ฮอยอัน : ออกเดินทางหาความยั่งยืนทั้งภายนอกและภายในตนเอง

เรารู้จัก ฮอยอัน ในฐานะเมืองมรดกโลก หลายคนมาที่นี้เพื่อเยี่ยมชมเมืองเก่า ชุมชนญี่ปุ่น และล่องเรือตะกร้า แต่การเดินทางบางครั้งกลับไม่ใช่แค่สถานที่ แต่เป็นผู้คน และเรื่องราวของผู้คนที่พบเจอ ว่ากันว่าตัวบุคคลนี่แหละที่นำพาเราไปสู่เรื่องราวของสถานที่นั้นอย่างแท้จริง

ฉันมักออกเดินทางเพื่อสำรวจตัวเองเสมอ แต่การเดินทางครั้งนี้กลับแตกต่างจากทุกครั้ง ฮอยอัน คือสถานที่ที่ฉันไม่ต้องใช้กำลังปีนป่ายใดๆ ไม่ต้องใช้แรงใจในการผลักดันแรงขาให้ก้าวเดินเป็นระยะทางกว่าสิบกิโลเมตร ฉันเชื่อมาตลอดว่า ความยากลำบากในการเดินทางแบบนั้นจะพัดพาจิตวิญญาณแท้จริงกลับมา ทุกครั้งที่ออกเดินทางฉันมักจะเชื่อมภาพที่เราเห็นกับเรื่องภายในตนเองทั้งหมด จนวันหนึ่งที่จังหวะชีวิตเปลี่ยนไป แว่นตาของการมองโลกก็เปลี่ยนไปด้วย ฉันเริ่มสนใจเรื่องภายนอกตัวมากขึ้น และการเดินทางมาฮอยอันก็ทำให้ฉันเห็นภาพนี้ชัดเจนขึ้น

หลายแหล่งข้อมูลบอกว่า ฮอยอันตั้งอยู่ในจังหวัดกวางนาม ประเทศเวียดนาม UNESCO คัดเลือกให้เป็นเมืองมรดกโลก ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นเมืองที่ผสมผสานศิลปะ และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและต่างชาติ ได้อย่างมีเอกลักษณ์ หลังจากกลายเป็นเมืองมรดกโลก ฮอยอันจึงเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ที่มีค่าครองชีพต่ำติด 1 ใน 5 ของโลก และด้วยอัตราการเติบโตที่รวดเร็วบนพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน จนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทำให้ผู้คนบางส่วนในฮอยอันเริ่มหาหนทางเดินทางเข้าหาจุดสมดุล จุดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ หลายคนเริ่มกลับมารวมกลุ่มกันทำสวนแบบปลอดสารพิษ คนรุ่นใหม่บางคนกลับมาเป็นแรงสำคัญในการพัฒนาชุมชนโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม มีการจัดการท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมา และฉันหวังว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดนั้น

ฉันออกเดินทางจากประเทศไทยมาลงที่เมืองดานัง ก่อนเหมารถโดยสารมาฮอยอัน ในตอนกลางวัน ฮอยอันเป็นเมืองเงียบสงบ ราวกลับเมืองที่หลับไหล ผู้คนเดินไปมาอย่างบางตา แต่เมื่อพระอาทิตย์เริ่มตกดิน ฮอยอันกลับตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ถนนที่ชาวเมืองใช้สัญจรบางเส้นถูกปิดลงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ออกมาเยี่ยมชมเมือง ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า ระหว่างยามตื่นกับยามหลับไหล ยามไหนคือฮอยอันที่แท้จริง วันนี้ฉันใช้เวลาส่วนมากไปกับการเดินสำรวจพื้นที่ฮอยอันยามค่ำคืน ก่อนจะหลับตาลงอย่างเฝ้ารอกิจกรรมในวันถัดไป

 

