เที่ยวไต้หวัน – แม้ไต้หวันมีพื้นที่เล็กกว่าไทยถึง 14 เท่า และมีพื้นที่ราบเพียงแค่ 1 ใน 3 ของประเทศ (นอกจากนั้นเป็นภูเขา) แต่ไต้หวันกลับมีเส้นทางจักรยานที่ยาวกว่า 7,900 กิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อปี 2021 และปัจจุบันอาจมากขึ้นกว่าเดิม เพราะไต้หวันเพิ่มเส้นทางจักรยานอยู่ตลอดเวลา
ไต้หวันเป็นประเทศที่มีประชากรกระจุกตัวอย่างหนาแน่น ทำให้ไต้หวันต้องวางแผนออกแบบพื้นที่สาธาณะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ของพลเมืองที่รัฐบาลต้องดูแลอย่างเต็มที่ โดยทางจักรยานก็เป็นส่วนสำคัญการพัฒนาพื้นที่สาธารณะดังกล่าว
ทุกเมืองของไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงอย่างไทเป หรือตามหัวเมืองน้อยใหญ่อื่นๆ จะมีเส้นทางจักรยานเลียบไปกับถนน พื้นที่สาธารณะ หรือเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติอยู่เสมอ และจะเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะกับรถไฟที่มีเส้นทางครอบคลุมไปทั่วประเทศเช่นเดียวกัน ทำให้การเดินทางด้วยจักรยานกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกยอดนิยมของชาวไต้หวันทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ภาพของคนที่แบกจักรยานขึ้นรถไฟเพื่อไปปั่นต่อตามเมืองต่างๆ ที่มีจุดหมายห่างไกลกันกลายเป็นเรื่องปกติ
ไต้หวันเริ่มขีดเส้นทางประเทศกับจักรยานในฐานะผู้รับจ้างผลิตให้กับบริษัทผลิตจักรยานข้ามชาติในช่วงทศวรรษ 1980 จากนั้น ไต้หวันเริ่มมองเห็นโอกาสในการเป็น “โรงงานผลิตจักรยานของโลก” ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จจนทุกวันนี้ ปัจจุบัน เกาะเล็กๆ อย่างไต้หวันเป็นผู้ส่งออกจักรยานเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน ในปี 2022 พวกเขาส่งออกจักรยานทั่วโลกจำนวน 1,954,246 คัน แบรนด์จักรยานจากไต้หวันจึงเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก
ความสำเร็จในเส้นทางจักรยานของไต้หวันคือการสร้างความต้องการใช้งานจักรยานจากคนในประเทศตัวเองให้แข็งแรง รัฐบาลไต้หวันชักชวนและส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ พร้อมไปกับการพัฒนาระบบจักรยาน ลงทุนสร้างและจัดสรรพื้นที่เส้นทางจักรยานให้เชื่อมต่อจากบ้านไปสถานที่ทำงาน เชื่อมสถานีรถไฟ ผลักดันระบบการเช่า-ใช้จักรยานสาธารณะ รวมไปถึงงบประมาณในการดูแลโครงการให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
แม้แต่ใจกลางหัวเมืองใหญ่ๆ ที่การจราจรวุ่นวายขวักไขว่ ก็จะมีเส้นทางจักรยานและนักปั่นทุกเพศทุกวัย ทั้งในชุดทำงานหรือชุดนักปั่นจักรยานเต็มยศเคียงข้างในเส้นทางเสมอ และในพื้นที่สาธารณะ-ธรรมชาติอันร่มรื่น รวมไปสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม ก็จะมีเส้นทางจักรยานให้นักปั่นในทุกระดับได้มาท่องเที่ยว จึงทำให้ไต้หวันบรรลุเป้าหมายเมืองจักรยานได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
