จะหาคำตอบของเรื่อง ปลัดขิก นี้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ศาสนาพุทธที่ชาวภูฏานนับถือศรัทธา มิใช่นิกายเถรวาทแบบไทย หรือนิกายมหายานแบบจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่เป็นนิกายวัชรยานแบบทิเบต สาระสำคัญของนิกายนี้ใกล้เคียงกับมหายาน คือนอกจากนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาแล้ว ยังมี “พระโพธิสัตว์” อีกหลายองค์ที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก อาทิ พระโพธิสัตว์กวนอิม ที่รู้จักกันดี แต่พิเศษกว่านั้น คือวัชรยานกำหนดให้มีเครื่องมือพิเศษ เช่น ธงมนตรา กงล้อมนตรา ระฆังมนตรา ฯลฯ ไว้ช่วยชาวพุทธให้บรรลุธรรมได้รวดเร็วปานสายฟ้าแลบแปลบ และมีอำนาจตัดกิเลสได้แข็งแกร่งดั่งเพชร ตามความหมายของคำว่า “วัชระ” ที่แปลว่าเพชร หรือสายฟ้า
ยิ่งไปกว่านั้น ในอดีต นิกายวัชรยานเคยพัฒนาไปไกลถึงขั้นที่เชื่อว่า หากนักบวชฝึกฝนอย่างดีแล้ว สามารถละเมิดศีลธรรม เช่น ดื่มสุรา เสพเมถุน เพื่อจะบรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เรียกว่าใช้ “กิเลส” เป็น “อุบาย” หรือบันไดไต่ไปสู่การบรรลุธรรม เหมือนหนามยอก ต้องเอาหนามบ่ง น้ำเข้าหู ต้องเอาน้ำกรอกหู
แนวคิดนี้เรียกอีกอย่างว่า “ตันตระ” ซึ่งเกิดขึ้นในศาสนาฮินดูก่อน เรียกว่า “ฮินดูตันตระ” มุ่งเน้นเวทมนต์คาถาและถือการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีเป็นหนทางสู่โมกษะ (คือการหลุดพ้น)
ต่อมามีเกจิอาจารย์ฝ่ายพุทธชาวอินเดียนาม “พระปทุมสมภพ” ประยุกต์แนวคิดนี้มาเป็น “วัชรยานตันตระ” แล้วนำไปเผยแผ่จนงอกงามบนที่ราบสูงทิเบต กระทั่งชาวทิเบตยกย่องท่านเป็น “คุรุ รินโปเช” หรือ “อาจารย์ใหญ่ผู้ล้ำเลอค่า” โดยรูปเคารพของคุรุ รินโปเช จะมี “ตารา” หรือพระชายาสององค์ประทับอยู่ด้านข้างเสมอ
ซึ่งในราว พ.ศ.1998 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีลามะจากทิเบตผู้เป็นสาวกคุรุ รินโปเช รูปหนึ่ง นามว่า ดรุ๊กปะ กินเหละ จาริกสู่ดินแดนทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทิเบต ที่กลายเป็นประเทศภูฏานในปัจจุบัน แล้วเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ จนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบรรดามหาอาริยะเจ้าผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวภูฏาน
โดยมีจุดเด่นที่กุศโลบายในการเผยแผ่ธรรมนอกตำรา เช่นการใช้เพลง หรือบทกวีสองแง่สามง่าม นิทานที่มีเรื่องการร่วมเพศ มาประกอบคำสอน เป็นจุดดึงดูดผู้คนให้เข้าถึงเนื้อแท้แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า จนได้สมญานามว่า “เทวาวิปลาศ” (อาชิ โดร์จิ วังโม วังชุก ในหนังสือ “ภาพสวรรค์ภูฏาน” แปลโดย รศ.ดร.อมร แสงมณี)
บางตำราอุปมาท่านดรุ๊กปะ กินเหละ เหมือนพระจี้กงในตำนานของชาวจีน ที่ทำอะไรผิดแผกจากวัตรปฏิบัติของพระทั่วไป เช่น ชอบยิงธนูเล่น วันหนึ่ง ชาวบ้านถามท่านว่าจะแสดงอภินิหารอะไรเพื่อพิสูจน์ว่าเก่งกล้าอาคมจริง ท่านบอกให้ชาวบ้านไปหาแพะกับวัวมา แล้วท่านก็ชำแหละเนื้อมาฉันจนอิ่ม แล้วเอากะโหลกแพะกับซี่โครงวัว มาปลุกเสกจนกลายเป็น “ตาคิน” (Takin) ที่กลายมาเป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏานวันนี้
ยังมีตำนานเล่าขานอีกว่า เมื่อท่านจาริกผ่านโดชูล่า หรือช่องเขาศิลา บนเส้นทางระหว่างนครหลวงธิมพู สู่อดีตราชธานีปูนาคา ท่านพบเด็กเลี้ยงวัวนั่งร้องไห้ เพราะถูกนางปีศาจร้ายแห่งช่องเขาศิลารังควานจนเลี้ยงวัวไม่เป็นสุข ท่านจึงสำแดงเดชด้วยการเสกอวัยวะเพศให้ยาวเป็นงูเลื้อยรอบกาย จนนางปีศาจร้ายตกใจกลัวเผ่นหนีลงจากภูเขา ท่านจึงสาบนางปีศาจร้ายให้กลายเป็นสุนัข แต่ก็เกรงว่าจะเที่ยวไปรังแกชาวบ้านอีก จึงเสกให้สุนัขปีศาจตัวนั้นหายไปในพริบตา ต่อมา มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนั้น จึงถูกเรียกขานว่า “ตำบลชิมิ” แปลว่าตำบลสุนัขหาย ทั้งยังมีการสร้างวัดชิมิ หรือวัดสุนัขหาย อุทิศถวายแด่ “เทวาวิปลาส” คือท่านดรุ๊กปะ กินเหละ อีกด้วย
เหตุนี้เอง ชาวภูฏานในชนบทจึงนิยมวาดรูปอวัยวะเพศชายประดับไว้ที่ฝาบ้าน นัยว่าเป็นยันต์กันภูตผีปีศาจร้ายไม่ให้มากรายกล้ำ บ้างก็เป็นไม้แกะสลักทาสีแดงติดไว้ที่ประตูบ้าน แขวนไว้ที่ยุ้งฉาง ด้วยเชื่อว่าจะนำโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ครอบครัว ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด และเป็นที่รู้กันว่า สามีภรรยาที่ฝันอยากมีลูก คนโสดที่อยากมีคู่ครอง จะชวนกันไปทำบุญที่วัดสุนัขหาย และอธิษฐานให้ฝันเป็นจริง
อีกทั้งในพิธีกรรมระบำหน้ากาก (Mask Dance) ที่ทุกวัดในภูฏานต้องจัดขึ้นทุกปี จะมี“อัตซารา” หรือตัวตลกจมูกโตสวมหน้ากากแดง ในมือถือปลัดขิกสีแดง ออกมาเรียกเสียงฮาคั่นรายการด้วยเรื่องตลกสองแง่สามง่าม บางครั้งยั่วแย้งพระธรรมคำสอน แล้ววิพากษ์ถกเถียงกันเองในลักษณะด้นสด เพื่อให้ชาวพุทธรู้จักคิดวิเคราะห์และเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมะ ตามแนวทางที่ท่านดรุ๊กปะ กินเหละ เคยทำไว้ จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ ตัวตลกจมูกแดงยังมีหน้าที่สอนเพศศึกษา เช่น ความสำคัญของถุงยางอนามัย ฯลฯ ให้เยาวชนภูฏานยุคใหม่อีกด้วย
กล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ปลัดขิกที่ฝาบ้าน และการดำรงอยู่ของตัวตลกจมูกแดง คือร่องรอยของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวิถีชีวิตชาวภูฏาน แม้ว่าในทางปฏิบัติ การฝึกตันตระโดยใช้กิเลสเป็นอุบายสู่การบรรลุธรรม จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม ดังข้อวิเคราะห์ของ “อาชิ โดร์จิ วังโม วังชุก” พระราชินีในสมเด็จพระราชาธิบดีภูฏาน รัชกาลที่สี่ ในหนังสือพระราชนิพนธ์ “ภาพสวรรค์ภูฏาน” ที่ว่า… วัฒนธรรมของภูฏานสะท้อนความสัมพันธ์แนบแน่น ระหว่างวิถีแห่งโลกุตรธรรมและโลกิยธรรมอันเปี่ยมด้วยพลัง
โลกิยธรรม
ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก, สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ขันธ์ 5 ที่ยังมีอาสวะทั้งหมด; คู่กับ โลกุตตรธรรม
(จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
เรื่องและภาพถ่าย: ธีรภาพ โลหิตกุล
ธีรภาพ โลหิตกุล เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ประจำปี 2558 เจ้าของราวัลศรีบูรพาในปี 2556 และรางวัลแม่โขงอะวอร์ดในปี 2557
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เชน ที่เห็น ไม่เป็นอย่างที่คิด