สวนสวรรค์เหนือ แมนแฮตตัน

ทางฝั่งตะวันตกตอนล่างของเกาะ แมนแฮตตัน ภาพที่คุณเห็นเป็นอันดับแรกกลับเป็นสิ่งที่สวนสาธารณะในเมืองพยายามหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่ต้น นั่นคือโครงสร้างเหล็กกล้าสีดำหนัก และแข็งทื่อที่รองรับทางรถไฟลอยฟ้า

สวนสาธารณะตามเมืองใหญ่ๆ มักถูกมองว่าเป็นแหล่งพักพิง เป็นดั่งเกาะเขียวชอุ่ม ท่ามกลางทะเลคอนกรีตและเหล็กกล้า ทว่าเมืองเมื่อเข้าใกล้สวนสาธารณะไฮไลน์ (High Line) ในย่านเชลชี ทางฝั่งตะวันตกตอนล่างของเกาะ แมนแฮตตัน ภาพที่คุณเห็นเป็นอันดับแรกกลับเป็นสิ่งที่สวนสาธารณะในเมืองพยายามหลีกเลี่ยงมาตั้งแต่ต้น นั่นคือโครงสร้างเหล็กกล้าสีดำหนัก และแข็งทื่อที่รองรับทางรถไฟลอยฟ้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้ในการขนส่งขบวนตู้สินค้าไปยังโรงงานและโกดังต่างๆ และอย่างน้อยที่สุด เมื่อมองจากระยะไกล สิ่งนี้ก็ดูคล้ายเศษซากที่ถูกทิ้งร้างมากกว่าจะเป็นโอเอซิสกลางใจเมือง

กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ไฮไลน์ยังเป็นเพียงเศษซากกลางเมืองที่กำลังผุพังไปตามกาลเวลา ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง รวมถึงรูดอล์ฟ จูลีอานี นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กระหว่างปี 1994-2001 ต่างรอวันที่จะรื้อทางรถไฟสายนี้แทบไม่ไหว คณะบริหารของจูลีอานีซึ่งตระหนักดีว่า สำหรับย่านเชลซีที่กำลังได้รับการแปลงโฉมเป็นหอศิลป์ ร้านอาหาร และเขตที่พักอาศัยหรูหราแล้วเศษซากที่หลงเหลืออยู่ของไฮไลน์ซึ่งทอดตัวคดเคี้ยวเป็นระยะทางราว 2.4 กิโลเมตรจากถนนแกนส์โวร์ตจนถึงถนนสายที่ 34 คือภาระอัปลักษณ์อันหนักอึ้ง พวกเขามั่นใจว่าเศษซากอันแปลกแยกของเมืองต้องถูกขจัดออกไปเพื่อให้ย่านโดยรอบได้พัฒนาอย่างเต็มที่

ครั้งหนึ่งทางรถไฟสายไฮไลน์เคยทอดยาวไปถึงแมนฮัตตันตอนล่างและมักตัดผ่านโรงงานน้อยใหญ่ เส้นทางช่วงใต้สุดถูกรื้อถอนออกไปในทศวรรษ 1960 เนิ่นนานก่อนที่ใครจะคิดถึงการเปลี่ยนทางรถไฟให้เป็นสวนสาธารณะ

เจ้าหน้าที่ทางการไม่เคยทำพลาดขนาดนี้มาก่อน เพราะเป็นเวลาเกือบสิบปีหลังจากคณะบริหารของจูลีอานีพยายามรื้อถอนไฮไลน์ แต่มันกลับกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะที่สร้างสรรค์และดึงดูดผู้คนได้ดีที่สุดในมหานครนิวยอร์กและอาจดีที่สุดในประเทศด้วยซ้ำ

