เดินเท้าในเมืองย่างกุ้ง ที่กลายเป็นสนามรบจากการต้านรัฐประหารของชาวเมือง

ในเมือง ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ชายผู้นี้เดินเท้าไปในเส้นทางแห่งความเจ็บปวดและสูญเสีย

ย่างกุ้ง , เมียนมา – คุณจะเริ่มต้นการเดินท่องเที่ยวที่ในเมืองที่กลายเป็นสนามรบจากที่ใด

บางทีอาจจะเป็นแท่นรำลึกชั่วคราวของผู้ที่เสียชีวิต เช่นอนุสรณ์สถานรำลึกชั่วคราวของ Khant Nyar Hein

Khant Nyar Hein เป็นผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและนักศึกษาแพทย์อายุ 17 ปี ที่ถูกตำรวจยิงจนเสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้วในย่านที่ชื่อว่า Tamwe ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนชนชั้นกลางในเมืองย่างกุ้ง เพื่อนของเด็กหนุ่มผู้นี้รีบลนลานออกจากที่กำบังเพื่อวางช่อดอกไม้อาลัยบนถนนลาดยางจุดที่เขาล้มลงและเสียชีวิต กองกำลังรักษาความปลอดภัยติดอาวุธหนักสอดส่ายสายตาเหนือกำแพงของสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้ๆ และเพียงไม่กี่ก้าวจากจุดที่มีรอยคราบเลือด คนงานในร้านน้ำชาแห่งหนึ่งยังคงเสิร์ฟไข่และก๋วยเตี๋ยวเป็นมื้อเช้า

“ฉันก็ไม่รู้ว่าร้านจะเปิดได้อีกนานแค่ไหน” เธอพูดด้วยน้ำเสียงกระซิบราบเรียบราวกับคนนอนละเมอ “ความรุนแรงครั้งนี้คงดำเนินต่อไปจนถึงจุดสิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่แค่ที่นี่ แต่เป็นในทุกที่ ทุกเมือง และทุกหมู่บ้าน” จากนั้น ด้วยการสะท้อนถึงมารยาทและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนพม่า เธอรินชาให้ผมเพิ่ม

ผมเดินทางไปรอบโลกเพื่อโปรเจกต์เล่าเรื่องสารคดีที่ชื่อว่า Out of Eden Walk ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

นี่คือหนึ่งใน 45 จุดบนเส้นทางที่ พอล ซาโลเพก เดินเท้าเป็นระยะทางราว 16 กิโลเมตร ผ่านย่านใจกลางเมืองของย่างกุ้ง อนุเคราะห์ภาพถ่ายโดย ESRI

ในบางครั้ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีจีพีเอส ผมวางแผนการเดินเท้าเพื่อเยี่ยมชมแหล่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในเมืองใหญ่ๆ ตามเส้นทางที่แผ่ขยายไปในทวีป ทั้งเมืองเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย, กรุงทบิลิซิ ประเทศจอร์เจีย, เมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย และเมืองใหญ่ หลายเมืองที่การเดินเท้าได้เผยถึงเสน่ห์ของมวลหมู่ผู้คนผ่านบรรยากาศตลาดที่ละลานตา สวนสาธารณะ และตรอกขายอาหาร แต่เมื่อผมมาถึงเมืองย่างกุ้งของเมียนมาเพื่อเตรียมอุปกรณ์และข้าวของสำหรับการเดินทางอันเชี่องช้าและกินเวลาอีกหลายปีในทวีปเอเชีย ผมก็ได้เข้าสู่โลกของความเจ็บปวดอันน่าลำบากใจอย่างไม่ได้ตั้งใจ

พลเมืองกว่า 700 คนถูกฆ่าโดยกลุ่มนายพลที่ยึดอำนาจโดยการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา พวกเขาอ้างว่าการเลือกตั้งในปีที่แล้ว –ซึ่งพรรคการเมืองของพวกเขาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป – ถูกโกงการเลือกตั้ง กองทัพได้กักขังผู้นำพลเรือนของประเทศที่ได้รับรางวัลโนเบลอย่างอองซานซูจี และกักขังผู้ต่อต้าน, นักกิจกรรมประชาธิปไตย, ศิลปิน, สื่อมวลชน กว่า 3,300 คน ในเวลาต่อมา คณะรัฐประหารได้เผยแพร่ภาพใบหน้าที่ถูกทุบตีของผู้ที่ถูกควบคุมตัวผ่านโทรทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่าประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้อาจเข้าสู่สภาวะรัฐล้มเหลวได้

