ปานถ่อง – ปานซอย มนต์เสน่ห์ของ ไทใหญ่

ปานถ่อง – ปานซอย มนต์เสน่ห์ของ ไทใหญ่

มนต์เสน่ห์ ปานถ่อง – ปานซอย
เพชรน้ำเอกพุทธศิลป์เมืองสามหมอก ของชาว ไทใหญ่

สัญจรสู่เมืองสามหมอกคราใด ถ้ามีเวลาว่าง ผมจะซอกแซกไปตามวัดวาอาราม เพราะเสน่ห์หนึ่งที่ตรึงใจผมยิ่งนัก คืออัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของชาวไทใหญ่ที่ไม่ซ้ำแบบใครเลย โดยเฉพาะการตอกลายบนโลหะ ทั้งสังกะสี อลูมิเนียม แผ่นเงิน นำไปประดับชายคาวัดวาวิจิตรตระการตายิ่งนัก เรียกในภาษาไทใหญ่ว่า “ปานซอย – ปานถ่อง” หรือที่ชาวล้านนาในจังหวัดอื่นนิยมเรียก “แป้นน้ำย้อย” นั่นเอง

“ปานซอย” คือโลหะตอกลายที่ห้อยลงตรงชายคาโบสถ์วิหาร ส่วนโลหะตอกลายที่ปลายชี้ขึ้นด้านบน เรียก “ปานถ่อง” ลวดลายที่รังสรรค์เป็นลายดอกไม้ ลายพรรณพฤกษา ลายเครือเถา ที่น่าทึ่งคือแม้จะใช้วัสดุที่แข็ง แต่ “สล่า” หรือช่างตอกชาวไทใหญ่ มีกลวิธีตอกให้ลวดลายนูนมีมิติ ไม่แบนราบ ทว่าราวกับจะพลิ้วไหวยามเมื่อต้องแรงลม เฉกเช่นเดียวกับศิลปะเขมรแบบ “บันทายสรี” ที่แกะสลักหินแบบนูนสูงจนแลคล้ายลวดลายลอยเด่นขึ้นมาโลดเต้นได้

ปานถ่อง, ปานซอย, สถาปัตยกรรม, เมียนมา, วัด, พม่า
วัดหัวเวียง เพชรน้ำเอกของพุทธศิลป์ไทใหญ่

วัดที่ทำให้ผมตะลึงในความงามของปานซอย – ปานถ่อง เป็นวัดแรก คือวัดหัวเวียง ซึ่งตั้งอยู่อยู่บนถนนสิงหนาทบำรุง ใจกลางเมืองแม่ฮ่องสอน อารามสำคัญที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเมื่อ 157 ปีก่อน สร้างด้วยพุทธศิลป์ไทใหญ่อย่างอลังการ โดยเฉพาะหลังคาโบสถ์ วิหารที่โดดเด่นเป็นพิเศษ นอกจากประดับปานซอย – ปานถ่องที่ชายคาแล้ว ยังนิยมทำหลังคาซ้อนกันหลายชั้น โดยยกจั่วขึ้น แล้วมีหลังคาขนาดเล็กกว่าทิ้งชายครอบลงมา ถ้ามีสองจั่ว และหลังคาซ้อนสามชั้น เรียก “อาคารสองคอสามชาย” หรือในภาษาไทใหญ่เรียก “เจตบุน” แต่ถ้าเป็นอาคารสามคอจั่ว ซ้อนหลังคาสี่ชาย จะเรียกอาคาร “ยอนแซก” 

ปานถ่อง, ปานซอย, สถาปัตยกรรม, เมียนมา, วัด, พม่า
“ปานซอย” คือโลหะตอกลายที่ห้อยลงตรงชาย

ซึ่งหาชมได้ยาก เพราะหากจะทำหลังคาสูงเกินกว่าสองชั้นแบบ “เจตบุน” ก็มักนิยมทำเป็นหลังคาทรงปราสาทซ้อนกันขึ้นไปห้าหรือเจ็ดชั้นไปเลย โดยเป็นทรงปราสาทแบบ “ปราสาทยืด” คือแต่ละชั้นมีฝาสูงเป็นศอกคั่นไว้ แล้วประดับโลหะฉลุลายดอกไม้หรือดวงดาว ไว้ที่ฝาคั่น แลอลังการยิ่งขึ้นไปอีก ปลายยอดของหลังคาทรงปราสาทยืดจะเรียวแหลมคล้ายยอดเจดีย์สวมฉัตรโลหะที่แขวนกระดิ่งโดยรอบ ยามลมพัดพลิ้วเสียงกระดิ่งดังกังวานหวานจับใจ ซึ่งทั้งหลังคาทรงปราสาทและฉัตรครอบปลายยอดนี้ กล่าวได้ว่าชาวไทใหญ่รับอิทธิพลพุทธศิลป์แบบมอญ-พม่ามาอย่างชัดเจน รวมถึงเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบมอญ ตั้งบนฐานซ้อนสามชั้น ชั้นหนึ่งเป็นทรงกลม อีกชั้นเป็นสี่เหลี่ยมและอีกชั้นเป็นแปดเหลี่ยม

ฐานแต่ละชั้นประดับงานประติมากรรมปูนปั้นซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคล อาทิ “ปูรณคตะ” หรือ หม้อดอกไม้แห่งความเจริญรุ่งเรือง และ “มนุษย์สิงห์” ที่มีลำตัวเป็นสิงห์สองตน แต่มีใบหน้าเป็นมนุษย์ใบหน้าเดียว นัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของ พระอุตตระ กับพระโสณะ สมณฑูตที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรณภูมิเมื่อราว ๒,๓๐๐ ปีก่อน ซึ่งตามตำนานของชาวมอญระบุว่า สมณฑูตทั้งสองแสดงอภินิหารแปลงร่างเป็นมนุษย์สิงห์ให้นางยักขินีหวาดกลัวไม่มารบกวนการเผยแผ่ศาสนา ซึ่งทั้งมนุษย์สิงห์ และปูรณคตะ เป็นพุทธศิลป์ยอดนิยมที่พบเห็นได้ทั่วไปในวัดวาอารามทั่วประเทศพม่าตราบจนวันนี้

ปานถ่อง, ปานซอย, สถาปัตยกรรม, เมียนมา, วัด, พม่า
หลังคาทรงปราสาทยืด อลังการด้วยปานถ่อง – ปานซอย

ที่วัดหัวเวียง ยังมีวิหารสำคัญที่ไมน่าพลาดชม คือวิหารประดิษฐานพระเจ้าพาราละแข่ง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์คู่เมืองแม่ฮ่องสอน สร้างจำลองพระมหามัยมุนี หรือ เมี๊ยะมุนี ที่แปลว่ามหาปราชญ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์ฝีมือช่างหล่อชาวยะไข่ ที่ได้รับการยกย่องว่างามที่สุดองค์หนึ่งในดินแดนสุวรรณภูมิ ทั้งยังเชื่อกันว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานลมหายใจให้พระปฏิมาองค์นี้เป็นตัวแทนพระองค์ในการเผยแผ่พุทธศาสนา จึงต้องมีพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีทุกเช้าตรู่มาจนถึงวันนี้ ยืนยันความเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตมีลมหายใจนั่นเอง ปัจจุบัน ประดิษฐานที่วัดยะไข่ ในเมืองมัณฑะเลย์ ในพม่า สำหรับพระเจ้าพาราละแข่ง องค์พระหล่อด้วยทองเหลือง แต่เฉพาะพระพักตร์มีส่วนผสมของทองคำ จึงเปล่งประกายวาววามอยู่เสมอ

ปานถ่อง, ปานซอย, สถาปัตยกรรม, เมียนมา, วัด, พม่า
วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง โดดเด่นด้วยหลังคาทรงปราสาทห้าชั้น
สถาปัตยกรรม, เมียนมา, วัด, พม่า
พระเจ้าพาราละแข่ง พระพุทธรูปจำลองจากพระมหามัยมุนีในพม่า

นอกจากนั้น วิหารพระเจ้าพาราละแข่ง เป็นพุทธศิลป์แบบไทใหญ่อันทรงคุณคาไม่แพ้กัน จุดเด่นสะดุดตาคือหลังคาทรงปราสาทซ้อนห้าชั้น มีฉัตรครอบ เชิงชายประดับปานถ่อง ปานซอยงามตาไม่น่าพลาดชมด้วยประการทั้งปวง

น่าปีติยินดี ที่พุทธศิลป์แบบสองคอสามชาย และลายประดับปานซอย – ปานถ่อง เป็นภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมที่ชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอนภาคภูมิใจ สังเกตได้จากป้ายบอกชื่อถนน หรือป้ายชื่ออาคารสถานที่ อย่าง สถานีตำรวจภูธรเมืองแม่ฮ่องสอน ฯลฯ ก็ประยุกต์สองคอสามชาย และลายปานถ่อง-ปานซอย มาประดับไว้ บ่งบอกว่าชาวแม่ฮ่องสอนตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาอันเป็นอัตลักษณ์ตน ด้วยยังมีชุมชนเก่าแก่อีกมากมายที่ละเลยหลงลืมภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่น เฉกเช่นคนเรามักมองไม่เห็นขนตาตนเอง ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้ตานิดเดียว แต่ไกลใจเสียเหลือเกิน

สถาปัตยกรรม, เมียนมา, วัด, พม่า
เอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทใหญ่ ปรากฏให้เห็นทั่วไปในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

ไทใหญ่

ในทางวิชาการชาติพันธุ์วิทยา ไทใหญ่ ถือเป็นชาติพันธุ์ไท หรือ ไต (Tai / Dai) เช่นเดียวกับขาวไทขึน เชียงตุง ชาวไทลื้อสิบสองปันนา ไทดำเมืองแถน (หรือเดียนเบียนฟู) ฯลฯ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีมานานแล้ว ในขณะที่ชาติพันธุ์ไทในลุ่มเจ้าพระยา เพิ่งเปลี่ยนชื่อจากสยาม เป็น ไทย (มี ย.ยักษ์) ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.ศ.๒๔๘๒ ทั้งนี้ ไทใหญ่แม่ฮ่องสอน อพยพย้ายถิ่นมาจากแคว้นฉาน ซึ่งเป็นชุนชนไทใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด ปัจจุบันมีสถานะเป็นรัฐหนึ่งของพม่าในนาม รัฐฉาน (Shan State) ถือเป็นต้นตระกูล ของชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอน

เรื่องและภาพถ่าย: ธีรภาพ โลหิตกุล 

………………………………….

ขอขอบคุณ อาจารย์สุรศักดิ์ ป้อมทองคำ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมไทใหญ่ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูล

เอกสารอ้างอิง : หนังสือ ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน  พ.ศ.๒๕๔๙

อ่านเพิ่มเติม เม ศิรษา บุญมา จากเพจ Hear & Found ผู้ใช้การฟังเล่าเรื่องวัฒนธรรมผ่านดนตรีชนเผ่าและเสียงของท้องถิ่น


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ปลัดขิก : โลกิยธรรมในวิถีพุทธของชาวภูฎาน

Recommend