“สวัสดีครับ” เสียงผู้ชายทุ้มนุ่มที่ฟังดูอบอุ่นดังขึ้นในโทรศัพท์ หลังจากเราแนะนำตัวเองได้พอประมาณ ก็เป็นฝ่ายคู่สนทนาได้แนะนำตัวบ้าง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ออนไลน์ กำลังพูดคุยอยู่กับผู้ที่อยู่ในวงการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน พี่แก่ – กฤษณะ แก้วธำรงค์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านตลาดในประเทศ กิจกรรมแอดเวนเจอร์ กาญจนบุรี
อีกบทบาทหนึ่ง พี่แก่เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เห็น แก่ เที่ยว” ที่นำเสนอการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย หรือ Adventure และพิธีกรรายการโทรทัศน์ “เที่ยวไทยไม่ตกยุค Thailand in Trend” ทางช่องไทยพีบีเอส
ผมเริ่มเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ต้องย้ายไปรับราชการในหลายๆ พื้นที่ และครอบครัวก็มีอิทธิพลต่อตัวผมมาก คุณพ่อของผมชอบเดินทางไปแคมปิ้งตามสถานที่ทางธรรมชาติ ตัวผมเองก็ได้ร่วมเดินทางกับคุณพ่ออยู่หลายครั้ง ได้เห็นแบบอย่างการท่องเที่ยวในสถานที่ทางธรรมชาติ การเตรียมตัว และวางแผนก่อนเดินทาง
จนกระทั่งเติบโตเข้าสู่ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย ก็มีโอกาสได้เจอกับกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจในกิจกรมแคมปิ้ง แบกเป้ และท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้เรื่องราวและวิถีของการเดินทางมาจนถึงทุกวันนี้
ผมรู้สึกว่า “การเดินทางท่องเที่ยวแบบแคมปิ้งมีอะไรซ่อนอยู่มากมาย ระหว่างทางเราได้เรียนรู้เรื่องวิถีธรรมชาติ วิถีชุมชน และมิตรภาพระหว่างการเดินทาง”
พัฒนาการเรื่องท่องเที่ยวของไทยมีมาตลอด ส่วนใหญ่เป็นไปตามยุคกระแส หรือกระแสนิยมในช่วงนั้น แต่มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ยังหลงใหลการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักไม่ค่อยเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางแม้ว่าสังคมจะเจริญไปมาก
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงหลังมานี้ ผมเห็นว่า หลายพื้นที่สร้าง “เอกลักษณ์” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ไร่ชา ทางเดินกระจก และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่เป็นจุดขาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ การเดินทางเพื่อค้นหา “อัตลักษณ์” ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักเดินทางที่แท้จริง โดยอัตลักษณ์ของพื้นที่มักจะมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง แต่เอกลักษณ์มักถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่มีเรื่องราว
บางครั้ง นักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ที่สร้างเอกลักษณ์ขึ้นมา ก็ไม่อยากเดินทางกลับไปอีก เพราะถือว่าได้เดินทางมาแล้ว
ผมยกตัวอย่างการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้างเป็นการท่องเที่ยว อย่างวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ที่สร้างโดยการนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า โดยผู้สร้างเป็นคนท้องถิ่น และมีเรื่องราวการก่อสร้างสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทำให้สถานที่แห่งนี้สร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวได้
แต่ผมไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่า การเดินทางท่องเที่ยวแบบไหนดีหรือไม่ดี เพราะความชื่นชอบของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนอยากตามรอบบล็อกเกอร์ที่แชร์ภาพสวยๆ ในโซเชียลมีเดีย หรือบางคนก็อยากไปเที่ยวธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวไม่หนาแน่น
ทุกวันนี้ หลายๆ คนเป็นสื่อกลางโดยไม่รู้ตัว อย่างตัวผมเอง เวลาเดินทางไปเที่ยวที่ไหนสักที่แล้วโพสต์ภาพลงในโซเชียลมีเดีย ก็มีเพื่อนฝูงอยากตามมาเที่ยวด้วย แล้วก็นัดเวลากันออกเดินทางเลย ทุกวันนี้เป็นรูปแบบนี้แล้ว
ผมคิดว่า เรื่องการเดินทางภายในไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ยิ่งในทุกวันนี้ยิ่งเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อนักเดินทางบางคนเดินทางไปถ่ายรูปเซลฟี่แล้วก็เดินทางกลับ
ผมเข้าใจเรื่องการเดินทางภายนอกสู่ภายในว่า เมื่อเราได้ประสบกับสิ่งเร้าบางอย่างที่เราพบเจอระหว่างเดินทาง สิ่งนั้นได้ทำงานกับความรู้สึกภายในของเรา กลายเป็นว่าภายในเราได้ประสบการณ์ และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่า คนๆ นั้นจะแปลงเป็นอะไร บางคนแปลงเป็นความสุข และตกผลึกเป็นแนวคิดบางอย่างจากการเดินทางครั้งนี้ หรือบางคนก็รู้สึกว่า การเดินทางท่องเที่ยวช่วยให้จิตใจของเขาปลอดโปร่ง และมีพลังที่จะกลับไปทำงานต่อ ซึ่งช่วยจรรโลงให้เกิดความคิดในการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก
มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเฉพาะบุคคลมากๆ บางคนออกเดินทางเหมือนกัน แต่อาจไม่เกิดอะไรขึ้นกับภายในของเขาก็ได้ อย่างเช่น เราคุยกับเพื่อนสองคนที่ได้ไปท่องเที่ยวในสถานที่เดียวกัน อีกคนบรรยายความรู้สึกและความประทับใจได้เป็นฉากๆ ในขณะที่อีกคนกลับไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้
