ไอซ์แลนด์ แดนแห่งความงามอันร้อนแรงจากภูเขาไฟและธารน้ำแข็ง

ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา แม้มนุษย์ (และแกะ) จะสร้างความเสียหายแก่ภูมิประเทศที่สลักเสลาขึ้นจากภูเขาไฟ และธารน้ำแข็งของ ไอซ์แลนด์ แต่สิ่งที่เหลืออยู่ยังคงงดงามน่าอัศจรรย์

เมื่อห้าวันก่อนวันคริสต์มาส ในกระท่อมเหนือเชิงเขาด้านเหนือของภูเขาไฟ เอยาฟยาตลาเยอคูตล์ (Eyjafjallajõkull) ที่สำ แดงเดชจนทำให้เครื่องบินทั่วยุโรปไม่สามารถขึ้นบินได้เมื่อปี 2010 ซิเกอร์เทอร์ เรนีร์ กิสลาสัน กำลังเสิร์ฟซุปปลากับปลาเฮร์ริงดอง ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าอาหารมื้อเที่ยงนี้เปรียบเสมือนของขวัญคริสต์มาส ภูเขาไฟนิ่งสงบ เมฆหมอกคลี่ตัวห่มคลุมธารน้ำแข็ง

แต่ก่อนหน้านี้ เราต้องเดินข้ามแม่น้ำอันเย็นเยียบเพื่อมาที่นี่และรถของซิเกอร์เทอร์ก็ติดหล่มถึงสองครั้ง ด้านนอกกระท่อมอันอบอุ่น ต้นเบิร์ชตะปุ่มตะป่ำสยาย กิ่งก้านราวกับใยแมงมุมตัดกับลาดเขาห่มหิมะสีขาวโพลน “ภาพที่เห็นไม่ต่างจากตอนที่พวกไวกิ้งเดินทางมาถึงเลยค่ะ” กูทรูน น้องสาวของซิเกอร์เทอร์ เปรยขึ้น

กูทรูนเป็นนักภูมิศาสตร์ ส่วนซิเกอร์เทอร์เป็นนักธรณีเคมีที่มหาวิทยาลัยเรคยาวิก ทั้งสองเล่าเรื่องราวภูมิประเทศของไอซ์แลนด์ให้ผมฟัง และถ้านับเเนื้อแกะรมควันตรงหน้า ตัวละครหลักทั้งสี่ของเรื่องก็อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว

ที่น้ำตกลิตลาเนสฟอสส์ สายน้ำตัดผ่านธารลาวาสมัยโบราณ ซึ่งกลายเป็นเสาหินเมื่อเย็นตัวลง WILD WONDERS OF EUROPE
เมื่อครั้งภูเขาไฟเควียร์ฟีอัตล์ระเบิดเมื่อ 2,500 ปีก่อน ไม่มีใครรู้เห็น เนื่องจากไอซ์แลนด์ยังเป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า เย็นวันหนึ่งในเดือนมีนาคม ออร์โชลยา ฮาร์เบิร์ก ช่างภาพ ยืนเฝ้ามองตามลำพังขณะสายลมจากทางเหนือพัดผ่านผิวน้ำแข็งบางๆของทะเลสาบมีย์วัตน์ โดยกวาดหิมะเข้ามาทับถมจนดูราวกับเส้นทางเดินไปยังปล่องภูเขาไฟ

ภูเขาไฟ คือสิ่งที่รังสรรค์ไอซ์แลนด์และปกป้องดินแดนแห่งนี้จากเกลียวคลื่นในมหาสมุทรแอตแลนติกมาอย่างน้อย 16 ล้านปีแล้ว และปัจจุบันทุกสองสามปีภูเขาไฟสักลูกจะปะทุขึ้น เมื่อปี 2010 ซิเกอร์เทอร์บึ่งรถเข้าสู่ใจกลางกลุ่มควันที่พวยพุ่งออกมาจากภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคูตล์เพื่อเก็บตัวอย่างขี้เถ้า เขาคิดว่าคงได้ยินเสียงเถ้าถ่านร่วงหล่นใส่หมวกนิรภัย แต่กลับ ต้องประหลาดใจกับความเงียบงัน เขาเล่าว่า “มันบางเบาคล้ายผงแป้ง” แต่คมเหมือนแก้ว

