ท่องเที่ยวใน เขตปลอดทหารเกาหลี เหนือ-ใต้ ในบรรยากาศแห่งสงครามพร้อมปะทุ

เขตปลอดทหารเกาหลี เหนือ-ใต้ มรดกที่ยังมีชีวิตจากยุคสงครามเย็น ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

เขตปลอดทหารเกาหลี ที่แผ่ขยายไปในความยาวราว 241 กิโลเมตรตามเส้นขนานที่ 38 นี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1953 ในฐานะพื้นที่กันชนระหว่างประเทศเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ฝั่งเหนือและประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมฝั่งใต้ ในทุกวันนี้ เขตปลอดทหารเกาหลี ได้แทรกซึมเข้าไปในวัฒนธรรมเกาหลี ในฐานะหนึ่งในเขตชายแดนที่มีการป้องกันมากที่สุดในโลก และยังเป็นมรดกที่ยังมีชีวิตจากยุคสงครามเย็น

แม้จะเป็นที่รับรู้ว่าทั้งสองเกาหลีเป็นชาติที่มีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเวลานับพันปีมาแล้วที่ครั้งหนึ่ง สองเกาหลีเคยเป็นแผ่นดินเดียวกัน ในปี 1945 ในช่วงบทสรุปของสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้แบ่งแยกคาบสมุทรแห่งนี้ที่เส้นขนานที่ 38 โดยมิได้คำนึงถึงความรู้สึกของชาวเกาหลีแต่อย่างใด

การถูกแบ่งแยกตามอำเภอใจเนื่องจากอุดมคติทางการเมืองที่ขัดแย้ง การปกครองแบบล่วงละเมิด และความตึงเครียดระหว่างฝั่งเหนือและใต้ ได้ยกระดับกลายเป็นสงคราม 3 ปี อย่างสงครามเกาหลี ซึ่งส่งผลเสียหายต่อประชาชนอย่างยิ่ง

ในวันที่ 27 กรกฎาคม 1953 เขตปลอดทหารได้ถูกก่อตั้งขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของการเจรจาหยุดยิงระหว่างองค์การสหประชาชาติและกองกำลังคอมมิวนิสต์ โดยไม่มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพจนทุกวันนี้

“[นักท่องเที่ยว] รับรู้ว่าชายแดนแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่อันโดดเด่นและเป็นสถานที่ซึ่งสะท้อนถึงความทรงจำร่วมสาธารณะ” วารสารนานาชาติแห่งการวิจัยการท่องเที่ยวกล่าวและเสริมว่า “ความทรงจำดังกล่าวเน้นไปยังอดีตและสงครามที่กำลังเกิดขึ้น หรือความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนซึ่งได้สร้างเขตชายแดนนี้ขึ้นมา”

การท่องเที่ยวสามารถเป็นแรงผลักดันสู่สันติภาพ: เป็นกลไกที่จะส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนกระบวนการประนีประนอมระหว่างประเทศ นอกเหนือไปจากการฟูมฟักการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มีงานวิจัยกล่าวว่าประเทศที่เปิดและมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจะมีระดับของภาวะสันติภาพมาก มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการปรับตัวได้ดี

