มีนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยียนกรุงเทพเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าแสงที่ส่องประกายจากสถานที่ชื่อดังอย่าง ‘วัดอรุณ’ นั้นมาจากเครื่องปั้นดินเผาอันตระการตาแบบเดียวกับที่ใช้ประดับห้องโถงของโรงแรมห้าดาว หรือใช้เป็นเครื่องจานชามในบรรดาภัตตาคารหรูหราในเมืองหลวงแห่งนี้
เครื่องปั้นดินเผาซึ่งประดับด้วยลวดลายสัญลักษณ์อันประณีตทางพุทธศาสนาที่วาดโดยมือเหล่านี้เรียกว่า เบญจรงค์ ครั้งหนึ่งพวกมันเป็นสิ่งของสำหรับเหล่าชนชั้นสูงของไทยเท่านั้น สมาชิกราชวงศ์รับประทานอาหารจากจานชาม เครื่องเบญจรงค์ ลวดลายประณีต หญิงสาวชนชั้นสูงใช้หีบเบญจรงค์เก็บเครื่องเพชร และวังแห่งต่างๆ นำแจกันเบญจรงค์ทรงสูงมาตั้งแสดงไว้
เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยกับจีน “ เครื่องเบญจรงค์ เริ่มเป็นสินค้านำเข้าเมื่อยุคอยุธยาตอนปลาย [ค.ศ. 1350-1767] ครับ” อัตถสิทธิ์ สุขขำ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวและเสริมว่า “เบญจรงค์ยุคแรกเริ่มถูกสั่งนำเข้ามาจากจีนโดยราชวงศ์ไทย มันถูกทำขึ้นในตอนใต้ของจีนและมีลวดลายแบบจีน” ลวดลายเหล่านี้มีทั้งดอกไม้ ปลา และภูเขา ส่วนอิทธิพลของไทยในเครื่องเคลือบเหล่านี้ปรากฏผ่านการใช้สี โดยราชสำนักไทยขอให้เครื่องเซรามิกทั้งหมดประดับไปด้วยห้าสี ประกอบด้วยสีขาว ดำ เขียว แดง และเหลือง (เบญจะ มีความหมายว่าห้า ส่วนรงค์หมายถึงสี)
เมื่อครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลทีห้า (ค.ศ.1868-1910) มีการนำเข้าเซรามิกเปล่าสีขาวจากจีนและลงลวดลายพื้นเมืองในไทย ลวดลายเหล่านี้วาดขึ้นด้วยมือ เมื่อต้นยุคทศวรรษ 1900 พระองค์รับสั่งให้มีการเผยแพร่เบญจรงค์ให้แพร่หลายมากขึ้นและไม่ตกอยู่กับชนชั้นสูงเพียงอย่างเดียว
ในไม่ช้า โรงประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาประเภทนี้ได้แพร่หลายไปทั่วไทย และเป็นช่วงนั้นเองที่กระเบื้องเบญจรงค์ถูกนำมาประดับตามวัดวาอารมที่สำคัญในกรุงเทพหลายแห่ง และยังถูกประดิษฐ์และเผยแพร่ต่อสาธารณะชนมากขึ้น แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี 1910 เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้กลับเสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ และถูกเลิกผลิตไปในเวลายี่สิบปีให้หลัง โดยสาเหตุของเรื่องดังกล่าวไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด “ไม่มีบันทึกที่กล่าวถึงการสาบสูญไปของเบญจรงค์หรือสาเหตุครับ” อัตถสิทธิ์กล่าว
เบญจรงค์จะกลายเพียงเป็นวัตถุโบราณหากหมู่บ้านแห่งหนึ่งมิได้สบโอกาสรื้อฟื้นศิลปะแขนงนี้เมื่อยุคทศวรรษ 1980 หมู่บ้านดังกล่่าวคือ ดอนไก่ดี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพไป 30.5 กิโลเมตร ได้เติบโตจนกลายเป็นสิ่งที่อัตถสิทธิ์เรียกว่าเป็นแหล่งประดิษฐ์เบญจรงค์ของแท้เพียงหนึ่งเดียว
ในขณะนี้ ท่ามกลางการต่อสู้เอาตัวรอดครั้งใหม่ซึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์เพราะโรคระบาดครั้งใหญ่ ชุมชนของศิลปินราวหนึ่งร้อยคนในหมู่บ้านแห่งนี้กำลังคาดหวังการแสดงฝีไม้ลายมือที่หาได้ยากเพื่อให้โลกได้ประจักษ์อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน นักเดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางมาประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว และคนเหล่านี้จะสามารถซื้อเครื่องเบญจรงค์จากเหล่าช่างฝีมือที่ดอนไก่ดี เรียนรู้ประวัติของเครื่องเซรามิกไทยที่พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงเทพ (เปิดในเดือนธันวาคม) และชื่นชมความงดงามวิจิตรของเบญจรงค์ที่ประดับประดาพระบรมมหาราชวังในเมืองหลวงแห่งนี้
เก้าขั้นตอน
เมื่อปี 1982 การปิดตัวลงของโรงงานเซรามิกแห่งหนึ่งใกล้กับกรุงเทพทำให้ศิลปะชั้นสูงแขนงนี้ถูกฟื้นฟูขึ้นใหม่ อุไร แตงเอี่ยม เป็นหนึ่งในช่างฝีมือหลายสิบคนที่ตกงานเพราะการปิดตัวครั้งนี้ โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดอนไก่ดี นักท่องเที่ยวมากมายเดินทางจากกรุงเทพผ่านจังหวัดอันเงียบเหงาซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมประมงและการเกษตรแห่งนี้เพื่อมุ่งไปสถานที่หย่อนใจริมทะเลยอดยิยมอย่างหัวหิน
อุไรเล่าเท้าความว่าแทนที่จะจมอยู่กับความโชคร้าย เธอกลับตัดสินใจเสี่ยงโชค หลังจากศึกษาลวดลายเบญจรงค์ อุไรก็เริ่มวาดลวดลายเหล่านี้ลงบนเซรามิกเปล่าจากโรงงาน และซื้อเตาเผาของเธอเองเมื่อเป็นที่ชัดเจนว่าลูกค้าชาวไทยชื่นชอบศิลปะที่ถูกหลงลืมนี้ เธอตั้งโรงประดิษฐ์เบญจรงค์ซึ่งทำทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มจนจบขึ้นที่ดอนไก่ดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปเกือบสี่สิบปีต่อมา สถานที่แห่งนี้กลายเป็นสถานที่แห่งความร่วมมือของช่างเครื่องเคลือบหลายสิบคนมาแบ่งปันความรู้ความสามารถให้กันและกัน
ระหว่างการเยี่ยมชมดอนไก่ดี นักท่องเที่ยวซึ่งมีช่างอาวุโสเป็นผู้นำทัวร์จะได้เรียนรู้ว่าเครื่องเบญจรงค์แต่ละชิ้นจะถูกผลิตในเก้าขั้นตอนโดยช่างฝีมือซึ่งอาจมีได้ถึงสี่คน กระบวนการแรกคือการนำดินจากสามจังหวัดมาผสมรวมกัน ทำให้ตัวเครื่องปั้นดินเผาผสมผสานสภาพพลาสติก (plasticity) การรับความร้อน และสีเคลือบขาวได้อย่างลงตัว
หลังการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน กระเบื้องเบญจรงค์จะถูกนำไปเผาในเตาเผาไฟฟ้าที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียสนาน 10 ชั่วโมง เมื่อเย็นตัวลง ตัวกระเบื้องจะถูกนำไปเคลือบผิวและนำไปอบอีกสิบชั่วโมงที่อุณหภูมิที่สูงกว่าเดิมจนกว่าจะมีแสงประกาย
อนาคตที่ไม่แน่นอน