ธารน้ำแข็ง เริ่มคืบคลานและถอยร่นเมื่อราวสามล้านปีที่แล้ว ทุกวันนี้ ธารน้ำแข็งกำลังหดหายอย่างรวดเร็วก็จริง แต่ยังคงห่มคลุมกระทั่งยอดภูเขาไฟที่สูงที่สุด เมื่อภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งปะทุขึ้นจะก่อให้เกิดอุทกภัยจากการพังทลายของธารน้ำแข็ง น้ำ จากหิมะละลายและน้ำแข็งที่ไหลบ่าลงสู่ทะเลจะพัดพาสะพานและท่วมทะลักพื้นที่เพาะปลูก

แสงแรกแห่งอรุณรุ่งของเดือนมิถุนายนอาบไล้สันเขาที่เกิดจากหินไรโอไลต์สีสนิมของภูเขาไฟแลนด์มันนาเลอการ์ นี่คือแดนสวรรค์สำหรับนักปีนเขา ออร์โชลยาและเออร์เลนด์ ฮาร์เบิร์ก ปีนขึ้นไปยังจุดชมวิวหลังเวลาเที่ยงคืน และพอถึงรุ่งสางราว 3.00 น. หมู่เมฆที่ปกคลุมก็คลี่ตัวออกให้พวกเขาได้เก็บภาพช่วงสั้นๆ “แค่ห้านาทีเท่านั้นค่ะ แล้วทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม” ออร์โชลยาเล่า WILD WONDERS OF EUROPE
เควียราเวตลีร์ (Hveravellir) ซึ่งแปลตามตัวว่า “บ่อน้ำพุร้อนกลางที่ราบ” คือที่ราบขั้นบันไดบางๆ ของตะกอนกีย์เซอร์ที่ทับถมเมื่อน้ำเย็นลง ฟีอัตลาเอวินตูร์ จอมโจรผู้อื้อฉาวสมัยศตวรรษที่สิบแปดเร้นกายอาศัยไออุ่นอยู่ที่นี่นานหลายปีโดยคอยขโมยแกะจากทุ่งเลี้ยงสัตว์ในฤดูร้อน

ผู้คน เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อคนที่เข้ามาตั้งรกรากกลุ่มแรกจากนอร์เวย์เดินทางมาถึงในปี ค.ศ. 874 หลังภูเขาไฟสองลูกเกิดการปะทุครั้งใหญ่เพียงสามปี ก่อนหน้านั้น ไอซ์แลนด์เป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า มีสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวคือสุนัขจิ้งจอกอาร์กติก หากไม่นับเรื่องภูเขาไฟ ที่นี่จัดว่าเงียบสงบ มีเพียงเสียงลม เสียงคลื่น และเสียงร้องของนกทะเลเท่านั้น ชาวไอซ์แลนด์แต่งเติมความหมายให้ดินแดนว่างเปล่านี้ด้วยเรื่องเล่าและตำนานเก่าแก่ แต่พวกเขาก็พรากอาภรณ์ไปจากมันเช่นกัน ป่าเบิร์ชเคยปกคลุมพื้นที่ราวหนึ่งในสี่ของประเทศ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละหนึ่ง ต้นไม้ถูกโค่นเพื่อทำถ่านกระทั่งถึงศตวรรษที่สิบเก้า

แกะ ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานนำปศุสัตว์และหมูมาด้วย แต่ต่อมาอากาศกลับหนาวเย็นลงเป็นเวลาถึง 500 ปี แกะที่มีขนยาวจึงกลายเป็นสัตว์เจ้าถิ่น ในฤดูร้อน แกะหลายแสนตัวยังคงและเล็มหญ้ากลางทุ่งโล่งบนที่สูง แกะกินทุกอย่างที่ขวางหน้ารวมถึงต้นเบิร์ชอ่อนๆ ด้วย กูทรูนบอกว่า ทุกวันนี้พื้นที่ในไอซ์แลนด์ที่มีพืชพรรณขึ้นคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งจากที่เคยมีถึงสองในสาม เมื่อดินภูเขาไฟไร้พืชปกคลุม สายลมและสายน้ำก็พัดพาหน้าดินออกไป

น้ำตกฮเรินฟอสซาร์ในเดือนกันยายนงดงามไปด้วยพืชพรรณไม่ต่างจากยุคไวกิ้งทั้งต้นเบิร์ชและบ็อกบิลเบอร์รี่อวดสีสันตัดกับสายน้ำขาวโพลนจากทรายแป้งของแม่น้ำควีเตา น้ำตกแห่งนี้เกิดจากแนวน้ำพุซึ่งรวมตัวไหลรี่ลงสู่แม่น้ำที่อยู่ห่างออกไปบนฝั่ง
เกลียวคลื่นในฤดูหนาวซัดผ่านซุ้มหินบะซอลต์ซึ่งสลักเสลาขึ้นด้วยแรงคลื่นที่หมู่บ้านอาร์นาร์สตาปิ บนคาบสมุทรสไนเฟตล์สเนียส ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นแดนสวรรค์ของ นกคิตตีเวกขาดำ นกทะเลที่จับคู่ผสมพันธุ์ที่นี่ ซุ้มหินขนาดใหญ่ที่เห็นนี้สูงราว 12 เมตร