เช้าวันรุ่งขึ้นเราได้พบกับ ฮามี เธอเป็นสาวเวียดนามนักเรียนนอก หนึ่งในคนรุ่นใหม่ของฮอยอันที่หันมาทำเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เธอเรียนจบด้าน Integrated Urbanism and Sustainable Design จากเยอรมัน หลังเรียนจบ เธอกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ในฐานะ นักวิจัย อาจารย์ ไกด์นำเที่ยว และอีกบทบาทนึงที่น่าสนใจของฮามี คือเธอเป็นที่ปรึกษาให้กับ SAPO ซึ่งเป็นบริษัท ทำสบู่ Homemade ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่เธอมีส่วนร่วม อยู่ในส่วนของการนำน้ำมันที่ใช้แล้วในครัวเรือน มาผลิตสบู่ ผงซักฟอก ฉันคิดว่า ฮามีนี่แหละจะเป็นคนพาเราไปสู่เรื่องราวของสถานที่นั้นอย่างแท้จริง

ฮอยอันเป็นเมืองชายฝั่ง มีแม่น้ำทูโบนไหลผ่านกลางเมือง จึงทำให้สภาพอากาศในฮอยอันมีเพียง 2 ฤดู คือฤดูแล้งและฤดูฝน ฉันเดินทางไปในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของฤดูแล้ง อากาศในตอนเช้าวันนั้นจึงค่อนข้างเย็นสบาย ฮามีมารับเราพร้อมจักรยาน ก่อนจะอธิบายให้ฉันฟังว่า เราต้องปั่นจักรยานนี้เพื่อข้ามไปอีกฝั่งของเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนผักปลอดสารพิษ และข้อสำคัญของการปั่นจักรยานครั้งนี้คือให้ปั่นตามเธอ

เราจอดพักระหว่างทางเกือบห้าครั้งเพื่อทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น ในเวลานั้นเองบทบาทของไกด์นำเที่ยวและนักท่องเที่ยวจึงได้เริ่มต้นขึ้น เธอเล่าให้ฟังว่า ในระยะเวลา 8 ปี ที่เธอทำงานในฮอยอัน เมืองนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ฮอยอันรับมือไม่ไหว สินค้าและบริการถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งนำมาสู่ปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น พื้นที่ริมน้ำทูโบนกลายเป็นทำเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ชาวบ้านบางส่วนจึงไม่สามารถรักษาวิถีชีวิตริมน้ำของตนเองไว้ได้

หลังจากใช้เวลาประมาณ 30 นาทีบนจักรยาน เราก็ถึงจุดหมายแรก คือสวนผักปลอดสารพิษซึ่งเป็นแปลงผักขนาดเล็ก ที่ถูกล้อมด้วยรั้วด้วยวัสดุธรรมชาติ มีทางเข้าเพียงหนึ่งทาง ฮามีอธิบายให้ฟังว่า สวนผักนี้เป็นแบบใช้ร่วมกัน 10 ครัวเรือน บนที่ดินผืนเดียว แต่ละครัวเรือนจะปลูกพืชต่างชนิด หมุนเวียนกันไปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ลดปัญหาการผูกขาดชนิดผัก และที่สำคัญไม่มีการใช้สารเคมีเลย แต่น่าเสียดายที่ผลผลิตพวกนี้กลับไม่ได้มีมูลค่าสูงจนเป็นที่น่าพอใจ เธอเลยเริ่มจัดการท่องเที่ยวแบบนี้ขึ้นมา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมสวนผัก หรือบางคนก็มาทดลองเป็นชาวสวนหนึ่งวัน

หลังจากใช้เวลาร่วมชั่วโมงอยู่ในสวนผัก เราก็มานั่งพักผ่อนกันที่บ้านของคุณยายผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของสวน ฉันทราบภายหลังว่า บ้านหลังนี้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมสอนทำอาหารพื้นเมืองสำหรับนักท่องเที่ยว วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารส่วนใหญ่ก็มาจากสวนผักปลอดสารพิษ ส่วนน้ำมันเหลือใช้จากการทำอาหารในกิจกรรมนี้ และจากครัวเรือนต่างๆ จะนำไปแปรรูปให้กลายเป็นสบู่เพื่อใช้ทำความสะอาดครัวอีกที

