จาโรคา : ระเบียงเสน่ห์ราชสถาน

เอกลักษณ์ของอาคารบ้านเรือน เป็นเหมือนสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ของประชากร

ไจยซัลเมียร์ แคว้นราชสถาน เป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวมีมีเอกลัษณ์ของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น

บ่ายวันหนึ่ง ขณะเดินไปตามตรอกซอกซอยย่านการค้าใจกลางเมือง ไจยซัลเมียร์ แคว้นราชสถาน ในภาคพายัพของอินเดีย ผมต้องค่อยๆ ชะลอความเร็วของสองเท้าที่ก้าวย่างให้ช้าลง จนที่สุดก็หยุดนิ่ง เมื่อเผชิญหน้ากับบางสิ่ง ที่ทำให้ผมยืนตาค้าง จดจ้องความงามที่ปรากฏ ราวกับได้พานพบหญิงสาวชาวราชสถาน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐที่มีอัตราเฉลี่ยของสาวงามมากกว่ารัฐใด เหตุเพราะเธอมีเชื้อสายราชปุต ชาติพันธุ์หลักของแคว้นนี้ ผสมผสานกับเชื้อสายมุสลิมโมกุล ทำให้พวกเธอมีรูปร่างสูงสง่า นัยน์ตาคมกริบ ผิวสีน้ำผึ้ง นวลเนียนแตกต่างจากชาวอินเดียแท้ ที่เป็นชาวฑราวิท หรือดราวิเดี้ยน

ฤหาสน์กุมัน ซันด์ พัตวา ซ่อนตัวอยู่ในตรอกซอกซอยใจกลางเมืองไจยซัลเมียร์

เปล่า ไม่ได้เจอสาวงามชวนตะลึง แต่ที่ตรึงสองตาผมให้จ้องมองอย่างพินิจพิเคราะห์ ก่อนยกกล้องขึ้นบันทึกภาพนานนับชั่วโมง โดยไม่รู้สึกรู้สาว่ากล้ามเนื้อทั้งสองแขนอ่อนล้า ตาที่เล็งเพื่อปรับความคมชัดของภาพเริ่มอ่อนแรง จนต้องตัดสินใจพักการถ่ายภาพแล้วนั่งมองสุนทรียะภาพเบื้องหน้าด้วยตาเปล่า นี่คือสิ่งที่ชาวราชสถานเรียก “ฮาเวลี” (Haveri) แปลว่าแมนชั่น หรือคฤหาสน์ของคหบดีชาวราชสถาน ที่สร้างด้วยหินสีน้ำผึ้ง แกะสลักลวดลายวิจิตรตา โดยมีจุดเด่นอยู่ที่  “จาโรคา” (Jharokha) หรือระเบียงที่ยื่นออกมาจากตัวคฤหาสน์ นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสถาปัตยกรรมราชสถานที่เปี่ยมเสน่ห์ ชวนให้หลงใหล จน “บัลโคนี” (Balcony) หรือระเบียงของชาวยุโรป ดูเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มไปถนัดตา

โดยเฉพาะ Patwon ki Haveli หรือคฤหาสน์ของกุมัน ซันด์ พัตวา (Guman Chand Patwa)  คหบดีชาวไจยซัลเมียร์ ผู้มั่งคั่งจากการค้าขายเครื่องประดับเงิน ทอง ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าแท้ที่จริงเขารวยจากการค้าฝิ่นผิดกฎหมาย จึงเนรมิตคฤหาสน์หรูศิลปะราชปุต จากหินทรายสีทอง เอกลักษณ์ของเมืองไจยซัลเมียร์  สูง 5 ชั้น ใช้เวลาสร้างถึง 60 ปี เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2348 หรือเมื่อ 215 ปีมาแล้ว นับเป็นคฤหาสน์คหบดีที่มีขนาดใหญ่โตโอฬารสุด งดงามอลังการสุด ในบรรดาคฤหาสน์คหบดี 5 หลังของไจยซัลเมียร์ แต่ที่สำคัญคือฮาเวลีหลังนี้หลังเดียว ประดับระเบียง หรือ “จาโรคา” ไว้โดยรอบถึง 66 ระเบียง ในรูปลักษณ์หลากหลายและประโยชน์ใช้สอยต่างๆ กัน

แบบแรกเป็นระเบียงเปิดโล่งสำหรับออกมายืนชมวิวได้ มักทำไว้ที่ชั้น 4 และชั้น 5 แบบต่อมาเป็นระเบียงมีหน้าต่างขนาดเล็กตกแต่งด้วยลวดลายฉลุอย่างวิลิสมาหรา สำหรับเป็นช่องลม และให้ลูกสาวคหบดีใช้แอบมองหนุ่มๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกมองกลับ เพราะฉลุลายละเอียดยิบ จนต้องยอมยกให้ราชสถานเป็นดินแดนของช่างแกะหินโดยแท้ แม้ว่าจะเคยยกให้ช่างขะแมร์โบราณ เป็นนักจำหลักหินมือหนึ่ง ซึ่งแกะลายประดับปราสาทบันทายสรีไว้ละเอียดจนนักโบราณคดีฝรั่งเศสกระแนะกระแหนว่าเป็น “นักลัทธิรังเกียจที่ว่าง” คือเห็นที่ว่างไม่ได้ เป็นต้องแกะลายลงไป ครั้นได้เห็นชาวราชสถานแกะหินประดับระเบียงแล้วต้องเปลี่ยนใจ ว่าช่างอินเดียก็เป็นมือวางระดับต้นๆ ของโลก ไม่ด้อยไปกว่าช่างชะแมร์