ชาวเมืองย่างกุ้งวางดอกไม้บนจุดที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยยิงผู้ประท้วงเมื่อเดือนที่แล้ว ภาพถ่ายโดย PAUL SALOPEK

ภายใต้สถานการณ์ที่ชวนให้ใจสลาย อาจเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะดำเนินโปรเจกต์การเดินเท้าในเมืองของผม แต่ในเดือนที่แล้ว ผมตัดสินใจก้าวไปยังโลกที่ทั้งชวนและเศร้าสลดและสวยงามในเวลาเดียวกัน จากนั้น ผมได้ร่วมมือกับเพื่อนร่วมทางชาวพม่าที่ผมไม่สามารถระบุตัวตนของพวกเขาได้เพื่อความปลอดภัยในการเดินเท้าในพื้นที่ที่มีการปะทะในกรุงย่างกุ้งราว 16 กิโลเมตรเพื่อบันทึกสิ่งที่ผมพบเจอในเมืองที่มีประชากรเจ็ดล้านคน

ผลลัพธ์ที่ได้ : การเดินเท้าชมเมืองที่ไม่เหมือนกับเส้นทางการเดินเท้ารอบโลกใดๆ ซึ่งผมได้เดินทางมาแล้วกว่า 38,000 กิโลเมตร

บรรดาผู้ประท้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์ เฝ้าระวังแนวป้องกันถนนซึ่งสร้างอย่างเร่งรีบจากถังขยะ และตกแต่งด้วยผ้าอนามัย (ผลจากความเชื่อโบราณของชาวเมียนมาที่ผู้ชายจะสูญเสียพลังอำนาจความเป็นชายหากพวกเขาเข้าใกล้สิ่งของเครื่องใช้ของผู้หญิง; ผู้ประท้วงได้ใช้ความเชื่อนี้เป็นอาวุธต่อต้านตำรวจและทหาร)

ภาพถ่ายของผู้นำรัฐประหาร พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกเหยียบย่ำด้วยความโกรธแค้น ภาพถ่ายโดย PAUL SALOPEK

คนขับแท็กซี่ที่รู้สึกเวทนากับกำแพงที่ดูเหมือนยุคกลางซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับไม่ไผ่ที่เหลาจนแหลมคม เจ้าของร้านชาวพุทธที่ต้องจมอยู่กับเศรษฐกิจที่ล่มสลายให้อาหารนกบนทางเดินเท้าที่ว่างเปล่า ซึ่งหวังว่าจะเป็นการทำบุญเพื่อช่วยเหลือตัวเขา

ถนนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพร้างผู้คน การเดินขบวนประท้วงอันห้าวหาญที่เคยเขย่าเมืองย่างกุ้งให้สั่นไหวซึ่งเกิดขึ้นอย่างทันทีหลังการรัฐประหารตกอยู่ในช่วงการถูกปราบปรามที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

“เรากำลังทุกข์ทรมาน เนื่องจากผู้คนต่างก็กำลังทุกข์ทรมาน” พระสงฆ์รูปหนึ่งที่ทรุดตัวใต้ร่มไม้กล่าวขึ้น ท่านกำลังผวาจากการที่ตำรวจได้ขว้างระเบิดแสง (flash-bang grenades) ในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล

สถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา: เมืองแห่งเครื่องกีดขวางชั่วคราวที่สร้างขึ้นโดยผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตย ภาพถ่ายโดย STR, AFP/GETTY

ในการเดินทางที่เต็มไปด้วยความกลัว ความโกรธ ความบริสุทธิ์ ความขมขื่น และความเจ็บปวด ย่างกุ้งดูกลายเป็นเมืองอัมพาตเนื่องจากการเฝ้ารอคอย ไม่มีผู้ใดรู้ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นต่อไป ผมเดินเตร็ดแตร่ไปบนถนนที่ถูกทอดทิ้งและถูกทาสีโดยกลุ่มผู้ประท้วงเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า ‘เราต้องการประชาธิปไตย’ (WE WANT DEMOCRACY) ในบรรยากาศของเมืองย่างกุ้งที่มีการปิดประตูบ้านเรือนเอาไว้ ผมไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีสิ่งใดรออยู่ในอนาคตอันใกล้

คลิกเพื่อชมทางเดินทางเสมือน (virtual tour) ของเมืองย่างกุ้งได้ที่นี่

เรื่อง PAUL SALOPEK 


อ่านเพิ่มเติม “ฉันทำสิ่งนี้เพื่อประชาธิปไตย” – เสียงจากผู้ประท้วงในเมียนมา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.