Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยว กับผลกระทบจากการระบาดใหญ่

Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยว กับผลกระทบจากการระบาดใหญ่

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากแต่ละประเทศประกาศควบคุมผู้เดินทางเข้าออกประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Local Alike

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญยิ่งของประเทศของประเทศไทย แต่ก็มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่รัฐบาลประกาศมาตรการปิดสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และจำกัดการเดินทางของทั้งนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดจำนวนลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เเละด้วยเหตุนี้เอง ผู้ประกอบการโรงเเรมต่างประกาศปิดกิจการชั่วคราว เเละให้พนักงานหยุดงาน โดยไม่ได้รับเงินเดือนเเล้วตั้งเเต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี 2020 หรือบางแห่งก็ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เนื่องจากขาดรายรับอย่างต่อเนื่อง จนแบกรับต้นทุนไม่ไหว

ในวิกฤติการระบาดใหญ่ สื่อต่างๆ นำเสนอภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างฟื้นฟูจากมาตรการปิดสถานที่ท่องเที่ยว ในทางกลับกัน ผู้ประกอบในพื้นที่ที่เคยมีรายได้จากทรัพยากรเหล่านี้กลับร่วงโรย

ก่อนหน้าการระบาดใหญ่ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) นิยามการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ว่า เป็นการดำเนินการด้านการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อปกป้อง สงวนรักษาและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้อนุชนคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งนักท่องเที่ยว คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในปัจจุบันมีรูปแบบการท่องเที่ยวหลายแบบที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวเชิงชุมชน (Community based tourism) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) หรือแม้แต่นโยบายรัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่นที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หรือกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

จากคำนิยามจะเห็นส่วนสำคัญที่ประกอบอยู่ใน “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” คือ นโยบายภาครัฐบาล หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว กรณีศึกษาในประเทศไทย สำหรับผู้ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องคือโลเคิล อไลค์ (Local Alike)

กำเนิดโลเคิล อไลค์

รูปแบบการดำเนินงานของธุรกิจท่องเที่ยวของโลเคิล อไลค์ คือรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ที่เชื่อมโยงระหว่าง “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” กับ “นักท่องเที่ยวที่สนใจในเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” เข้าด้วยกัน โดยโลเคิล อไลค์ ทำหน้าที่เป็นพันธมิตรและนักพัฒนารุ่นใหม่ ลงพื้นที่ทำงานระยะยาวร่วมกับชุมชน โดยให้เครื่องมือจากการท่องเที่ยวมาช่วยพัฒนาชุมชน

ก่อนหน้านี้ โลเคิล อไลค์ มองเห็นว่า เมื่อผู้คนท้องถิ่นย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองมักเป็นปัญหาเรื้อรังของภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยดูน่าเป็นห่วง Local Alike จึงมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนผ่านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงคุณค่าและประสบการณ์ชุมชน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ พัฒนาศักยภาพชุมชนด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างตลาดทั้งในและต่างประเทศ

โลเคิล อไลค์ เข้ามาแก้ปัญหาการท่องเที่ยว 3 ประการ ได้แก่

1. ชุมชนไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว ตามข้อมูลของ Billion Mindset ในปี 2018 รายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 21.6 และเมื่อตัดประเทศที่มีประชากรต่ำกว่า 20 ล้านคน ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่รายได้เหล่านี้ไปไม่ถึงมือคนท้องถิ่น และไปหยุดอยู่ที่โรงแรมและบริษัทท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยวจึงไม่สามารถยืนด้วยตัวเองได้

2. ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยมีพื้นที่และศักยภาพที่เอื้อที่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแต่ไม่สามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวตามช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ นักท่องเที่ยวเองก็ไม่สามารถเข้าถึงชุมชนได้ ทำให้ทริปท่องเที่ยวจำนวนมากเกิดขึ้นแต่ในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมอยู่แล้วเท่านั้น

3. ไม่เกิดการเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้นจริง ปัจจุบันการเที่ยวแบบยั่งยืนกลายเป็นแนวโน้มที่ได้รับความนิยม แต่โลเคิล อไลค์ เล็งเห็นว่า การเที่ยวแบบยั่งยืนในบางครั้งกลับไม่ยั่งยืนอย่างแท้จริงเนื่องจากชาวบ้านไม่ได้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท่องเที่ยว

