เชน ที่เห็น ไม่เป็นอย่างที่คิด

ศาสนา เชน ในอินเดีย

1.ศาสนา เชน (Jainism) ในความรับรู้ของผม คือศาสนาหนึ่งที่อุบัติขึ้นบนโลกในเวลาไล่เลี่ยกับศาสนาพุทธ และยังมีบทบัญญัติกับคำสอน ใกล้เคียงกับศาสนาพุทธมากๆ ยิ่งไปกว่านั้น คือความรับรู้ว่านักบวชนิกายหนึ่งของศาสนานี้ เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติและการนุ่งห่มแบบดั้งเดิมอย่างที่สุด คือการไม่นุ่งอะไรเลย เวลาไปไหนก็มีเพียงรองเท้าคีบกับกาน้ำในมือเดินโทงๆ ไปเท่านั้น

แต่วันหนึ่ง เมื่อผมมีโอกาสสัญจรไปในหลายเมืองของแคว้นราชสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ได้เห็นวัดของศาสนาเชนหลายแห่ง ความรับรู้เกี่ยวกับศาสนานี้ก็เปลี่ยนไป เพราะแต่ละวัดนั้นช่างโอฬารตระการตา และเกือบทั้งหมดจะตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่นครทอง-ไจยซัลเมียร์ นครคราม-จ๊อดเปอร์ หรือโยธปุระ และนครหลากสี อย่างบิคาเนอร์ ฯลฯ เชนสถานล้วนโออ่าเทียบเคียง หรือบางแห่งอาจจะใหญ่กว่าเทวสถานฮินดูของประชากรส่วนใหญ่ในเมืองนั้นๆ เสียอีก ในขณะที่เสียเวลาเปล่า ถ้าจะมองหาโบสถ์ วิหารในศาสนาพุทธ

เชนสถานประดับประดาด้วยงานประติมากรรมรูปเหล่าทวยเทพในศาสนาฮินดู
ผู้ดูแลวัดเชนที่ไจยซัยเมียร์ มีผ้าปิดจมูกปากตามวัตรปฏิบัติในศาสนาเชน

“…อย่าลืมสิว่าคุณกำลังอยู่ในแคว้นที่เปรียบได้ดั่ง “เมกกะ” หรือศูนย์กลางของศาสนาเชนในอินเดีย หรือกล่าวได้ว่าในโลกใบนี้….” มัคคุเทศก์ชาวอินเดียที่ถือฮินดูเป็นสรณะ เอ่ยขึ้น ครั้นเห็นแววตาฉงนของผม เขาจึงสำทับขึ้นอีกว่า

“…เพราะแคว้นราชสถานนั้น ถึงแม้จะเป็นแคว้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดีย แต่พื้นที่ถึงเกือบร้อยละ 80 เป็นทะเลทราย ซึ่งหมายถึงทะเลทรายธาร์ หรือ Great Indian Desert ที่กว้างใหญ่กว่า 2 แสนตารางกิโลเมตร ติดอันดับ 9 ของพื้นที่แห้งแล้งแสนสาหัสระดับโลก…”

พระมหาวีระ พระศาสดาในศาสนาเชน

ข้อมูลของภารตไกด์ท่านนี้ ทำให้ผมนึกถึงหลักคำสอนอันถือว่าเป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐาน หรือ “อนุพรต” 5 ประการของเชนศาสนิก คือ 1) อหิงสา การไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น สิ่งอื่น 2) สัตยะ การไม่พูดเท็จ 3) อัสตียะ การไม่ลักขโมย 4) พรหมจริยะ เว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย และ 5) อัปริคคหะ ความไม่โลภ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบไม่ต่างไปจาก “สมาทานศีล 5” หรือปัญจศีลของชาวพุทธเลย

แต่ศาสนาเชนให้ความสำคัญกับอนุพรตข้อที่ 1 อย่างที่สุด ถึงขั้นต้องมีผ้าปิดจมูกและปากตลอดเวลา ไม่ใช่ด้วยเหตุว่ากลัวจะหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย แต่ด้วยมิปรารถนาจะทำบาป ด้วยการหายใจเอาสิ่งมีชีวิตที่เป็นอณูเล็กๆ ล่องลอยอยู่ในอากาศ…เข้าปากไปมากว่า

จึงไม่น่าแปลกใจที่นักบวชในศาสนาเชน จะเพียรสอนให้ผู้นับถือศาสนานี้ หลีกเลี่ยงอาชีพทำการเกษตร เพราะจอบเสียมทีสับลงไปในเนื้อดินแต่ละครั้ง อาจไปทำร้าย หรือทำลายชีวิตสัตว์ตัวน้อยๆ ที่อาศัยอยู่ในดินได้ ไม่ว่าจะเป็นหนอน แมลง ไส้เดือน ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่ง กับสภาพภูมิประเทศอันร้อนแล้งของแคว้นราชสถาน ที่ยากจะทำการเกษตรอยู่แล้ว

2. ที่สำคัญคือตอนเหนือของทะเลทรายธาร์ คือส่วนหนึ่งของเส้นทางสายแพรไหม ที่กองคาราวานสินค้าจากจีน เมื่อกว่า 1,500 ปีก่อน ต้องมาแวะพัก ก่อนผ่านช่องแคบสำคัญที่เชื่อมเอเชียกับยุโรป นั่นคือช่องแคบไคเบอร์ (ปัจจุบันอยู่ตรงรอยต่อแดนปากีสถานกับอัฟกานิสถาน) ผู้คนในแคว้นนี้ส่วนใหญ่จึงมักทำการค้า อาชีพที่สอดคล้องยิ่งนักกับคำสอนในศาสนาเชน

ครั้นเมื่อค้าขายร่ำรวย ก็มีกำลังสร้างวัดวาอันโอฬาร จนแม้แต่บรรดามหาราชาผู้ครองนครรัฐต่างๆ ในแคว้นราชสถาน ยังต้องยอมให้คหบดีผู้นับถือเชน อนุญาตให้สร้างวัดไว้ในป้อมเมือง อันถือเป็นใจเมืองเลยทีเดียว ก็เงินทองมันเข้าใครออกใครเสียเมื่อไร!

