ชัยวรมันที่ 7 ณ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ตะลึง! อำนาจเกรียงไกร ชัยวรมันที่ 7 ณ บ้านโป่ง

ชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – 1763)

แม้จะเป็นวีรกษัตริย์ของชาวกัมพูชา ทว่า พระราชอำนาจของพระองค์เกรียงไกร พระราชอาณาเขตของพระองค์ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่ากษัตริย์พระองค์ใดในอาเซียนทั้งหมด แม้แต่วีรกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ” หรือบุเรงนองกยอดินนรธา ก็มิอาจเทียบเท่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งอาณาเขต และสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะศาสนสถานที่โลกตะลึง อย่างปราสาทบายน บันทายฉมาร์ ฯลฯ

ล่าสุด ผมต้องอึ้งและทึ่งอีกครั้ง เมื่อพบว่ามีเมืองโบราณสำคัญในสมัยชัยวรมันที่ 7 อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพมหานครกว่าเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็น วิมายะปุระ (พิมาย) ศรีชัยสิงหปุระ (ปราสาทเมืองสิงห์) ฯลฯ ทว่า ผมเพิ่งเคยได้ยินชื่อ ศรีศัมพูกปัฏฏนะ (สี-สำ-พู-กะ-ปัด-ตะ-นะ) เป็นครั้งแรก

รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแปดกร แบบเดียวกับที่พบ ณ ปราสาทเมืองสิงห์
พระนางปรัชญาปรมิตา พระชายาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ทั้งๆ ที่เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 80 กิโลเมตร หรือไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทางรถยนต์ ปัจจุบัน ศรีศัมพูกปัฏฏนะ เป็นที่รู้จักนาม “สระโกสินารายณ์” เขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี แค่นี้เอง

ทั้งนี้เพราะสิ่งก่อสร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อราว 800 ปีก่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์คือ สระโกสินารายณ์ มีสถานะเป็น “บาราย” หรือสระน้ำเพื่อการชลประทานโดยใช้แรงงานคนขุด ถือเป็นพระราชภารกิจสำคัญลำดับต้นๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินเขมรต้องทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เพื่อความผาสุกของพสกนิกร

ชื่อเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ (ปราสาทที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศถวายพระราชบิดา) ว่าเป็น 1 ใน 23 เมืองทั่วพระราชอาณาจักร ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้นำพระชัยพุทธมหานาถ – พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะบายน ไปประดิษฐาน

ยิ้มแบบบายน ใบหน้าที่ทำให้โลกจดจำกัมพูชา

อาทิ ลโวทยปุระ (ลพบุรี) สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี) ชัยราชปุระ (ราชบุรี) ศรีวัชระปุระ (เพชรบุรี) ศรีชัยสิงหปุระ (เมืองสิงห์ กาญจนบุรี ฯลฯ บ่งบอกถึงพระราชศรัทธาสูงส่งในศาสนาพุทธนิกายมหายาน และพระราชอำนาจเหนือเมืองบริวารดังกล่าว ทว่า เพียงการปรากฏชื่อเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะในจารึกปราสาทพระขรรค์ยังมิอาจยืนยันได้ว่า คือชุมชน “สระโกสินารายณ์” ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี

หากในปี 2508 ไม่เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้รถแทรกเตอร์ไถปรับระดับพื้นดินทางทิศตะวันตกของสระโกสินารายณ์ แล้วพบเศษอิฐโบราณหักพังทับถมอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือพบเศียรเทวรูปศิลา 2 เศียร ทำให้ชาวบ้านแตกตื่นแล้วพากันเข้ามาขุดค้น พบเศียรพระพุทธรูป เศียรเทวรูป พระพิมพ์ เครื่องปูนปั้นอีกมากมายเช่นกัน

พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะบายน แบบเดียวกับพระชัยพุทธมหานาถ
ประติมากรรรมนารายณ์ทรงสุบรรณ

จนกระทั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2509 กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้น โดยมอบให้นายตรี อมาตยกุล หัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ควบคุม ทำให้ได้ค้นพบหลักฐานสำคัญจำนวนมาก อันบ่งชี้ว่าที่นี่คือ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” โดยเฉพาะรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์ใหญ่ทำด้วยหินปูนสีเขียว แต่น่าเสียดายพบแต่ท่อนพระองค์เท่านั้น ส่วนเศียรและพระกรซึ่งมี ๘ พระกร และพระบาทได้หักหายไป นับเป็นกุญแจไขปริศนาสำคัญ ด้วยเป็นพระโพธิสัตว์ศิลปะบายน (ศิลปะเขมร ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) เช่นเดียวกับที่พบ ณ ใจกลางปรางค์ประธานปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี สอดคล้องกับความในศิลาจารึกปราสาทตาพรหม ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างอุทิศถวายพระราชมารดา ที่ระบุว่าพระองค์ได้รับน้ำอมฤตจากพระศรีศากยะ หมายถึงทรงรับรสพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ยกย่องเทิดทูนพระราชบิดาเสมอพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เทิดทูนพระราชมารดาเสมอพระนางปรัชญาปรมิตา พระชายาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่สำคัญ พระองค์เชื่อว่าพระองค์ก็เป็นอวตาร (การแบ่งภาคมาเกิด) ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรด้วยเช่นกัน การขุดค้นพบประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปรมิตาจึงมีความสำคัญยิ่ง เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งปราสาทประจำเมือง อันถือเป็นใจเมืองและเป็นศูนย์กลางโลกและจักรวาล หรือเป็นเขาพระสุเมรุประจำเมืองนั้นนั่นเอง