กิจกรรมถัดไปของเรา คือการแปรรูปสบู่จากน้ำมันใช้แล้ว แต่ก่อนจะเริ่มต้นทำสบู่ได้เราต้องมีบรรจุภัณฑ์สำหรับมันเสียก่อน ก่อนที่จะไปโรงงานทำสบู่ ฉันจึงต้องลงเรือตะกร้าเพื่อไปเก็บใบจากมาพับเป็นกล่องสบู่ อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ฮอยอันเป็นเมืองที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง แม่น้ำสายนี้แตกแขนงเป็นคลองสาขาหลายสาย เรือตะกร้าจึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการเดินทางระยะสั้น ลักษณะของเรือดูคล้ายตะกร้าสานขนาดใหญ่ ทำจากใบไม้สานกัน ด้านนอกถูกทาด้วยยาง ด้านในทาด้วยมูลสัตว์ ถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึงของคนที่นี้ ฉันเองได้มีโอกาสลองพายเรือตะกร้าดูจึงพบว่าการพายเรือนั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน และหากคุณไม่มีศิลปะของการพายเรือที่ว่านี้ คุณก็จะพายเรือหมุนเป็นวงกลมเหมือนกับฉัน

เราเดินทางมาถึงโรงงานทำสบู่ขนาดเล็ก ซึ่งลักษณะคล้ายบ้านพักเสียมากกว่า บ้านทำสบู่แห่งนี้มีชื่อว่า SAPO ซึ่งเน้นการทำผลิตภัณฑ์ประเภท สบู่ น้ำหอม โลชั่น ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ฮามีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของธุรกิจนี้ และเป็นคนดูแลผลิตภัณฑ์จำพวกสบู่ ผงซักฟอก จากน้ำมันเหลือใช้ในครัวเรือน

ขั้นแรกของการทำสบู่ คือการกรองน้ำมันเพื่อแยกสิ่งสกปรกออกก่อน แล้วจึงนำมาทำปฎิกิริยาเคมีกับโซเดียมไบคาร์บอเนตและน้ำ เธออธิบายพร้อมสาธิตวิธีการทำ หลังจากนั้นจึงแต่งกลิ่นด้วยสารสกัดจากธรรมชาติ พอถึงขั้นตอนนี้ของเหลวข้นหนืดที่มีกลิ่นอ่อนๆ ของดอกไม้ก็ถูกเทลงไปในบรรจุภัณฑ์ใบจากที่เราเตรียมไว้ ตากให้แห้งหนึ่งคืนเป็นอันเรียบร้อย

เรานั่งคุยกันต่อถึงเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในฮอยอัน เธอเล่าให้ฟังว่านอกจากเธอแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่สนใจด้านนี้ มีการรวมกลุ่มกันของภาคเอกชนและประชาชน เช่น Hoi An Eco city group ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 2018 ทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง รัฐบาลท้องถิ่น นักวิจัย ผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหาร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในฮอยอัน ซึ่งเธอก็เป็นสมาชิกในกลุ่มนั้นด้วย “เรารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพราะเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และความยากจน ตลอดจนรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของเราไว้ ทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงสามารถหารายได้จากการทำเกษตรกรรม ไม่ใช่เพียงแค่การขายผลผลิตไปยังร้านอาหารในเมือง แต่ยังสามารถขายประสบการณ์ในการทำเกษตรกรรมอย่างสวนผักปลอดสารพิษ ไปถึงวิถีชีวิตง่ายๆ อย่างการประกอบอาหารพื้นเมือง ทำให้เกิดรายได้ที่เพียงพอหมุนเวียนในชุมชน” ฮามีอธิบาย