ซุ้มประตูวัดเชนที่เมืองบิคาเนอร์ แคว้นราชสถาน

ราชสถานจึงถือเป็น “เมกกะ” ของศาสนาเชนด้วยเหตุนี้ กล่าวได้ว่าในโลกนี้มีชาวเชนกระจุกตัวอยู่ในแคว้นนี้มากที่สุด เพราะเชนเป็นศาสนาที่มีศาสนิกในอินเดียมากกว่าศาสนาพุทธ แต่แทบไม่มีศาสนิกอยู่นอกประเทศอินเดียเลย หรืออาจจะมี แต่ก็น้อยจนคิดเป็นร้อยละไม่ได้ ในขณะที่ศาสนาพุทธนั้นตรงกันข้าม เว้นแต่พุทธคยาแล้ว ก็แทบจะหาวัดวาในเมืองอื่นของอินเดียไม่ได้เลย

เชนสถาน หรือวัดของชาวเชนที่ผมสัมผัส แลดูคล้ายเทวสถานฮินดูจนแยกกันไม่ออก เพราะนิยมประดับรูปปั้นอันวิลิสมาหราของบรรดาทวยเทพฮินดู อย่างพระศิวะ พระนารายณ์ ไว้โดยรอบ จนกว่าเข้าไปเห็นรูปเคารพที่ประดิษฐานอยู่ภายใน จึงพอจะเห็นความต่าง เพราะใจกลางปรางค์ประธานจะต้องมีรูปเคารพพระมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชนประดิษฐานไว้ มองคล้ายๆ พระพุทธรูป เพราะเป็นนักบวชในท่านั่งปางสมาธิคล้ายกัน แต่มองอย่างเพ่งพินิจ จะเห็นว่ารูปเคารพพระมหาวีระ ไม่มีจีวรติดกาย อีกทั้งดวงเนตรยังเบิกกว้างต่างกับพระพุทธรูปอย่างเห็นได้ชัด และหากเป็นปางยืน ก็จะยืนเปลือยกายไม่มีอะไรปกปิดแม้แต่น้อย

สะท้อนแนวคิดที่ว่า ปรัชญาศาสนาเชนเสริมส่งให้ผู้คนเอาชนะกิเลส เอาชนะใจตนเอง เพราะคำว่า ไชน์ หรือ เชน มาจากคำว่า “ชินะ” ที่แปลว่า ผู้ชนะ (ตนเอง) เพื่อจุดหมายปลายชีวิต คือหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไปสู่โมกษะ หรือแดนนิพพาน อันถือเป็นความสุขนิรันดร โดยศาสนานี้แบ่งเป็น 2 นิกายใหญ่ คือ นิกายเศวตัมพร หรือนิกายนุ่งผ้าขาว ถือว่าสีขาวเป็นสีบริสุทธิ์ และนิกายทิฆัมพร ที่นักบวชจะนุ่งลมห่มฟ้าเป็นอาจิณ

แต่การที่ศาสนาเชนมุ่งเน้นการถือพรตอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในข้อที่ว่าด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างเคร่งครัด จนถึงกับระวังการหายใจ ไม่ให้สูดเอาอณูชีวิตเล็กๆ ที่ล่องลอยในอากาศเข้าไปในร่างกาย ทำให้ศาสนาพุทธถือเอาศาสนาเชนเป็น “ครูด้านกลับ” สำหรับการเรียนรู้มิจฉาทิฐิ หรือการดำเนินชีวิตที่ตึงจนเกินไป และเรียกศาสนาเชนว่า “เดียรถีย์นิครนถ์” ซึ่งหมายถึงนักบวชนอกศาสนาพุทธ บางตำรายังระบุว่า ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็เคยเข้าไปศึกษาแนวทางศาสนาเชนของพระมหาวีระ แล้วแยกออกมาหาหนทางสู่การหลุดพ้นด้วยพระองค์เอง เมื่อเห็นว่าแนวทางนั้นสุดขั้วจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประชากรศาสนิกเชนในอินเดียปัจจุบัน ราว 6-7 ล้านคน และไม่เคยเป็นข่าวว่าพวกเขานำเอาศรัทธาที่เคร่งครัดไปทำร้ายคนอื่นเลย ก็เพียงพอจะให้โลกยอมรับได้ว่า เชนคือลัทธิความเชื่อหนึ่งที่มุ่งสอนให้คนแสวงหาความสุขด้วยการทำความดีเหมือนศาสนาอื่นเช่นกัน
————————–

พระรัตนตรัยในศาสนาเชน ประกอบด้วย
1. สัมมาศรัทธา – ความเห็นชอบตามคำสอนในศาสนาเชน
2. สัมมาญาณ – ความรู้ชอบตามคัมภีร์ในศาสนาเชน
3. สัมมาจริต – ความประพฤติชอบตามกฎของศาสนาเชน

เอกสารอ้างอิง
1. “ประพาสราชสถาน” พระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547
2. “ศาสนาโลก” โดย ธนู แก้วโอภาส (ไม่ระบุปีที่พิมพ์)


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธรรมธุดงค์เพื่อสันติภาพของคนทั้งโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.