ปานถ่อง – ปานซอย มนต์เสน่ห์ของ ไทใหญ่

มนต์เสน่ห์ ปานถ่อง – ปานซอย
เพชรน้ำเอกพุทธศิลป์เมืองสามหมอก ของชาว ไทใหญ่

สัญจรสู่เมืองสามหมอกคราใด ถ้ามีเวลาว่าง ผมจะซอกแซกไปตามวัดวาอาราม เพราะเสน่ห์หนึ่งที่ตรึงใจผมยิ่งนัก คืออัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของชาวไทใหญ่ที่ไม่ซ้ำแบบใครเลย โดยเฉพาะการตอกลายบนโลหะ ทั้งสังกะสี อลูมิเนียม แผ่นเงิน นำไปประดับชายคาวัดวาวิจิตรตระการตายิ่งนัก เรียกในภาษาไทใหญ่ว่า “ปานซอย – ปานถ่อง” หรือที่ชาวล้านนาในจังหวัดอื่นนิยมเรียก “แป้นน้ำย้อย” นั่นเอง

“ปานซอย” คือโลหะตอกลายที่ห้อยลงตรงชายคาโบสถ์วิหาร ส่วนโลหะตอกลายที่ปลายชี้ขึ้นด้านบน เรียก “ปานถ่อง” ลวดลายที่รังสรรค์เป็นลายดอกไม้ ลายพรรณพฤกษา ลายเครือเถา ที่น่าทึ่งคือแม้จะใช้วัสดุที่แข็ง แต่ “สล่า” หรือช่างตอกชาวไทใหญ่ มีกลวิธีตอกให้ลวดลายนูนมีมิติ ไม่แบนราบ ทว่าราวกับจะพลิ้วไหวยามเมื่อต้องแรงลม เฉกเช่นเดียวกับศิลปะเขมรแบบ “บันทายสรี” ที่แกะสลักหินแบบนูนสูงจนแลคล้ายลวดลายลอยเด่นขึ้นมาโลดเต้นได้

วัดหัวเวียง เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์ไทใหญ่

วัดที่ทำให้ผมตะลึงในความงามของปานซอย – ปานถ่อง เป็นวัดแรก คือวัดหัวเวียง ซึ่งตั้งอยู่อยู่บนถนนสิงหนาทบำรุง ใจกลางเมืองแม่ฮ่องสอน อารามสำคัญที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเมื่อ 157 ปีก่อน สร้างด้วยพุทธศิลป์ไทใหญ่อย่างอลังการ โดยเฉพาะหลังคาโบสถ์ วิหารที่โดดเด่นเป็นพิเศษ นอกจากประดับปานซอย – ปานถ่องที่ชายคาแล้ว ยังนิยมทำหลังคาซ้อนกันหลายชั้น โดยยกจั่วขึ้น แล้วมีหลังคาขนาดเล็กกว่าทิ้งชายครอบลงมา ถ้ามีสองจั่ว และหลังคาซ้อนสามชั้น เรียก “อาคารสองคอสามชาย” หรือในภาษาไทใหญ่เรียก “เจตบุน” แต่ถ้าเป็นอาคารสามคอจั่ว ซ้อนหลังคาสี่ชาย จะเรียกอาคาร “ยอนแซก” 

“ปานซอย” คือโลหะตอกลายที่ห้อยลงตรงชาย

ซึ่งหาชมได้ยาก เพราะหากจะทำหลังคาสูงเกินกว่าสองชั้นแบบ “เจตบุน” ก็มักนิยมทำเป็นหลังคาทรงปราสาทซ้อนกันขึ้นไปห้าหรือเจ็ดชั้นไปเลย โดยเป็นทรงปราสาทแบบ “ปราสาทยืด” คือแต่ละชั้นมีฝาสูงเป็นศอกคั่นไว้ แล้วประดับโลหะฉลุลายดอกไม้หรือดวงดาว ไว้ที่ฝาคั่น แลอลังการยิ่งขึ้นไปอีก ปลายยอดของหลังคาทรงปราสาทยืดจะเรียวแหลมคล้ายยอดเจดีย์สวมฉัตรโลหะที่แขวนกระดิ่งโดยรอบ ยามลมพัดพลิ้วเสียงกระดิ่งดังกังวานหวานจับใจ ซึ่งทั้งหลังคาทรงปราสาทและฉัตรครอบปลายยอดนี้ กล่าวได้ว่าชาวไทใหญ่รับอิทธิพลพุทธศิลป์แบบมอญ-พม่ามาอย่างชัดเจน รวมถึงเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบมอญ ตั้งบนฐานซ้อนสามชั้น ชั้นหนึ่งเป็นทรงกลม อีกชั้นเป็นสี่เหลี่ยมและอีกชั้นเป็นแปดเหลี่ยม

