เบื่อ “นครวัด” ไหม? ลองไป “โบราณสถานกัมพูชา ลับๆ เหล่านี้ดูบ้างสิ!

หากต้องการหลีกหนีความพลุกพล่านภายในนครวัด โบราณสถานกัมพูชา ทางเลือกซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้ง 4 แห่งนี้คือ ตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมขอมและมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของกัมพูชา

โบราณสถานกัมพูชา – “ปีนี้ มีผู้คนราว ๆ 1.4 ล้านคนวางแผนเดินทางไปยังนครวัด ศาสนสถานชื่อดังอันเก่าแก่ของกัมพูชาซึ่งมีอายุกว่า 900 ปี แต่กลับมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่วางแผนจะไปเยี่ยมชมโบราณสถานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณ’ อย่างเกาะแกร์ (Koh Ker) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนครวัดออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 109 กิโลเมตร” ซาราห์ คลาสเซน (Sarah Klassen) นักโบราณคดีกล่าว

แม้ว่าเกาะแกร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาททรงพีระมิดขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชาจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของประเทศไปเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา กระนั้น สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางโบราณคดีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งมักถูกนักท่องเที่ยวมองข้าม

ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จึงได้รวบรวม 4 โบราณสถานลับในกัมพูชาที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึง 15 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรขอมโบราณรุ่งเรืองถึงขีดสุด มาแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จัก

ปราสาทโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เช่น ปราสาทสมโบร์ไพรกุก เป็นสถานที่ที่แสดงถึงมรดกตกทอดจากอารยธรรมขอมโบราณ ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในกัมพูชาได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องเดินฝ่านักท่องเที่ยวจำนวนมากเหมือนอย่างในปราสาทนครวัด

ความรุ่งเรืองของเมืองพระนครและอาณาจักรขอมโบราณ

อาณาจักรขอมซึ่งก่อตั้งขึ้นราว ๆ ปี ค.ศ. 802 เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และสามารถแผ่ขยายอำนาจอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างไกลจนครอบคลุมพื้นที่เมียนมาไปจนถึงเวียดนาม ในยุคนั้น อาณาจักรขอมถูกปกครองโดยราชวงศ์สมมติเทพอันทรงอำนาจจากเมืองพระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทนครวัด มีอาณาบริเวณโดยรวมกว่า 1.6 ตารางกิโลเมตร พระปรางค์ห้ายอดที่ถูกแกะสลักอย่างประณีตงดงาม ตัวปราสาทที่ตั้งสูงตระหง่าน ระเบียงคดรอบพระปรางค์ รวมไปถึงลานโล่งที่ประดับประดาไปด้วยภาพสลักและงานประติมากรรม ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ปราสาทนครวัด ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 กลายเป็นศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในกัมพูชา จนภาพของสถานที่แห่งนี้ถูกนำไปใช้ในธงประจำชาติ

คลาสเซนซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการร่วมของโครงการ Cambodian Archaeological Lidar Initiative หรือโครงการสำรวจโบราณสถานในกัมพูชาด้วยเทคโนโลยีไลดาร์ และผู้อำนวยการของโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีเกาะแกร์ ได้กล่าวไว้ว่า “ความสามารถในการเกณฑ์และคุมกำลังคนมาสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างตัวปราสาทนครวัดเป็นอะไรที่น่าทึ่งมากค่ะ” เธอยังกล่าวเสริมอีกว่า “เพราะการสร้างสถาปัตยกรรมเช่นนี้เป็นเหมือนการพิสูจน์อำนาจและความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมขอมโบราณ”

ฤดูแล้งอันยาวนานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็มีส่วนทำให้ระบบอ่างเก็บน้ำและคลองที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิทยาการอันล้ำหน้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบการปกครองของอาณาจักรเช่นกัน “เพราะการบริหารจัดการน้ำมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับบทบาทหน้าที่ของกษัตริย์อย่างใกล้ชิดค่ะ” คลาสเซนกล่าวเสริม พร้อมชี้ว่า ความเสียหายของระบบน้ำในอาณาจักรขอมโบราณอาจมีส่วนทำให้อาณาจักรอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ล่มสลาย