เสาเหล็กกล้าสีดำที่ครั้งหนึ่งเคยรองรับทางรถไฟร้าง ปัจจุบันกำลังโอบอุ้มสวนสาธารณะลอยฟ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นทางเดิน ส่วนหนึ่งเป็นจัตุรัสกลางเมือง และอีกส่วนเป็นสวนพฤกษศาสตร์ เส้นทางหนึ่งในสามซึ่งอยู่ทางด้านใต้เริ่มตั้งแต่ถนนแกนส์โวร์ตยาวไปจนถึงถนนสายที่ 20 ตะวันตกตัดผ่านถนนเทนท์อเวนิว เปิดใช้งานเมื่อฤดูร้อนปี 2009 เส้นทางช่วงที่สองจะเปิดในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ โดยขยายสวนสาธารณะออกไปอีกสิบช่วงตึก หรือเป็นระยะทางราว 0.8 กิโลเมตรไปจนถึงถนนสายที่ 30  ผู้สนับสนุนต่างหวังว่า ในที่สุด สวนสาธารณะจะครอบคลุมส่วนที่เหลือทั้งหมดของไฮไลน์

อ่านต่อหน้า 2 

ในมหานครอย่างนิวยอร์กเรื่องดีๆ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และบ่อยๆ และโครงการที่เข้าท่าก็มักต้องยอมประนีประนอมหากความคิดนั้นเกิดขึ้นได้จริงๆ ไฮไลน์เป็นข้อยกเว้นที่หลายฝ่ายสมหวัง เพราะต้องยอมรับว่าในนิวยอร์กมีน้อยครั้งนักที่แนวคิดสุดบรรเจิดไม่เพียงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังออกมาดีกว่าที่ใครต่อใครคาดคิด เรื่องทำนองนี้ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองไหนยิ่งมหานครนิวยอร์กด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง เมื่อแนวคิดอันสลับซับซ้อนในการสร้างพื้นที่สาธารณะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การตัดสินใจทางการเมือง ไปจนถึงการก่อสร้างได้โดยแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ผู้ออกแบบโครงการนี้คือ เจมส์ คอร์เนอร์ ภูมิสถาปนิกจากบริษัทฟีลด์โอเปอเรชันส์ ร่วมกับบริษัทสถาปนิกดิลเลอร์สโกฟิดิโอแอนด์เรนโฟร

การจุมพิตอันดูดดื่มอาจเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ใครบางคนพลาดชมทัศนียภาพเหนือถนนเทนท์อเวนิว ซึ่งสถาปนิกออกแบบให้เป็นไฮไลต์หนึ่งของสวนสาธารณะลอยฟ้าไฮไลน์ การออกแบบของพวกเขาเปลี่ยนสะพานธรรมดาๆ ให้กลายเป็นอัฒจันทร์กลางเมืองอันโดดเด่น พร้อมด้วยม้านั่งไม้ยาวลดหลั่นกันลงไปยังช่องหน้าต่างที่อยู่เหนือเส้นทางจราจรพอดี

โครงการของพวกเขาเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างความประณีตกับความหยาบกระด้าง อันเป็นคุณสมบัติเชิงอุตสาหกรรมของไฮไลน์ งานออกแบบจึงมีทั้งม้านั่งไม้ขัดเงาที่ผุดขึ้นมาจากพื้นสวนสาธารณะ และยังคงเก็บรางรถไฟเก่าส่วนใหญ่ไว้โดยนำไปตกแต่งเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินและภูมิทัศน์ คอร์เนอร์ซึ่งทำงานร่วมกับพีต โอดอล์ฟ ภูมิสถาปนิกชาวดัตช์ แนะนำให้ปลูกพืชหลากหลายโดยเน้นไปที่พืชจำพวกหญ้าลำต้นสูงกับต้นกก เพื่อสร้างบรรยากาศของทุ่งดอกไม้ป่าและวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมในช่วงที่ไฮไลน์ถูกทิ้งร้างไปนานหลายสิบปี

ในช่วงแรกๆ ของระยะเวลา 25 ปีที่เส้นทางรถไฟสายไฮไลน์ไม่ได้ใช้งานและไม่ถูกแตะต้อง ปีเตอร์ โอเบลตซ์ ผู้หลงใหลทางรถไฟ ควักกระเป๋าซื้อโครงสร้างลอยฟ้านี้ในราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทคอนเรล (Conrail) ด้วยความตั้งใจที่จะซ่อมแซมไว้ใช้งาน

