” เสียงร้องถามจากรุ่นพี่มายังผม เขาคงสังเกตสภาพอันอ่อนล้าของผมได้
“ไหวครับพี่” ผมร้องตอบไปด้วยน้ำเสียงที่พยายามให้ปกติมากที่สุด
หลังจากใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง เราก็มาถึงลานสน ย.2 สูงจากระดับทะเล 1,035 เมตร เป็นจุดสำหรับกางเต็นท์ อันเป็นลานดินเล็กล้อมรอบไปด้วยต้นสน ผมมองเห็นแสงแดดในยามสายที่ส่องทะลุผ่านแนวต้นสนสะท้อนกับใบไม้และพุ่มไม้ใหญ่ ก่อให้เกิดประกายระยิบระยับ ตรงกลางลานมีต้นฮุง ต้นไม้ท้องถิ่นขนาดใหญ่ ทำหน้าที่แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงาแก่ผู้มาเยือนลานสนแห่งนี้ ประเมินด้วยสายตาคร่าวๆ ต้นฮุงนี้น่าจะตั้งตระหง่านอยู่ตรงนี้เป็นเวลามากกว่าร้อยปี อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียสในวันนั้นผลิตลมเย็นจางๆจากภูเขาพัดผ่านตัวพอให้เย็นสบาย ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงอากาศร้อนอบอ้าวในยามบ่าย
แน่นอนว่าในลานสนแห่งนี้ไม่มีไฟฟ้า สิ่งอำนวยความสะดวกมีเพียงแค่น้ำประปา และห้องน้ำที่มีสภาพพอใช้ ส่วนสัญญาณโทรศัพท์ 4G นั้นขาดหายไป ต่างจากลานชมดาวที่เราเพิ่งจากมาโดยสิ้นเชิง ความรื่นรมย์ในที่แห่งนี้มีเพียงบรรยากาศธรรมชาติรอบตัวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม “นี่เป็นจุดกางเต็นท์ที่สวยที่สุด” รุ่นพี่ผู้ชักชวนผมเอ่ยขึ้น
หลังจากกางเต็นท์ในลานสน ทำกับข้าวมื้อกลางวันโดยใช้ชุดประกอบอาหารและเสบียงที่เราแบกขึ้นเขาแล้ว เราสองคนประเมินสถานการณ์ว่าจะขึ้นไปยังยอดดอยเสียภายในเย็นวันนี้เลยก็ย่อมได้ แต่เราไม่อยากเร่งรีบ และควรใช้เวลาสำรวจธรรมชาติในอุทยานแห่งนี้ให้เต็มที่ก่อนอาทิตย์จะลับขอบฟ้าในวันนี้ดีกว่า เราจึงเลือกเดินทางไป น้ำตกตาดเหมย ซึ่งอยู่ระหว่างทางจาก ย.2 ไป ย.3 โดยมีเส้นทางแยกไปยังตัวน้ำตกเป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร
พอเริ่มเดิน เราพบว่าเส้นทางไปน้ำตกตาดเหมยมีความลาดชันมาก เนื่องจากต้องลงไปในหุบเขา ทางเดินบางช่วงมีความลาดชันมากถึง 50-60 องศา (คาดคะเนจากสายตาอันหวาดหวั่นของผม) คนมาไต่เขาครั้งแรกเช่นผมต้องเกาะเกี่ยวรากไม้ เกร็งข้อเท้าอันสั่นไหว และต้องหยิบฉวยไผ่รวกจากข้างทางต่างไม้ค้ำยัน ทางเดินบางช่วงแคบถึงขนาดที่หน้าผากับหุบเหวห่างกันแค่ 2-3 เมตรเท่านั้น เป็นเส้นทางเดินที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ตกหน้าผาพอสมควร
หลังใช้เวลาเดินประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ เราก็มาถึงจุดหมาย
แม้น้ำตกตาดเหมยเป็นน้ำตกขนาดเล็ก สูง 10 เมตร แต่ภาพน้ำตกที่ลดหลั่นไม่กี่ชั้น ซึ่งกลั่นมาจากต้นน้ำในผืนป่า ก็เป็นทัศนียภาพที่มีความสวยงามในรูปแบบของตัวเอง
น้ำตกใสและเย็นมากพอให้เราได้เรียกเอาความชุ่มชื้นให้กับตัวเองสักพัก ก่อนที่เราจะไต่เขาย้อนกลับไปในเส้นทางเดิม โดยรวมแล้วเราใช้เวลาราวสองชั่วโมงกว่าในการเดินทางไปกลับน้ำตก
เรากลับมายังเต็นท์ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ทอแสงสุดท้าย มวลอากาศเย็นเริ่มแทนที่อากาศภูเขาที่ร้อนอบอ้าว เรารีบพักผ่อนคลายความเหนื่อยล้าเหลือประมาณที่เผชิญมาตลอดทั้งวัน เก็บแรงไว้ออกเดินทางสู่ยอดดอยสูงสุดตั้งแต่เช้ามืดของวันพรุ่งนี้
*************************
04:00 น.
