ประสบการณ์ไม่รู้จบในการเดินทางผ่านภูมิทัศน์กว้างใหญ่บน รถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย

ภาพทิวทัศน์ของรัสเซียที่เคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วนั้นดูเลือนราง เมื่อมองผ่านหน้าต่างของรถไฟสุดหรูอย่าง โกลเด้น อีเกิล ทรานส์–ไซบีเรีย

ฝนโปรยปรายขณะที่เราย่างเท้าขึ้นรถไฟ ณ เมืองวลาดีวอสตอค สถานีต้นทางทรานส์-ไซบีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกอันห่างไกลของประเทศรัสเซีย เพื่อเดินทางมายังสถานีแห่งนี้ เราต้องนั่งเรือจากเมืองทางเหนือสุดของประเทศเกาหลีเหนือนานถึงเก้าชั่วโมง

ตราสัญลักษณ์ทองคำอันแวววาวระบุชื่อ Golden Eagle Trans-Siberian Express ถูกติดไว้อย่างโก้หรูบริเวณด้านข้างขบวนรถไฟสีเทา-น้ำเงิน ด้านในห้องโดยสารแต่ละห้องตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบโบราณ พรม ผ้าม่านและผนังถูกออกแบบและตกแต่งอย่างหรูหรามีระดับ

รถไฟสายนี้ขับเคลื่อนโดยพนักงานประจำรถไฟจำนวน 50 คน ตั้งแต่พนักงานต้อนรับผู้โดยสาร ผู้เข้าร่วมประชุม บริกร บาร์เทนเดอร์ ผู้จัดการ ไปจนถึงวิศวกร คนทำอาหาร หัวหน้าพ่อครัว คนทำขนม คนอบขนมปัง หรือแม้แต่นักเล่นฮาร์ปและนักเปียโน

ใน 16 วัน ต่อจากนี้ Golden Eagle Trans-Siberian Express จะแล่นผ่านภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ของทุ่งหญ้าแห่งมองโกเลีย ไปจนถึงเทือกเขายูรัลที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ จากกระท่อมไม้ในไซบีเรีย มุ่งหน้าสู่กรุงมอสโก ที่ตั้งของสถาปัตยกรรมโอ่อ่าระดับโลก ด้วยระยะทางกว่า 9,000 กิโลเมตร นี่คือเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก

รูปปั้นนักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งมองโกล หรือเจงกิสข่าน ในเมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย มีความสูงเกือบ 40 เมตร และหนักถึง 260 ตัน

เมื่อรถไฟแล่นผ่านชุมชน 51 แห่ง ซึ่งคาบเกี่ยว 2 พรมแดนของรัสเซียและมองโกเลีย เราก็ได้แวะพักลงจากรถไฟ ยืดเส้นยืดสายและสำรวจวัฒนธรรมที่อูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย เราได้ไปเยี่ยมแวะชมรูปปั้นเจงกิสข่านที่ใหญ่ที่สุดในโลก หล่อขึ้นจากเหล็กหนัก 260 ตัน และสูงเกือบ 40 เมตร จากนั้นเราได้เยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติของมองโกเลีย ที่ทุ่งหญ้าสเตปป์และกองหินมากมายทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตา

จากนั้นเรากลับขึ้นรถไฟ และเดินทางต่อโดยไม่แวะพักที่ใดเลยนานถึง 3 วัน เพื่อข้ามแผ่นดินอันห่างไกลที่สุดของรัสเซีย ที่น่าอัศจรรย์คือระหว่างนั้นเราต้องกรอเข็มนาฬิกาเพื่อเปลี่ยนเขตเวลาถึง 7 ครั้ง