ทว่ากรรมสิทธิ์ในการครอบครองของโอเบลตซ์ถูกชะลอออกไประหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายที่กินเวลาห้าปี ซึ่งเขาเป็นฝ่ายแพ้คดีในที่สุด โอเบลตซ์เสียชีวิตในปี 1996 แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือผู้จุดประกายในการอนุรักษ์ไฮไลน์เอาไว้ เช่นเดียวกับโจล สเติร์นเฟลด์ ผู้เป็นช่างภาพ ในช่วงหลายปีที่ไฮไลน์ถูกทิ้งร้าง เขาได้ถ่ายภาพอันน่าตื่นตาของไฮไลน์ดูราวกับริบบิ้นสีเขียวที่คดเคี้ยวผ่านเมืองอุตสาหกรรม

ผลงานของสเติร์นเฟลด์ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มของคนที่ต่อสู้เรียกร้องให้อนุรักษ์ทางรถไฟเพื่อสาธารณประโยชน์สเติร์นเฟลด์แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตเทอะทะนี้อาจดูคล้ายสวนสาธารณะขึ้นมาได้จริงๆ

แต่วีรบุรุษตัวจริงของเรื่องนี้คือ ชายสองคนที่พบกันเป็นครั้งแรกในการประชุมระดับชุมชนว่าด้วยอนาคตของทางรถไฟสายนี้เมื่อปี 1999 ได้แก่ โจชัว เดวิด นักเขียนอิสระ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 36 ปี อาศัยอยู่บนถนนสายที่ 21ตะวันตกไม่ไกลจากเส้นทางช่วงตรงกลางของไฮไลน์นักกับโรเบิร์ต แฮมมอนด์ ศิลปินวัย 29 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านกรีนิชวิลเลจ ห่างจากสถานีปลายทางด้านใต้ไปไม่กี่ช่วงตึก

บางช่วงของไฮไลน์เหมะสำหรับเดินเล่น แต่ทางเดินเชลซีมาร์เก็ต (Chelsea Market Passage) ตรงถนนสายที่ 15 ให้ความรู้สึกเหมือนระเบียงมากกว่า เพราะเป็นจุดที่มองลงไปเห็นเมืองและแม่น้ำฮัดสัน นี่เป็นบรรยากาศยามเย็นอันเงียบสงบและสดใสวันหนึ่งขณะที่แสงเรืองรองของอาทิตย์อัสดงค่อยๆ ลาลับไปจากขอบฟ้า

“ผมเห็นบทความใน นิวยอร์กไทมส์ บอกว่า ไฮไลน์กำลังจะถูกรื้อถอน และผมก็สงสัยว่ามีใครกำลังพยายามรักษามันไว้หรือเปล่า” แฮมมอนด์บอกผม “ผมหลงรักโครงสร้างเหล็กกล้า หมุดยึดรางรถไฟ และซากปรักหักพังครับ ผมเดาเอาว่าคงมีกลุ่มประชาคมบางกลุ่มกำลังพยายามอนุรักษ์มันไว้ เพราะผมเห็นเรื่องนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมการชุมชน ผมเลยไปดูว่าเรื่องเป็นยังไงกันแน่ และจอชก็นั่งอยู่ข้างผม แต่กลายเป็นว่าในที่ประชุมนั้นมีแค่พวกเราที่อยากเก็บมันไว้ครับ”

“ทางการรถไฟส่งตัวแทนมาเสนอแผนในการนำทางรถไฟกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งทำให้คนที่พยายามรื้อถอนมันโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ” เดวิดอธิบาย ”นั่นเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาของผมกับโรเบิร์ตครับ เราไม่อยากเชื่อเลยว่าคนพวกนั้นจะเดือดดาลได้ถึงขนาดนี้”