หลังจากตื่นนอนและเตรียมความพร้อมร่างกาย เราสองคนเริ่มออกเดินทางจากจุดกางเต็นท์ ไปในเส้นทาง ย.2 สู่ ย.3 และจาก ย.3 สู่ ย.4 มุ่งสู่ยอดดอยขุนตาล ตั้งใจไปชมช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ทอแสงแรกของวัน
อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางนี้ผมเผชิญอุปสรรคสำคัญของการเดินคือ “ความมืด” เราสองคนต้องใช้แสงไฟจากไฟฉายขนาดเล็กพอให้เดินไปตามเส้นทางอย่างระมัดระวัง เส้นทางเริ่มแคบและสูงชันมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าหากก้าวพลาดในความมืด ก็อาจพาตัวเองตกสู่เหวลึกเบื้องล่าง
เวลาราวตีห้าเศษๆ เราก็มาถึงจุด ย.3 ซึ่งมีบ้านพักที่สร้างโดยคณะมิชชันนารีอเมริกันคริสตจักร และให้บริการนักท่องเที่ยว โดยเป็นจุดกางเต็นท์และจุดชมวิวที่ใกล้ยอดดอยมากที่สุด อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยพายัพ หลังจากผ่านจุด ย.3 เราเร่งเดินต่อไปในเส้นทาง ย.3 สู่ ย.4 ทันที
เส้นทางเดินนี้ประกอบไปด้วยป่า 2 ประเภท คือป่าดิบเขา ซึ่งขึ้นในพื้นที่สูง หรือบนภูเขาตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปจากระดับทะเล อยู่บนเทือกเขาสูงทางภาคเหนือ มีความเป็นป่าโปร่งมากกว่าป่าดิบชื้น เนื่องจากมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นน้อยกว่า มีความเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี อีกประเภทหนึ่งคือป่าเบญจพรรณ เป็นป่าโปร่งที่มีทั้งไม้ขนาดกลางและขนาดใหญ่หลายชนิด มีความลาดชันน้อยกว่าป่าดงดิบ การเดินในเส้นทางป่าโปร่งเช่นนี้เป็นเรื่องที่เราพอทำได้ แต่เมื่อเดินไปเรื่อยๆ ผมเริ่มพบว่า ยิ่งเดินไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหายใจลำบากมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากยิ่งสูง อากาศก็ยิ่งเบาบางลง ทำให้เราเหนื่อยง่ายมากขึ้น
แต่การฝืนตัวเองไปเรื่อยๆ มุ่งและมองตรงไปยังผืนป่าข้างหน้าอย่างเดียวมาราวชั่วโมงเศษ ในที่สุด ผมได้มาถึง “เนินวัดใจ” เนินสูงชันจุดสุดท้ายที่จะพาไปสู่ยอดดอย ย.4 ที่ชื่อว่า “ม่อนส่องกล้อง” ซึ่งแม้จะเป็นทางขั้นบันไดที่ทำจากซีเมนต์อำนวยความสะดวกในการเดิน แต่ผมกลับก้าวขาแทบไม่ออก เพราะการขึ้นเขาระยะทางราว 3 กิโลเมตรภายในสองชั่วโมงโดยแทบไม่หยุดพักมาจนถึงตอนนี้ ทำให้ร่างกายอ่อนแรงมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ผมพยายามฝืนก้าวขาไปทีละก้าว ในขณะที่รุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์เดินป่าที่มาด้วยกันนั้นก้าวนำผมไปไกลแล้ว
เวลาเลย 06:00 น. เล็กน้อย ผมก็ขึ้นถึงจุดสูงสุดของยอดดอยขุนตาล
ที่ยอดดอย ร่างกายของผมสัมผัสกับอากาศเย็นจนเกือบหนาวราว 20 องศาเซลเซียส หลังจากปรับตัวกับสภาพอากาศบนที่สูงได้แล้ว ความเหนื่อยล้าก็เริ่มบรรเทา ทิวทัศน์ที่พบเจอเบื้องหน้าคือม่านหมอกค่อนข้างหนาสลับกับก้อนเมฆที่ลอยตัวต่ำ มีแสงสว่างจางๆ ส่องประกายบางๆ ตัดผ่านเมฆ
หลังจากเฝ้ารอมานาน ในที่สุด ดวงอาทิตย์ก็ทอแสงแรกของวันให้เราได้รับชม อย่างที่เราสองคนตั้งใจไว้
โดยรวมแล้วเราใช้เวลาหนึ่งวันหนึ่งคืนในการเดินเท้าบนระยะทางไต่เขาราว 6-7 กิโลเมตร เพื่อบรรลุเป้าหมาย
และหลังจากใช้เวลาไปพอสมควร เราก็เดินกลับจากยอดดอย
ผมพบว่าเราไม่สามารถนำสิ่งใดกลับมาจากความพยายามของเราในครั้งนี้ได้เลย นอกจากความทรงจำ
เส้นทางที่เราได้เดินฝ่าในความมืด ตอนนี้มีแสงอาทิตย์ส่องสว่างเข้ามาแล้ว แสงนั้นเผยให้เห็นต้นไม้ใหญ่หลากชนิดหลายต้นยืนต้นฝังรากลึกตามทางเดินและแนวเขา สำหรับผมแล้ว ภาพที่เห็นในเบื้องหน้านี้น่าตื่นตาไม่น้อยเลย
“เหมือนยิ่งขึ้นมาสูงก็ยิ่งเจอต้นไม้ใหญ่นะครับ” ผมรำพึงรำพันขึ้น
“คงเป็นเพราะคนเข้าถึงพื้นที่ตรงนี้ได้น้อยละมั้ง” ชายผู้พาผมมาในเส้นทางนี้กล่าวตอบ
จากนั้น ผมเดินลงจากเขาย้อนไปยังจุดกางเต็นท์ของตัวเอง เก็บอุปกรณ์ทุกชิ้น และไต่เขากลับลงไปสู่จุดตั้งต้น ตอนนี้ผมแทบไม่รู้สึกเหนื่อยล้าเหมือนตอนที่ขึ้นมาแล้ว เป็นความรู้สึกที่เปรียบได้กับการได้สร้างร่างกายขึ้นมาใหม่
ในที่สุด ผมได้ผ่านการเดินป่าและปีนเขาเป็นครั้งแรกในชีวิต
ผมสังเกตว่าตลอดเส้นทางของอุทยานคงได้รับการดูแลอย่างดี ในเช้าวันที่ผมเดินลงมา เราได้พบกับเจ้าหน้าที่อุทยานหลายคนที่กำลังคอยดูแลและปรับปรุงทาง พวกเขายิ้มทักทาย และพูดคุยกับเราเล็กๆน้อยๆ พร้อมกับนักไต่เขาคนอื่นๆที่เดินสวนกับเรา และตั้งมั่นเดินทางไปสู่ยอดดอยที่เราเพิ่งจากมา
เราใช้เวลาอีกหนึ่งคืนกลับมากางเต็นท์ที่ลานชมดาว เพื่อพักผ่อนให้เต็มที่และซึมซับบรรยากาศธรรมชาติแบบสบายๆ ในตอนเช้าของอีกวัน เราได้สัมผัสกับหมอกหนาสวยงามเป็นโบนัสเพิ่มเติมจากการเดินทาง แล้วเราก็ไต่ลงเขาในเส้นทางเดิมเพื่อขึ้นรถไฟกลับบ้านในรอบเย็น
*************************
หลังจากกลับมาพร้อมความรู้สึกปวดจางๆที่ไหล่ จากการสะพายเป้สัมภาระและเดินป่ากันเป็นวันๆ ก่อนเขียนเรื่องราวเหล่านี้ ผมกลับมาคิดทบทวนกับตัวเองว่า ช่วงเวลาที่ดอยขุนตาลตลอด 3 วัน 2 คืนที่ผ่านมา ทำให้ผมได้กลับไปสัมผัสธรรมชาติอีกครั้ง หลังจากห่างเหินกับมันมานาน
ย้อนกลับไปเมื่อตอนวัยเด็ก ผมชอบไปเล่นสนุกในพื้นที่ป่าเล็กๆแถวบ้านซึ่งอยู่บริเวณชานเมือง การได้เดินลัดเลาะป่า ขุดดินในป่าแห่งนั้น ทำให้ผมสนุกได้ไม่แพ้สนามเด็กเล่นในที่ไหนๆ แต่พอโตขึ้น ผมกลับนำพาตัวเองออกจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในช่วงที่เป็นนักเรียน ผมได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติผ่านตำราเรียน หรือสวนพฤกศาสตร์เล็กๆ ในโรงเรียนบ้าง แต่สิ่งนั้นไม่ได้ทำให้ผมได้ใช้ “ใจ” ในการใกล้ชิดธรรมชาติ เท่ากับการมาเดินป่าในครั้งนี้ด้วยตัวเอง
ผมห่างเหินจากธรรมชาติจนอาจลืมนึกไปว่า มนุษย์เราล้วนเกิดจากและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราจึงมีความผูกพันกับธรรมชาติตามสัญชาตญาณ เพียงแค่อาจจะยังไม่รู้ตัวเท่านั้น
ถ้ามีโอกาส ผมก็จะกลับไปเดินป่าอีก
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
หมายเหตุ: ในเนื้อหาบทความจะปรากฏการสะกดคำทั้ง ขุนตาล และ ขุนตาน โดย ขุนตาล จะใช้สำหรับการสะกดชื่อที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติและชื่อดอย ส่วน ขุนตาน จะใช้สำหรับการสะกดชื่อสถานีรถไฟ อุโมงค์รถไฟ และสถานที่ในบริเวณทิวเขาขุนตานที่เหลือทั้งหมด