ท่องเที่ยวเพื่อ “อาบป่า” – ธรรมชาติบำบัดเพื่อการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจในกาญจนบุรี

ท่องเที่ยวเพื่อ การอาบป่า – ธรรมชาติบำบัดเพื่อการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจในกาญจนบุรี

มนุษย์ล้วนกำเนิดมาจากธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกดีทุกครั้งเมื่อได้ไปท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสธรรมชาติ การได้ฟังเสียงธรรมชาติ ได้สูดกลิ่นป่า หายใจเอาอุ่นไอของอากาศบริสุทธิ์จากต้นไม้ที่ล้อมรอบนั้นล้วนส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ ราวกับว่าร่างกายได้ฟื้นคืนพลังขึ้นมาใหม่ ซึ่งชาวญี่ปุ่นรับรู้ถึงข้อดีของการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมานานจนเกิดเป็นวิถีการบำบัดที่เรียกว่าชินรินโยคุ การอาบป่า

คำว่าชินรินโยคุ (Shinrin-yoku / 森林浴) แยกออกเป็นคำว่า Shinrin (森林) แปลว่า ป่า และ yoku (浴) แปลว่า อาบ จึงแปลรวมกันว่า การอาบป่า หรือการรับรู้บรรยากาศป่าผ่านประสาทสัมผัสของเรา

อุทยานแห่งชาติของอเมริกายังคงเป็นเหมือนสมบัติล้ำค่าของประชาชนทั่วประเทศ ภาพถ่ายโดย FERNANDO TATAY

มีการศึกษาแนวคิดชินรินโยคุผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับให้เป็นวิธีการรักษาเชิงป้องกัน (preventative healthcare) ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ผลการศึกษาระบุว่า การอาบป่าส่งผลให้อารมณ์ คุณภาพในการนอนหลับ และการทำสมาธิดีขึ้น รวมทั้งสามารถลดฮอร์โมนความเครียด อารมณ์ซึมเศร้า และความดันเลือดได้

นอกจากนี้ สารเคมีที่ปล่อยมาจากต้นไม้ในป่าซึ่งมีชื่อว่าไฟทอนไซด์ (Phytoncide) ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ต้นไม้ปล่อยออกมา เพื่อป้องกันตัวเองจากแมลง แบคทีเรีย และเชื้อราต่าง ๆ ยังมีกลิ่นเฉพาะที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียด เพิ่มความผ่อนคลายให้แก่มนุษย์ มีอารมณ์ที่ดีขึ้น นอนหลับสนิท และสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายไปพร้อมกัน นั่นหมายความว่า เราจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยจากอาบป่า โดยการอาบป่าในธรรมชาติที่เริ่มส่งผลต่อร่างกายนั้นใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น

ภาพของวัดเกาหลีเมื่อมองลงมาจากจุดสูงสุดเส้นทางเดินป่า ถ่ายที่ Baekyangsa เกาหลีใต้ ภาพถ่ายโดย AARON CHOI

แม้จะเป็นแนวคิดที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น แต่เราสามารถไปอาบป่าได้ทุกที่บนโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีการจัดโครงการท่องเที่ยวเพื่อการอาบป่า ที่ได้รับการแนะนำและสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานกาญจนบุรี) ที่มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่
กาญจนบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ และระยะทางไม่ไกลจากรุงเทพฯ จึงเหมาะสมกิจกรรมการอาบป่า ที่ปรับรูปแบบการอาบป่าแบบญี่ปุ่นให้เหมาะกับบริบทของเมืองไทย

*************************

ป้าแอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ เดินออกมาทักทายด้วยความเป็นมิตร เธอเป็นเจ้าของกิจการ บ้านกลางทุ่งโฮมสเตย์  ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่มีการจัดกิจกรรมอาบป่าให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ หลังจากนั้นได้มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการโฮมสเตย์ในละแวกใกล้เคียง และนำเสนอโครงการไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานกาญจนบุรี) ซึ่งมีความยินดีที่จะสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

บ้านกลางทุ่งโฮมสเตย์รายล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าหลายไร่ ที่ให้ความรู้สึกทั้งสงบและร่มรื่น ถือได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการพาครอบครัวมาพักผ่อนพร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการอาบป่าไปด้วย

ป้าแอ๊ดเล่าถึงแนวคิดเรื่องการอาบป่าว่า ระหว่างที่ทำกิจกรรมกับเด็กๆ เพื่อนฝูงจากแดนไกลได้ส่งหนังสือเกี่ยวกับหลักการอาบป่ามาให้ หลังจากเธอได้อ่านและลองทำความเข้าใจกับวิธีการ เธอเกิดความรู้สึกประทับใจและอยากลองทำกิจกรรมนี้ เพราะอยากให้ผู้อื่นได้สัมผัสความงามของธรรมชาติที่แท้จริง และได้รับประโยชน์จากการใช้เวลาในธรรมชาติอย่างเป็นมิตร