สรุปก็คือ มนุษย์และสัตว์ของพวกเขาที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในอาณาจักรแห่งภูเขาไฟ และธารน้ำแข็ง ได้ลดทอนคุณค่าของดินแดนแห่งนี้ในระดับที่น่าตกใจ

ถ้าคุณไม่รู้เรื่องราวตื้นลึกหนาบางนี้ ก็คงหลงชื่นชมความงามอันน่าอัศจรรย์ที่หลงเหลืออยู่

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม หลังพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าเมื่อเวลา 11.00 น. ซิเกอร์เทอร์, กูทรูน และผม พยายามเดินทางไปยังภูเขาไฟคัตลา การปะทุของภูเขาไฟลูกนี้และอุทกภัยจากการพังทลายของธารน้ำแข็งเมื่อปี 1918 เกือบจะซัดปู่ของทั้งคู่ไป หิมะปกคลุมถนนจนเราต้องหันหลังกลับ เราผ่านน้ำตกที่สายน้ำยังคงมีสีเทาจากขี้เถ้า ลมกระโชกแรงจนเกือบจะพัดรถของเราตกถนน ต่อมาเราข้ามแม่น้ำธารน้ำแข็งที่ผ่านเมื่อวันก่อนบนท้องฟ้าเหนือมหาสมุทร ลงไปทางใต้ เมฆคลายตัวจนเกิดช่องโหว่ ทิวเขาเหนือแม่น้ำจึงอาบไล้ด้วยแสงแดดอ่อนๆ

กระแสน้ำธารน้ำแข็งไหลบ่าลงมาจากผาหินสูง 12 เมตรที่โกดาฟอสส์ หรือ “น้ำตกแห่งเทพเจ้า” หลังจากประชาคมชาวไอซ์แลนด์ลงมติเข้ารีตเป็นคริสตชนเมื่อปี ค.ศ. 1000 บรรดาผู้นำของพวกเขาก็พร้อมใจกันโยนรูปเคารพในความเชื่อพื้นเมือง ลงไปในน้ำตก กูทรูน กิสลาโดตตีร์ นักภูมิศาสตร์ บอกว่า เกาะที่มอสส์ขึ้นปกคลุมในภาพ “ได้รับการปกป้องจากฝูงแกะไปโดยปริยาย”
ภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคูตล์ในไอซ์แลนด์ยามก่อนรุ่งอรุณของวันที่ 23 เมษายน ปี 2010 เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก่อนหน้านี้ ลาวาที่ผุดพลุ่งผ่านธารน้ำแข็งก่อให้เกิดอุทกภัยจากน้ำแข็งละลาย สร้างความเสียหายแก่ถนนหนทางและเรือกสวนไร่นา นอกจากนี้ การปะทุของภูเขาไฟซึ่งปล่อยเถ้าธุลีขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศยังส่งผลให้การจราจรทางอากาศในยุโรปต้องหยุดชะงักนานร่วมสัปดาห์

ไม่กี่นาทีต่อมา เราผ่านเนินดินที่กูนนาร์ ตัวเอกในตำนานท้องถิ่นตกจากหลังม้าระหว่างทางหลบหนีไปซ่อนตัว เมื่อเหม่อมองกลับไปทางบ้าน เขาร่ายบทกวีที่ชาวไอซ์แลนด์ทุกคนรู้จัก ซิเกอร์เทอร์แปลให้ฟังว่า “ลาดเขานั้นช่างงดงาม งามกว่าที่เคยเป็นมา ข้าจะกลับบ้านและไม่ไป ไหนทั้งนั้น” ไอซ์แลนด์ยังคงเปี่ยมมนตร์เสน่ห์ดังว่า ออร์โชลยาและเออร์เลนด์ ฮาร์เบิร์ก กล่าวว่า ”ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่ยังไม่มีต้นไม้คอยบดบังทัศนียภาพอันน่าอัศจรรย์อีกด้วย

เรื่อง โรเบิร์ต คุนซิก
ภาพถ่าย ออร์โชลยาและเออร์เลนด์ ฮาร์เบิร์ก

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2555


อ่านเพิ่มเติม Blue Lagoon โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพที่สร้างเงินมหาศาลให้การท่องเที่ยวไอซ์แลนด์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.