สายน้ำปายเป็นสีน้ำตาล เชี่ยวแรง และดูเถื่อน เรือของเราแล่นผ่านศพชายคนหนึ่งแถวพงหญ้าห่างจากด่านตรวจของทหารกะเหรี่ยงดาวแดงไม่เกินชะโงกมองเห็น ศพขึ้นอืดคว่ำหน้า ลอยพะเยิบพะยาบตามระลอกคลื่น เขาน่าจะตายมาสักสองสามวันแล้ว ทหารที่นั่นบอกว่า ไม่กี่วันก่อนมีพลเรือนสามคนแล่นเรือเล็กทวนน้ำขึ้นไปหาปลา ความไม่ชำนาญแก่งทำให้เรือแล่นปะทะหินใหญ่ที่ผาห่มน้ำ เรือล่ม พวกเขาพลัดตกน้ำเชี่ยวกราก หนึ่งในนั้นจมหายไป
“คงเมา” ใครคนหนึ่งแสดงความเห็น “คนขับเรือคงไม่เก่ง” นายท้ายเรือเสริม “หัวคงกระแทกท้องเรือ” อีกคนเดา “ครอบครัวเขาคงเสียใจ” เรือของเราเบนหัวออกจากด่านทหาร ทิ้งไว้เพียงคำคาดเดาอย่างไม่แยแสคำตอบ
บนสายน้ำตะวันตก เราติดเครื่องเรือจากบ้านผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เบนหัวไปยังพม่า ล่องร่วมมากับคนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน พรานและคนที่เรียกตนเองว่านักธุรกิจ มุ่งสู่แม่น้ำสาละวินตามคำเชื้อเชิญของนายพลท่านหนึ่งในรัฐกะยา เพื่อไปชมต้นสายแร่ซึ่งบังเอิญขุดพบที่นั่น “ครั้งแรกมีคนบอกว่าน่าจะเป็นพลอย” สุริยน สังข์สุข ช่างภาพผู้ชักชวนบอกผมก่อนหน้า “นักธุรกิจที่แม่ฮ่องสอนคนหนึ่งเข้าไปขุดเงียบๆ พักหนึ่งแล้ว เขาเดินป่าหลายวันไปกับกองกำลังทหาร ตั้งแคมป์และกินอยู่ตามสภาพ กองกำลังรักษาความปลอดภัยให้เขา ทำกับข้าว เป็นคนงานเหมืองไปในตัว และจ่ายค่าจ้างกันตรงนั้น”
ตลอดหลายปีมานี้ ทรัพยากรในพม่าส่งกลิ่นหอมยั่วยวนนักธุรกิจต่างชาติให้แห่เข้าไปอย่างคับคั่ง พวกเขาหวังว่าหลังเสียงปืนสงบที่นั่นจะมีขุมทองให้ตักตวงแบบเดียวกับบ้านเราในยุคเก่าก่อน และแน่นอนว่าอะไรก็ตามที่มีค่า พวกเขาจับและขาย ส่วนอะไรที่ไม่มีค่า พวกเขาก็ทำให้มันมีค่า ก่อนจับและขาย “ไม่มีอะไรขายไม่ได้หรอกครับ ผมจับอะไรก็เป็นเงินได้หมด” นักธุรกิจผู้ร่วมเดินทางบอกเรา “แม้แต่สิ่งที่มองไม่เห็น” เขายิ้มพราย “นั่งเรือแม่น้ำสาละวินสี่ห้าชั่วโมงไม่ใช่เรื่องสนุกนะครับ หาอะไรปิดหน้าด้วย แดดที่นั่นไม่เหมือนที่ไหน และระวัง อย่านั่งหลังคนเคี้ยวหมาก ถ้าน้ำหมากกระเด็นเข้าตา แสบมาก” เขาเตือนก่อนเราออกเดินทาง
เราอาศัยเส้นสายและเครือข่ายความสัมพันธ์ที่สุริยนมีในจังหวัด เพื่อขอร่วมทางไปกับผู้คนหลายกลุ่มซึ่งมีทั้งนักธุรกิจใต้ดิน พระสงฆ์องค์เจ้า ญาติมิตรของคนฝั่งนั้น หรือครูบาอาจารย์ที่ทหารยศสูงๆ ในกองกำลังชาติพันธุ์นับถือ หลายครั้งเราถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย คนประสานงานไม่ติดต่ออย่างไร้ร่องรอย หรือไม่ก็เงียบหายไปดื้อๆ บางสถานที่ไม่สามารถกลับไปเยือนได้อีกแล้ว และบางสถานที่ก็เดินทางไปบ่อยจนฝ่ายความมั่นคงจับตาดูเรา
เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์บนรอยร้าวระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลพม่า ผมพบว่ามีหลายประเด็นที่เรารับรู้เพียงด้านเดียว เราแว่วเสียงปืนจากกรุงเทพฯ จินตนาการถึงสงคราม แต่หลังเสียงปืนมีความจริงอีกมุมว่า ดินแดนแถบนี้กำลังกระตือรือร้นต่อโลกใหม่ การค้า ความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ รวมทั้งความหวังทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในประเทศ
ชีวิตกลางลำเนาไพรที่นั่นอวดโฉมความบริบูรณ์ทางทรัพยากรที่ไม่มีอีกแล้วในประเทศไทย ผมได้เห็นป่าดิบชื้นสลับเบญจพรรณริมฝั่งสาละวิน (ชาวท้องถิ่นเรียกแม่น้ำคง) ซึ่งเป็นตู้เย็นอย่างดีสำหรับชาวบ้านที่นั่น และปืนเป็นเครื่องมือบำบัดความหิวพอๆ กับเบ็ดหรือเครื่องช็อตปลา ครั้งหนึ่งเรานอนค้างแรมบนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ผมได้ยินเสียง “เห่า” จากเก้งหวงถิ่นตลอดทั้งคืน รุ่งขึ้นพรานของเราดักปลาเค้าตัวใหญ่ขนาดเท่าเด็กประถมได้จากแม่น้ำสาละวิน การค้างแรมพกไปเพียงมีด ปืน เกลือ และข้าวสาร เพราะที่นั่นเราไม่เคยอดเนื้อสัตว์ แต่ละมื้อมีหมุนเวียนให้กินทั้ง ฟาน (เก้ง) เยือง (เลียงผา) หมูป่า หรือแม้แต่ชะมดเช็ดแผงหางปล้อง และค่าง ชาวบ้านล่าสัตว์ป่าพวกนี้เพื่ออาหารและใช้ชีวิตกับป่าเหมือนที่ปลาอาศัยลำน้ำ ทว่าไม่มีใครสักคนที่หวังจะร่ำรวยจากมัน
การทวนน้ำสาละวินดูเป็นภาระหนักของเรือเล็ก แต่เรือจากแม่น้ำปายของเรากลับไม่กริ่งเกรงสายน้ำไพศาล มันเล็กไม่สมกับสายน้ำ แต่ปราดเปรียวเหมือนแมงปอล้อลมและตัดแก่งทวนน้ำไปอย่างแคล่วคล่อง ผู้โดยสารต่อลำสี่ถึงห้าคนนั่งสบายเหมือนชั้นธุรกิจ คนเรือจากหมู่บ้านท่าสบปาย (ปากน้ำจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำปายกับแม่น้ำสาละวิน)จำร่องน้ำได้เหมือนเคยอาศัยอยู่ใต้นั้น “ไม่ต้องห่วงครับ เรือนี่แข็งแรงมาก” เขาตบท้องเรือดังป้าบ
ป่าเบญจพรรณรกครึ้มเผยโฉมสองฟากตลิ่งไม้บางกอจมน้ำเหลือเพียงยอด มันชูไม้ชูมือราวกับโบกทักทายผู้มาเยือน แต่ยอดไม้อีกหลายยอดมีสวะ รวมทั้งขยะหรือเศษผ้าติดอยู่เหมือนชูธง แสดงถึงระดับน้ำที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลหรือแม้แต่รายวัน
ความภาคภูมิของสาละวินมาจากคำพูดยกย่องว่า เป็นแม่น้ำนานาชาติหนึ่งเดียวที่ยังปลอดเขื่อน จากหิมะบนที่ราบสูงทิเบตละลายลงมาเป็นสายน้ำไหลผ่านประเทศจีนและพม่ายาวรวม 2,815 กิโลเมตรจรดทะเลอันดามัน มีภูเขาสูง เกาะแก่งและลาดเทน้ำเชี่ยวกราก เย้ายวนนักผลิตพลังงานว่าทำเลนี้เหมาะแก่การสร้างเขื่อน ทุนใหญ่คือจีนซึ่งจับจ้องโครงการยักษ์นี้ด้วยความหิว รัฐบาลที่นั่นใช้อำนาจเบ็ดเสร็จกระทำต่อสายน้ำนู่เจียงหรือนามของสาละวินช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีน แบบเดียวกับที่ทำกับแม่น้ำโขง คือวางเขื่อนผลิตไฟฟ้าถี่ยิบ
รัฐบาลพม่าเออออกับเขื่อนเช่นกัน ราวต้นปี พ.ศ. 2553 รัฐมนตรีด้านพลังงานของพม่าอนุมัติสร้างเขื่อนโดยไม่แยแสคนพื้นที่ และเดินหน้าโครงการนี้ลับๆ รัฐบาลไทยกังวลว่าจะตกขบวนจึงโผเข้าร่วมวงแบ่งเค้กด้วย มีความเป็นไปได้สูงว่าเขื่อนอย่างน้อยสองแห่งใกล้อำเภอสบเมยและอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าจะเกิดจากการลงทุนร่วมของบริษัทไม่ก็รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าของไทย และพยายามดำเนินไปเงียบๆ
การก่อสร้างเขื่อนเดินหน้าโดยใช้คณะสำรวจเข้าไปในบางพื้นที่อย่างลับๆ ทว่าหนามยอกอกคือสองฟากฝั่งเป็นถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 14 กลุ่มที่ยังมีปืน และแม่น้ำสายนี้คือชีวิตของพวกเขา รายงานเมื่อไม่นานมานี้เผยว่าชนกลุ่มน้อยไม่ทราบฝั่ง กราดยิงคณะสำรวจนิรนามเสียชีวิตไปถึง 4 ศพ กรณีแบบนี้อาจเป็นไปได้อีกหลายแห่ง เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลพม่าส่งทหารมาเอาคืนชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ โดยหวังกวาดล้างออกจากพื้นที่สร้างเขื่อน ผลกระทบหลังสร้างเขื่อนคาดว่า น้ำจะท่วมสูงกินวงกว้าง นั่นเป็นยุทธการใช้สายน้ำกวาดล้างชนกลุ่มน้อยออกจากฐานที่มั่นรวมถึงชัยภูมิบางแห่ง
นักต่อต้านเขื่อนอ้างว่า เขื่อนคือปีศาจของความรุ่มรวยทางชีวภาพบนสายน้ำ พันธุ์ปลากว่า 70 ชนิดในสาละวินจะพบกับฝันร้าย เพราะไม่สามารถว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่เมื่อทางน้ำอิสระถูกปิดตาย วิศวกรรมพยายามคิดแทนธรรมชาติโดยออกแบบรู บันได หรือทางด่วน หรืออะไรก็ตามที่หวังว่าปลาจะใช้มันเหมือนมนุษย์โผลอดประตูเข้าห้องครัวแต่ปัญหาคือนั่นไม่ใช่วิถีทางที่ธรรมชาติคุ้นเคย แน่นอนว่าไม่มีใครสอนปลาว่ายน้ำได้ พวกมันเป็นตัวแทนความอิสระแบบเดียวกับนกบินบนฟ้า
เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่ายโดย สุริยน สังข์สุข
อ่านเพิ่มเติม