นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลปรากฏการณ์การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต (Bioluminescence) อาจเคลิบเคลิ้มไปกับการล่องเรือบนผืนน้ำที่ส่องประกายหรือรับชมเทศกาลการร่ายรำของหิ่งห้อย ทว่าการสำแดงแสงสีแห่งฤดูร้อนนี้เป็นเพียงหนึ่งในความงดงามแห่งอาณาจักรสัตว์
ณ ผืนทะเลแห่งหนึ่ง นักเดินทางหลายคนได้ผจญในโลกท้องทะเลอันกว้างใหญ่ซึ่งแฝงเร้นไปด้วยความลี้ลับ พวกเขาพบฝูงปลาเรืองแสงสีเขียวมะนาว ปะการังที่กำลังพลิ้วไหวด้วยการเต้นรำแห่งแสงนีออน จนถึงม้าน้ำที่ถูกแต่งแต้มด้วยประกายสีเขียวระยิบระยับจนดูเหมือนสิ่งมีชีวิตจากโลกอื่น ซึ่งล้วนเกิดจากปรากฏการณ์การเรืองแสงทางชีวภาพ (Biofluorescent)
เดิมที มีเพียงนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเท่านั้นที่สามารถเปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์นี้ด้วยการดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์ “มันเหมือนกับว่าคุณกำลังหลุดไปอีกโลกหนึ่ง” กล่าวโดย อลิชา โพสท์มา นักดำน้ำผู้มีประสบการณ์อันยาวนาน และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบล็อค Dive Buddies 4 Life
การเรืองแสงทางชีวภาพ (Biofluorescence) ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้แตกต่างกับการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต (Bioluminescence) โดยสิ้นเชิง กรูเบอร์เปรียบเปรยการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมีภายในสิ่งมีชีวิตว่าเป็นเหมือนกับแท่งเรืองแสงที่เราใช้โบกไปมาตามงานคอนเสิร์ตหรือเทศกาล ในขณะเดียวกัน การเรืองแสงทางชีวภาพนั้นเป็นเหมือนกับภาพวาดจากสีเรืองแสงที่จะส่องสว่างเมื่อเปิดแสงสีดำเท่านั้น
ปรากฏการณ์นี้เป็นเพียงหนึ่งในสิ่งพิศวงแห่งท้องทะเล พื้นที่ใต้สมุทรกว่าร้อยละ 80 ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่ได้รับการสำรวจ หากอ้างอิงจากองค์กรนาซ่า (NASA) มนุษย์นั้นรู้จักพื้นผิวของดวงจันทร์มากกว่าทะเลของเราด้วยซ้ำ มนุษยชาติยังคงอยู่ที่จุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ท้องทะเลต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเรืองแสงทางชีวภาพ
เดวิด กรูเบอร์ นักสำรวจจากเนชันแนล จีโอกราฟฟิก และนักชีววิทยาทางทะเลเผยว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะสนใจปรากฏการณ์นี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง กรูเบอร์ช่วยพัฒนาความก้าวหน้าในวงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งว่าด้วยการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตโดยอาศัยโมเลกุลที่ยังไม่ถูกค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรืองานวิจัยในปีพ.ศ. 2557 ที่เขาได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในหมู่ปลากว่า 200 ชนิด การค้นคว้าของเขาแสดงให้เห็นว่ามีฉลามบางสายพันธุ์ จนถึงสัตว์เลื้อยลานอย่างเต่าทะเลที่สามารถส่องสว่างในความมืด การค้นพบแห่งการปฏิวัติดังกล่าวได้รับขนานนามให้เป็นหนึ่งใน 20 การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในรอบทศวรรษ 2010
ทริปดำน้ำตื้นหรือการดำน้ำลึกตามชายฝั่งปะการังที่คุ้นเคยของนักดำน้ำสามารถกลายเป็นอีกโลกหนึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นการดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์ “หลายคนคิดว่าตัวเองเห็นมหาสมุทรมานักต่อนักและรู้จักมันเป็นอย่างดี แต่แล้ว พวกเขาจะตกตะลึงโดยไม่อาจต้านทานได้” กรูเบอร์กล่าว แม้จะมีสีสันสดใสน่าดึงดูดใจ แต่กรูเบอร์ได้เน้นย้ำว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่สนองมนุษย์ทางด้านความสวยงามเท่านั้น “บรรดาสัตว์เหล่านี้กำลังแบ่งปันความลับให้กับมนุษย์ ดังนั้น มันจึงเป็นความรับผิดชอบของพวกเราที่จะใช้องค์ความรู้ที่ได้มานี้เพื่อปกป้องพวกมัน”
การเรืองแสงทางชีวภาพคืออะไร
