พายคายัคถ่ายภาพริมคลอง มองเมืองต่างมุม

บ่ายต้นเดือนเมษา ก่อนเทศกาลสงกรานต์มาเยือน เรือคายัค 30 ลำได้พายล่องไปตามคลองบางกอกน้อยกับงาน ‘ลอยละล่อง ริมน้ำบางกอก’ (Kayak the Series) หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของ ‘เทศกาลวิถีน้ำ วิถีไทย’ หรือ Water Festival 2565 ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมทริปได้ชมวิถีชีวิตริมคลองบางกอกน้อย ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมผ่านวัดสำคัญและชุมชนรอบข้าง

อีกมุมของเมืองใหญ่ เมื่อคายัคพาเรามาอยู่ใต้สะพานและทางรถไฟ ภาพโดย สันติ เศษสิน

ความหลากหลายของฝีมือพายไม่เป็นอุปสรรค เพราะมีผู้เชี่ยวชาญระดับนักแข่งจาก Feelfree ผู้ผลิตคายัคแบรนด์ไทยมาให้ความรู้เบื้องต้น พร้อมอุปกรณ์พายและชูชีพครบครัน แถมคอยพายรั้งรอ ต่อให้เป็นมือใหม่ก็ไม่ต้องกังวล ประกบด้วยกรมเจ้าท่าที่มาช่วยดูแลความปลอดภัย ทำให้การเดินทางราบรื่น

เรือนไม้เก่าแม้ผุพังก็ยังมีแรงดึงดูดสายตา ภาพโดย วิรัตน์ กันฉลาด

นอกจากคายัค 30 ลำที่พากันพายออกจากท่าเรือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง แล้ว ผู้จัดยังมีเรือยนต์ให้เลือกนั่งชมวิวสองฝั่งคลองพร้อมนักวิชาการอิสระ อาจารย์จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มาเป็นวิทยากรบรรยายตลอดเส้นทาง

บ้าน วัด การค้า วิถีชุมชนริมน้ำ

แดดใสเป็นใจให้ถ่ายรูปสวย ด้วยการพายที่ไม่เน้นความเร็ว ทุกคนจึงได้เงยหน้ามองท้องฟ้าและสังเกตสิ่งที่อยู่สองฝั่งคลอง บ้านเรือนหลายหลังยังเลือกคลองเป็นหน้าบ้าน ขณะที่อีกมากมายก็หันหลังให้ อาคารและสะพานใหญ่ระหว่างทางทำให้เรานึกถึงการเติบโตของเมืองที่เคลื่อนไปข้างหน้าไม่หยุด

ทริปนี้มีเหล่าช่างภาพจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาร่วมด้วย ทุกคนเพลินกับการถ่ายภาพ จับคู่กันพายเรือสลับกันเป็นฝีพาย สลับกันรับบทกดชัตเตอร์

“เป็นการเปลี่ยนวิธีบันทึกภาพไปเลยครับ จากที่เราคุ้นกับการเดินถ่ายภาพ เปลี่ยนมาลงเรือใกล้ชิดกับน้ำมากๆ ช่างภาพจึงได้มุมมองใหม่” คุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพฯ บอก

เมื่อพาตัวเองอยู่ระดับเดียวกับคลอง การมองเมืองก็เปลี่ยนไป ภาพโดย ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์

พอได้ย่อตัวลงมาอยู่ระดับเดียวกับสายน้ำ มุมมองและสัมผัสรอบตัวก็เปลี่ยนไปทันที เสียงพายกระทบน้ำ หยดน้ำสาดกระเซ็น  เมื่อปราศจากเครื่องยนต์ ต้องพึ่งแรงกายพาไปข้างหน้า “เราต้องเคารพธรรมชาติ ทั้งกระแสน้ำและสายลม การพายเรือทำให้เราไม่ลืมว่าเราเป็นสมาชิกหนึ่งของธรรมชาติ”  คุณปกป้อง เขียวหวาน จาก FeelFree บอก

รายละเอียดชีวิตริมคลองในเมืองใหญ่ ภาพโดย เทพพิชา วิทยานารถไพศาล

การเคลื่อนที่ไปช้าๆ ยังทำให้เราได้มีเวลาสังเกตความงามและความเป็นไปรอบตัวได้ดี เหมือนจังหวะที่วางพาย หยิบกล้องมาบันทึกภาพ เหมือนเพิ่งมีเวลาหยุดมองสิ่งนี้ การมุ่งหน้าไปยังจุดหมายแรกที่มี ‘อัญมณีแห่งคลองบางกอกน้อย’ คอยอยู่จึงเป็นไปอย่างสบายๆ

วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือวัดทองคลองบางกอกน้อย คาดว่ามีมาแต่สมัยอยุธยา วัดทองแห่งนี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างอุโบสถ เจดีย์ อาคารต่างๆ ด้วยสถาปัตยกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งได้รับแบบแผนจากอยุธยา วัดนี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์โดยพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อๆ มา เราจึงได้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างยุค อาทิ หอระฆังสมัยรัชกาลที่ 3 และพระวิหารที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4

เจดีย์ย่อมุมไม้ 12 สถาปัตยกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภาพโดย วิรัตน์ กันฉลาด

และสิ่งที่เรียกขานว่า ‘อัญมณีแห่งคลองบางกอกน้อย ก็คือจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ โดยช่างฝีมือชั้นครู คือครูคงแป๊ะ และครูทองอยู่ ซึ่งเขียนภาพจากพุทธประวัติและทศชาติชาดก สลับกันเขียนคนละผนัง เป็นยุคที่ครูทั้งสองฝีมืออยู่ในระดับสูง ด้วยวิธีการเขียนภาพที่ต่างกันทำให้สามารถชมมุมมองได้จากทั้งสองท่าน อาจารย์จุลภัสสรแนะวิธีชมจิตรกรรมตั้งแต่การจำแนกเรื่องราว และกระบวนวิธีทางช่าง ทำให้การชมภาพได้อย่างเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น จิตรกรรมฝาผนังที่วัดสุวรรณารามมีทั้งผนังที่ยังสมบูรณ์ และผนังได้รับความเสียหายจากความชื้นและเวลา อยู่ในระหว่างบูรณะให้คืนกลับมาเท่าที่จะเป็นไปได้

พระประธานปางมารวิชัย เบื้องหลังคือภาพเขียนตอนพระพุทธเจ้าเปิดโลก เมื่อเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภาพโดย แสงชัย เตชะสถาพร

จากวัดสุวรรณารามเราเดินเท้าไปต่อกันที่ตลาดเก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ‘ตลาดวัดทอง’ หรือ ‘ตลาดวัดสุวรรณาราม’ หรือ ‘ตลาดไร้คาน’ ซึ่งเป็นอาคารไม้ที่มีแต่โครงสร้างไม้รับน้ำหนัก ไร้คานและไร้เสากลาง ยกเป็นโถงสูงขึ้นไป เป็นวิธีก่อสร้างของเมืองร้อน ความสูงโปร่งทำให้อากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้นลมเย็นเข้ามาแทนที่ มีช่องเปิดให้อากาศร้อนไหลออก ตลาดแห่งนี้ในอดีตจะเย็นมาก เพราะไม่มีบ้านเรือนบังทางลม

นอกจากตลาดวัดทองแล้ว ตลาดนางเลิ้งนับเป็นตลาดไร้คานอีกแห่งในกรุงเทพฯ แต่เปลี่ยนจากช่องเปิดด้านบนมาใช้ลูกกลมหมุนความร้อนออกไปแทน ภาพโดย สันติ เศษสิน

เดินต่อมาไม่ไกลก็ถึง ‘ชุมชนบ้านบุ’ ซึ่งมีหัตถกรรมโบราณคือขันลงหิน ที่สืบต่อมาร่วม 200 ปี เมื่อก่อนทุกบ้านย่านนี้ประกอบอาชีพช่างอิสระ ‘บุ’ หรือตีขึ้นรูปโลหะเสียงดังกังวานไปทั่ว เครื่องสำริดเป็นการผสมระหว่างทองแดงและดีบุก ต้องใช้อุณหภูมิสูงในการหลอมให้ได้ที่ด้วยความชำนาญโดยปราศจากเครื่องวัดอุณหภูมิใดๆ นำลงเบ้าทิ้งให้แข็งตัวเป็นก้อนก่อนนำไปตีขึ้นรูปด้วยค้อน ต่อด้วยกลึงผิวโลหะให้มันวาว สมัยโบราณใช้หินทุบละเอียดผสมกับน้ำมัน จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ลงหิน’ ส่วนตอนนี้ใช้มอเตอร์แทน สุดท้ายก็คือการแกะสลักลายด้วยมือ ปัจจุบันกิจการทำขันลงหินเหลืออยู่ที่บ้าน ‘เจียม แสงสัจจา’ แห่งเดียวเท่านั้น โดยมีช่างในชุมชนเป็นเครือข่าย

