บอร์เนียว เป็นชื่อหมู่เกาะทางตอนใต้ที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี มีธรรมชาติทั้งบนบกและใต้น้ำที่สวยงาม ซึ่งสำหรับผมและพลพรรคนักดูนกชาวไทย ‘บอร์เนียว’ เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ในการเดินทางไปดูนก ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีนกเฉพาะถิ่นมากมาย และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามระบบนิเวศบนเกาะแห่งนี้ อาจทำให้เราพลาดชมสัตว์ต่างๆ เหล่านี้อีก
เรื่องและภาพ : วัทธิกร โสภณรัตน์
เมื่อเรามาถึงเมืองคินาบาลู บนเส้นทาง Crocker range ที่เราเลือกใช้สัญจร เป็นจุดดูนกที่มีชื่อเสียง แต่เราก็ได้แต่ขับผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะฝนตก และหมอกลงจัด จึงทำได้แค่แวะจอดดูนกบางช่วงที่อากาศเอื้ออำนวย มีเพียงนก Chestnut hooded laughingthrust ที่โผล่มาให้เห็น และ นก Plume toed swiftlet ที่เกาะนอนหลบลมหนาวบริเวณจุดพักรถ หลังจากผ่านเส้นทางคดเคี้ยวบนภูเขาที่เต็มไปด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ เราก็มาถึงที่พักที่บ่อน้ำร้อน Poring เอาตอน 1 ทุ่ม พวกเราไม่รอช้าออกตามหานกกลางคืนกันต่อทันที แต่ก็ต้องคว้าน้ำเหลว บรรยากาศการดูนกของเราในวันแรกของการเดินทางจึงค่อนข้างหม่นหมองอยู่บ้าง
เช้าวันถัดมา เราออกจากที่พักกันแต่เช้าตรู่ เพื่อไปบ่อน้ำพุร้อน บริเวณโดยรอบบ่อน้ำพุร้อนมีป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ความน่าตื่นเต้นเริ่มขึ้นในส่วนของสวนผีเสื้อขนาดเล็กที่อยู่ถัดมา เนื่องจากบริเวณนี้มีดอกไม้จำนวนมากเราจึงพบนกกินน้ำหวานเช่น นก Crimson sunbird (นกกินปลีคอแดง) และ นก Temmink’s sunbird (นกกินปลีแดง) หลายตัว และนอกจากนกกินน้ำหวานแล้ว ยังมีนก Black headed bulbul (ปรอดทอง) และนกปรอดเฉพาะถิ่น Charlotte’s bulbul เข้ามาหาอาหารในบริเวณนี้อีกด้วย
ถัดไปเริ่มเป็นป่าทึบ เราพบนก Red naped trogon หรือนกขุนแผนท้ายทอยแดงบินต้อนรับอยู่ ในขณะที่ผมกำลังง่วนกับการตามถ่ายรูปนกขุนแผนอยู่นั้น สมาชิกคนหนึ่งก็ถ่ายรูปนกตัวหนึ่งโผจับเถาวัลย์ในเงามืดลึกเข้าไปในป่า ถึงแม้รูปจะแย่แต่ก็พอจะบอกได้ว่าเป็นนกอะไร และมันทำให้พวกเราลนลานเป็นที่สุด เพราะมันคือ นก Chestnut capped Thrush (นกเดินดงหัวแดง) มันเป็นนกลึกลับที่ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกก็หาตัวยากและความรู้ที่เกี่ยวกับนกชนิดนี้ก็น้อยเหลือเกิน
หลังจากเดินดูนกภายในส่วนน้ำพุร้อนเสร็จแล้ว เราเดินออกมาดูนกต่อด้านนอก แม้เป็นเวลาสายมากแล้วแต่ก็เป็นช่วงแรกของวันที่มีแสงแดดสาดกระทบ จึงยังพอมีนกออกมาหากินอยู่บ้าง ในบริเวณนี้ เราพบ Long billed spiderhunter (นกปลีกล้วยปากยาว) ซึ่งสามารถพบได้ในประเทศไทยเช่นกันแต่ต้องเป็นบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น และนก Yellow rumped flowerpecker ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นอีกชนิดหนึ่งด้วย
หลังจากเสร็จภารกิจช่วงเช้าที่บ่อน้ำพุร้อน พวกเรากลับที่พักเพื่อเดินทางกันต่อ แต่ในขณะที่คิดว่าคงไม่มีนกอะไรโผล่มาอีกแล้ว ผมเหลือบไปเห็นนก White fronted Falconet นกเฉพาะถิ่นอีกชนิดที่ค่อนข้างหายาก เกาะอยู่บนยอดไม้ไกลลิบ ด้วยความตกใจผมเรียกทุกคนเพื่อให้หันมาดูพร้อมกับถ่ายรูปไปด้วย แต่ก็ไม่ทันการณ์ กว่าทุกคนจะหันมามันก็บินจากไปเสียแล้ว
พวกเรามาถึงอุทยานแห่งชาติคินาบาลูในช่วงบ่าย คณะเดินทางจึงตัดสินใจเข้าติดต่อห้องพักที่จองไว้ก่อน เมื่อไปถึงที่พักก็พบว่าบรรยากาศโดยรอบนั้นเหมาะแก่การดูนกมาก ในบริเวณที่พักประดับประดาด้วยไม้ดอกอยู่ดาษดื่น และรอบข้างเป็นชายป่า ถึงแม้จะมีฝนโปรยปรายอยู่บ้าง แต่ก็มีนก Black capped white-eye และ Black sided flowerpecker ที่เป็นนกเฉพาะถิ่นของบอร์เนียวหากินอยู่บนต้นไม้ที่อยู่ข้างลานจอดรถ
เมื่อชื่นชมบรรยากาศที่พักเสร็จแล้ว พวกเราจึงขับรถต่อไปยังทางเข้าอุทยานที่ห่างไปไม่ไกล เมื่อขับเข้ามาส่วนที่เป็นป่าทึบแล้ว เราจอดรถและเริ่มดูนกข้างทางพร้อมกับสภาพฟ้าขมุกขมัวและฝนจางๆ แต่ก็ไม่ทำให้นกหนีหายไปไหน เย็นวันนี้เราได้พบกับนกเฉพาะถิ่นมากมาย ที่บินผ่านขาพวกเราไปในระยะมือเอื้อม ถึงแม้จะพบนกน่าสนใจมากมายในการชิมลางนี้ แต่เราก็ยังพลาดนกเฉพาะถิ่นที่อยู่อีกหลายชนิด
อ่านต่อหน้า 2
เราออกจากที่พักโดยไม่มีมื้อเช้า มีเพียงของผลไม้ไว้แก้หิวได้ชั่วคราว การดูนกในวันนี้เรามีความคาดหวังอย่างมากกับนก Fruithunter นกเฉพาะถิ่นสุดลึกลับที่มักจะปรากฏตัวเฉพาะตอนที่มีลูกไม้สุกเท่านั้น และยังมีกลุ่มนกเฉพาะถิ่นที่มีชื่อ Whitehead ทั้ง 3 ชนิดคือ Whitehead’s Trogon (นกในกลุ่มนกขุนแผน) Whitehead’s Broadbill (นกในกลุ่มนกเขียวปากงุ้ม) และ Whitehead’s Spiderhunter (นกในกลุ่มนกปลีกล้วย) ชื่อ Whitehead นี้ไม่ได้เป็นเพราะว่านกเหล่านี้มีหัวสีขาว แต่มาจากชื่อนักปักษีวิทยา John Whitehead เป็นผู้ค้นพบ
แผนของเราในวันนี้คือขับรถขึ้นไปที่ประตู Tompohon ประตูด่านสุดท้ายสำหรับการปีนเขาคินาบาลู หลังจากประตูนี้ไป ใครที่อยากพิชิตยอดเขาต้องเดินเท้าเป็นเวลา 2 วัน และจ่ายค่าผ่านทางเพิ่ม แต่เป้าหมายของเราคือจุดชมวิวเหนือซุ้มประตู ณ จุดนี้เราสามารถพบนกจากที่สูงลงมาหากินบ้างบางคราว เช่น Golden naped Barbet, Pale faced Bulbul, Sunda Bush Warbler, Collared Owlet และ Bornean Treepie แต่นกที่ทำให้เราดีใจกันมากที่สุดก็เห็นจะเป็น Mountain Black-eye ที่โดดเข้ามาหากินตามยอดไม้อย่างเงียบๆ นกตัวนี้เป็นนกที่อยู่สูงระดับใกล้ยอดเขา จุดนี้เป็นจุดต่ำสุดที่จะมีโอกาสพบมันได้ (โดยที่ไม่ต้องเสียเงินและเดินเท้าขึ้นไป) ซึ่งก็ไม่บ่อยนักที่มันจะลงมาหากินในระดับต่ำแบบนี้
หลัง
จากประสบความสำเร็จด้วยดี เราเปลี่ยนลงมาดูนกตามทางด้านล่าง จุดแรกที่เราแวะเป็นจุดพักรถข้างทาง ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงเรียงนามอะไร เราแวะพักทานของว่างรองท้องพร้อมกับดูนกไปด้วย ระหว่างนี้เราเจอ Eyebrowed Jungle-Flycatcher แอบอยู่ในเงามืดขณะที่ผมเดินหลบไปทำธุระส่วนตัวข้างทาง ไม่วายต้องรีบวิ่งออกมาบอกเพื่อนๆ ที่รออยู่ แถมด้วย Bornean Leafbird ที่เพื่อนอีกคนเดินไปเจอบนสันเขา ซึ่งไม่บ่อยนักที่นกชนิดนี้จะขึ้นมาหากินบนเขาสูง พวกเราจึงต้องออกวิ่งกันอีกครั้ง เป็นการแวะพักที่พบนกเพิ่มอีก 2 ชนิดและทำให้การพักเหนื่อยของเราไม่ค่อยได้พักเท่าที่ควร
ตอนนี้เป็นเวลา 10 นาฬิกา เราลงมาปักหลักในจุดที่ได้รับการยืนยันจากรายงานต่างๆ และ จากเพื่อนดูนกที่พบระหว่างทาง ว่าเป็นจุดที่เจอ Whitehead’s Trogon และ Whitehead’s Broadbill ได้ค่อนข้างแน่นอนที่สุด เราเดินสาละวนไปมาอยู่ละแวกนั้นจนเที่ยง แต่ก็ไม่พบอะไร มีเพียง Bornean Stubtail ผลุบๆโผล่ๆ มาให้ดูแก้เบื่อ
หลังจากรับประทานอาหารกลางวัน เราวนไปตามสวนดอกไม้รอบๆ เพื่อหา Whitehead’s Spiderhunter แต่ก็ไร้วี่แวว จึงกลับเข้าจุดประจำการเดิมเพื่อหานกกันต่อ แต่ผมที่หนังท้องตึง หนังตาหย่อน เลยอาสานอนเฝ้ารถอยู่ลำพัง
หลังจากไม่ได้สติไปพัก ผมออกมาจากรถดูท่าที แต่ปรากฏว่าผมยังไม่พลาดอะไรไป จึงเดินกลับมาที่รถเพื่อหยิบอุปกรณ์
เมื่อหยิบของเสร็จก็ปิดประตูรถ ถึงไม่แรงมากแต่ก็ทำให้บางอย่างที่เกาะบนต้นไม้ในหุบข้างรถต้องสะดุ้งและโผออกไป ผมสลัดความง่วงออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะขนาดของนกที่โผไปนั้นก็ใหญ่ไม่น้อย หลังส่องหาอยู่ไม่นานก็พบ มันก็คือ Whitehead’s Broadbill ที่ตามหากันอยู่นั่นเอง
ผมได้แต่ตกใจอย่างเงียบๆ และหาทางบอกให้เพื่อนที่นั่งอยู่ริมทางได้รู้และตามมา เรา 2 คนพยายามติดต่อเพื่อนที่เหลือที่เดินแยกตัวออกไป ไม่นานเราทั้ง 4 คนก็มารวมตัวและได้ยลโฉม Whitehead’s Braodbill อย่างถ้วนหน้า แต่ภารกิจนี้ยังไม่จบ ยังเหลือนก Whitehead’s Trogon ที่ไม่รู้หายตัวไปไหน พวกเราพยายามกันต่อจนเกือบจะหมดวัน โดยที่แทบจะไม่มีนกใหม่ๆ ให้ดูแล้ว เราพยายามมองหา Bare-headed Laughingthrush และ Fruithunter ไปด้วยในระหว่างนั้น แต่ก็ไม่สำเร็จ
จนในที่สุดพวกเราก็ถอดใจและตัดสินใจเดินสำรวจระยะทางสั้นๆ นี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ในตอนที่เราเดินอย่างหมดหวังนั้น สมาชิกของเราคนหนึ่งก็บอกพวกเราว่าเขาได้ยินเสียงร้องเบาๆ ของ Whitehead’s Trogon มาจากป่าด้านล่างในหุบ พวกเราจึงหยุดนิ่ง และก็เป็นเสียงของมันจริงๆ พวกเราใจเต้นโครมคราม พยายามลงไปให้ถึงด้านล่าง จนเห็นสีแดงวูบวาบของ Whitehead’s Trogon ที่โผไปมาอยู่ด้านล่างหุบนั่นเอง
พวกเราลดความเร็วลง ค่อยๆเดินเข้าหาอย่างช้าๆพยายามเก็บภาพของมันมาให้ได้ถึงแม้จะเป็นเวลา 17 นาฬิกา ภายใต้เงาไม้ทะมึน และไม่มีขาตั้งกล้อง ภาพที่ได้จึงย่ำแย่เต็มทน แต่ผมก็พยายามทำให้มันชัดที่สุดเพื่อที่จะบอกได้ว่ามันเป็นนกอะไร หลังจากขลุกอยู่กับนกได้ไม่นานความมืดก็ไล่เราออกมาจากหุบนั้นก่อนที่จะมองไม่เห็นทางกลับ
วันสุดท้ายของการเดินทาง เราออกจากที่พักแต่เช้าเพื่อไปให้ทันเที่ยวบินตอน 14 นาฬิกา และถึงแม้วันนี้จะไม่มีอะไรหวือหวาน่าตื่นเต้น แต่พวกเราทั้ง 4 ยังอยู่ในอารมณ์ของความตื่นเต้นจากเมื่อเย็นวาน ไม่บ่อยนักที่เราจะปิดฉากการดูนกด้วยอาการตื่นเต้นดีใจขนาดนี้ บ่อยครั้งที่การเดินทางจบลงโดยที่ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ความสนุกของการดูนกไม่ได้อยู่ที่แค่การ ‘เจอ’ หรือ ‘ไม่เจอ’ เป้าหมาย มันอยู่ที่ความพยายามในการได้มาต่างหาก และสิ่งที่เราเล่าแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนานได้ก็คือเรื่องราวของความพยายามเหล่านั้นนั่นเอง