วิธีการดำน้ำกลางคืนแบบแสงฟลูออเรสเซนต์นั้นเรียบง่าย “เพียงชั่วพริบตาที่คุณใส่หน้ากากดำน้ำสีเหลืองแล้วเปิดแสงสีน้ำเงินขึ้นมา พวกมันก็จะส่องสว่างอย่างมหัศจรรย์และจะยิ่งตระการตาไปอีกหากคุณอยู่ที่แนวประการัง” กรูเบอร์กล่าว กลไกของปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความงดงามของพวกมัน
การเรืองแสงทางชีวภาพ เกิดจากการปล่อยแสงซึ่งเกิดจากการดูดซับคลื่นแสงสีน้ำเงินที่ตกกระทบลงบนผิวหนังของสัตว์ โดยปกติแล้ว แสงที่ถูกคายออกมาจะมีสีสันสดใสไม่ว่าจะเป็น สีเขียว สีส้ม และสีแดง ซึ่งแตกต่างจากการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างแมงกะพรุนหรือหิ่งห้อยที่สร้างแสงด้วยปฏิกิริยาเคมีภายในตัว
มหาสมุทรสร้างความซับซ้อนให้กับปรากฏการณ์การเรืองแสงทางชีวภาพขึ้นไปอีกขั้น ตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์สามารถมองเห็นแสงในเฉดสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน แต่วิสัยของเราจะถูกสั่นคลอนด้วยท้องทะเลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ความยาวคลื่นของแสงในสเปกตรัมที่มนุษย์มองเห็นได้จะถูกกรองออกไปตามระดับความลึกที่มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ระดับความลึกหกเมตร แสงสีแดงจะหายไป และหากยังไม่ถอยกลับ คุณจะเห็นทุกอย่างเป็นสีน้ำเงินและเขียวจนกระทั่งเข้าสู่ความมืดมิดที่ระดับความลึก 914 เมตร หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่ามิดไนท์โซน (Midnight Zone)
สิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้กับพื้นทะเลปรับตัวตามสภาพแวดล้อมโดยการใช้ตาที่มีลักษณะเหมือนตัวกรองสีเหลืองเพื่อตรวจจับการเรืองแสงทางชีวภาพของปลาชนิดอื่นๆ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ยังต้องลอกเลียนพรสวรรค์ของพวกมันโดยใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อรับชมสีสันใต้ท้องสมุทร ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากกรองสีเหลือง หรือไฟดำน้ำสีน้ำเงิน
ท่องโลกแห่งความลับ
การดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์อาจให้ความรู้สึกเหมือนการเดินทางที่เหนือจริง แต่การผจญภัยที่น่าเหลือเชื่อนี้กำลังเปิดให้บริการในศูนย์ดำน้ำทั่วโลก ตามที่ เอริค แอลบินส์สัน ผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำระดับโลกแห่งสมาคมพาดี (PADI) กล่าวไว้ว่า “สิ่งนี้สามารถพบได้ในทะเลเขตร้อนทุกแห่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเหล่าปะการัง” ต่างกับการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตที่สามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี
ข้อจำเป็นเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการเข้าร่วมประสบการณ์การดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์คือใบรับรองด้านการดำน้ำตามมาตรฐานของพาดี (PADI) แต่ถึงอย่างนั้น การศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรการดำน้ำกลางคืนก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่คุณในสภาพแวดล้อมที่มืดสนิท ผู้เข้าร่วมควรมีประสบการณ์ในการดำน้ำกลางคืนพร้อมไฟใต้น้ำอย่างน้อย 2-3 ครั้งทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและเหล่าสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดอ่อน โพสต์ม่า นักดำน้ำผู้มากประสบกาณ์ในการดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนท์ที่หมู่เกาะบอแนร์แห่งแคริบเบียนได้กล่าวเอาไว้ว่า “คุณไม่อยากจะสร้างความวุ่นวายแก่โลกใต้ทะเลด้วยการดำผุดดำว่ายหรอกนะ”
หมู่เกาะโบแนร์ สถานที่ซึ่งเป็นที่เลื่องลือสำหรับจุดดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์เนื่องด้วยหมู่เกาะปะการังที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก แม้ในปัจจุบันแนวปะการังนี้จะถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ ลาร์ส โบแมนจากรีสอร์ทบัดดี้ไดร์ฟสาขาบอแนร์ (Bonaire-based Buddy Dive Resort) เล่าว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้นักดำน้ำสามารถมองเห็นสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาอาจพลาดไปในระหว่างวัน เช่น ดอกไม้ทะเล หรือนักดำทรายอย่างปลาจิ้งจก (Sand-diver fish) ซึ่งมักซ่อนตัวอยู่ตามพื้นทะเล หนึ่งในงานศึกษาของออสเตรเลียเผยว่าเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่มีมักหลบซ่อนหรือพรางตัว (Cryptic Fish) มีแนวโน้มที่จะเรืองแสงทางชีวภาพได้มากกว่าสัตว์ที่มองเห็นได้ง่ายถึง 70 เท่า