ป้าแอ๊ดอธิบายถึงกิจกรรมการอาบป่าในช่วงเช้าว่า “วิธีการอาบป่า คือการเดินเข้าไปในป่าด้วยความสงบ เปิดประสาทสัมผัสทั้งหมดของคุณ และรับรู้ถึงสิ่งเร้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นรอบตัวคุณ การอาบป่า เราไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายว่าต้องเดินเท้าไปถึงจุดไหน สิ่งสำคัญคือเราเปิดรับสิ่งเร้าทั้งหมดหรือยัง เราใช้เวลาเพียง 20 นาที ก็เพียงพอที่จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้”

ระหว่างการเดินอาบป่า ป้าแอ๊ดชวนพวกเราเดินไป คุยไป และแนะนำถึงวิธีการอาบป่า ว่าระหว่างที่พวกเรากำลังเดินไปนั้น อยากให้ทุกคนเปิด “ผัสสะทั้ง5” อันได้แก่สายตามองเห็นรูปร่างลักษณะเส้นสายต่างๆ ที่ธรรมชาติขีดเขียนไว้ ทำให้เกิดทัศนียภาพ ลิ้นของเราสามารถรับรสชาติต่างๆ ได้ ในขณะเดินอาบป่า หากคุณพบผลไม้ป่า ลองหยิบมาชิมสักผล ลิ้มรสธรรมชาติแท้จริงโดยไม่ผ่านการปรุงแต่ง ส่วน จมูกรับรู้กลิ่น ลองหายใจเข้าลึก-ออกยาว สูดดมกลิ่นต้นไม้ กลิ่นดิน กลิ่นใบไม้แห้ง ที่อบอวลอยู่ในป่า ก็ทำให้ผมเผลอยิ้มออกมาได้ เสียงในป่าที่เราได้ยินทุกเสียงผ่านทางหู ช่วยเพิ่มความจดจ่ออยู่กับตัวเองได้ และหากคุณลองสัมผัส โอบกอด และลูบไล้เบาไปบนใบไม้ คุณจะรู้สึกว่าธรรมชาติก็กำลังสัมผัสคุณเช่นกัน]

ในขณะที่เดินไปป้าแอ๊ดชวนพวกเราทำกิจกรรมเพิ่มความผ่อนคลาย แล้วก็ทำสมาธิไปพร้อมกัน ด้วยการสูดลมหายใจลึก ๆยืดแขนทั้งสองข้างอย่างช้า ๆ ประกบเข้าหากันเหนือศีรษะ จะว่าไปก็คล้ายกับการทำโยคะเหมือนกัน เราเดินกันต่อไปตามทางสักระยะ จนมาถึงใต้ต้นมะกอกป่าต้นใหญ่ต้นหนึ่ง น้าแอ๊ดบอกให้พวกเราลองกอดดู ผมทำตาม แล้วพลันให้เกิดความรู้สึกสงบปนสุขแบบบอกไม่ถูก

******************************

หลังจบกิจกรรมอาบป่า ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นทันที่ ความเมื่อยล้าจากการตรากตรำทำงานในเมืองหายไป

ผมนึกถึงคำกล่าวของน้าแอ๊ดว่า “เมื่อเราใช้เวลาในป่าอย่างเป็นมิตร เราจะรับรู้ได้ถึงพลังการรักษาจากธรรมชาติ” ดังนั้น ผมจึงคิดว่าการอาบป่าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเข้าป่าลึกเพียงอย่างเดียว ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่น้าแอ๊ดที่เธอกล่าวไว้ก่อนจากกันว่า “จริง ๆ แล้ว เราสามารถอาบป่าได้ตามสวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งสวนในบ้านของเราเองก็ได้ ถ้าหากเรารู้วิธีการ”

หลังจากนั้น ผมจึงครุ่นคิดว่า แค่ได้เดินไปในสวนสาธารณะใกล้บ้าน แล้วเปิดทั้งกายและใจสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ ให้พลวัตของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ไหลผ่านเราไป เท่านี้ เราก็ได้รับการฟื้นฟูแล้ว แต่ถ้ามีโอกาส ผมก็อยากไปอาบป่าที่กาญจนบุรีอีกสักครั้ง หรือหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้รับการเยียวยา ซึ่งจะส่งผลต่อความสุขในการใช้ชีวิตของเราในทุกๆ วัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและเรียนรู้วิธีการอาบป่าในรูปแบบของบ้านกลางป่าได้ที่
FACEBOOK / Forest Bathing Kanchanaburi

สนับสนุนโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

เรื่อง ไตรรัตน์ ทรงเผ่า / บดินทร์ บำบัดนรภัย / เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ศุภกร ศรีสกุล / ฤทธิรงค์ จันทองสุก


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ชินรินโยคุ การอาบป่าบำบัดแบบญี่ปุ่น

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.