เดวิดและแฮมมอนด์ขอให้เจ้าหน้าที่การรถไฟพาไปดูไฮไลน์ ”พอขึ้นไปบนนั้น เราก็ได้เห็นทุ่งดอกไม้ป่าทอดยาวกลางเกาะแมนแฮตตันเลยครับ” แฮมมอนด์เล่า

ทั้งคู่ต้องประหลาดใจกับความโล่งกว้างที่ได้เห็น และตัดสินใจปกป้องไฮไลน์ให้รอดพ้นจากการถูกรื้อถอน พอถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 พวกเขาก็ก่อตั้งกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ (Friends of the High Line) ขึ้น โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายสูงส่งนักในระยะแรก ”เราแค่อยากงัดข้อกับจูลีอานีเพื่อไม่ให้ไฮไลน์ถูกทำลายเท่านั้นละครับ” แฮมมอนด์เท้าความ “แต่การอนุรักษ์เป็นเพียงก้าวแรก และเราเริ่มคิดว่าเราสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ขึ้นมาได้” การดำเนินงานของกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์คืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า

อาคารห้องชุดกรุผนังกระจก เดอะแคเลโดเนีย เป็นอาคารที่พักอาศัยเกิดใหม่หนึ่งในหลายแห่งที่เพิ่งผุดขึ้นตามเส้นทางไฮไลน์ไม่นาน

 

อ่านต่อหน้า 3 

จนกระทั่งเกิดเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อปี 2001 แฮมมอนด์เล่าว่า ”ตอนนั้นเราคิดว่าผู้คนคงไม่มีกะจิตกะใจจะมาดูดำดูดีกับไฮไลน์หรอกครับ แต่กระแสความสนใจเรื่องการออกแบบและการวางผังเมืองที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ ไปกับกระบวนการออกแบบพื้นที่บริเวณกราวนด์ซีโร่ได้ช่วยจุดประกายให้คนหันมาสนใจโครงการของเรามากขึ้นครับ ผู้คนคงรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งที่พวกเขาพอจะทำได้”

ในปี 2002 กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ได้ว่าจ้างทีมงานให้ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ ข้อสรุปที่ได้คือการเปลี่ยนไฮไลน์เป็นสวนสาธารณะจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนในบริเวณนั้น ไม่ใช่ฉุดรั้งการพัฒนาตามคำกล่าวอ้างของคณะบริหารของจูลีอานี ก่อนหน้านั้นไม่นาน รางรถไฟร้างทางตะวันออกของกรุงปารีสใกล้กับจัตุรัสบาสตีย์ (Place de la Bastille) ได้รับการแปลงโฉมเป็นสวนสาธารณะแนว

ยาวที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในชื่อ โปรเมอนาดปลองเต (Promenade Plantèe) จึงให้แนวคิดที่ใช้เป็นต้นแบบอย่างจริงจังของไฮไลน์ได้ แม้รูปแบบของกรุงปารีสจะนำมาปรับใช้กับมหานครนิวยอร์กไม่ง่ายนัก แต่โปรเมอนาดปลองเตก็ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้โครงการของเดวิดกับแฮมมอนด์อย่างมาก ทั้งสองเริ่มมั่นใจว่าความคิดที่จะเปลี่ยนไฮไลน์ให้เป็นพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์อาจเป็นกลุ่มระดับรากหญ้าก็จริง แต่รากของมันก็หยั่งลึกอยู่ในชุมชนหรือแวดวงคนในวงการออกแบบและศิลปะที่มีความลุ่มลึกและสลับซับซ้อนที่สุดในโลก พอถึงปี 2003 เดวิดกับแฮมมอนด์ก็ตัดสินใจจัด ”การประกวดแนวคิดโครงการ” ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันด้านสถาปัตยกรรมอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการเชิญชวนใครก็ตามให้เสนอแนวคิดและการออกแบบโครงการพัฒนาไฮไลน์ในอนาคต พวกเขาคาดว่าคงได้รับผลงานไม่กี่สิบชิ้นจากชาวนิวยอร์ก แต่สุดท้ายกลับมีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมดถึง 720 ชิ้นจาก 36 ประเทศ