ผมขอตอบในส่วนแรกซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวก่อนนะครับ ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์แบบนี้ทำให้เราวางแผนการเดินทางละเอียดมากขึ้น หมายถึง ผมต้องเลือกทำบางอย่างที่ไม่กระทบกับมาตรการของภาครัฐ และไม่กระทบกับชุมชนที่เราเข้าไปในพื้นที่ และอีกหนึ่งเรื่องที่ผมพิจารณาอย่างมากในช่วงนี้คือ หลีกเลี่ยงสถานที่ท่องเที่ยวสาธารณะที่ได้รับความนิยม และมีนักท่องเที่ยวแออัด นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมต้องปรับตัว
ในส่วนของนักท่องเที่ยว รูปแบบการเดินทาง และกิจกรรมท่องเที่ยวก็เปลี่ยนไป เช่น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง คนก็เริ่มออกเดินทางบ้าง โดยเลือกเดินทางไปรอบ ๆ บ้าน หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่การเดินทางจะเริ่มเปลี่ยนไปโดยใช้พาหนะส่วนตัวมากขึ้น และกิจกรรมแคมปิ้งก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจาก กิจกรรมแคมปิ้งสามารถควบคุมปัจจัยหลายๆ อย่างได้ ทั้งเพื่อนร่วมทาง อาหาร และที่นอน และนักท่องเที่ยวก็เข้าใจพื้นฐานเรื่องการกางเต็นท์มากขึ้น ดังนั้น นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้กางเต็นท์ใกล้ๆ กันเหมือนเมื่อก่อน จึงเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม
ในส่วนของผู้ประกอบการที่พัก อาจต้องปรับรูปแบบการเข้าพัก เช่น เปิดห้องพักให้นักท่องเที่ยวแบบห้องเว้นห้อง และใช้พื้นที่กลางแจ้งเป็นลานกิจกรรมเพื่อดึงดูดลูกค้า จะเห็นได้ว่า แนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คนกลับไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติมากขึ้น ก็เป็นเหมือนวัฎจักรที่หมุนกลับไปหาธรรมชาติ
ร้านอาหาร ควรต้องยึดแนวคิดเรื่อง Zero Food Waste คือลดการสั่งอาหารคราวละมากๆ แต่คิดคำนวนให้พอดีกับปริมาณลูกค้า ในส่วนของนักท่องเที่ยวก็ต้องเรียนรู้ว่าควรกินอาหารให้พอดี และกินอย่างรู้คุณค่า นอกจากนี้ การนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาปรุงอาหารในธุรกิจห้องพัก ก็เป็นการช่วยเหลือชุมชนที่อยู่รอบ ๆ สถานประกอบการได้ด้วย
ในความเป็นจริง ช่วงนี้การเดินทางกลับมาบ้างแล้ว แต่เป็นการเดินทางในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อมีประกาศเปลี่ยนแปลงมาตรการล็อกดาวน์จากรัฐบาล นักท่องเที่ยวก็สามาถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้เลย แต่จะได้เห็นภาพการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเหมือนช่วงก่อนการระบาดใหญ่ คงยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้
หลังจากนี้ ผู้รับผิดชอบส่วนนโยบายอาจต้องพิจารณาเรื่องความต้องการของนักท่องเที่ยวกับความสามารถการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่ เพื่อไม่ให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่เยอะเกินไป เช่น ถ้ามีนโยบายชัดเจนเรื่องการเข้าสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ทางฝั่งของนักท่องเที่ยวก็จะมีข้อมูลเพื่อวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละสถานที่ได้อย่างเหมาะสม
ผมคิดว่า ในช่วงปลายฤดูฝน เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ถ้าสถานการณ์การระบาดไม่รุนแรงมาก นักท่องเที่ยวจะเริ่มเดินทางในประเทศมากขึ้น โดยมีตัวอย่างจากหลาย ๆ ประเทศ ที่ผู้คนในประเทศก็เริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวจะเดินทางในรูปแบบใดอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หลายๆ ประเทศ อย่างประเทศในยุโรป นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจบริบทของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบอยู่แล้ว เนื่องจากถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพราะฉะนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เขาก็พิจารณาแผนการเดินทางมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น เลือกเข้าพักในโรงแรมที่มีมาตรการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือกิจการท่องเที่ยวที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย เรามีตัวอย่างให้เห็นมากมายทั้งในแง่ลบและบวก เช่น การไปแคมปิ้งในสถานที่ของเอกชนกับในอุทยานแห่งชาติ วิธีการวางแผนการเดินทาง วิธีคิด และการเตรียมวัตถุดิบประกอบอาหาร ก็ต่างกันแล้ว ดังนั้น มันเป็นเรื่องรายละเอียดของการเดินทางที่เราทุกคนควรพิจารณาก่อนการเดินทาง ว่าการเดินทางของเราสร้างผลกระทบต่อพื้นที่มากน้อยเพียงใด
ผมเข้าใจว่า เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคงเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว เพียงแค่เราต้องใส่ใจปฏิบัติให้มากขึ้น และไม่ใช่แค่ตัวเราที่ต้องรับผิดชอบ แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบช่วยกัน
สนับสนุนโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
สัมภาษณ์และเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย เฟซบุ๊กแฟนเพจ “เห็น แก่ เที่ยว”