ด้วยปัญหาดังกล่าวเราจึงมีเป้าหมายการพัฒนา 5 ด้านที่มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

1. พัฒนาคน คือการอบรมให้ความรู้ชุมชนให้มีทักษะในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสามารถต่อยอดการพัฒนาด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในชุมชน และชุมชนสามารถผันตัวเองเพื่อเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการได้อย่างเต็มรูปแบบได้ในอนาคต

2. พัฒนาธุรกิจ ให้เกิดการพัฒนาสินค้าชุมชนที่แสดงถึงอัตลักษณ์ผ่านสินค้าที่ระลึกและอาหาร รวมทั้งการให้บริการเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีประสิทธิภาพและรองรับนักท่องเที่ยวได้ จนเกิดเป็น Business Units ที่เราเข้าไปสนับสนุนนั่นคือ สินค้าชุมชน Local Alot และอาหารอย่าง Local Aroi

3. พัฒนาภูมิทัศน์ ให้เกิดพื้นที่ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ใช้สอยส่วนรวม ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชุมชน เกิดเป็นจุดรวมตัว ลานกีฬา กิจกรรม เป็นต้น

4. พัฒนาเทคโนโลยี โดยใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านทางออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงเพื่อสร้างการรับรู้และดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน อีกทั้งยังเน้นการใช้ระบบปฏิบัติการที่ทันสมัยเพื่อให้เกิดการดำเนินกิจการที่เป็นระบบ

5. พัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบ Voluntour ที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการวางแผนดำเนินการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ที่จะให้นักท่องเที่ยวและชุมชนได้ร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาระบบนิเวศ

การทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายคือกุญแจของความยั่งยืน

โลเคิล อไลค์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดย ไผ – สมศักดิ์ บุญคำ วิศกร ที่ไปศึกษาต่อศึกษาต่อด้านการประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเพรสิดิโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีวิสัยทัศน์ที่จะนำเสนอการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงมอบประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมกับภาครัฐและองค์กรเอกชนในการพัฒนาชุมชน มอบโอกาสให้ชุมชนเป็นเจ้าของทรัพยากร สร้างทักษะและสร้างโอกาสให้กับชุมชนเป็นผู้ออกแบบและตัดสินใจการนำเที่ยวของพวกเขาเองด้วย

โลเคิล อไลค์ ได้รับทุนจาก CBT Fund และชุมชนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงมาตรฐานค่าครองชีพของชุมชนที่ทำงานด้วย

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2013 โลเคิล อไลค์ ได้สร้างตำแหน่งงานเสริมกว่า 2,000 ตำแหน่ง โดยร่วมมือกับหลากหลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นกว่า 200 แห่งใน 46 จังหวัดของประเทศไทย สร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชนมูลค่ากว่า 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำนักเดินทาง 32,000 คนมาสู่ชุมชนท้องถิ่น เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการท่องเที่ยว

การทำงานในรูปแบบพันธมิตรระหว่างโลเคิล อไลค์ กับชุมชน

ชุมชนบ้านหล่อโย จังหวัดเชียงราย เป็นหมูบ้านของชนเผ่าอาข่าขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนดอยแม่สลองนอก ที่นี่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอาข่าที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งอาหาร ภาษา การแต่งกาย ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

เมื่อก่อน นักท่องเที่ยวเดินทางมายังที่นี่เพียวเพื่อถ่ายรูปเพียงไม่กี่รูปแล้วเดินทางกลับ โลเคิล อไลค์ จึงลงไปร่วมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนสามารถต่อยอดการท่องเที่ยวได้ โดยชุมชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและบริหารจัดการด้วยตนเอง เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่จะสัมผัสวิชีวิตชาวอาข่า เส้นทางธรรมชาติสำรวจป่า อาหารพื้นเมืองของชาวอาข่า และของที่ระลึกจากไม้ไผ่ เป็นต้น ชุมชนบ้านหล่อโยนับเป็นตัวอย่างของชุมชนที่พัฒนาในทุกมิติแล้ว ที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัส

อีกหนึ่งสถานที่ในกรุงเทพมหานคร อย่างชุมชนกุฎีจีน ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักทำกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อชมสถานที่ต่างๆ ในชุมชน อย่างโบสถ์กุฎีจีนที่สวยงาม หลังจากจบกิจกรรมก็เดินทางกลับ ไม่ได้สัมผัสกับผู้คน หรือรายได้ไม่ได้ถูกกระจายไปสู่ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้น โลเคิล อไลค์ จึงวิเคราะห์ลงไปในมุมที่ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อต้องการนำเสนอความโดดเด่นของชุมชนกุฎีจีน เช่น จัดกิจกรรมทำขนมฝรั่งกุฎีจีน ให้นักท่องเที่ยวลองไปทำขนมร่วมกับชาวบ้าน ผลลัพธ์คือ นักท่องเที่ยวก็ได้กินอาหาร ได้คุยกับชุมชน ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นมิติแห่งการท่องเที่ยวที่ลึกซึ้งมากขึ้น

ความยั่งยืนที่ของการท่องเที่ยว และแนวโน้มในอนาคต

แนวโน้มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาพร้อมกับความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการปรับเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเช่นกัน คือจำเป็นต้องมีผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโลเคิล อไลค์ ก็ยังคงยึดมั่นเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การพัฒนาชุมชนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตลอดจนถึงเมื่อเราเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเที่ยว เราทำตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางรวมกับผู้นำของชุมชนที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวไปด้วยกัน

การทำงานในรูปแบบพันธมิตรระหว่างโลเคิล อไลค์ กับชุมชน เป็นการสร้างสมดุลให้ชุมชนเป็นเจ้าของทรัพยากร และบริการจัดการได้ด้วยตนเอง ชุมชนมีสิทธิ์เลือกใช้ กำหนด ออกข้อห้ามต่างๆ และเป็นเจ้าของการท่องเที่ยว ชุมชนมีสิทธิ์กำหนดเปิดรับนักท่องเที่ยวในปริมาณที่ไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าเปรียบกับต้นไม้ คนในชุมชนนั้นเปรียบเหมือนรากที่มั่นคง ส่วนนักท่องเที่ยวคือดอก และใบ ที่ผลิดอกผลิใบแล้วก็ร่วงโรยจากต้น เหมือนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาและกลับออกไป ดังนั้น นักท่องเที่ยวจึงควรหันมาทำความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างใส่ใจให้มากขึ้น และชุมชนจะต้องมีความแข็งแรง จึงจะเกิดสมดุลของการท่องเที่ยวที่จะไม่ทำลายวิถีชุมชน

แนวคิดเรื่องความยั่งยืนกับการทำธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่

แนวคิดเรื่องความยั่งยืนสำคัญในแง่ของการเผชิญหน้ากับปัญหาได้ในหลายรูปแบบ” สมศักดิ์กล่าวและเสริมว่า “ความยั่งยืนในธุรกิจเป็นเหมือนตัวชี้วัดสำคัญว่า ธุรกิจมีแผนรับมือกับปัญหาแต่ละด้านได้มากน้อยเพียงใด” หากสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจได้จะสามารถรับมือและมีแผนในการเผชิญหน้ากับปัญหาได้ง่ายขึ้น

ในทางกลับกัน หากหาความยั่งยืนของธุรกิจไม่ได้ก็ไม่สามารถมีตัวชี้วัดหรือรับประกันได้ว่า ธุรกิจจะสามารถดำเนินไปได้ในอนาคตได้หรือไม่ หากเกิดวิกฤตที่ส่งผลกระทบโดยรวมกับทุกภาคส่วนเช่นที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้ เขากล่าว

ในช่องการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โลเคิล อไลค์ ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเรื่องการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรง จำเป็นต้องเลื่อน หรือยกเลิกโปรแกรมท่องเที่ยวที่ได้กำหนดมาล่วงหน้าทั้งหมด ทุกวันนี้ โลเคิล อไลค์ ปรับตัวในภาวะวิกฤติด้วยการหันมาดำเนินธุรกิจในรูปแบบ e-commerce โดยเรานำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ในนาม Local Alot และนำอาหารชุมชนมาขายในนาม Local Aroi ซึ่งเป็น 2 ธุรกิจที่อยู่ใน Local Alike

ติดตามโลเคิล อไลค์ ได้ที่ https://www.localalike.com/
Facebook: https://www.facebook.com/LocalAlike

เรื่อง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย โลเคิล อไลค์


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บ้านแม่เหาะ เสน่ห์การท่องเที่ยวชุมชนปกาเกอะญอ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.