ตลอดความยาวของทางรถไฟสายไฮไลน์รกครึ้มไปด้วยวัชพืชและทุ่งดอกไม้ป่า เส้นทางส่วนที่สามซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่ทอดยาวไปยังตอนเหนือของถนนสายที่ 30 ยังคงรกเรื้ออย่างที่เห็น

เมื่อนิวยอร์กฟื้นตัวจากความทรงจำอันเลวร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน กลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยเริ่มดึงดูดความสนใจจากบรรดาผู้จัดการกองทุนรวมรุ่นใหม่ๆ และผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชอบช่วยเหลือสังคม

กิจกรรมระดมทุนเพื่อไฮไลน์ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีได้กลายเป็นงานการกุศลยอดนิยมงานหนึ่งของนิวยอร์ก และเป็นหนึ่งในไม่กี่โครงการที่มีผู้สนับสนุนวัยต่ำกว่า 40 ปีมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นั่นช่วยให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีต่อจากจูลีอานีอย่างไมเคิล บลูมเบิร์ก มีแนวคิดโน้มเอียงไปในทางเห็นด้วยกับการอนุรักษ์ไฮไลน์เอาไว้

บลูมเบิร์กซึ่งเป็นมหาเศรษฐีผู้บริจาครายใหญ่ให้สถาบันทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของเมืองมาช้านานให้การสนับสนุนแผนพัฒนาโครงการไฮไลน์ ในที่สุดทางการนิวยอร์กก็ทำข้อตกลงกับกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ โดยทำงานร่วมกันในการออกแบบและก่อสร้างสิ่งที่จะกลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่

ในปี 2005 อแมนดา เบอร์เดน กรรมาธิการวางผังเมือง ได้ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการจัดเขตพื้นที่ (zoning) ในบริเวณนี้ขึ้นโดยออกกฎสำหรับสิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ ตอนที่กฎระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้นั้น พื้นที่โดยรอบได้กลายเป็นย่านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดย่านหนึ่งในเมืองไปแล้วอาคารที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นซึ่งรวมถึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทไอเอซีที่ออกแบบโดยแฟรงก์ เกห์รี พอถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2006 ชิ้นส่วนแรกของรางรถไฟถูกยกออกจากไฮไลน์ เพื่อเป็นสัญญาณของการเปิดงาน และการก่อสร้างก็เริ่มต้นขึ้น

นับจากวันที่ไฮไลน์ส่วนแรกเปิดให้บริการเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2009 ที่นี่ก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก และเราก็น่าจะได้ยินคนข้างๆ พูดภาษาเยอรมันหรือญี่ปุ่นมากพอๆ กับภาษาอังกฤษ กระนั้น

ไฮไลน์ยังเป็นสวนสาธารณะของผู้คนในชุมชน เมื่อผมเดินไปตามไฮไลน์พร้อมกับแฮมมอนด์ในวันแดดจัดวันหนึ่งเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนที่เป็นเหมือนระเบียงรับแดดคลาคล่ำไปด้วยผู้คน และดูเหมือนจะมีชาวบ้านจากละแวกใกล้เคียงเข้ามายึดทำเลราวกับเป็นชายหาดส่วนตัวมากพอๆ กับนักท่องเที่ยวที่ออกมาเดินเล่น

เส้นทางส่วนแรกของไฮไลน์นั้นคดเคี้ยว บางช่วงมุดลอดใต้อาคารสามหลังจนดูคล้ายอุโมงค์สั้นๆ จากนั้นจึงเผยให้เห็นทิวทัศน์ของขอบฟ้ากลางมหานครหรือของแม่น้ำฮัดสัน ช่วงที่ไฮไลน์ตัดกับถนนเทนท์อเวนิว ภาพที่เห็นจะเปลี่ยนไปอีก กลายเป็นที่โล่งคล้ายอัฒจันทร์กลางแจ้งแขวนอยู่เหนือถนนให้เรานั่งมองรถราวิ่งลอดใต้ตัวเราไปได้