Paul Riley และ Trista Bowman ชนแก้วก่อนดื่มวอดก้าพายนัต (Pine-Nut Vodka) ระหว่างรับประทานมื้อกลางวันบนรถไฟ
George Munro และ Gloria Shelton ขณะเดินขึ้นบันไดของสถานีในไซบีเรีย
หลังจากรับประทานอาหารที่ถูกปรุงแต่งด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่น หรืออาหารที่ปรุงแต่งรสชาติขึ้นมาเอง ซึ่งถือเป็นวิถีของคนในหมู่บ้าน Old Believers กลุ่มหนึ่งที่สืบเชื้อสายมาจากผู้ลี้ภัยทางศาสนาในศตวรรษที่สิบเจ็ด พวกเขาต่างเชิญชวน Paul Riley และ Colleen Angelucci ให้สวมเสื้อผ้าแบบชาวพื้นเมือง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่สนุกสนาน

คู่สามีภรรยาสูงวัยที่ฉันได้ทำความรู้จักบนรถไฟ คือ Paul Riley และ Trista Bowman จากแคนาดา รวมถึง Curtis และ Emalee Burton จากรัฐเทกซัส สหรัฐฯ พวกเราสนทนากันอย่างสนุกสนานตลอดการเดินทาง รับประทานอาหารไป 43 มื้อ ดื่มวอดก้าไป 86 ช็อต ตลอดเส้นทางเราหยุดพักเป็นระยะ เพื่อซึมซับ รับฟังและชื่นชมวัฒนธรรม รวมถึงขนบธรรมเนียมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่ ผ่านการช่วยเหลือของมัคคุเทศกว่า 9 คน

และเมื่อรถไฟแล่นถึงทะเลสาบไบคาล ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผู้โดยสารได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มากกว่า 10 แห่งซึ่งเกือบทั้งหมดมีจุดเด่นในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ก่อนที่ Paul, Trista, Curtis และ Emalee จะตัดสินใจกระโดดลงไปในโพรงน้ำแข็งที่เย็นจัดของทะเลสาบแห่งนี้

แต่ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น เราก็ต้องรีบกลับมายังรถไฟอันอบอุ่น เพราะฝนตกกระหน่ำเทลงมา ทำให้อากาศที่เย็นอยู่แล้วยิ่งหนาวจับใจ แถมฟ้ายังขมุกขมัวไปด้วยเมฆฝน จากที่จะได้รับประทานอาหารข้างนอก เราจึงต้องตัดใจทิ้งตัวลงบนเบาะนุ่มๆ ของรถไฟในมื้อกลางวันแทน

Robert Botte สำรวจภาพสามมิติตลอดเส้นทางในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ
Emalee Burton และ Paul Riley สวมเสื้อคลุมหลังจากลงว่ายน้ำในทะเลสาบไบคาลที่เย็นจัด ซึ่งขบวนรถไฟจอดใกล้กับน่านน้ำทำให้พวกเขาเข้าถึงชายฝั่งได้ง่าย

เวลาแสนเพลิดเพลินในแต่ละวันผ่านไปไวอย่างเหลือเชื่อ ทุกค่ำคืน ผู้โดยสารต่างขอยืดเวลาทำการของบาร์และร้านอาหารบนรถไฟออกไปให้นานอีกหน่อย เพื่อดื่มด่ำค่ำคืนและบทสนทนากับเพื่อนใหม่ที่ดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ

เพื่อนใหม่อีกคนของฉัน Kathy Carrithers แบ่งปันประสบการณ์และความทรงจำให้ฟังว่า เธอเติบโตขึ้นในเมืองเล็กๆ แถบชานเมืองของรัฐวอชิงตัน และออกจากบ้านตอนอายุ 18 เธอเริ่มต้นอาชีพของเธอในฐานะพนักงานเก็บเงิน ซึ่งทำหน้าที่นับยอดรวมเงินฝากรายวันทั้งหมด และปลดเกษียณในฐานะรองประธานอาวุโสแผนกการเงินที่ธนาคารแห่งอเมริกา “ฉันเริ่มออกเดินทางท่องโลกครั้งแรก ตอนอายุ 58”