4 โบราณสถานในกัมพูชาที่น่าแวะเยี่ยมชม

เกาะแกร์คือ กลุ่มปราสาทโบราณในกัมพูชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุดของประเทศไปเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ของอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณแห่งนี้มีปราสาทธม พีระมิดขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชา ซึ่งมีถึง 7 ชั้น และสูงว่า 35 เมตร

1. ปราสาทเกาะแกร์ (Koh Ker)

ปราสาทเกาะแกร์หรือปราสาทธม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพีระมิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชาคือ ปราสาทศูนย์กลางของเกาะแกร์ อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรขอม “ที่นี่เป็นสถานที่แห่งเดียวที่ถูกตั้งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเช่นเดียวกับเมืองพระนคร แต่เกาะแกร์มีสถานะเป็นเมืองหลวงได้เพียง 16 ปีเท่านั้นค่ะ” คลาสเซนกล่าว สำหรับเธอ การย้ายศูนย์กลางของอาณาจักรกลับไปยังเมืองพระนครของชาวขอมโบราณนั้นยังเป็นหนึ่งในปริศนาที่บรรดานักวิจัยต้องค้นหาคำตอบต่อไป

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ได้มีคำสั่งให้สร้างปราสาทหลายหลังขึ้นในบริเวณเกาะแกร์เพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะ ปราสาทเหล่านั้นมีชื่อเสียงจากศิวลึงค์แกะสลักซึ่งถูกนำไปประดิษฐานเอาไว้ตามบริเวณต่าง ๆ เอีย ดาริธ (Ea Darith) ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์อนุสรณ์สถานและโบราณคดีขององค์การแห่งชาติพระวิหาร (Preah Vihear National Authority) ได้ให้คำอธิบายเสริมไว้ว่า “ที่เกาะแกร์ไม่ได้มีเพียงพีระมิดเท่านั้น แต่ยังมีปราสาทลึงค์อีกมากกว่า 20 หลังครับ”

เนื่องจากเกาะแกร์ตั้งอยู่ใกล้กับเหมืองหิน งานสถาปัตยกรรมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพีระมิดที่สูงกว่า 35 เมตร ทับหลัง หรือรูปแกะสลักต่าง ๆ ภายในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้จึงมีความประณีตสวยงามกว่างานศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในนครวัด “แท่งหินขนาดใหญ่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่เกาะแกร์ครับ” ดาริธกล่าว นอกจากนั้นแล้ว นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมปราสาทเกาะแกร์ยังสามารถเดินทางไปยังปราสาทเบ็งเมเลีย (Beng Mealea) กลุ่มปราสาทฮินดูซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล เพื่อเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับปราสาทนครวัดต่อได้

กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกคือ หนึ่งในแหล่งโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก ซึ่งมีปราสาทอิฐแบบศิลปะฮินดู ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะมากกว่า 180 หลัง ปราสาทที่สร้างขึ้นในยุคก่อนอาณาจักรขอมเหล่านี้คือ ปราสาทอิฐที่สูงและมีขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชา

2. ปราสาทสมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk)

กลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกคือ แหล่งโบราณสถานที่มีปราสาทแบบศิลปะฮินดูซึ่งสร้างขึ้นด้วยอิฐมากกว่า 180 หลัง กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ป่ารกทึบทางตะวันออกของกัมพูชา เดวิด บราเธอร์สัน (David Brotherson) นักโบราณคดีซึ่งประจำอยู่ที่เมืองเสียมราฐ อธิบายว่า “ในยุคก่อนอาณาจักรขอม ปราสาทสมโบร์ไพรกุกเป็นเมืองศูนย์กลางของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยกระจายอยู่ทั่วกัมพูชา โดยผู้คนแต่ละกลุ่มจะติดต่อและเชื่อมโยงกันผ่านทางน้ำครับ ”
ดาริธอธิบายต่อว่า “กลุ่มปราสาท 3 หลังบนฐานเดียวกันในสมโบร์ไพรกุก ที่มีปราสาทหลังหนึ่งตั้งเป็นจุดศูนย์กลาง และมีงานสถาปัตยกรรมอื่น ๆ อยู่ล้อมรอบคือ ปราสาทอิฐที่สูงและใหญ่ที่สุดในกัมพูชาครับ”

ปราสาทเขาพระวิหารคือ ปราสาทหินที่ถูกสร้างขึ้นราวช่วงคริสต์ศตวรรษที่ที่ 10 ถึง 12 โดยผ่านการดูแลควบคุมจากกษัตริย์ขอมหลายพระองค์ เขาพระวิหารมีทางเดินยาวที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโคปุระหรือซุ้มประตูทั้ง 5 เข้าด้วยกัน

