เที่ยวแม่แจ่มในมุมมองใหม่ที่ไม่ได้มีเพียงนาขั้นบันได

“ได้เจอกันสักทีนะ… แม่แจ่ม”

บรรยากาศในช่วงปลายเดือนกันยายน ยังคงมีสายฝนโปรยปรายลงมา ทำให้อากาศเย็นสบายกำลังดี ไม่รู้ว่าช้าไปไหม แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางมา เที่ยวแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กับคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ หัวเรือใหญ่ National Geographic ฉบับภาษาไทยโดยได้รับคำเชิญจากผู้ใหญ่ใจดี ชวนมาดูและมาสำรวจว่าจะช่วยชาวบ้านต่อยอดสินค้าเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวได้อย่างไร

จากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงแม่แจ่มใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่ง แต่บรรยากาศตลอดสองข้างทางสวยงามเกินพรรณนาจริงๆ ทำเอาลืมเวลาไปเลย

ผมมักรู้สึกตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ได้ไปยังดินแดนที่ไม่รู้จัก การเดินทางมา เที่ยวแม่แจ่ม ในครั้งนี้ก็มาอย่างคนที่ไม่รู้จักแม่แจ่มแบบลึกซึ้ง รู้แค่ว่าใครๆ ก็ต้องมาดูนาขั้นบันไดสวยๆ ของที่นี่กันทั้งนั้น จนกระทั่งได้ฟังคำแนะนำจากคนท้องถิ่นว่าให้ลองไปเที่ยว “หมู่บ้านห้วยบง” ดูสิ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่นำช้างคืนถิ่น แม้จะสงสัยว่าทำไมช้างต้องคืนถิ่น แต่ออกปากแนะนำมาแบบนี้ ลองไปดูสักตั้งจะเป็นไร

แต่ก่อนจะไปหมู่บ้านห้วยบง ผมขอซึมซับบรรยากาศในตัวอำเภอแม่แจ่มสักคืน ซึ่งในอำเภอเล็กๆแห่งนี้ก็มีที่พักให้เลือกอยู่หลายแห่ง มีร้านอาหารและคาเฟ่น่ารักๆด้วย ผมแวะที่ PEMA CAFÉ ได้เจอชาวบ้านที่อัธยาศัยดีมาก อาหารอร่อยถูกปาก จะว่าไปก็ให้อารมณ์น่ารักๆเหมือนชนบทในประเทศญี่ปุ่นเลยนะ ผมเองก็เลือกที่จะออกมาวิ่งออกกำลังกายและเดินเล่นชมวิวกันสักหน่อย หากใครมีเวลาอยากแนะนำให้ลองทำดูนะครับ มันทำให้คุณได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นได้จริงๆ

PEMA CAFE ร้านกาแฟเล็กๆกับบรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบาย

รุ่งเช้าผมแวะไปชมโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นอีกไฮไลต์หนึ่งที่ชาวอำเภอแม่แจ่มอยากให้คนทั่วไปได้รู้จัก โครงการไผ่นี้อยู่ในโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส เป็นโครงการที่มุ่งสร้างความยั่งยืนและเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่แจ่มให้กับชุมชน ในรูปแบบการปลูกไม้สร้างรายได้เพื่อให้ตอบโจทย์สร้างอาชีพของเกษตรกรที่หาทางเลือกใหม่ ออกไปจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่นข้าวโพด และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งปัญหาหมอกควันจากไฟป่า การบุกรุกที่ดิน หนี้สิน  เนื่องจากไผ่เป็นพืชระยะสั้น ใช้เวลาปลูกแค่ 3 -5 ปี ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย เป็นพืชที่สร้างออกซิเจนได้มากกว่าไม้ใหญ่ชนิดอื่นๆ และสร้างรายได้ที่ดีให้เกษตรกร ที่โรงงานนี้ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวไผ่ในชุมชน และมีสินค้าจากผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ให้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นที่ระลึกถึงแม่แจ่มกันด้วย

แปลงปลูกไผ่ที่กำลังเริ่มต้น ใกล้กันเป็นไร่ข้าวโพด ที่ชาวบ้านหวังว่าวันหนึ่งจะหายไป
ผลผลิตที่ได้จากไผ่ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม

ออกจากโรงงานไม้ไผ่แล้ว ผมก็มุ่งหน้าไปยังเส้นทางที่จะไปขุนยวม ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงหมู่บ้านห้วยบง ซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนเลี้ยงช้าง ชาวบ้านนิยมนำช้างไปทำมาหากินตามปางช้างต่างๆในเชียงใหม่ แต่พอเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว ปางช้างหลายแห่งต้องปิดตัวไป แต่ช้างก็ต้องกิน คนก็ต้องใช้ สุดท้ายชาวบ้านจึงรวมตัวกันพาช้างกลับบ้านโดยที่ยังไม่ได้เตรียมความพร้อม และประสบปัญหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติประกอบไปด้วยสารเคมีที่เกิดจากการทำไร่ข้าวโพด ทำให้ช้างไม่สามารถดื่มน้ำจากแหล่งน้ำได้ ต้องขุดร่องดินเพื่อรองรับน้ำฝน ซึ่งหากไม่มีน้ำฝน ช้างก็ไม่สามารถดื่มน้ำได้ อีกทั้งชุมชนยังขาดแหล่งอาหารของช้าง ชุมชนคนเลี้ยงช้างบ้านห้วยบงจึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยการคิดริเริ่มที่จัดทำระบบปะปาภูเขา ปลูกหญ้าให้ช้างและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของชุมชนในอนาคต ได้เกิดเป็นโครงการช้างคืนถิ่น ซึ่งมีคุณสดุดี เสรีชีวี เป็นผู้นำในการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้หมู่บ้านห้วยบงเป็นศูนย์กลางการดูแลช้างและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวแบบใหม่ นั่นคือให้ชาวบ้านทุกคนทำมาหากินกันที่หมู่บ้านนี่แหละไม่ต้องออกไปไหน เพราะที่หมู่บ้านห้วยบงมีวิวธรรมชาติสวยๆ อากาศบริสุทธิ์ มีลำธารไหลผ่าน และมีเส้นทางเดินป่าระยะใกล้ๆ ไว้สำหรับผู้สนใจกิจกรรมแนวผจญภัย ใครอยากกลางเต็นท์ตรงไหน ขอเพียงแค่บอกมา ชาวบ้านจะดูแลอำนวยความสะดวกให้ หรือถ้าไม่ถนัดนอนเต็นท์ จะนอนที่โฮมสเตย์ของชาวบ้านก็ได้ มีการเตรียมอาหารการกินไว้พร้อมสรรพ

แม่น้ำแม่หยอด
บริเวณจุดกางเต็นท์ในหมู่บ้านห้วยบง
ภาพร่างโดยคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ จากการเยี่ยมชมโรงงานไผ่ ได้เห็นไอเดียชาวบ้านในการใช้ไผ่ นำมาทำแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน

กิจกรรมหลักๆที่หมู่บ้านห้วยบงก็จะมีการเลี้ยงช้าง โดยสอนให้รู้จักและเรียนรู้นิสัยของช้างมากกว่าที่ตาเห็น สอนการอาบน้ำให้ช้าง แต่ที่ผมชอบที่สุดคือการสอนหนังสือให้ชาวบ้าน เช่น สอนภาษาอังกฤษ ส่วนตัวเราก็เรียนภาษากะเหรี่ยงจากชาวบ้าน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกัน หรือใครชอบวาดรูปก็สอนเด็กๆในหมู่บ้านได้นะครับ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่คุณสดุดีเลย ซึ่งผมจะบอกรายละเอียดไว้ในตอนท้าย

คนเลี้ยงช้างชาวปกาเกอะญอ กำลังแบกหญ้าไปให้ช้างกิน ซึ่งช้างแต่ละเชือกกินอย่างน้อยวันละ 250 กิโลกรัม

ในอนาคตบ้านหลังนี้จะเป็นสถานีอนามัยของชุมชน

ตลอดสองข้างทางระหว่างไปหมู่บ้านห้วยบงเป็นเส้นทางที่สวยมาก แต่ก็อันตรายเช่นกัน เพราะเป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวมาก ต้องใช้ความชำนาญในการขับรถยนต์มากทีเดียว แต่เชื่อเถอะว่ามาที่นี่แล้วคุณจะสนุก และมีความสุขแน่นอน ภายใต้การเดินทางที่ผมไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ทริปนี้ก็สร้างความอิ่มใจให้ผมได้จริงๆ

“ครั้งหน้าเจอกันอีกนะ…แม่แจ่มที่รัก”

แผนที่ที่ชาวบ้านวาดไว้ เราขอเอามาปรับใหม่ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

รายละเอียดกิจกรรม 

1. เรียนรู้นิสัยของช้าง ด้วยการอาบน้ำ ปลูกหญ้าและตัดหญ้าให้ช้าง
2. เรียนรู้เรื่องสมุนไพรสำหรับช้างและคน พร้อมด้วยการเดินป่าศึกษาเส้นทางธรรมชาติ
3. เรียนรู้การประกอบอาหารพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ
4. เรียนรู้การตำข้าวแบบวิถีชาวบ้าน (ข้าวกล้อง)
5. แลกเปลี่ยนภาษา เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการเลี้ยงช้างของชาวปกาเกอะญอ โดยจะมีผู้เฒ่าของหมู่บ้านมาเล่าประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของคนกะเหรี่ยงกับช้าง
6. ล่องแพไม้ไผ่
7. กิจกรรมกลางแจ้งรอบกองไฟกับวิวธรรมชาติที่สวยจนลืมไม่ลง
8. พักกับชาวบ้าน มีบริการอาหารพร้อม

ทุกกิจกรรมจะเริ่มต้น เวลา 9.00 น. – 16.00 น.
รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
ติดต่อได้ที่ คุณสดุดี เสรีชีวี โทรศัพท์ 09-7349-8837


เรื่องและภาพ : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.