Colleen Angelucci เล่าว่า เธอเติบโตในเมืองชิคาโก และคบกับแฟนเก่าคนหนึ่งตอนอายุ 20 ปลายๆ ทุกครั้งที่เขามาช่วยทำงาน และพาเธอออกไปทานมื้อกลางวัน เขามักรบเร้าให้เธอออกเดินทาง “ไปเม็กซิโก ไปอิตาลีกันเถอะ” เธอจึงตัดสินใจเลิกกับเขา และกว่าเธอจะได้ออกเดินทางจริงๆ ก็อีกเกือบ 30 ปีต่อมา “ทุกวันนี้ชีวิตของฉัน คือวันหยุดพักผ่อน” เธอเล่าพร้อมหัวเราะ

ช่วงหนึ่งวันสุดท้ายของการเดินทาง Augusto และ Colleen Angelucci เดินสำรวจรอบๆ พระราชวังเครมลิน (Grand Kremlin Palace) หรือที่เรียกว่าจัตุรัสแดงแห่งมอสโก ประเทศรัสเซีย

ภาพทิวทัศน์ป่าสนสีเขียวตัดผ่านไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนฉากที่ซ่อนอยู่หลังหน้าต่างกระจกที่มีกรอบหน้าต่างของรถไฟล้อมรอบ เสียงล้อเหล็กกระทบกับรางรถไฟราวกับทำหน้าที่เป็นร่องเสียงของเบสไปจนถึงท่วงทำนองอันไพเราะของฮาร์ป

ฉันนั่งฟัง John Chott เล่าถึงชีวิตในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา และตัดสินใจออกเดินทางท่องโลกทันทีที่เกษียณอายุ เขาหันไปบอกบริกรเป็นภาษารัสเซียว่า “vody, pozhaluysta” (ขอน้ำเปล่าหนึ่งแก้ว) ก่อนจะหันบอกฉันพร้อมรอยยิ้มว่า “ผมเข้าเรียนที่รัสเซียก่อนจะเริ่มออกเดินทาง” เขากล่าว

“เรากำลังเดินทางไปดำน้ำรอบโลก” Riley และ Bowman เล่าอย่างกระตือรือร้น ขณะที่เรากำลังจิบไวน์หลังอาหารเย็น และบอกอีกด้วยว่าพวกเขาจะดำน้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายหมดเรี่ยวแรงในออกสำรวจสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต

Augusto Angelucci ผู้อพยพมายังสหรัฐฯ ในวัย 30 ต้นๆ เขาทำงานอย่างหนักเก็บหอมรอบริบทรัพย์สินไว้ใช้ในวัยเกษียณ เขาเชื่อเรื่องการเสี่ยงโชคเพื่อหวังจะเปลี่ยนชีวิตให้ต่างไปจากเดิม เขาบอกฉันระหว่างการสนทนาที่ยาวนานว่า “สิ่งสำคัญที่ฉันเรียนรู้ในชีวิต คือการเป็นผู้สร้างและการสร้างสิ่งที่เท่าเทียมกัน”

ฉันเหลียวมองไปรอบตัว ไอร้อนจางๆ ของควันจากแก้วคาปูชิโนเพิ่งชงเสร็จใหม่ๆ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เล็กน้อย แก้วไฮบอลทรงสูงถูกแกว่งก่อนดื่ม ทำให้เม็ดคาเวียร์ดำแดงปะทุพุ่งเข้าปากอย่างรวดเร็ว และให้รสสัมผัสที่แผ่ซ่านไปทั่วปาก ส้อมและมีดทำจากเครื่องเงินกระทบกับจานสีขาวและผ้าปูโต๊ะ ทำให้เกิดเสียงกริ๊ง!

รู้ตัวอีกที 16 วันบนทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกก็สิ้นสุดลง ยามอาทิตย์ส่องสว่าง ขณะลงจากรถไฟในกรุงมอสโกที่แสนวุ่นวาย เราสวมกอด กล่าวขอบคุณและมอบรอยยิ้มแก่กันเป็นครั้งสุดท้าย ถือเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางของ รถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย

เรื่องและภาพ DANIELLE AMY

แปลและเรียบเรียง ปุณยวีร์ เฉลียววงศ์เจริญ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : บทเรียนทรงคุณค่าของหญิงสาวผู้เดินทางไปยังทุกประเทศบนโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.