เส้นทางด้านเหนือที่ยังไม่ได้รับการบูรณะของไฮไลน์เลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเกือบจรดแม่น้ำฮัดสัน บริษัทรถไฟซีเอสเอกซ์ยังครอบครองกรรมสิทธิ์เส้นทางส่วนนี้อยู่ แต่กลุ่มเฟรนด์ออฟเดอะไฮไลน์หวังว่าสักวันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ชาวนิวยอร์กอีกจำนวนไม่น้อยคงมีโอกาสได้ชื่นชมความงามของพลุวันชาติสหรัฐฯ เช่นเดียวกับสมาชิกของกลุ่มเฟรนด์ออฟเดอะไฮไลน์และคู่รักของเธอเช่นในภาพนี้

เส้นทางรถไฟลอยฟ้าช่วงที่สองทางเหนือของถนนสายที่ 20 เริ่มเป็นเส้นตรง ซึ่งเป็นความท้าทายอีกลักษณะหนึ่งสำหรับนักออกแบบ ”พื้นที่ตรงนี้เปิดโล่งให้เราเห็นตัวเมือง จากนั้นจู่ ๆ คุณจะรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ระหว่างผนังตึกสองหลัง” คอร์เนอร์อธิบาย ”เส้นทางช่วงนี้ตรงสุดๆ เลยครับ เราเลยต้องหาทางทำให้คุณไม่รู้สึกเหมือนติดอยู่ในทางเดินแคบๆ”

เขาตัดสินใจเริ่มงานในส่วนที่สองด้วยการปลูกต้นไม้ให้หนาทึบกว่าเส้นทางช่วงแรกมาก โดยใช้สมมุติฐานว่า ถ้าไม่สามารถทำให้ความคับแคบหายไปได้ ก็ควรขับเน้นความรู้สึกนี้ให้ชัดขึ้นสักหนึ่งช่วงตึก แล้วรีบเปลี่ยนอารมณ์มาสู่สนามหญ้าที่เปิดโล่งและผ่อนคลาย จากนั้นจึงตามมาด้วยสิ่งที่นักออกแบบเรียกว่า ทางยกระดับหรือโครงสร้างโลหะที่ยกทางเดินขึ้นเพื่อปลูกต้นไม้หนาทึบไว้ด้านล่าง ด้านเหนือของทางยกระดับนี้เป็นบริเวณสำหรับนั่งเล่นอีกจุดหนึ่ง จากตรงนี้มองลงไปเห็นถนนผ่านกรอบสีขาวขนาดมหึมาล้อกับป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ห่างออกไปเล็กน้อย เส้นทางเดินที่ตรงยาวมีมวลหมู่ดอกไม้ป่าเรียงรายไปตลอด

ในวันที่ผมเดินชมส่วนที่สร้างใหม่พร้อมกับโรเบิร์ต แฮมมอนด์ ต้นไม้ส่วนใหญ่เข้าที่เข้าทางหมดแล้ว แม้ว่าการก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไป แต่บรรยากาศกลับเงียบสงบอย่างน่าประหลาด เราเดินไปตามส่วนที่สร้างใหม่ตั้งแต่ต้นไปจนสุดทาง แฮมมอนด์บอกว่า ความเงียบสงบทำให้เขานึกถึงไฮไลน์ในช่วงแรก ๆ ก่อนที่ผู้คนจะแห่เข้ามา ”ผมว่าผมคงจะคิดถึงไฮไลน์ในตอนนั้นครับ” เขาเปรย แต่เขาก็ตระหนักว่าความสำเร็จอันล้นหลามของไฮไลน์เป็นเรื่องน่ายินดีกว่าการได้เห็นโครงสร้างเหล็กเก่าๆ อันว่างเปล่าเป็นไหนๆ


อ่านเพิ่มเติม :  ต้นไม้ แห่งความทรงจำ : เรื่องราวเล่าขานจาก 9 ต้นไม้ในตำนาน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.