สระโกสินารายณ์ ในอดีตคือ “บาราย” ประจำเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ

โดยชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “จอมปราสาท” มีปราสาทหินแบบเขมรตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละ 1 กิโลเมตร  มีบาราย หรือสระโกสินารายณ์ ติดแนวกำแพงทางทิศเหนือ ค่อนไปทางตะวันออก เมืองตั้งอยู่ใกล้กับน้ำแม่กลอง ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี น่าเสียดาย ที่วันนี้ ไม่เหลือสภาพปราสาทหินให้เราเห็นแล้ว การลักลอบขุดหาโบราณวัตถุอย่างไร้การวบคุม ได้ทำลายหลักฐานทางโบราณคดีแทบสิ้นซาก คงเหลือแต่กองอิฐและเศษอิฐทิ้งกระจัดกระจาย กลาดเกลื่อนอยู่บนพื้นดินเท่านั้น

ต่อมาที่ดินบริเวณจอมปราสาท ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทสยามคราฟท์ ในเครือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จอมปราสาทจึงกลายเป็นที่ตั้งศาลพระภูมิของโรงงานสยามคราฟท์

ปัจจุบัน จอมปราสาทคงเหลือเป็นเนินดินใหญ่ และที่โล่งบริเวณกลางโรงงาน ส่วนสระน้ำโกสินารายณ์ (บาราย) ได้รับการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ เป็นที่ออกกำลังกายและสนามเด็กเล่น แต่ที่น่าปีติยินดียิ่งนักคือ การที่เทศบาลตำบลท่าผาเห็นความสำคัญของเมืองโบราณ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” มานำเสนอไว้ใน “พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์” ซึ่งแม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนขนาดเล็ก ทว่า จัดแสดงโบราณวัตถุอย่างมีศิลปะ ทันยุคทันสมัย เข้าใจง่าย ไม่มีข้อมูลมากมายให้ยืนอ่านจนเมื่อย แต่มีสิ่งที่จับต้องได้ อาทิ พระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สูงเกือบ 2 เมตร ที่มาของคำว่า “ยิ้มแบบบายน” จนกล่าวได้ว่าเป็นใบหน้าที่ทำให้โลกจดจำกัมพูชาได้ดีพอๆ กับปราสาทนครวัด ก็จำลองแบบมานำเสนอไว้ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนแห่งนี้ด้วย

จนผมคิดว่าไม่เป็นการเกินเลยไป ที่จะยกย่องให้ที่นี่เป็น “พิพิธภัณฑ์ชุมชนขนาดเล็กที่ดีที่สุด” และหากใครไปเยือนบ้านโป่ง ก็ไม่น่าพลาดชมด้วยประการทั้งปวง

เรื่องและภาพถ่าย – ธีรภาพ โลหิตกุล


*พระโพธิสัตว์

คือท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดยกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ นิกายมหายาน (ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) พ.ศ.๒๕๓๗)

ตามคติความเชื่อของชาวพุทธฝ่ายมหายาน ยกย่อง พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา และเป็นประมุขของพระโพธิสัตว์ทั้งมวล

*ศรีศัมพูกปัฏฏนะ

ความหมายของชื่อเมืองโบราณนี้ อ.วรณัย พงศาชลากร นักโบราณคดีอิสระ ระบุไว้ใน Oknation BLOG ว่า

“ศัมพูกะ” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “หอยสังข์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลทั้งในคติฮินดูและพุทธ อีกทั้งเมืองโบราณนิยมออกแบบผังเมืองเป็นรูปหอยสังข์ ส่วน “ปฏฏนฺ – ปัดตะนัม – นะ” แปลว่า “แผ่นดิน หรือท่าขึ้นเรือ”


*พิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์  

หน่วยงานรับผิดชอบ : เทศบาลเมืองท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โทร. 0-3221-0531

ที่ตั้ง :  ด้านข้างสระโกสินารายณ์ฝั่งทิศตะวันตก หลังโรงงาน SCG  หมู่ 19 ตำบลท่าผา  อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี

*เปิดบริการ : วันพุธ – อาทิตย์  เวลา 10.00-16.00 น.  ค่าบริการ: ฟรี

*กรณีจะเข้าชมจอมปราสาท ติดต่อ เจ้าหน้าที่โรงงานสยามคราฟท์ SCG แจ้งความจำนงเข้าชม ฟรี


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สวัสดี… ปราสาทพระวิหาร

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.