อาบป่า ให้ถึงหัวใจ ชินริน-โยคุ (SHINRIN-YOKU)

“อาบป่า” ผมเคยได้ยินคำนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่เคยเข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้สักเท่าไหร่

จนกระทั่งไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสพบกับป้าแอ๊ด ทิพวันถือคำ ตัวแทนกลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี ด้วยความสงสัยในความหมาย และวิธีการของการ อาบป่า ว่า มันดีอย่างไร ทำอย่างไร และทำไมเราต้องอาบป่า ป้าแอ๊ดยินดีให้ความรู้กับเราอย่างเป็นกันเอง ด้วยการพาพวกเราเดินเล่นไป คุยไป ในพื้นที่ของ ”บ้านกลางป่า” สถานที่พักผ่อนในรูปแบบโฮมสเตย์ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ที่นี่รายล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าหลายไร่ ที่ให้ความรู้สึกทั้งสงบและร่มรื่น ถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการพาครอบครัวมาพักผ่อนพร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการอาบป่าไปด้วย

บริเวณจุดกางเต็นท์ของบ้านกลางป่าที่ดูสงบร่มรื่น ที่นี่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เหมาะกับการมาพักผ่อนแบบเป็นครอบครัวมาก ๆ

ป้าแอ๊ดอธิบายให้พวกเราฟังเกี่ยวกับเรื่องของการอาบป่าว่า เป็นศาสตร์บำบัดชนิดหนึ่งที่เริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยสภาวะความตึงเครียดค่อนข้างสูงในประเทศ จึงส่งผลทำให้คนในสังคมมีภาวะของโรคซึมเศร้า จนนำไปสู่อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยการใช้ธรรมชาติบำบัด แทนการใช้สารเคมี ผลการวิจัยพบว่า นอกจากปริมาณออกซิเจนมากมายที่ต้นไม้ปล่อยออกมาแล้ว “ไฟทอนไซด์” (Phytoncide) น้ำมันหอมระเหยที่ต้นไม้ปล่อยออกมา เพื่อป้องกันตัวเองจากแมลง แบคทีเรีย และเชื้อราต่าง ๆ ยังมีกลิ่นเฉพาะที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียด เพิ่มความผ่อนคลายให้แก่มนุษย์ มีอารมณ์ที่ดีขึ้น นอนหลับสนิท และสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายไปพร้อมกัน นั่นหมายความว่า เราจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยจากอาบป่า นับว่าศาสตร์บำบัดด้วยธรรมชาติแขนงนี้ มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากตรงนี้ครับ เราคุยกันพักหนึ่ง ก่อนที่ป้าแอ๊ดจะพาพวกเราไปเดินเล่น
ทุกเรื่องที่ป้าแอ๊ดเล่าให้ฟังเต็มไปด้วยความความน่าสนใจไปเสียหมด จนเริ่มรู้สึกว่าอยากจะลองเข้าป่าแล้ว

ป้าแอ๊ดชวนพวกเราเดินไป คุยไป และแนะนำถึงวิธีการอาบป่า ว่าระหว่างที่พวกเรากำลังเดินไปนั้น อยากให้ทุกคนเปิด “ผัสสะทั้ง5” ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส และได้รู้สึก ใช้สมาธิอยู่กับตัวเอง พยายามสัมผัสถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว ค่อย ๆ เดินไปอย่างช้า ๆ ผมลองทำตามดู และคอยสังเกตถึงสิ่งที่อยู่รอบข้างไปเรื่อย ๆ เสียงใบไม้แห้งที่เราเหยียบกลับชัดขึ้น รู้สึกถึงความเย็นของลมที่มาปะทะผิวเบา ๆ ได้กลิ่นดิน มองเห็นแมลงตัวเล็ก ๆ บินผ่านหน้า และผมก็รู้สึกว่ายังมีรสชาติของกาแฟที่ดื่มหมดไปสักพักวนเวียนอยู่ นั่นเป็นเพราะเราสังเกตตัวเองมากขึ้น เราเลยได้รับความรู้สึกเหล่านี้ชัดขึ้น ผมว่าเป็นการฝึกสมาธิได้อย่างดีทีเดียว

 

พวกเราได้สังเกตมากขึ้น ได้เห็นและสัมผัสทุกอย่างรอบข้างมากขึ้น

ในขณะที่เดินไปป้าแอ๊ดชวนพวกเราทำกิจกรรมเพิ่มความผ่อนคลาย แล้วก็ทำสมาธิไปพร้อมกัน ด้วยการสูดลมหายใจลึก ๆยืดแขนทั้งสองข้างอย่างช้า ๆ ประกบเข้าหากันเหนือศีรษะ จะว่าไปก็คล้ายกับการทำโยคะเหมือนกัน เราเดินกันต่อไปตามทางสักระยะ จนมาถึงใต้ต้นมะกอกป่าต้นใหญ่ต้นหนึ่ง ป้าแอ๊ดบอกให้พวกเราลองกอดดู ผมทำตาม แล้วพลันให้เกิดความรู้สึกสงบปนสุขแบบบอกไม่ถูก

ป้าแอ๊ดจะอธิบายวิธีการและประโยชน์ของกิจกรรมที่ให้พวกเราลองทำตาม
ก่อนทุกครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจและการปฏิบัติอย่างถูกต้อง
เราสามารถกอดต้นไม้ได้ และสามารถรู้สึกดีได้เหมือนกอดสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ

น่าเสียดายที่พวกเรามีเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ก็เลยซึมซับการอาบป่าในครั้งนี้ได้น้อยไปสักหน่อย ผมบอกป้าแอ๊ดไปแบบนั้น แกยิ้มตอบ แล้วบอกว่า “จริง ๆ แล้ว เราสามารถอาบป่าได้ตามสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งสวนในบ้านของเราเองก็ได้ ถ้าหากเรารู้วิธีการ”

สำหรับผมการอาบป่าเหมือนกับการเดินเล่นเพลิน ๆ แล้วก็ทำสมาธิไปด้วย ดูสบาย ๆ ไม่เคร่งหรือเร่งรัดอะไรมากไป ไว้คราวหน้าคงต้องมาให้ป้าสอนการอาบป่าแบบเต็ม ๆ อีกสักทีก็ดีเหมือนกัน จะได้อาบป่าในสวนหน้าบ้านได้ ไม่ต้องไปไหนไกล ง่ายแล้วก็สบายใจดี ถึงแม้ว่าครั้งนี้เวลาอาจจะน้อยไปสักหน่อย แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ…

เรื่อง : บดินทร์ บำบัดนรภัย
ภาพถ่าย : ศุภกร ศรีสกุล

อ่านรายละเอียดการอาบป่าเพิ่มเติมได้ที่ https://ngthai.com/science/28136/shinrinyoku/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและเรียนรู้วิธีการอาบป่าในรูปแบบของบ้านกลางป่าได้ที่

FACEBOOK / Forest Bathing Kanchanaburi

จัดทำโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.