บทบาทของไกด์นำเที่ยวและนักท่องเที่ยวของเรากำลังจะจบลง ฮามีอาสาปั่นจักรยานไปส่งฉันกลับที่พักอีกฝากของเมือง เมื่อหลายปีก่อนมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเราเคยใช้เวลาร่วมกันในการเดินเท้าหลายสิบวันบนภูเขาสูงเคยบอกฉันว่า เมื่อเราเจอกันครั้งแรกบทบาทของเราจะเป็นผู้นำทางกับนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเราบอกลากัน เราจะกลายเป็นเพื่อนกัน ฉันเองหวังเสมอว่าความสัมพันธ์ของฉันกับฮามีจะเป็นเช่นนั้น

คืนนี้จะเป็นคืนสุดท้ายของฉันที่ฮอยอัน ความตั้งใจของฉันที่มาที่นี้คือการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนหลายครั้งที่ออกเดินทางเรามักรู้สึกว่าเราเป็นผู้ให้ แต่ในความจริงแล้วหากเราตั้งใจมองให้ดี เราเองก็เป็นผู้รับด้วยเช่นกัน สิ่งที่ฉันได้รับจากการเดินทางครั้งนี้ก็คือการสร้างจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนเเก่ตนเอง ดูเหมือนว่า…ทั้งฮอยอันและตัวฉันต่างเติบโตไปพร้อมกัน

ประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

หลักการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือแนวทางการปฎิบัติสากลที่มีความยืดหยุ่นเเละสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวในหลากหลายรูปแบบ โดยเเนวทางดังกล่าวตั้งอยู่บนความสมดุลของหลักความยั่งยืนทั้งสามด้าน ประกอบด้วย

ด้านสิ่งแวดล้อม คือ การอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพโดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านเศรษฐกิจและสังคม คือ การดำเนินการทางเศรษฐกิจในระยะยาวโดยคำนึงถึงการกระจายรายได้เเละการเข้าถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีส่วนช่วยในการสร้างอาชีพเเละเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับคนในสังคม อันนำไปสู่การลดปัญหาความยากจน

ด้านวัฒนธรรม คือ การเคารพความเเตกต่างทางด้านสังคมและวัฒธรรม รวมถึงอนุรักษ์คุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศเจ้าบ้านและนำไปสู่การสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมสากล

ทั้งเพื่อเป็นการการันตีความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทุกภาคส่วนมีความจำเป็นจะต้องมีความเห็นพ้องต้องการกันในส่วนร่วมสำหรับการพัฒนา อย่างไรก็ตาม หลักการดังกล่าวนี้เป็นเเนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการการวางเเนวทางเพื่อศึกษาถึงผลกระทบเเละวางมาตราการตรวจสอบหรือป้องกันเมื่อมีความจำเป็น เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่การสร้างความพึงพอใจให้เเก่นักท่องเที่ยว แต่ยังต้องสร้างจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบเเละประเด็นความยั่งยืน เพื่อทำให้เกิดการปฎิบัติอย่างพร้อมเพรียงในทิศทางเดียวกัน  (อ้างอิงจาก Making Tourism More Sustainable – A Guide for Policy Makers, UNEP and UNWTO, 2005)

อยากมาฮอยอันต้องทำอย่างไร

เริ่มต้นเดินทางจากประเทศไทยมาลงที่สนามบินดานัง จากดานังสามารถหารถโดยสารส่วนตัว ผ่านทางโรงแรม หรือที่พักต่างๆ ได้ในราคาประมาณ 400-700 บาทต่อเที่ยว ในฮอยอันเราจะสามารถหากิจกรรมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ หรือติดต่อที่พัก

เรื่องและภาพภ่าย : ภัทราพร ศรีพระคุณ


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ซาปา : เดินป่าตามหาเครื่องเทศในตำนาน

นักผจญภัยสายทรหดจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มุ่งหน้าไปเยือนอุทยานแห่งชาติฮหว่างเลียนใกล้กับชายแดนระหว่างเวียดนามกับจีน อุทยานแห่งนี้เป็นที่ตั้งของป่าชะโกหรือถาวกว๋า เครื่องเทศสำคัญที่ใส่ในเฝอและอาหารเวียดนามอื่นๆ
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.