ก่อนการระบาดใหญ่ทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนช่างฝีมือของดอนไก่ดีสัปดาห์ละหลายร้อยคน ผู้คนเหล่านี้เข้าร่วมฝึกปฏิบัติงาน เยี่ยมชมหมู่บ้าน และซื้อเซรามิก ประภาศรี พงษ์เมธา หนึ่งในสมาชิกหมู่บ้าน กล่าว “ระหว่างโรคระบาด เราแทบไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเจอคนไทยเพียงไม่กี่คนค่ะ” ประภาศรี วัย 60 ปี กล่าว เธอประดิษฐ์เบญจรงค์มากว่า 34 ปีแล้ว “แต่เราไม่ยอมแพ้ เรารักศิลปะของเรา มันทำให้เรามีอะไรให้เน้นความสนใจ เพื่อให้เราลืมปัญหาของโรคระบาด”
ตามคำกล่าวของอัตถสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิก ขณะที่ร้านค้าอื่นๆ ทั่วไทยขายเบญจรงค์แบบผลิตจำนวนมากในราคาที่ถูกกว่า ดอนไก่ดีเป็นเพียงแห่งเดียวที่ขายเบญจรงค์ของแท้และดั้งเดิม ที่นี่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อเครื่องปั้นเผาที่ประดิษฐ์เสร็จแล้วและสามารถสั่งทำในรูปแบบที่ต้องการได้ ณ ที่ขาย หรือสั่งงานแบบทำพิเศษไว้เพื่อให้ส่งไปที่บ้านได้
ทางหมู่บ้านไม่มีช่องทางขายออนไลน์ และการค้าส่วนมากเป็นการซื้อขายด้วยตนเองที่หมู่บ้าน หรือการติดต่อผ่านผู้ค้างานศิลปะที่จัดการซื้อขายสำหรับลูกค้าที่ร่ำรวย ประภาศรีกล่าว ผู้ซื้อเหล่านี้บางรายจ่ายเงินได้มากถึงราว 980,000 บาท (30,000 เหรียญสหรัฐฯ) สำหรับชุดช้อนชามที่ประณีตเป็นพิเศษและประดับด้วยทองคำ
ราคาของเบญจรงค์สะท้อนถึงชิ้นงานซึ่งบรรจงสร้างสรรค์อย่างพากเพียร เหล่าช่างฝีมือต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงเพื่อบรรจงวาดลวดลาย เป็นคุณลักษณะเหล่านี้เองที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สำหรับการตัดสินว่านักเรียนคนใดจะได้ก้าวเป็นอาจารย์ในการประดิษฐ์งานฝีมือเหล่านี้
“เรามีคนหนุ่มสาวมากมายที่มาที่หมู่บ้านแห่งนี้เพื่อเรียนรู้การประดิษฐ์เบญจรงค์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จค่ะ” ประภาศรี กล่าว “พวกเขาและเธอมีความสามารถพอ แต่ไม่อดทนเพียงพอ การประดิษฐ์เบญจรงค์ทำให้คุณเสียสติได้ถ้าคุณไม่อดทน แต่ถ้าคุณอดทนพอ มันจะรู้สึกสุขสบายมาก แทบจะเหมือนกับการทำสมาธิเลย”
นอกจากนี้ จากคำบอกเล่าของ ศุภวรรณ พงษ์เมธา ผู้เป็นลูกสาว รายได้เพียงน้อยนิดที่ศิลปินเหล่านี้ได้ยังทำให้คนไทยรุ่นใหม่ไม่อยากเรียนรู้ศิลปะแขนงนี้ ช่างฝีมืออายุ 39 ปีผู้นี้กล่าวว่าเธอรักการทำเครื่องเซรามิกเหล่านี้ แต่เธอทำมันในเวลาว่างเท่านั้น และตัดสินใจประกอบอาชีพครูสอนศิลปะ ซึ่งเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้มากกว่า “คนรุ่นใหม่อยากสร้างรายได้ที่ดี และรู้สึกว่าตนเองมีการงานมั่นคงและมีอนาคต” เธอกล่าว “การเป็นศิลปินเบญจรงค์มันไม่มั่นคงเท่าไหร่ค่ะ”
สมาชิกหมู่บ้านเห็นพ้องต้องกันว่าการไม่มีช่างประดิษฐ์เบญจรงค์รุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นทำให้อนาคตของศิลปะแขนงนี้ไม่แน่นอน เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว เบญจรงค์เคยเป็นสิ่งของจากอดีต เหล่าศิลปินแห่งดอนไก่ดีซึ่งปลุกปั้นงานฝีมือนี้ขึ้นมาจากการหลับใหล และตอนนี้พวกเขาและเธอเหล่านี้พยายามอย่างหวงแหนที่จะรักษามันไว้
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน