เหล่านักสำรวจดำน้ำ 28 วัน เพื่อค้นพบเรื่องราวชีวิต ใต้มหาสมุทร

เหล่านักสำรวจดำน้ำ 28 วัน เพื่อค้นพบเรื่องราวชีวิต ใต้มหาสมุทร

นักสำรวจสี่คนลงไปดำน้ำสำรวจก้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนติดต่อกันนานเกือบเดือน ในชีวิต ใต้มหาสมุทร

ผมเติบโตขึ้นตามแนวชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เมื่อเวลาผ่านไป ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลายเป็นที่ทำงานหลักของผม ผมเฝ้ามองชายฝั่งที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยือนแห่งนี้ถูกทำลายโดยการพัฒนาที่ไร้การควบคุม ผมยังได้เห็นโลกธรรมชาติที่ยังดูบริสุทธิ์ ณ ความลึกกว่า 50 เมตรหรือราวๆนั้น

แต่กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เห็นโลกเหล่านั้นแค่ชั่วเวลาสั้นๆ เวลาดำน้ำแบบสกูบา คุณต้องใช้เวลาสี่ถึงหกชั่วโมงเพียงเพื่อขึ้นสู่ผิวน้ำจากความลึกขนาดนั้น คุณต้องหยุดพักเพื่อปรับลดความดันในร่างกายอย่างช้าๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะน้ำหนีบ (the bends) ฉะนั้นระยะเวลาการดำน้ำที่ก้นทะเลจึงสั้นมากอย่างน่าหงุดหงิด ซึ่งปกติจะอยู่ได้นานแค่ห้าหรือ 10 นาที

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2019 เราทำให้ข้อจำกัดดังกล่าวเปลี่ยนไป เป็นเวลา 28 วันติดต่อกัน ทีมนักสำรวจสี่คนรวมทั้งผมใช้ชีวิตในห้องพักปรับความดันอันคับแคบบนเรือลำเลียงลำหนึ่งกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สูดหายใจอากาศผสมแรงดันสูงที่ประกอบด้วยก๊าซฮีเลียมกับออกซิเจน และใช้ระฆังดำน้ำ (diving bell) เป็นพาหนะลงไปสำรวจพื้นทะเลในแต่ละวัน

ใต้มหาสมุทร, ปลาไหลมอเรย์
ความลึก: 95 เมตร “นิสัยสงบเสงี่ยมบังคับให้ปลาไหลมอเรย์อันคุ้นตาย้ายถิ่นไปยังน่านนํ้าลึกมืดสลัวเพื่อผสมพันธุ์” บาเลสตาเขียนไว้ เขาบันทึกภาพปลาไหลมอเรย์คู่นี้นอกชายฝั่งลาซีโยตาหลังจากอ้าปากค้างใส่กันพองาม พวกมันก็ใช้ร่างเลื้อยรัดพันกัน แล้วปล่อยสเปิร์มกับไข่สู่กระแสนํ้า

เนื่องจากทั้งระฆังดำน้ำและห้องพักได้รับการปรับความดันอากาศเท่ากับที่พื้นทะเล ซึ่งสูงกว่าความดันอากาศที่ผิวทะเลมากถึง 13 เท่า เราจึงไม่จำเป็นต้องหยุดพักเพื่อปรับลดความดันในร่างกายทุกครั้งที่กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ

วันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2019 ในทะเลนอกชายฝั่งมาร์แซย์ ฝาครอบโลหะกระแทกปิดตามหลังเรา เมื่อเราเข้าไปอยู่ในระฆังดำน้ำกันแล้ว เราอยู่ในชุดดำน้ำสีแดงพร้อมอุปกรณ์ครบครันสำหรับการลงลิฟต์ไปก้นทะเลเที่ยวแรก ความรู้สึกเหมือนอยู่ในยานที่กำลังพาเราไปดวงจันทร์ พอถึงพื้นทะเล เราออกจากระฆังดำน้ำทางช่องกั้นอากาศใต้ท้องระฆัง แล้วว่ายน้ำออกไป ความรู้สึกตอนนั้นคือความเหลือเชื่อ เราเป็นนักดำน้ำในทะเลลึกที่กำลังออกห่างจากจุดเชื่อมต่อกับบ้านของเราที่ความลึกราว 70 เมตร

ในระหว่าง 28 วัน เรือลำเลียงของเรา ซึ่งลากด้วยเรือโยงอย่างช้าๆ ท่องทะเลเป็นระยะทางกว่า 550 กิโลเมตร จากมาร์แซย์ไปยังโมนาโกและย้อนกลับมา เราลงไปดำน้ำสำรวจพื้นที่ 21 แห่ง

ใต้มหาสมุทร, หมึกกล้วย
ความลึก: 68 เมตร ตั้งแต่การดำนํ้าไดฟ์แรกนอกชายฝั่งมาร์แซย์ บาเลสตาก็พบเห็นสิ่งมีชีวิตหายากแล้ว นั่นคือ หมึกกล้วยครีบยาวคู่หนึ่งกำลังร่ายระบำผสมพันธุ์กัน

ภายในที่พักขนาดห้าตารางเมตร พวกเราสี่คน ได้แก่ ยานิก ชองติล, ตีโบลต์ โรบี, อองโตแนง กิลแบร์ และผม เป็นนักโทษโดยสมัครใจ เราพักผ่อนในนั้น กินอาหารที่ทีมงานบนเรือส่งเข้ามาให้ทางช่องกั้นอากาศเล็กๆ และรอการลงไปดำน้ำไดฟ์ถัดไป

การดำน้ำถือเป็นการได้หนีจากที่คุมขัง ในแต่ละวัน เราเผชิญกับสภาวะที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว จากร้อนจนแทบหายใจไม่ออกภายในตู้เหล็กคับแคบ แล้วลงไปเจอความเวิ้งว้างไพศาลของทะเลลึกที่เย็นเยียบจนเข้ากระดูก จากอยู่เฉยๆจนมึนชาเปลี่ยนเป็นตื่นตัวระแวดระวังอย่างมีพลัง จากรู้สึกสิ้นหวังซึมเศร้าเปลี่ยนเป็นรู้สึกปีติเคลิบเคลิ้ม แต่ละวันจบลงด้วยความเหนื่อยอ่อน แต่ก็ตั้งตารอที่จะได้ทำทั้งหมดอีกครั้ง

ความลึก: 20 เมตร ไม่ไกลจากพรอ-เมอนาดเดซองเกล ถนนเลียบชายหาดอันโด่งดังของเมืองนีซ ปลาสตาร์เกเซอร์ตัวหนึ่งฝังร่างใน พื้นโคลน ขณะรอจังหวะพุ่งใส่เหยื่อ

อากาศผสมที่เราใช้หายใจ ซึ่งร้อยละ 97 เป็นฮีเลียม และอีกร้อยละสามเป็นออกซิเจน ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเมาไนโตรเจนและการชักแบบโรคลมชักเมื่ออยู่ในน้ำลึก นอกจากนี้ ฮีเลียมยังมีคุณสมบัตินำความร้อนได้สูง จึงทำให้เราตัวเย็นลงจากข้างใน ความร้อนในร่างกายเราลดหายไปกับทุกลมหายใจ ผมเคยลงไปดำน้ำลึกใต้ผืนน้ำแข็งในแอนตาร์กติกามาแล้ว ในน่านน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง แต่ผมรู้สึกหนาวกว่ามากในทะเลบ้านเกิดของผม ซึ่งแม้จะเป็นจุดที่ลึกมาก อุณหภูมิน้ำก็ยังคงที่อยู่ที่ 14 องศาเซลเซียส

เราเลือกจุดดำน้ำสำรวจที่เรารู้อยู่แล้วว่างดงามและอุดมสมบูรณ์ แนวปะการังมีน้อยมากในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ที่มีทดแทนกันที่ความลึกราว 70 ถึง 120 เมตร คือแนว “ปะการัง” ที่สร้างโดยสาหร่ายสีแดง ซึ่งจะหลั่งแคลเซียมคาร์บอเนตแข็งๆออกมาจนก่อรูปเป็นฐานราก และถูกเสริมให้เติบโตแข็งแรงโดยสัตว์บางจำพวก เช่น หนอนท่อ มอลลัสก์ ปะการัง และถูกแทะกินโดยสัตว์กลุ่มอื่นๆ เช่น ฟองน้ำ

ใต้มหาสมุทร, โถสองหู, ซากเรืออับปาง
ความลึก: 104 เมตร นอกชายฝั่งกัสซี ทีมงานสำรวจกองโถสองหูหลายร้อยใบจากซากเรืออับปางยุคโรมันลำหนึ่ง ตัวเรือซึ่งเป็นไม้ผุพังไปหมดแล้ว แต่โถดินเผาซึ่งเป็นสินค้าบรรทุกมากับเรือยังเกลื่อนกลาดอยู่บนพื้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อุปกรณ์ดำนํ้าแบบสกูบาเปิดโอกาสให้นักดำนํ้าท่องไปได้ไกลจากระฆังดำนํ้า

สภาวะที่ต้องดิ้นรนตลอดเวลาก่อให้เกิดโลกที่ละลานตาด้วยซอกหลืบช่องว่าง ซึ่งสิ่งมีชีวิตกว่า 1,650 ชนิดสามารถพบที่อยู่อาศัยที่ตนพึงพอใจได้ ผมต้องรอหลายปีกว่าจะเห็นปลากะรังจิ๋วนกแก้วนอกชายฝั่งเลอลาวองดู ผมบันทึกภาพที่อาจเป็นภาพแรกของปลาตัวจิ๋วชนิดนี้ขณะมีชีวิตอยู่

ภาพถ่ายที่ปรากฏ ณ ที่นี้ แสดงให้เห็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสรรพชีวิตที่เราพบเจอในช่วงสี่สัปดาห์ ที่ความลึกสูงสุดถึง 142 เมตร เราเห็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างแปลกประหลาด แสดงพฤติกรรมพิสดาร ส่อเจตนาล่อลวงตบตา เราเห็นสัตว์จำพวกดาวตะกร้าชนิดหนึ่ง หรือสัตว์ในกลุ่มกอร์กอนโนเซฟาลัส ดาวตะกร้าที่เราพบไม่มีพิษภัยอันใดและมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 10 เซนติเมตรขณะขดตัว แต่ระหว่างที่ผมเฝ้าดูอยู่ มันค่อยๆคลายแขนเหมือนกิ่งไม้แตกแขนงไร้ ที่สิ้นสุดจนแผ่กว้างกว่าเดิมถึง 10 เท่า

ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, ใต้มหาสมุทร, ดำน้ำ, แนวปะการัง
ความลึก: 68 เมตร ระฆังดำนํ้านำทีมงานของผู้เขียนจากแคปซูลปรับความดันบนเรือที่ลอยลำอยู่ เพื่อลงไปสำรวจพื้นทะเลทุกวัน ในภาพถ่ายนอกชายฝั่งกัสซี ประเทศฝรั่งเศส ปลาฟอร์กเบียร์ดตัวหนึ่งลาดตระเวนแนวปะการังที่สร้างโดยสาหร่ายสีแดง

ที่ความลึก 142 เมตร มีแสงอาทิตย์เพียงร้อยละหนึ่งที่เล็ดลอดถึงห้วงน้ำมืดสลัว แต่น้ำใสแจ๋ว และแม้ท่ามกลางความมืดสลัวก็ยังสามารถมองเห็นและบันทึกภาพห้วงน้ำอันไพศาลได้ นอกชายฝั่งวีย์ฟรองช์-ซูร์-แมร์เพียงเล็กน้อย ตรงที่เทือกเขาแอลป์ยื่นลงไปใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และพื้นทะเลทิ้งตัวลงอย่างลาดชัน จู่ๆผมก็มีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพเหมือนนักไต่เขามองลงไปเห็นโลกอีกใบที่อยู่ถัดจากโลกของเรานี่เอง

โลกสองใบนี้เชื่อมต่อถึงกัน ตัวอย่างโคลนพื้นทะเลที่เราเก็บมาปนเปื้อนยาฆ่าแมลง สารประกอบไฮโดรคาร์บอน และสารพีซีบีที่ก่อมะเร็ง ท้องน้ำที่ผิวทะเลอื้ออึงไปด้วยเสียงอึกทึกและกิจกรรมของมนุษย์ เพื่อหนีจากแรงกดดันเหล่านี้ สัตว์ขนาดใหญ่ที่เราพบเจอ เช่น ปลานักตกเบ็ดหน้าตาเหมือนอสุรกาย ปลาไหลคองเกอร์หน้าตาเหมือนมังกร และกุ้งล็อบสเตอร์ตัวบึกบึนเหมือนรถถัง ทั้งหมดดูเหมือนจะถอยร่นลงไปอยู่ในน่านน้ำลึกขึ้น ที่นั่น ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยังมีชีวิตอยู่ หัวใจของมันยังแข็งแรงดี แต่เราจะมอบอนาคตแบบไหนให้ทะเลแห่งนี้กันเล่า

เรื่องและภาพ โลรอง บาเลสตา

สามารถติดตามสารคดี ความลับของเหล่าวาฬ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม ความลับของเหล่า วาฬ: พวกมันเหมือนมนุษย์มากกว่าที่คิด

วาฬ, ความลับของวาฬ

Recommend