เมรุมาศไทย – บาหลี ความเหมือนในความต่าง

บาหลี ชุมชนเก่าแก่ของชาวฮินดูบนเกาะเล็กๆ ที่สำคัญยิ่งในฐานะ “ขุมทอง” ของการท่องเที่ยวประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 10,000 เกาะ รวมกันในนามอินโดนีเซีย

ที่น่าสนใจคือในห้วงยามก่อนดิจิทัลจะมีบทบาท บาหลี อาจเป็นชุมชนเดียวในโลก  ที่พลันเมื่อนักท่องเที่ยวลงจากเครื่องบิน เดินเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานเดนปาซาร์ จะพบซุ้มใส่แผ่นพับโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยวให้เลือกหยิบได้ฟรี และยังมีใบปลิวระบุว่า หากคุณสนใจจะชมพิธีฌาปนกิจศพอย่างใกล้ชิด สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรฯ ในอัตราค่าเข้าชมราคาหนึ่ง ค่าเข้าร่วมพิธีเสมือนหนึ่งเป็นญาติพี่น้องของผู้ตายในอีกราคาหนึ่ง

ทิ้งท้ายด้วยคำเชิญชวนเย้ายวนใจว่า นี่คือประสบการณ์ล้ำเลอค่าที่หาที่ไม่ได้ในโลกใบนี้!

เมื่อถึงทางแยก ชายฉกรรจ์ผู้แบกหาม “เลมบู” หุ่นสัตว์ในเทพนิยายรูปสีหปักษี (สิงห์มีปีก) สำหรับอัญเชิญศพสู่พิธีเผาพร้อมใจกันเขย่าและส่ายตัวหุ่นอย่างแรง มีนัยว่าเพื่อให้ดวงวิญญาณผู้ตายหลงทาง จำทางกลับบ้านไม่ได้

หลักปรัชญาของชาวฮินดูบาหลี ถือว่า การเผาศพ คือการส่งมอบกายคืนสู่ธาตุทั้งห้า คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหล็ก ความตายคือการเดินทางของวิญญาณจากชีวิตในภพภูมินี้ ไปสู่ชีวิตใหม่บนสรวงสวรรค์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เขาพระสุเมรุ ที่ประทับของทวยเทพตามคติของชาวฮินดู พิธีศพบาหลีจึงเปรียบเสมือนการส่งดวงวิญญาณของผู้ตายคืนสู่สวรรคาลัย หรือการกลับสู่สถานะเทพเจ้าดังเดิม ขั้นตอนสำคัญในพิธีนี้จึงต้องสร้าง “บาเดห์” (Wadah) หออัญเชิญศพ แบบจำลองจักรวาลตามคติของชาวฮินดู ซึ่งก็คือเขาพระสุเมรุจำลองนั่นเอง

ขบวนแห่ “บาเดห์” (Wadah) หออัญเชิญศพ แบบจำลองจักรวาลตามคติของชาวฮินดู ซึ่งก็คือเขาพระสุเมรุจำลอง หรือ “เมรุมาศ” สังเกตว่ามีฝรั่งชาย-หญิงคู่หนึ่ง ซื้อทัวร์มาร่วมขบวนแห่ซึ่งชาวบาหลีถือเป็นเกียรติกับผู้ตาย

ขนาดและความสูงของเขาพระสุเมรุจำลอง จะขึ้นกับวรรณะและสถานะทางสังคมของผู้ตาย หากเป็นเชื้อพระวงศ์  หรือผู้สืบเชื้อสายสุลต่านผู้ครองเมือง  บาเดห์อาจสูงถึง 28 เมตร แบ่งเป็น 11 ชั้น แทนสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ น้ำหนักรวมถึง 6 ตัน ต้องใช้คนหามครั้งละกว่า 400 คน ตั้งขบวนแห่แหนอย่างเอิกเกริก  มีชาวบ้านร่วมขบวนแห่นับพันคน

นอกจากบาเดห์แล้ว ยังต้องมี เลมบู (Lembu) หุ่นสัตว์ในเทพนิยายสำหรับอัญเชิญศพสู่พิธีเผา อาทิ หุ่นวัวตัวผู้ หรือโคนนทิ พาหนะทรงของพระศิวมหาเทพ หรือ สีหปักษี (สิงห์มีปีก) หรือ วารีกุญชร (ช้างมีครีบและหางปลา ฯลฯ โดยครอบครัวผู้ตายต้องจัดขบวนแห่หออัญเชิญศพ และหุ่นสัตว์ในเทพนิยายจากบ้านไปสู่ฌาปนสถานอย่างเอิกเกริก

เมื่อขบวนแห่ผ่านทางแพร่ง อาทิสี่แยก บรรดาชายฉกรรจ์ผู้แบกเลมบู จะพร้อมใจกันเขย่าและส่ายตัวหุ่นอย่างแรง มีนัยว่าเพื่อให้ดวงวิญญาณผู้ตายหลงทาง จำทางกลับบ้านไม่ได้ ตามหลักปรัชญาการตายของชาวบาหลีที่ว่า ความตายคือการเดินทางของวิญญาณจากชีวิตในภพภูมินี้ ไปสู่ชีวิตใหม่บนสรวงสวรรค์