นอกจากนี้ การเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน ยังมรรคพลให้ไต้หวันเป็นจุดหมายปลายทางของ ‘การท่องเที่ยวด้วยจักรยาน’ ของผู้ที่หลงใหลในเสน่ห์ของยานพาหนะสองล้อนี้ ไต้หวันจึงพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางจักรยานทั้งในเขตเมืองใหญ่ และพัฒนาเส้นทางจักรยานสำหรับเที่ยวชมธรรมชาติซึ่งไต้หวันมีอยู่แล้วในทุกเมือง ซึ่ง สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพ Taiwan Tourism Bureau TH ได้พาเราไปชม ‘บางส่วน’ ของนานาเส้นทางจักรยานในไต้หวัน ที่ไม่ใช่แค่ให้ประสบการณ์ปั่นจักรยานได้อย่างเพลิดเพลิน แต่ให้เราได้สัมผัสความเป็น ‘ไต้หวันที่แท้จริง’ ได้อย่างใกล้ชิด ฉีกแนวการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ และสร้างความทรงจำในไต้หวันของเราในฐานะนักท่องเที่ยวได้ในแบบที่ไม่เหมือนใคร
อิทธิพลที่สำคัญจากยุคที่ไต้หวันยังเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น (1895–1945) คือ ‘เส้นทางรถไฟ’ ที่ครอบคลุมทั่วเกาะไต้หวัน ทว่าในยุคที่รถไฟความเร็วสูงมาแทนที่ทำให้มีการสร้างเส้นทางรถไฟและอุโมงใหม่ๆ เส้นทางเก่ารถไฟเก่าและอุโมงค์เก่าจึงถูกทิ้งร้างไปนานนับทศวรรษ ก่อนที่เส้นทางเหล่านั้นจะถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้งในบทบาท “เส้นทางท่องเที่ยวทางจักรยาน”
เส้นทางจักรยานที่มาจากทางรถไฟเก่ามีอยู่หลายแห่งทั่วเกาะไต้หวัน หนึ่งในนั้นคือเส้นทางจักรยานเก่าเฉาหลิง (Old Caoling Bike Path) ในเขต Gongliao เมืองนิวไทเป ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะ โดยในเส้นทางมีไฮไลท์สำคัญคือการขี่จักรยานผ่านอุโมงค์เก่าเฉาหลิง (Old Caoling Tunnel) ที่มีความยาวถึง 2,167 เมตร
แต่เดิมอุโมงค์นี้เปิดงานในปี 1924 แต่ในปี 1986 ก็ถูกปิดไป และถูกทิ้งร้างเอาไว้จนกระทั่งปี 2009 ที่ทางการไต้หวันได้ฟื้นฟูและเปิดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมและขี่จักรยาน ที่นี่จึงกลายเป็นทางจักรยานยอดนิยมในไต้หวันตอนเหนือ
ผู้มาเยือนสามารถเริ่มต้นทางจักรยานได้ที่สถานีรถไฟ Fulong จากนั้นเลือกเช่าจักรยานที่หน้าสถานีรถไฟ แล้วปั่นเที่ยวชมทัศนยภาพอันสวยงามไปจนถึงอุโมงค์และปลายทางอุโมงค์ที่เป็นชายฝั่งทะเลเมืองอี๋หลานอันสวยงาม รวมปั่นจักรยานเส้นทางไป-กลับ อยู่ที่ 9 กิโลเมตร
จีหลงเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 จีหลงเป็นเมืองที่ได้ร่วมการจัดงาน World Bicycle day 2003 ที่ให้ผู้รักการปั่นจักรยานเข้าร่วมเส้นทางปั่นจักรยานความยาว 16.7 กิโลเมตร เลียบชายฝั่งทะเลเมืองจีหลง
โดยในเส้นทางนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการขี่จักรยานเลียบไปกับถนนรถยนต์ริมชายฝั่งทะเล ซึ่งจะให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่เป็นปกติของชาวเมืองจีหลง พร้อมแสดงให้เห็นถึงการจัดการเส้นทางถนนที่ให้รถยนต์และจักรยานอยู่ร่วมกันได้ โดยมีฉากหลังเป็นทิวทัศน์ภูเขาและทะเลที่สวยงาม โดยเราเริ่มจากบริเวณชายหาด Dawulun Beach เมืองจีหลง ไปสิ้นสุดเส้นทางที่ Zhongjiao Seaside Park เมืองนิวไทเป
จากภาคเหนือ เราเดินทางต่อมาที่กรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน ที่คุ้นเคยกับจักรยานมานานหลายทศวรรษ ชาวเมืองมีการปั่นจักรยานและมีเส้นทางจักรยานไปทั่วทั้งเมืองจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งจักรยานในภูมิภาคเอเชีย
นอกจากเส้นทางจักรยานที่ครอบคลุมไปทั่วเมือง สิ่งที่ทำให้ชาวไทเปคุ้นเคยกับจักรยานคือระบบเช่าจักรยานสาธารณะที่ชื่อ YouBike ซึ่งตั้งอยู่ทั่วทุกมุมเมือง แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวก็สามารถใช้บริการเช่าจักรยานไปปั่นเช่นเดียวกับชาวเมืองได้โดยใช้ผ่านบริการบัตร Easy Card ซึ่งใช้จ่ายค่ารถไฟและร้านสะดวกซื้อต่างๆ ในไต้หวัน ร่วมกับแอปพลิเคชันของ YouBike และจักรยานนี้เองที่จะเป็นพาหนะให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสเสน่ห์ชีวิตของชาวไต้หวันตามที่เป็นจริง
หนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวกรุงไทเปทางจักรยานแนะนำคือท่าเรือต้าเต้าเฉิง (Dadaocheng Wharf) ที่เลียบไปกับแม่น้ำ 2 สายใหญ่ของไทเปอย่างแม่น้ำตั้นสุ่ย (Tamsui) และแม่น้ำซินเตี้ยน (Xindan) โดยเส้นทางจักรยานแห่งต้าเต้าเฉิงนี้เดิมคือแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมเมืองไทเปซึ่งเคยเป็นพื้นที่รกร้างของเมือง จนเมืองไทเปได้พัฒนาให้เป็นเส้นทางจักรยานที่เชื่อมต่อกันหมด
โดยเส้นทางนี้จะทำให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสอีกมุมของเมืองไทเปที่ชาวเมืองออกมาทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ลานกีฬาต่างๆ และพื้นที่ศึกษาทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวเมือง ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยความร่มรื่นที่มีภูมิทัศน์ของเมืองใหญ่เป็นฉากหลัง และเป็นเส้นทางจักรยานเที่พร้อมเชื่อมต่อไปทุกเขตในเมืองใหญ่ของกรุงไทเป โดยในครั้งนี้ เราเลือกสิ้นสุดเส้นทางที่ Gongguan Waterfront Plaza รวมระยะทางปั่น 11 กิโลเมตร
ในเมืองเหมี่ยวลี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางกรุงไทเปและเมืองไถจง เมืองใหญ่อันดับสองของไต้หวัน มีเส้นทางสายรถไฟเก่าที่ตัดผ่านเส้นทางอุโมงค์ภูเขาที่มีทัศนียภาพอันสวยงาม โดยเส้นทางรถไฟนี้เปิดใช้งานในปี 1908 ก่อนที่จะถูกปิดใช้งานเส้นทางในปี 1998 ก่อนที่เมืองเหมียวลี่จะตัดสินใจฟื้นเส้นทางนี้อีกครั้งในฐานะเส้นทางของการขี่จักรยานราง (Railbike) ให้ผู้คนได้มาสัมผัสความงามของภูเขาและทัศนียภาพอย่างใกล้ชิด โดยไฮไลท์สำคัญคือการขี่จักรยานผ่านอุโมงค์ Gong Wei Xu ความยาว 441 เมตร ก่อนที่จะถึงปลายที่สถานีรถไฟเก่า Shenxing Station ที่ด้านหลังสถานีเป็นเส้นทางเมืองเก่าที่รองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยว
ไถจง เมืองใหญ่อันดับสองทางฝั่งตะวันตกของเกาะไต้หวัน มีทางจักรยานที่สำคัญของเมืองคือ เส้นทางจักรยาน Hou-Feng ความยาว มีความยาว 5.8 กิโลเมตร ซึ่งเคยเป็นเส้นทางรถไฟสายภูเขา (Mountain Railway Line) ที่เคยเลิกใช้งาน ก่อนจะพัฒนามาเป็นเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว
โดยจุดสำคัญในเส้นทางคือการขี่จักรยานลอดอุโมงค์รถไฟเก่าหมายเลข 9 ที่มีความยาว 1.2 กิโลเมตร ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 1908 ก่อนจะถูกทิ้งร้างและนำมาพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางจักรยานภายหลัง และปลายเส้นทางอุโมงค์คือสะพานเหล็ก Dajia River Steel Bridge ซึ่งพาดผ่านแม่น้ำต้าเจี้ย (Dajia River) แม่น้ำสายสำคัญของเมืองไถจงอันกว้างใหญ่ที่ไหลลัดเลาะผ่านแนวภูเขา เกิดเป็นแนวทัศนยภาพที่สวยงาม
เส้นทางจักรยานนี้จะเชื่อมต่อกับเส้นทางจักรยานธรรมชาติตงเฟิง (Dongfeng Bicycle Green Way) ซึ่งเดิมเคยเป็นเส้นทางรถไฟเก่าตงเฟิง ก่อนที่จะหยุดให้บริการไปและกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในปี 2003 ในฐานะเส้นทางจักรยานสำหรับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว รวมถึงเปลี่ยนชื่อใหม่จากเส้นทางรถไฟเก่าเป็นทางจักรยานตงเฟิง มีความยาวรวม 13.6 กิโลเมตร โดยลักษณะเด่นของเส้นทางจักรยานนี้คือการออกแบบให้นักปั่นได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ต้นไม้ และพื้นที่สาธาณะของเมืองได้อย่างลงตัว
โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังเส้นทางปั่นจักรยานนี้ได้ที่สถานีรถไฟ Houli เมืองไถจง จากกรุงไทเป และใช้บริการร้านเช่าจักรยานได้ที่ด้านหน้าสถานีรถไฟ
หากเราได้สังเกตความเป็นมาของเส้นทางจักรยานทั้งหมด ก็จะพบว่าเกือบทั้งหมดล้วนมีที่มาจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟเก่าที่ถูกทิ้งร้างจากการพัฒนาเมืองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ปากคำจากไกด์ชาวไต้หวันบอกผมว่า คนไต้หวันเป็นคนที่ชอบเก็บของเก่าเอาไว้ ซึ่งผมอนุมานนี่ว่าคงเป็นที่มาของเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวสายใหม่ๆ ที่ล้วนมีต้นกำเนิดจากสถานที่ที่เคยถูกทิ้งร้าง และกลับนำมาคืนฟื้นฟูให้เป็นจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ในการท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง
นอกจากนี้ ผมสังเกตว่าตัวเส้นทางจักรยานไม่ได้ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ยังขนานไปกับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งกลมกลืนไปกับความเป็นเมืองใหญ่และพื้นที่สีเขียวได้อย่างลงตัว ไกด์ของผมคนเดิม (ซึ่งพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วและมีประสบการณ์เยือนประเทศไทยเหมือนบ้านหลังที่สอง) ก็ได้อรรถาธิบายเพิ่มเติมอีกว่า พื้นที่สาธารณะและเส้นทางจักรยานที่มีคุณภาพเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยมาโดยตลอด ไม่ได้รู้สึกถึงความพิเศษ และเป็นสิ่งที่ชาวไต้หวันควรได้รับในฐานะพลเมืองของประเทศ
ผมเชื่อว่าแนวคิดเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดเส้นทางจักรยานคุณภาพที่สวยงามมากมาย จนทำให้นักท่องเที่ยวอย่างผมพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ นวภัทร ดัสดุลย์ (บ้านและสวน Explorer Club)
สนับสนุนการเดินทางโดย สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพ