เที่ยวชุมชน ไทยพวน จังหวัดนครนายก

จากประวัติศาสตร์ของประเทศไทย กระแสประชากรไหลเวียนเปลี่ยนถ่ายเป็นพลวัต เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนเหล่านั้นได้ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรม บ้างก็ลงหลักปักฐาน และนำวัฒนธรรมที่เคยถือปฏิบัติมาเผยแพร่จนเป็นเอกลักษณ์อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ ประเทศไทยจึงประกอบด้วยประชากรที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์และเป็นเสน่ห์ที่น่าภาคภูมิใจ

วันนี้ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปที่ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาว ไทยพวน โดยเข้าพักที่ “โฮมเสตย์บ้านสะเภาทอง” ของคุณลุงประทีป-คุณป้าสุรีย์ มากคำ นอกจากนี้ สถานที่แห่งนี้ยังเป็น “ศูนย์การเฮียนฮู้วัฒนธรรมไทย-พวน” อีกด้วย

ทันทีที่ถึง คุณลุงกับคุณป้าปฏิบัติตัวกับผู้มาเยือนเสมือนเป็นญาติมิตร เราจึงรู้สึกอบอุ่นเสมือนได้กลับมาเยี่ยมญาติเช่นกัน และยังมีเจ้ามอมแมม สุนัขตัวโตขนฟูสีขาว (ที่มีประวัติไม่ธรรมดา) เดินสมทบออกมาต้อนรับ

เจ้ามอมแมม สุนัขสีขาวขนฟูที่มาร่วมนั่งฟังการสนทนาด้วย

พวกเราเริ่มจากการนั่งสนทนาถามสารทุกข์สุขดิบกันอย่างสนุกสนาน คุณลุงประทีปเล่าว่า “ไทยพวน” เป็นชื่อเรียกคนพวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ที่มาตั้งถิ่นฐานตามจังหวัดต่างๆ ในไทย เช่น ลพบุรี สุพรรณบุรี และสุโขทัย เป็นต้น โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการตั้งชมรมไทยพวนแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างชาวไทยพวนที่อาศัยอยู่ในไทย มีงานประจำปี 2 งาน คืองานร้อยใจไทยพวน และงานผ้าป่าชมรมไทยพวนแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณลุงคุณป้าได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมฯ เป็นประจำ

สำหรับจังหวัดนครนายก ชาวไทยพวนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในตำบลหนองแสง ตำบลเกาะโพธิ์ ตำบลท่าเรือ และตำบลเกาะหวาย วิถีชีวิตของชาวไทยพวนปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม ผลิตข้าวของเครื่องใช้ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากธรรมชาติที่หาง่ายในพื้นที่จากภูมิปัญญาของตนเอง

ชาวไทยพวนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

สนทนากันได้สักพักพวกเราออกเดินชมรอบบริเวณบ้านคุณลุงคุณป้าที่ทำเป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวไทยพวน โดยจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือของชาวไทยพวนที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมในอดีต อุปกรณ์ที่ใช้ทำกับข้าวในครัว ฝึกพูดภาษาไทยพวนง่ายๆ อย่าง “ ไปกะเลอ สบายดีเน้อ ” หมายถึง ไปไหนมา สบายดีไหม และได้เรียนรู้การแต่งกายของไทยพวน

หลังจากเดินชมบริเวณบ้าน คุณป้าก็ได้เตรียมผ้าถุงและสไบให้ผู้เขียนสวมใส่ก่อนออกไปชมสถานที่ต่างๆ ในตำบลเกาะหวาย โดยจะแบ่งเป็นสี่ชุมชน คือ ชุมชนเกาะหวาย ชุมชนท่าแดง ชุมชนบ้านใหม่ และชุมชนฝั่งคลอง

คุณลุงกำลังทอผ้าลายไทยพวนด้วยกี่กระตุก

ผู้เขียนเริ่มจากเดินสำรวจชุมชนเกาะหวาย บ้านเรือนส่วนใหญ่มีลักษณะใต้ถุนสูง บางหลังปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยด้วยการต่อเติมชั้นล่าง ปูกระเบื้อง และเทพื้นคอนกรีต เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย เราเดินเล่นเรื่อยมาจนถึงวัดเกาะหวาย ที่กำลังมีการจัดงานบุญผะเวด ซึ่งเป็นหนึ่งในประเพณีที่จะจัดขึ้นในเดือนสิบสอง ตามประเพณีฮีตสิบสองของชาวไทยพวน (ประเพณีที่ต้องปฏิบัติประจำสืบทอดกันมาทุก 12 เดือนใน 1 ปี) ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังพระเทศน์มหาชาติ และได้ร่วมทำบุญถวายกัณฑ์เทศน์ นับว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่ง

หลังจากนั้น ผู้เขียนเดินทางไปยังวัดท่าแดง ชุมชนท่าแดง เพื่อไปกราบสักการะเจดีย์หลวงพ่อภาระ พระภิกษุซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่อพยพมาพร้อมกับชาวไทยพวน และมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครนายก บ้านท่าแดงเป็นจุดแรกที่ชาวไทยพวนมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนครนายก และได้กระจายตัวไปอยู่ตามตำบลต่างๆ ในอำเภอปากพลีในเวลาต่อมา

ห่างจากวัดท่าแดงไม่ไกล ผู้เขียนเดินทางต่อไปยังวัดปทุมวงษาวาส ชุมชนบ้านใหม่ เพื่อไปชมการทอผ้ากี่กระตุกที่ศูนย์ภูมิปัญญามนุษย์ นับเป็นความโชคดีของผู้เขียนที่ได้เห็นคุณลุงกำลังทอผ้าลายไทยพวนโบราณอยู่พอดี

ผ้าผืนนั้นประกอบด้วย 4 ลาย คือ “ลายพญานาคน้อย” เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเล่าทางพุทธศาสนาที่ว่าพญานาคเป็นผู้มีฤทธิ์เดช มีเงินมีทอง “ลายขอ” คนพวนคิดลายนี้ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับลายพญานาคน้อยเพื่อสื่อถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและการมีเมตตามหานิยม “ลายตุ้มตัน” มาจากเครื่องประกอบในงานมงคลที่นิยมห้อยตุ้มตามบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล และลายสุดท้าย “ลายโพธิ์ศรี” มาจากต้นโพธิ์ศรีที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีทอดกฐิน

ร่วมลอยกระทงที่วัดฝั่งคลอง

ล่วงถึงเวลาพระอาทิตย์อัสดง ท้องฟ้าถูกแทนที่ด้วยพระจันทร์เต็มดวง ผู้เขียนได้เดินทางไปยังวัดฝั่งคลอง ชุมชนฝั่งคลองเพื่อร่วมประเพณีลอยกระทงของชาวไทยพวนซึ่งก็เป็นหนึ่งในประเพณีของเดือนสิบสอง เป็นการจัดงานที่เรียบง่ายมีเพียงจุดจำหน่ายกระทงและจุดแจกอาหารของทางวัด มีเสียงดนตรีคลอเบาๆ แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกครึกครื้นเพราะเสียงเรียกให้ไปทานอาหารที่ทางวัดจัดเตรียมให้ผู้ที่มาลอยกระทงได้ทานฟรีดังเป็นระยะๆ ตั้งแต่ทางเข้า จุดจำหน่ายกระทง และจุดที่เราลอยกระทง “ลอยกระทงแล้วอย่าลืมมาทานก๋วยเตี๋ยวและมันบวชนะหนู” เป็นประโยคที่ทำให้คนต่างถิ่นอย่างผู้เขียนอบอุ่นหัวใจ ย้ำกันขนาดนี้ผู้เขียนจึงฝากท้องสำหรับมื้อเย็นที่วัดฝั่งคลองนี้เลยค่ะ รสชาติของทั้ง2เมนูอร่อยมากโดยเฉพาะมันบวช อิ่มทั้งท้องอิ่มทั้งใจ

ใส่บาตรพระที่ตลาดท่าแดง

เวลาหัวรุ่งของเช้าวันใหม่ ผู้เขียนตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวไปตลาดท่าแดงเพื่อไปใส่บาตร คุณป้าบอกว่าพระทั้ง 4 วัดในตำบลเกาะหวาย จะมาเดินบิณฑบาตที่ตลาดแห่งนี้เป็นประจำ

หลังจากใส่บาตร เราแวะไปซื้ออาหารในตลาดก่อนกลับบ้าน คุณป้าซื้อเจี่ยว ซึ่งเป็นอาหารที่นำปลาไปต้มกับน้ำปลาร้า แล้วนำมาตำกับพริกย่าง กระเทียมย่าง และหอมย่าง เป็นอาหารประจำบ้านของชาวไทยพวน แวะซื้อขนมข้าวกระยาคู เป็นขนมโบราณหาทานยากและขนมขึ้นชื่อของชุมชนบ้านใหม่ที่ทำจากข้าวกระยาคูที่ยังเป็นน้ำนมสีเขียวอ่อนๆ อยู่ ทานกับกะทิ รสชาติกลมกล่อมนุ่มละมุนลิ้น และซื้อปลาดู ปลาที่ได้จากการหมักกับเกลือ แล้วเติมข้าวคั่วหมักทิ้งไว้ 15-20 วัน เป็นของฝากขึ้นชื่อของชุมชนเกาะหวาย

หลังรับประทานอาหารเช้าเสร็จ เราต่างก็นั่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองอีกเล็กน้อย พอได้เวลาผู้เขียนจึงกล่าวลาคุณลุงและคุณป้า แล้วเดินทางไปยังวัดฝั่งคลองอีกครั้งเพื่อไปชม “มิวเซียม ปะพวน ที่ปากพลี” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รวบรวมเรื่องราวของชาวไทยพวนในอำเภอปากพลี ปิดท้ายด้วยการไปนั่งทบทวนสิ่งที่ได้รับจากการเดินทางในครั้งนี้ที่ร้านกาแฟสันติชล

การเดินทางในครั้งนี้ ผู้เขียนได้ค้นพบเสน่ห์ของการพักแบบโฮมเสตย์ที่ต้องพักรวมกับเจ้าของบ้านภายใต้ชายคาเดียวกัน ซึ่งการเข้าพักในแต่ละบ้านผู้เข้าพักจะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของเจ้าของบ้าน มันทำให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่จริงๆ ของผู้ที่อาศัยในบ้านหลังนั้น การได้นั่งฟังเรื่องราวของเจ้าของบ้านและชุมชนทำให้ตัวเราเองเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

ดแต่งกายของสาวไทยพวนที่จัดแสดงไว้ในมิวเซียม ปะพวน ที่ปากพลี วัดฝั่งคลอง

การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมในตำบลเกาะหวายนี้ ผู้เขียนสัมผัสได้ว่าแม้โลกปัจจุบันจะเปลี่ยนไปแต่ชาวไทยพวน ก็รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ โดยยังคงพยายามรักษาอัตลักษณ์ของวิถีไทยพวน มีความยินดีที่จะเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ และต้อนรับผู้มาเยือนที่ต้องการมาเรียนรู้วิถีชีวิตรวมถึงวัฒนธรรมในชุมชน ชาวเกาะหวาย “ยินดีต๊อนฮับเน้อ”

เรื่อง: ณสิตา ราชาดี
ภาพ: ไพฑูรย์ ปฏิสนธิเจริญ


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สัมผัสเมืองนครนายกพร้อมเพื่อนร่วมทางวัยเก๋า

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.