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จุดหมายของนักดำน้ำทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยและมัลดีฟส์ได้มอบประสบการณ์แห่งสีสันให้กับผู้มิใช่นักดำน้ำด้วยการดำน้ำตื้นแบบฟลูออเรสเซนต์ อาเหม็ด มุจทาบา เจ้าของศูนย์การท่องเที่ยวและดำน้ำมูจาวาซแห่งมัลดีฟส์กล่าวว่า “แนวปะการังบางแห่งในมัลดีฟส์ค่อนข้างตื้น ดังนั้น การรับประสบการณ์การเรืองแสงแห่งชีวภาพด้วยการดำน้ำตื้นก็สวยงามไม่แพ้กับการดำน้ำลึกเช่นกัน” นอกจากนี้ มุจทาบายังชี้ให้เห็นว่าการอยู่ห่างไกลจากมลภาวะทางแสงช่วยให้ปรากฏการณ์แห่งสีสัน ณ เกาะมัลดีฟส์มีชีวิตชีวามากขึ้น
การสำรวจเพื่อพิทักษ์รักษา
คุณไม่สามารถบอกลามหาสมุทรโดยปราศจากคำถามได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดำน้ำตื้นมือสมัครเล่นหรือนักชีววิทยาทะเลผู้ช่ำชอง “มันเหมือนกับนวนิยายลึกลับที่พาคุณดำดิ่งสู่เรื่องราวมากขึ้นเรื่อยๆ” กรูเบอร์กล่าว
กรูเบอร์สังเกตเห็นการเรืองแสงทางชีวภาพในปลาครั้งแรกจากประกายแสงสีเขียวนีออนของปลาไหลในรูปถ่ายที่เขาใช้ศึกษาการเรืองแสงทางชีวภาพของประการัง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาก นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานของการเรืองแสงทางชีวภาพในสิ่งมีชิตใต้ทะเลกว่า 200 ชนิด รวมถึงฉลามกบและเต่าทะเล การวิจัยถึงสาเหตุและวิธีการที่พวกมันส่องสว่างยังคงมีไม่มากนัก นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องค้นคว้าต่อไปเพื่อไขปริศนาการเรืองแสงดังกล่าว มีการตั้งสมมติฐานถึงทฤษฎีการเรืองแสงทางชีวภาพที่น่าจะเป็นไปได้ เช่น การสื่อสารระหว่างสายพันธุ์ การหาคู่ การพรางตัวจากผู้ล่า และการล่าเหยื่อ
เพื่อสลายม่านหมอกแห่งปริศนานี้ กรูเบอร์และทีมของเขาได้สร้างกล้องเลียนแบบดวงตาของเหล่าสัตว์เรืองแสงฟลูออเรสเซนต์เพื่อมองโลกใต้ทะเลจากมุมมองของพวกมัน เมื่อเขาพบการเรืองแสงทางชีวภาพในปลาฉลามกบ เขาจึงสร้างกล้องที่มีฟิลเตอร์พิเศษเพื่อจำลองว่าแสงตกกระทบดวงตาพวกมันอย่างไร การศึกษานี้เผยความลับแห่งท้องทะเลสองสิ่งที่สำคัญ หนึ่ง ฉลามกบมองเห็นการเรืองแสงทางชีวภาพสีเขียวที่พวกมันปล่อยออกมา และสอง พวกมันสามารถเพิ่มระดับความคมชัดของรูปแบบการเรืองแสงของตนเองได้
การศึกษานี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ในแง่ของวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังนำพาเราสู่การอนุรักษ์อย่างชาญฉลาด ยิ่งเรารู้จักเหล่าสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะปกป้องมันได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น
ตัวอย่างจุดหมายที่ที่ดีที่สุดในการรับชมการเรืองแสงทางชีวภาพใต้ท้องทะเล
ประเทศไทย: สถาบันดำน้ำ Blue Horizon Divers ให้บริการทัวร์ดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์ทั้งแบบลึกและแบบตื้นในทะเลเกาะพะงันซึ่งเป็นหนึ่งในเกาะของอ่าวไทย
เกาะบอแนร์: ดื่มด่ำไปกับแสงเรืองรองของสิ่งมีชีวิตในเกาะโบแนร์ไปพร้อมกับทัวร์ Buddy Dive Shop ซึ่งจัดทริปตลอดทั้งปี
หมู่เกาะมัลดีฟส์: มุจทาบาจัดกิจกรรมดำน้ำสำรวจรวมถึงการดำน้ำแบบฟลูออเรสเซต์ในศูนย์การท่องเที่ยวและดำน้ำมูจาวาซ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม Blue Journey ให้นักท่องเที่ยวรับชมการดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์ตามแนวปะการังในบ้านของที่พัก ณ โรงแรมพาร์คไฮแอท
ฟลอริดา: ใกล้ๆ กับเวสต์ปาล์มบีช มีร้านค้าอุปกรณ์การดำน้ำชื่อ Pura Vida Divers ที่จัดกิจกรรมการดำน้ำกลางคืน รวมถึงการดำน้ำแบบฟลูออเรสเซนต์ตลอดทั้งปี
บทความโดย สตีฟานี่ เวอร์มิลเลียน
ภาพถ่ายโดย เดวิด กรูเบอร์ และทีมนักชีววิทยาทางทะเล
แปลโดย พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย