การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเทรนด์การ ท่องเที่ยว อีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่ผ่านมา สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ฟื้นฟูขึ้นหลังงดเว้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ก็เริ่มออกมารณรงค์และให้ความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น
ที่ผ่านมา เราเห็นผลกระทบเชิงลบหลายอย่างเกิดขึ้นกับพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปัญหาขยะในอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนในเขตอุทยานฯ หรือได้รับผลประทบเชิงพฤติกรรม บางพื้นที่ วิถีชีวิตท้องถิ่นต้องเปลี่ยนแปลงไปจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เกินขีดความสามารถการรองรับ
หลังจากนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะมาเริ่มต้นออกเดินทางด้วยวัฒนธรรมการท่องเที่ยวแบบใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบใด เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ได้นำแนวคิดและคำแนะนำสำหรับวัฒนธรรมการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมมาจากกิจกรรมการเดินป่าและการใช้ชีวิตกลางแจ้ง Fajllraven Thailand Trail มาให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาและปรับใช้ให้เหมาะสมกันครับ
วัฒนธรรมการท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ
1. การพึ่งพาตนเอง เมื่อเรารู้ตัวว่าการท่องเที่ยวของเราเป็นไปในรูปแบบไหน การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแบกเป้หรือสัมภาระอื่นใด เราจะต้องคิดวิเคราะห์ว่าสิ่งใดจำเป็นและไม่จำเป็นในการใช้ชีวิตในธรรมชาติและชีวิตจริง และเมื่อเราดูแลตัวเองได้ เราจะรู้สึกและสัมผัสได้ถึงอิสรภาพในการใช้ชีวิตและเดินทาง
2. การรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ แน่นอนเราต่างชื่นชอบธรรมชาติที่สวยงาม คนอื่นๆ ก็เช่นกัน และเมื่อหลายคนออกมาชื่นชมธรรมชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาธรรมชาติให้งดงาม เมื่อเราเดินจากไปเราจะต้องไม่ทิ้งขยะในเส้นทาง หรือที่พัก ของเสียจากร่างกายต้องขุดหลุมฝังกลบให้ถูกวิธี ขยะอื่นๆ ให้นำกลับมาทิ้งในที่ที่จัดไว้หรือไม่ก็นำมากำจัดในเมือง
3. ให้เกียรติผู้ร่วมทาง เพราะทุกคนที่ชื่นชอบธรรมชาติต่างมาจากทุกที่ ทุกชนชั้น ทุกชาติ ทุกศาสนา แต่เมื่อคุณอยู่ในป่าหรือธรรมชาติ พวกเราคือชนกลุ่มเดียวกัน กลุ่มชนที่รักในธรรมชาติเหมือนกัน รักในชีวิตอิสระ ความสุขท่ามกลางธรรมชาติ และมิตรภาพที่อยู่เหนือวัตถุ เมื่อเรามองข้ามความแตกต่างและให้เกียรติผู้ร่วมทาง เมื่อนั้นคุณก็จะได้รับเกียรติเช่นกัน
สิ่งที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติเมื่อท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ (ทั้งทางบกและทางทะเล) และสถานที่ทางธรรมชาติ
1. ห้ามนำของป่าไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ป่าออกจากพื้นที่เขตอุทยานฯ เพราะสิ่งที่นำออกมานั้นอาจมีพาหะนำโรคติดต่อ ออกมาสู่มนุษย์และหรือพืชพรรณที่นำออกมาอาจเป็นสิ่งที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์
2. ห้ามทำอันตรายต่อดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และสัตว์ป่า ถ้าเรารักธรรมชาติแล้วการทำลายธรรมชาติก็ไม่ควรเกิดขึ้น
3. ห้ามขีดเขียนและทำลายป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ในอุทยานฯ เพราะจะทำให้คนที่มาภายหลังสับสนในเส้นทางได้อาจนำไปสู่เส้นทางที่อันตราย ฉะนั้นป้ายสัญลักษณ์จริงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเข้าป่า
4. ห้ามก่อกองไฟ ยกเว้นทางอุทยานฯ จัดสถานที่ไว้ให้ เพราะการก่อไฟจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจากธรรมชาติซึ่งทำให้เกิดมลภาวะ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไฟป่า
5. ห้ามนำอาวุธใดๆ เข้าไป ยกเว้นอุปกรณ์ที่จำเป็นและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เช่น มีดทำครัว เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสัตว์ป่า และผู้ร่วมทาง
6. ห้ามส่งเสียงดังให้เกิดเป็นที่รำคาญต่อผู้อื่น จงพึงระลึกถึงอยู่เสมอว่าเราไม่ชอบสิ่งใดเราอย่าทำสิ่งนั้นกับคนอื่น และเป็นมารยาททางสังคมกลางแจ้งอีกด้วย
7. ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในอุทยานฯ เพื่อลดอัตราการทะเลาะวิวาท ขาดสติจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
8. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในอุทยานฯ เพราะสัตว์เลี้ยงของท่านอาจนำโรคจากภายนอกแพร่เข้าสู่ป่าเป็นเหตุให้สัตว์ป่าต้องติดโรคหรือในทางกลับกัน สัตว์เลี้ยงของท่านอาจนำโรคจากสัตว์ป่าออกมาสู่โลกภายนอกก็ได้
9. ห้ามทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดเพลิง เช่น กระป๋องแก๊ซเหลือใช้ เพราะภายในอุทยานฯไม่มีสถานที่เก็บและทำลายขยะพิษดังกล่าว และถ้าเป็นไปได้ให้นำกลับมาทิ้งที่บ้านในเมือง
10. ห้ามทิ้งขยะ คุณนำพาขยะมาเท่าไหร่คุณต้องนำออกไปทิ้งในที่ที่ทางอุทยานฯ จัดให้หรือนำออกไปนอกพื้นที่ เพราะขยะพลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ป่าตาย หนึ่งทางเลือกในยุคปัจจุบัน หากเราไม่อยากเป็นผู้สร้างขยะในขณะท่องเที่ยว ลองเปลี่ยนมาใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่นกล่องพลาสติก ช้อนส้อมส่วนตัว และกระบอกบรรจุน้ำ เพื่อลดการใช้พลาสติกบรรจุอาหารจากร้านค้า และเราไม่ต้องคอยกังวลเรื่องจุดทิ้งขยะ
ความร่วมมือของเราทุกคนจะเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี และส่งผลกระทบเชิงบวก เรามีประจักษ์พยานที่ชัดเจนแล้วว่า เมื่อกิจกรรมมนุษย์ถูกจำกัด ธรรมชาติก็สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ดังนั้น เมื่อเราทราบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ เราก็ควรเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ทางธรรมชาติอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการตอบแทนธรรมชาติที่มอบความสุขให้แก่เราขณะที่เราออกเดินทาง
เรื่อง ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วัฒนธรรมใหม่ของการเดินป่าที่ยั่งยืน