แล้วจะว่าไป ต้นรากของงานศิลาจำหลักในกัมพูชาก็มาจากชมพูทวีปนั่นเอง

ระเบียงประดับหน้าต่างหลอกและศิลาจำหลักวิจิตรตา

จาโรคาแบบต่อมา มีบานหน้าต่างเปิด-ปิดได้ ด้านบนสุดมีแผ่นหินโค้งครอบไว้สวยไปอีกแบบ แต่ที่น่ารักคือระเบียงทรงกระสวยมีหน้าต่างประดับลายฉลุ มีหลังคาคล้ายฉัตรหรือมงกุฎครอบอีกที แลคล้ายลิฟท์แก้วในห้างสรรพสินค้า และอีกหลายแบบสุดจะพรรณนาได้หมด อย่างไรก็ตาม ยามมีศึกสงคราม ความงามของระเบียงเหล่านี้จะเปลี่ยนสถานะเป็นที่หลบซ่อนของพลหอกและพลธนู คอยหยิบยื่นความตายให้ข้าศึกที่บุกเข้ามา

เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ราชสถานเป็นแว่นแคว้นที่อยู่ติดทะเลทรายธาร์ และประชิดชายแดนปปากีสถาน ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ราชสถานแต่อดีต นอกจากจะมั่งคั่งด้วยแร่ธาตุและอัญมณีแล้ว ยังเป็นชุมทางการค้าบนเส้นทางสายแพรไหม เป็นเส้นทางบังคับที่ใครจะไปช่องแคบไคเบอร์ จุดเชื่อมต่อทวีปเอเชียกับอาหรับและยุโรป ล้วนต้องผ่านแคว้นนี้ ทำให้มีการสู้รบแย่งชิงพื้นที่กันเองระหว่างบรรดามหาราชา แล้วยังมีพวกสุลต่าน และจักรพรรดิโมกุล พยายามบุกลงมาขอมีส่วนร่วมในเค้กก้อนโตนี้ด้วย 

ราชสถานมั่งคั่งจากการเป็นชุมทางการค้าบนเส้นทางสายแพรไหม

กล่าวโดยเฉพาะ นครรัฐไจยซัลเมียร์ นอกจากร่ำรวยจากการเก็บค่าต๋ง หรือค่าคุ้มครองจากกองคาราวานสินค้านานาชาติแล้ว บางครั้งยังแปรสภาพจากผู้คุ้มครองเป็นกองโจรปล้นสะดมขบวนสินค้าที่มีมูลค่าสูงประเภทอัญมณีเสียเองอีกด้วย คราวไหน เกิดไปเหยียบตาปลาขาใหญ่ คือไปปล้นขบวนสินค้าของสุลต่านเดลี หรือจักรพรรดิโมกุลเข้า ก็ต้องชดใช้ด้วยการถูกบุกมาถล่ม จึงเป็นที่มาของการสร้างค่ายคูประตู รบไว้มากมาย และเตรียมอาวุธลับคือลูกหินโบว์ลิ่งไว้พร้อมสรรพ สำหรับกลิ้งลงมาทับทหารข้าศึก

ในซอกมุมระเบียงคฤหาสน์กุมัน ซันด์ พัตวา

แต่ไจยซัลเมียร์นั้นถึงจะเคยถูกโจมตีหนักเพียงไหน อย่างมากมหาราวัลก็ยอมซูฮกตกเป็นเมืองบริวาร แต่ก็ไม่ถึงกับแตกยับเยิน จึงยังมีทั้งพระราชวัง ป้อมปราการ และคฤหาสน์หลงเหลือให้เห็นร่องรอยอดีตที่เคยรุ่งเรืองอู้ฟู่หลายแห่ง

ปัจจุบัน ทายาทของคหบดีเจ้าของคฤหาสน์ศิลปะราชปุตที่งดงามชวนตะลึง ยังดูแลรักษาคฤหาสน์ไว้อย่างดี โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เพื่อนำรายได้มาทะนุบำรุงมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนยาวนาน เพราะ “ฮาเวรี หรือคฤหาสน์ชวนตะลึงเหล่านี้ มิได้เป็นเพียงมรดกของทายาทคหบดีกุมัน ซันด์ พัตวาเท่านั้น หากคือมรดกล้ำค่าของชาวอินเดียและมวลมนุษยชาติโดยแท้

เรื่องและภาพถ่าย 
ธีรภาพ โลหิตกุล

*****************************************

มหาราชา – มหาราวัล

รัฐราชสถาน (Rajastan) หรือแคว้นราชสถานในอดีต ก่อนที่จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย ประกอบด้วยนครรัฐที่เป็นอิสระต่อกัน (แต่อาจเป็นเครือญาติเชื้อชาติราชปุตเดียวกัน) อาทิ จ๊อดเปอร์ หรือ โยธปุระ ไจยเปอร์ หรือ ชัยปุระ รานัคเปอร์ อุทัยเปอร์ โดยแต่ละนครรัฐจะมี “มหาราชา” (Maharaja) เป็นผู้ปกครอง ยกเว้น ไจยซัลเมียร์ ที่กำหนดเรียกผู้นำของตนว่า “มหาราวัล” (Maharawal) โดยมหาราวัลไจซัล (Maharawal Jaisal) เป็นผู้สถาปนาเมืองที่เฉลิมนามตามพระนามท่าน ในปีพ.ศ.๑๖๙๙  หรือเมื่อ ๘๖๔ ปีมาแล้ว(ร่วมสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ ๒ ผู้สร้างมหาปราสาทนครวัด หรือ “บรมวิษณุโลก แห่งกัมพูชา

เอกสารอ้างอิง

1. ประพาสราชสถาน พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
2. Website Wikipedia, the free encyclopedia


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปานถ่อง – ปานซอย มนต์เสน่ห์ของไทใหญ่

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.