ฐานแต่ละชั้นประดับงานประติมากรรมปูนปั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคล อาทิ “ปูรณคตะ” หรือ หม้อดอกไม้แห่งความเจริญรุ่งเรือง และ “มนุษย์สิงห์” ที่มีลำตัวเป็นสิงห์สองตน แต่มีใบหน้าเป็นมนุษย์ใบหน้าเดียว นัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของ พระอุตตระ กับพระโสณะ สมณฑูตที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรณภูมิเมื่อราว ๒,๓๐๐ ปีก่อน ซึ่งตามตำนานของชาวมอญระบุว่า สมณฑูตทั้งสองแสดงอภินิหารแปลงร่างเป็นมนุษย์สิงห์ให้นางยักขินีหวาดกลัวไม่มารบกวนการเผยแผ่ศาสนา ซึ่งทั้งมนุษย์สิงห์ และปูรณคตะ เป็นพุทธศิลป์ยอดนิยมที่พบเห็นได้ทั่วไปในวัดวาอารามทั่วประเทศพม่าตราบจนวันนี้

หลังคาทรงปราสาทยืด อลังการด้วยปานถ่อง – ปานซอย

ที่วัดหัวเวียง ยังมีวิหารสำคัญที่ไมน่าพลาดชม คือวิหารประดิษฐานพระเจ้าพาราละแข่ง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์คู่เมืองแม่ฮ่องสอน สร้างจำลองพระมหามัยมุนี หรือ เมี๊ยะมุนี ที่แปลว่ามหาปราชญ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์ฝีมือช่างหล่อชาวยะไข่ ที่ได้รับการยกย่องว่างามที่สุดองค์หนึ่งในดินแดนสุวรรณภูมิ ทั้งยังเชื่อกันว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานลมหายใจให้พระปฏิมาองค์นี้เป็นตัวแทนพระองค์ในการเผยแผ่พุทธศาสนา จึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีทุกเช้าตรู่มาจนถึงวันนี้ ยืนยันความเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตมีลมหายใจนั่นเอง ปัจจุบัน ประดิษฐานที่วัดยะไข่ ในเมืองมัณฑะเลย์ ในพม่า สำหรับพระเจ้าพาราละแข่ง องค์พระหล่อด้วยทองเหลือง แต่เฉพาะพระพักตร์มีส่วนผสมของทองคำ จึงเปล่งประกายวาววามอยู่เสมอ

วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง โดดเด่นด้วยหลังคาทรงปราสาทห้าชั้น
พระเจ้าพาราละแข่ง พระพุทธรูปจำลองจากพระมหามัยมุนีในพม่า

นอกจากนั้น วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง เป็นพุทธศิลป์แบบไทใหญ่อันทรงคุณคาไม่แพ้กัน จุดเด่นสะดุดตาคือหลังคาทรงปราสาทซ้อนห้าชั้น มีฉัตรครอบ เชิงชายประดับปานถ่อง ปานซอยงามตาไม่น่าพลาดชมด้วยประการทั้งปวง

น่าปีติยินดี ที่พุทธศิลป์แบบสองคอสามชาย และลายประดับปานซอย – ปานถ่อง เป็นภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมที่ชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอนภาคภูมิใจ สังเกตได้จากป้ายบอกชื่อถนน หรือป้ายชื่ออาคารสถานที่ อย่าง สถานีตำรวจภูธรเมืองแม่ฮ่องสอน ฯลฯ ก็ประยุกต์สองคอสามชาย และลายปานถ่อง-ปานซอย มาประดับไว้ บ่งบอกว่าชาวแม่ฮ่องสอนตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาอันเป็นอัตลักษณ์ตน ด้วยยังมีชุมชนเก่าแก่อีกมากมายที่ละเลยหลงลืมภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่น เฉกเช่นคนเรามักมองไม่เห็นขนตาตนเอง ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้ตานิดเดียว แต่ไกลใจเสียเหลือเกิน

เอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทใหญ่ ปรากฏให้เห็นทั่วไปในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

ไทใหญ่

ในทางวิชาการชาติพันธุ์วิทยา ไทใหญ่ ถือเป็นชาติพันธุ์ไท หรือ ไต (Tai / Dai) เช่นเดียวกับขาวไทขึน เชียงตุง ชาวไทลื้อสิบสองปันนา ไทดำเมืองแถน (หรือเดียนเบียนฟู) ฯลฯ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีมานานแล้ว ในขณะที่ชาติพันธุ์ไทในลุ่มเจ้าพระยา เพิ่งเปลี่ยนชื่อจากสยาม เป็น ไทย (มี ย.ยักษ์) ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ.๒๔๘๒ ทั้งนี้ ไทใหญ่แม่ฮ่องสอน อพยพย้ายถิ่นมาจากแคว้นฉาน ซึ่งเป็นชุนชนไทใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด ปัจจุบันมีสถานะเป็นรัฐหนึ่งของพม่าในนาม รัฐฉาน (Shan State) ถือเป็นต้นตระกูล ของชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอน

เรื่องและภาพถ่าย: ธีรภาพ โลหิตกุล 

………………………………….

ขอขอบคุณ อาจารย์สุรศักดิ์ ป้อมทองคำ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมไทใหญ่ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูล

เอกสารอ้างอิง : หนังสือ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน  พ.ศ.๒๕๔๙

อ่านเพิ่มเติม เม ศิรษา บุญมา จากเพจ Hear & Found ผู้ใช้การฟังเล่าเรื่องวัฒนธรรมผ่านดนตรีชนเผ่าและเสียงของท้องถิ่น


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปลัดขิก : โลกิยธรรมในวิถีพุทธของชาวภูฎาน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.