สำหรับชาวบาหลี ความตายคือการเดินทางของวิญญาณจากชีวิตในภพภูมินี้ ไปสู่ชีวิตใหม่บนสรวงสวรรค์

แม้รูปแบบและขั้นตอนในพิธีศพชาวบาหลี จะแตกต่างจากธรรมเนียมไทยโดยสิ้นเชิง ทว่า ในความต่าง ยังมีความเหมือนอย่างปฏิเสธมิได้ คือการจำลองเขาพระสุเมรุ เพียงแต่ของชาวบาหลีสร้างด้วยไม้ไผ่และเคลื่อนย้ายเพื่อแห่แหนได้ ในขณะที่ “เมรุมาศ” หรือเมรุทองของไทย สร้างด้วยไม้ หยวกกล้วย กระดาษสี ฯลฯ โดยทั้งบาเดห์ และเมรุมาศ ถือเป็นงานประติมากรรมชั้นสูง

เมรุมาศของไทย คือการจำลองเขาพระสุเมรุ ที่ประทับของเทพเจ้าเช่นกัน

และหากสืบค้นประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ – อาเซียน จะพบว่าธรรมเนียมการสร้างพระเมรุมาศในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อส่งดวงพระวิญญาณของกษัตริย์ชาวสยามสู่สวรรคาลัย รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากแบบแผนประเพณีในราชสำนักกัมพูชา ตั้งแต่ราว 500 ปีก่อน ต่างกันที่พระเมรุมาศของกัมพูชาแต่โบราณสร้างด้วยหิน จึงเรียก “ปราสาทหิน” ไม่ว่าจะเป็น นครวัด นครธม พนมบาแค็ง ฯลฯ ล้วนมีสถานะเป็นเมรุมาศของกษัตริย์กัมพูชาทั้งสิ้น

โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1345 – 1392) เป็นกษัตริย์กัมพูชาพระองค์แรกของอาณาจักรกัมพูชายุครุ่งเรือง สมัยเมืองพระนคร (Angkor Period) เป็นผู้ริเริ่มสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ศาสนสถานบนฐานเป็นชั้นๆ” ซึ่งเป็นทั้ง “เทวสถาน” ยามพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพ  และเป็นพระราชสุสาน หรือพระเมรุมาศ ยามพระองค์เสด็จสวรรคต จนกลายเป็นราชประเพณีที่กษัตริย์กัมพูชายุคเมืองพระนครทุกพระองค์ ต้องสร้าง “เทวสถาน” หรือปราสาทหินเป็นพระราชภารกิจแรกเมื่อขึ้นครองราชย์บัลลังก์

รอบเขาพระสุเมรุจำลอง ประดับหุ่นสัตว์ในเทพนิยาย

อย่างไรก็ตาม D.G.E.Hall (Daniel George Edward Hall) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์ –อาเซียน ระบุไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงรับอิทธิพลลัทธิเทวราชาจากชวา ในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์ ซึ่งศาสนาฮินดู และพุทธมหายานจากอินเดีย กำลังมีบทบาทสำคัญก่อนที่ศาสนาอิสลามจะรุกคืบเข้ายึดครองเกาะชวาในภายหลัง  กระทั่งชาวฮินดูที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา ต้องถอยร่นไปอยู่รวมกันบนเกาะเล็กๆ นามว่า “บาหลี” นั่นเอง

จากอินเดีย สู่เกาะชวา สู่กัมพูชา สู่กรุงศรีอยุธยา กระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ธรรมเนียมสร้างเมรุมาศ ยังได้รับการสืบสาน ทั้งบนเกาะบาหลี กัมพูชา และไทย ตราบจนวันนี้ ในขณะที่ยังมีฝรั่งตาน้ำข้าว ซื้อทัวร์ไปร่วมพิธีศพ ที่จัดขึ้นตามชุมชนต่างๆ บนเกาะบาหลีไม่ขาดสายเช่นกัน เพราะสำหรับชาวบาหลี การที่มีชาวต่างชาติต่างภาษาเข้าร่วมพิธีศพ ถือเป็นการให้เกียรติกับผู้ตาย

ขอเพียงอาคันตุกะชายยอมเปลี่ยนชุดการแต่งกายไปนุ่งโสร่ง  ส่วนอาคันตุกะหญิงยอมสวมส่าหรี ก็สามารถเข้าร่วมขบวนแห่ศพเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ยากจะลืมเลือน

เรื่องและภาพ – ธีรภาพ โลหิตกุล


เอกสารอ้างอิง

1.ดี.จี.อี.ฮอลล์ แต่ง. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ – อานันท์ กาญจนพันธ์ บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2522

2.สกอตต์ รูเธอร์ฟอร์ด บรรณาธิการ. ชนิดา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์ บรรณาธิการฉบับภาษาไทย. หน้าต่างสู่โลกกว้าง –บาหลี. สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง, 2541


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : จาโรคา : ระเบียงเสน่ห์ราชสถาน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.