หลอมทองแดงและดีบุกสัดส่วน 8 : 2 ด้วยไฟแรงกล้า ภาพโดย วิรัตน์ กันฉลาด

ตีก้อนทองให้เป็นทรง ก่อนจะนำไปบุขึ้นรูป ประภัสสร ตัณฑโอภาส

จากบ้านบุเดินเลาะตรอกซอยมาถึง ‘โรงรถจักรธนบุรี’ ที่เก็บและซ่อมรถไฟทั้งรถจักรดีเซลและไอน้ำ พวกเราได้ฟังเรื่องของการสร้างทางรถไฟสายใต้สายแรกของไทย โดยย้อนไปถึงการตื่นตัวเรื่องรถไฟ โดย เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ราชทูตที่สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งอังกฤษแต่งตั้งมาเจริญสัมพันธไมตรี โดยนำขบวนรถไฟย่อส่วนมาถวายรัชกาลที่ 4 แต่กว่ารถไฟไทยจะได้เริ่มจริงก็สมัยรัชกาลที่ 5

ขึ้นจากเรือมาเดินเท้า เหล่าช่างภาพพาตัวเองหามุมถ่ายให้ได้อย่างใจ ภาพโดย แสงชัย เตชะสถาพร

ทางรถไฟสายใต้สายแรกนั้น เริ่มที่สถานีรถไฟกรุงธนบุรี ณ จุดที่พวกเรายืน ไปถึงสถานีเพชรบุรี การบรรยายสลับกับคำถามทำให้ได้เกร็ดความรู้ของการสร้างทางรถไฟสมัยนั้น ยุคที่ประเทศต่างๆ เข้ามาสร้างสัมพันธ์ทางการทูต การค้า รวมถึงคานอำนาจ สยามจึงมีทั้งทางรถไฟแบบอังกฤษกว้าง 1 เมตร และแบบเยอรมนีที่กว้างกว่า เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงพิจารณาว่าการรถไฟทำให้บ้านเมืองเจริญ จึงต้องเชื่อมทางรถไฟทางสายใต้และสายเหนือเข้าด้วยกัน ก็ต้องเลือกที่จะรื้อไม้หมอนมาเป็นแบบกว้าง 1 เมตร

แท็งค์เก็บน้ำร้อนที่โรงรถจักรธนบุรี เห็นตระหง่านแต่ไกล สะดุดตาด้วยทาสีดำต่างจากแท็งค์ทั่วไป ภาพโดย ประภัสสร ตัณฑโอภาส

ในแต่ละสถานที่เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไปด้วย เราจะได้รู้มากกว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้า และเช่นเดียวกันเมื่อได้เดินทางด้วยวิธีหลากหลาย ทั้งพายเรือ เดินเท้า ขึ้นเรือยนต์ทำให้เราได้ ‘รู้สึก’ มากกว่าเดิม

 ตุ๊กตาผ้าตัวใหญ่ถูกเก็บขึ้นมาจากน้ำ น่าคิดว่าพอขึ้นฝั่งแล้ว ท้ายที่สุดจะไปลงเอยที่ไหน ภาพโดย มณีพรรณ นพศิริ

นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว หนึ่งสิ่งที่การพายคายัคทำให้เราเห็นชัดก็คือขยะในคลอง “การพายเรือช่วยให้เราคิดถึงธรรมชาติในหลายมิตินะครับ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าเรานั่งเรือใหญ่ขับเร็วจะไม่เห็นขยะชัดขนาดนี้ ผมทำทริปพายเรือเก็บขยะหลายครั้ง ยิ่งเห็นยิ่งรู้ว่าการตามเก็บมันยากมาก ที่จริงต้องทิ้งลงให้ถูกที่ตั้งแต่ต้นจะจัดการง่ายกว่ามาก” คุณปกป้อง ขยายความ

ก่อนกลับบ้านอาจได้นั่งทานกระเพาะปลากับเทวดาหน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ภาพโดย ณภัชป์ รัตนศักดิ์

เมื่อ Water Festival ผูกพันกับสายน้ำ การสะท้อนภาพความจริงทั้งด้านที่งดงามและรบกวนจิตใจ ยิ่งเป็นเสน่ห์ของงาน โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อทำให้พวกเราได้สัมผัสกับน้ำในมุมที่ต่างออกไป ก็สามารถกระตุ้นเตือนให้นึกถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้

อ่านเพิ่มเติม

เที่ยวไทรโยคหนึ่งวัน กับกิจกรรมมุดถ้ำ สำรวจป่า พายคายัคล่องแม่น้ำ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.