3. ปราสาทเขาพระวิหาร (Preah Vihear)

ปราสาทเขาพระวิหารคือ ปราสาทหินที่ถูกสร้างขึ้นราว ๆ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 12 เพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะ ศาสนสถานโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่บนทิวเขาพนมดงรัก บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งสูงกว่า 600 เมตร บราเธอร์สันกล่าวว่า “สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของเขาพระวิหารทำให้ปราสาทแห่งนี้โดดเด่นกว่าปราสาทแห่งอื่น ๆ ครับ”

“บนปราสาทจะมีทางเดินยาวประมาณ 800 เมตรที่สร้างขึ้นจากหินทราย เป็นถนนเชื่อมโคปุระหรือซุ้มประตูทั้ง 5 เข้าด้วยกันครับ” ดาริธกล่าว พร้อมชี้ว่า หินที่ใช้ปูทางถูกนำมาจากเหมืองหินบนภูเขา นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถจักรยานยนต์ได้ในราคาคันละ 5 ดอลลาร์ (ประมาณ 184 บาท) หรือเช่าเหมาคันรถสองแถวได้ในราคาคันละ 25 ดอลลาร์ (ประมาณ 920 บาท) เพื่อใช้เดินทางจากจุดจำหน่ายตั๋วเข้าไปยังตัวปราสาทได้

ปราสาทบันทายฉมาร์ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกัมพูชาเป็นหนึ่งในปราสาทที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในกัมพูชา แหล่งโบราณสถานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทำให้มีปราสาทจำนวนหนึ่งที่ถูกสร้างตามแบบปราสาทบายนซึ่งจะแกะสลักตัวปราสาทเป็นรูปใบหน้าคน เหมือนกับปราสาทนครวัดอันเลื่องชื่อที่พระองค์เป็นผู้สร้าง
นับตั้งแต่ถูกขโมยโบราณวัตถุครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชาเมื่อปี 1998 ปราสาทบันทายฉมาร์ยังคงไม่ถูกบูรณะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

4. ปราสาทบันทายฉมาร์ (Banteay Chhmar)

ปราสาทบันทายฉมาร์อันห่างไกลแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทนี้ถือเป็นปราสาทขอมที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในกัมพูชา นอกจากนั้นภายในพื้นที่ของแหล่งโบราณสถานนี้ยังเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากปราสาทศาสนสถานทางพุทธศาสนาชื่อดัง เช่น ปราสาทบายนซึ่งแกะสลักตัวปราสาทเป็นรูปใบหน้าคนและมีภาพประติมากรรมนูนต่ำที่บอกเล่าเรื่องราวทาบงประวัติศาสตร์, รากต้นสมพงยักษ์ที่ปกคลุมตามตัวปราสาท, ราวบันไดที่ทำขึ้นตามแบบปราสาทพระขรรค์แห่งเมืองกำปงสวาย, และพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ 32 กร ที่ถูกแกะสลักลงบนผนังทางตะวันตกของปราสาทอย่างอย่างวิจิตรบรรจง

บราเธอร์สันอธิบายว่า “ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของปราสาททางตะวันตกแห่งนี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้แสดงอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และอำนาจของอาณาจักรขอมให้ศัตรูได้ประจักษ์ครับ” เขากล่าวเสริมว่า “จะเห็นได้ว่าปราสาทส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการบูรณะ ดังนั้น ผู้ที่มาเยี่ยมชมจะได้สัมผัสกับประสบการณ์แปลกใหม่จากการเดินสำรวจปราสาทที่ยังอยู่ในสภาพดั้งเดิมครับ”

ในปัจจุบันนี้ มีบริษัทหลายแห่ง เช่น กลุ่มการท่องเที่ยวเมืองบันทายฉมาร์ จัดทัวร์หลากหลายรูปแบบขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศและโบราณสถานอันลึกลับที่ซ่อนอยู่ในผืนป่าลึกของกัมพูชา

เรื่อง อันนา มาซูเรก

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม ประวัติ 800 ปี ” นครวัด ” แห่ง กัมพูชา ศาสนสถาน 2 ศาสนา ใหญ่ที่สุดในโลก

นครวัด
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.