เรื่อง GULNAZ KHAN

ภาพ DAVID GUTTENFELDER

รถไฟสันติภาพเขตปลอดทหารบรรทุกทหารเกาหลีใต้และนักท่องเที่ยวจากกรุงโซลมายังสถานีปลายทางที่ใกล้กับเขตปลอดทหาร โดยแต่ละตู้โดยสารจะมีธีมในการตกแต่งแตกต่างกัน เช่น สันติภาพ ความรัก และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อบันดาลให้เกิดความหวังและการปรองดอง
มีการนำนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมเขตปลอดทหารไปที่ห้องบรรยายสรุปและมีการนำเสนอข้อมูลก่อนการเยี่ยมชม ในโถงทางเดิน พวกเขาสามารถถ่ายรูปกับป้ายคัตเอาท์รูปทหารได้
มีการควบคุมจำนวนผู้มาเยี่ยมชมรายวันของพื้นที่แห่งความมั่นคงร่วม (Joint Security Area – JSA) อย่างเคร่งครัด และต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น ผู้เยี่ยมชมต้องลงชื่อในเอกสาร UNC REG 551-1 ซึ่งระบุว่า “การเยี่ยมชมพื้นที่มั่นคงร่วมที่หมู่บ้านปันมุนจอมเป็นการเข้าไปที่พื้นที่ศัตรูและมีความเป็นได้ที่จะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องจากการกระทำของศัตรู”
พื้นที่ความมั่นคงจากด้านเกาหลีใต้ (ภาพนบน) และด้านเกาหลีเหนือ (ภาพล่าง)
“ฝั่งเกาหลีเหนือมีตึกใหญ่โตในรูปแบบโซเวียต และฝั่งใต้มีตึกที่ดูเป็นรูปทรงแห่งอนาคต สว่างไสว และเปล่งประกาย ผมคิดว่าเป็นการแสดงออกถึงภาพลักษณ์ในแต่ละฝั่ง” ช่างภาพ DAVID GUTTENFELDER กล่าวถึงพื้นที่ความมั่นคงร่วม
สวนสนุกเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ที่สวนแห่งสันติภาพ Imjingak พื้นที่ที่เป็นมิตรกับครอบครัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้พื้นที่ปลอดหทารดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่มีนักวิจารณ์วิพากษ์ว่าเป็นการไม่เคารพต่อความทรงจำอันโศกเศร้าในพื้นที่แห่งนี้
นักท่องเที่ยวมองไปยังฝั่งเกาหลีเหนือผ่านกล้องสังเกตการณ์ที่อยู่ส่วนเขตปลอดทหารฝั่งเกาหลีใต้ ในบางครั้ง จะมีการประกาศข้อความโฆษณาชวนเชื่อจากลำโพงขนาดใหญ่ทั้งจากฝั่งเกาหลีเหนือและใต้
ทหารคนหนึ่งยืนนิ่งสงบอยู่ด้านหลังในขณะที่นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเซลฟีอยู่ภายในอาคารพื้นที่ความมั่นคงร่วม
ทหารเกาหลีเหนือนายหนึ่งถ่ายภาพนักท่องเที่ยวผ่านหน้าต่างของอาคารพื้นที่ความมั่นคงร่วม
รูปปั้นทหารตั้งอยู่ที่เสาซึ่งตั้งอยู่ตามทางน้ำในพื้นที่เขตปลอดหทารที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนา
แต่เดิมที่ถูกสร้างขึ้นให้กับผู้อพยพชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีจากสงครามและไม่สามารถกลับบ้านได้ สวนสันติภาพนูรีใน Imjingak มีการประดับงานศิลปะโดยศิลปินชาวเกาหลี รวมไปถึงการประดับกังหันลมนับพัน
ล่ามและไกด์กำลังนำกลุ่มนักเที่ยวชมด้านเหนือของเขตปลอดทหาร
อาคารแห่งนี้ในเขตปลอดทหารฝั่งเกาหลีเหนือได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นสถานที่ลงนามสนธิสัญญาหยุดยิงในปี 1953
นักท่องเที่ยวคนหนึ่งโพสท่าถ่ายภาพหน้าโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในฝั่งเกาหลีเหนือ
ผู้เยี่ยมชมโพสท่ากับทหารจำลองด้านหน้าทางเข้าจำลองของอุโมงค์หมายเลข 3 (The 3rd Infiltration Tunnel) การถ่ายภาพด้านในเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ก็มีแบบจำลองเช่นนี้ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพโดยไม่ต้องเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่อ่อนไหว
อนุสาวรีย์ที่ระบุตำแหน่ง “สะพานที่ไม่หวนกลับ” (The Bridge of No Return) สะพานแห่งนี้ ซึ่งพาดข้ามเส้นแบ่งเขตทหารเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เคยถูกใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเชลยสงครามในช่วงการสิ้นสุดการรบในสงครามเกาหลี วัฒนธรรมอเมริกันที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่นรถจักรยานยนต์ฮาร์เลย์ เดวิดสัน ยังคงพบเห็นได้ในเกาหลีใต้จนทุกวันนี้
ผู้มาเยี่ยมชมประดับข้อความและธงตามรั้วที่สวนสันติภาพ Imjingak
ทหารเกาหลีใต้นายหนึ่งที่ประจำตำแหน่งในเขตปลอดทหารถ่ายภาพเซลฟี่กับครอบครัวที่มาเยี่ยม
ศูนย์บัญชาการพรรคแรงงานเกาหลีชอร์วอนในรูปแบบโซเวียตซึ่งเปรียบได้เป็นกระดูกสันหลังของพรรคแรงงานในช่วงก่อนสงครามเกาหลี สร้างขึ้นในปี 1946
รถไฟสันติภาพขนส่งผู้มาเยี่ยมชมจากกรุงโซลไปยังสถานีปลายทางซึ่งใกล้กับเขตปลอดทหาร รถไฟได้รับการตกแต่งกับภาพที่สื่อถึงสันติภาพ เช่นผู้คนที่จับมือทั้งด้านนอกและด้านใน
พนักงานพักผ่อนด้านหน้าร้านอาหารในสวนสันติภาพ เกาหลีใต้ได้สร้างพื้นที่ซึ่งเป็นมิตรต่อครอบครัวและผู้มาเยี่ยมชมเพื่อมาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รวมไปถึงสวนที่ประดับไปด้วนงานสถาปัตยกรรม อนุสาวรีย์ และสวนสนุก
รั้วลวดหนามที่อยู่โดยรอบเขตปลอดทหาร
ทหารเกาหลีใต้เดินตรวจตรารอบเขตรั้วชายแดนรอบเขตปลอดทหาร
ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบเขตปลอดทหารใช้ชีวิตประจำวันใกล้กับรั้วแบ่งเขต
ป้ายเตือนที่ผุพังและรั้วลวดหนามเตือนผู้มาเยือนว่าพวกเขาได้มาถึงจุดสิ้นสุดของสะพานใกล้กับเขตปลอดทหาร

ภาพทุกภาพมีลิขสิทธิ์


อ่านเพิ่มเติม นั่ง รถไฟเกาหลีเหนือ สู่พื้นที่ชนบท

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.