โต๋เต๋ ทะเลมัลดีฟส์ ออกไปฟรีไดฟ์สัมผัสโลกใต้ทะเล

ผมชอบดำน้ำครับ ก็ดำไปเรื่อยตั้งแต่ดำเล่นๆ จนมาเป็นผู้ฝึกสอน ถ้านับรวมเวลาก็ประมาณ 25 ปีแล้ว

ปกติคนทั่วไปรู้จักกิจกรรมดำน้ำในรูปแบบใช้ถัง หรือสกูบา (Scuba diving) กับการดำน้ำแบบลอยเท้งเต้งอยู่บนผิวน้ำพร้อมชูชีพ หรือสนอร์เกิล (Snorkeling diving) ตอนนี้ มีการดำน้ำรูปแบบใหม่ที่พัฒนาจากกีฬา ด้วยการกลั้นหายใจใต้น้ำ เสริมเทคนิคต่างๆให้อยู่ในน้ำได้นานขึ้น ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น โดยไม่ต้องแบกอุปกรณ์ หรือที่เรียกว่า ฟรีไดฟ์ (Free diving)

มัลดีฟส์เป็นจุดหมายยอดฮิตสำหรับนักดำน้ำ และเป็นสถานที่สุดโปรดของเหล่าฟรีไดฟ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า แต่ละจุดดำน้ำมีทัศนียภาพแตกต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องลงลึกเท่ากับสกูบา และไม่ได้ลอยอยู่บนผิวน้ำแบบสนอร์เกิล  เรียกว่าอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ยากไม่ง่าย การมองหาสัตว์ทะเลอย่างฉลามวาฬก็ทำได้ง่าย เมื่อเราพบตัวอะไรก็สามารถพุ่งเข้าไปด้วยฟิน (ตีนกบ) ถ้ากลั้นหายใจได้นานก็สามารถเข้าใกล้สัตว์ทะเลได้ใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งเต่าทะเลและปลาเก๋า นับเป็นเสน่ห์ของฟรีไดฟ์ที่หลายคนหลงใหล

การเดินทางไปมัลดีฟส์ควรพิจารณาเรื่องที่พักด้วยนะครับ เพราะในประเทศนี้มีเกาะเป็นร้อยแห่ง บางแห่งที่พักสวยและราคาถูก ซึ่งเราอาจพบฝูงปลามากมาย หรือเดินทางไปช่วงตั๋วเครื่องบินราคาถูก เราอาจไม่เจอกระเบนราหูก็ได้ นอนรีสอร์ตหรูก็ใช่ว่าจะเจอพี่จุด (ฉลามวาฬ) ที่ผมพยายามสื่อคือ อย่าไปเลือกที่พักเพราะราคาหรือแค่ความสวยงาม ถ้าคุณตั้งใจไปฟรีไดฟ์ ลองถามคนเคยไปฟรีไดฟ์มาแล้วดีกว่า ที่มัลดีฟส์มีรีสอร์ตหลายแห่งที่เปิดบริการสำหรับนักฟรีไดฟ์โดยเฉพาะ นึกตามง่ายๆคือ คุณตื่นขึ้นจากเตียง แล้วสามารถกระโดดลงทะเลจากหน้าที่พักของคุณได้เลย หรืออย่างน้อยก็นั่งเรือออกจากที่พักเพียงไม่กี่นาทีก็ลงดำน้ำได้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม: กระเบนราหูรวมตัวกันในงานเลี้ยงโกลาหล

หมู่เกาะมัลดีฟส์ทางใต้ หรือ South Ari Atoll มีอุทยานแห่งชาติทางทะเลฉลามวาฬ (Whale Sharks Marine Park) ซึ่งเป็นที่อยู่ตามธรรมชาติของฉลามวาฬ สามารถพบเห็นตัวได้ง่ายเพียงนั่งเรือหรือเดินออกไปแค่ชั่วอึดใจ ฝูงฉลามวาฬมักปรากฏตัวในบริเวณนี้ทุกวันราวกับนัดกันไว้ ส่วนใหญ่แหวกว่ายอยู่ที่ความลึก 5-25 เมตร เป็นระดับความลึกที่ไม่ยากมากสำหรับฟรีไดฟ์

ข้ามไปอีกฝั่งของเกาะไม่เกินห้านาที เราพบกับแหล่งหาอาหารของปลากระเบน หรือที่นักดำน้ำรู้จักกันในชื่อ Manta Feeding Station ปลากระเบนมักว่ายเข้ามากินอาหารกันตามธรรมชาติ ที่ความลึกประมาณ 3-5 เมตร โดยเฉพาะช่วงเย็น เราสามารถดำน้ำแล้วพบกับฝูงปลากระเบนหลายสิบตัว หากจัดสรรเวลาให้ดีและโชคเข้าข้าง คุณอาจเจอสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด จนคุณมีรูปถ่ายโพสต์บนโซเชียลมีเดียไปอีกหลายเดือนหลังจากจบทริป

ในส่วนหมู่เกาะทางเหนือ หรือ North Ari Atoll เราพบทั้งปลาฉลามเสือและปลากระเบนราหูกำลังแหวกว่ายคล้ายนกบิน บางจังหวะว่ายโฉบเข้ามาใกล้เรามาก นอกจากนี้ เราพบกับโลมาที่ร่าเริง ชอบว่ายน้ำเล่นกับนักฟรีไดฟ์ อีกทั้งฝูงปลานานาชนิด จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือภูมิทัศน์ใต้ท้องทะเล ทั้งซากเรือล่มและถ้ำใต้น้ำ ซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถดำลงไปถ่ายภาพได้ อุณหภูมิน้ำไม่เย็นมากเมื่อเทียบกับหมู่เกาะทางใต้

ในแง่ของวิถีชีวิตชาวเกาะ เราอาจร่วมดำน้ำลงไปเก็บหอยมุก เพื่อชมวิถีของชาวประมงได้ คนพื้นเมืองส่วนใหญ่ในมัลดีฟส์ยังประกอบอาชีพประมงท้องถิ่น คุณสามารถไปพบกับชาวบ้านบนเกาะ Filitheo หรือเกาะ Kuredu ที่มีเกสต์เฮาส์และตลาดชุมชน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ ชาวบ้านอาจพาคุณลงไปดำน้ำกับพวกเขาได้ ถ้าเจรจาลงตัว เราอาจไม่ต้องเสียค่าจ้างวาน เพราะชาวบ้านอยากนำเสนอวิถีฟรีไดฟ์ที่ถูกต้องให้แก่นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว

สิ่งสำคัญที่ต้องทราบสำหรับการฟรีไดฟ์คือ ห้ามสัมผัสสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ห้ามพกมีด และห้ามหยิบทุกอย่างที่อยู่ในทะเลขึ้นมา และที่สำคัญ ห้ามว่ายน้ำตัดหน้าสัตว์ใหญ่ และต้องเป็น Certified Free-diver เท่านั้น (ไม่ใช่ skin dive หรือการดำไม่เกิน 5 เมตร) สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมประเภทนี้ ควรไปเรียนคอร์สดำน้ำแบบฟรีไดฟ์มาก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเล

สำหรับตัวเลือกในการเดินทางเข้าที่พัก เมื่อเราบินไปถึงมาเล เมืองหลวงของมัลดีฟส์ ผมแนะนำว่า ควรเดินทางต่อด้วยเครื่องบินไปยังอะทอลล์ ดีกว่าการนั่งเรือครับ เนื่องจากใช้เวลาน้อยกว่าและราคาไม่ต่างกับการนั่งเรือมากนัก ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อเราจะได้มีเวลาเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆมากขึ้น โดยไม่อ่อนเพลียจนเกินไป

ขอให้สนุกกับฟรีไดฟ์ที่มัลดีฟส์นะครับ

เรื่องและภาพถ่าย: ดร.กุลเดช สินธวณรงค์


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: มหัศจรรย์แห่งชีวิตใต้ทะเล

ปลาการ์ตูนสีส้ม, เกาะสิปาดัน, มาเลเซีย
ภาพถ่ายโดย Marc Hornig
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.