กระทั่งด้วยมาตรฐานของเกาหลีเหนือ โชว์ปิดฉากงานฉลองครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งประเทศเมื่อปี 2018 ต้องถือเป็นการแสดงที่ชวนให้อ้าปากค้าง นักเรียนนักศึกษาหลายพันคนถือคบเพลิงเดินสวนสนามเป็นระลอกไปรอบๆ จัตุรัสคิมอิลซุงประจำกรุงเปียงยาง ในเกาหลีเหนือ เปลวเพลิงไฟฟ้าบนยอดหอคอยชูเชส่องสว่าง ขณะที่เสียงร้องเพลงของเหล่ายุวชนและเสียงพลุดังก้องไปทั่วลานจัตุรัสอันใหญ่โตมโหฬาร
การแสดงที่ใช้คนจำนวนมากเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผมบันทึกภาพในเกาหลีเหนือ ผมถ่ายภาพการแสดงเหล่านี้ไม่ใช่เพียงเพราะความน่าตื่นตาตื่นใจ แต่เพราะทำให้เข้าใจภาพลักษณ์ที่รัฐบาลอยากนำเสนอให้โลกเห็น นั่นคือภาพประเทศในอุดมคติ ไร้สิ่งรกหูรกตา นำเสนอแต่สิ่งดีๆ สามัคคีปรองดอง และแข็งแกร่ง
ชาวเกาหลีเหนือคาดหวังให้ช่างภาพเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อที่มีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่ช่างภาพข่าวที่มีสายตาชอบจับผิด นั่นทำให้การทำงานเป็นช่างภาพข่าวชาวต่างชาติในเกาหลีเหนือเป็นเรื่องท้าทาย ขณะอยู่ที่นั่น ผมมีมัคคุเทศก์ที่รัฐบาลจัดหาให้ตามไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา หน้าที่ของเขาคือคอยอำนวยความสะดวกให้ผมและจับตาดูความเคลื่อนไหวของผม
ในการเดินทางครั้งแรกๆ ของผม ดูเหมือนชาวเกาหลีเหนือคาดหวังว่า ช่างภาพจากสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศปรปักษ์อย่างผมจะตัดสินพวกเขาอย่างมีอคติ จงใจถ่ายภาพเพื่อทำให้พวกเขาดูเลวร้าย พวกเขาเฝ้ามองสิ่งที่ผมทำชนิดไม่ยอมให้คลาดสายตา ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะใช้กล้องแบบพลิกแพลงมากขึ้นเพื่อจับภาพช่วงเวลาดิบๆ บ่อยครั้งผมเก็บภาพอย่างเร่งรีบ โดยถ่ายขณะกล้องอยู่ตรงตำแหน่งสะโพก หรือถ่ายจากหน้าต่างรถบัสหรือรถยนต์ระหว่างทางไป หรือกลับจากงานที่มีกำหนดการล่วงหน้า ภาพถ่ายที่น่าสนใจที่สุดเป็นเพียงภาพคนธรรมดาสามัญกำลังทำสิ่งธรรมดาสามัญ และการถ่ายภาพแนวแคนดิดนี้ก็ทำให้ผมเปิดหน้าต่างบานเล็กๆ เข้าสู่ชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีเหนือได้ในที่สุด
ผมเชื่อว่า พอเวลาผ่านไปมัคคุเทศก์ที่ทำงานกับผมเริ่มเข้าใจสิ่งที่ผมพยายามทำ นั่นคือการให้มุมมองที่ซื่อสัตย์และยุติธรรมแก่ประเทศของพวกเขา ไม่ว่าจะหยาบกระด้างหรือไร้การปรุงแต่งแค่ไหน ผมกำลังมองหาความเป็นสากล ชีวิตประจำวัน ผู้คนจริงๆ ที่มีชีวิตอยู่จริงๆ และควรค่าแก่การทำความเข้าใจ
ทุกวันนี้ การเดินทางไปเกาหลีเหนือในฐานะช่างภาพเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเมื่อหลายปีก่อนเสียอีก เมื่อปี 2017 สหรัฐฯ ห้ามผู้ถืหนังสือเดินทางสหรัฐฯ เดินทางไปเกาหลีเหนือ เมื่อผมไปที่นั่นในฐานะผู้สื่อข่าวเพื่อรายงานเกี่ยวกับงานฉลองครบรอบข้างต้นในอีกหนึ่งปีต่อมา ผมจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งออกหนังสือเดินทางแบบใช้ครั้งเดียวให้ผม ระหว่างทำงานที่นั่น ผมถูกจำกัดบริเวณให้อยู่รอบๆ จัตุรัสในกรุงเปียงยางกับผู้สื่อข่าวต่างชาติคนอื่นๆ ด้านหลังผม ทหารในเครื่องแบบแถวแล้วแถวเล่ายืนอยู่บนยกพื้น ด้านหน้าผม นักเรียนนักศึกษาถือคบเพลิงเดินสวนสนาม
ภาพที่ผมถ่ายระหว่างการไปเยือนครั้งนั้นเป็นแบบที่ชาวตะวันตกคาดว่าจะได้เห็นจากเกาหลีเหนือ แต่เพื่อทำความเข้าใจประเทศนี้ เราต้องไปให้ไกลกว่านั้น
ขณะมองดูภาพถ่ายภาพนี้ในปัจจุบัน ผมนึกถึงผู้คนที่ในช่วงหลายปีก่อนบอกเล่าให้ผมฟังถึงการมีส่วนร่วมในการแสดงอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ ตอนที่พวกเขายังเป็นนักเรียนนักศึกษา พวกเขาบรรยายถึงประสบการณ์นั้นว่า เป็นเหมือนพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านอันน่าตื่นเต้นในชีวิต และผมจำได้ว่าเบื้องหลังการแสดงอันน่าตื่นตาที่สุดคือประชาชนคนธรรมดาสามัญนั่นเอง
เรื่องและภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์
เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์ ช่วยเปิดสำนักงานของเอพีในกรุงเปียงยาง ซึ่งเป็นสำนักข่าวตะวันตกแห่งแรกในเกาหลีเหนือ เขาถ่ายภาพการเดินทางข้ามประเทศสหรัฐฯ ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าในนิตยสารฉบับพิเศษเดือนเมษายนว่าด้วยวันคุ้มครองโลก
ติดตามสารคดีเรื่องอื่นๆ ได้ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 25363
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 6 เรื่องเซอร์ไพรส์ที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